ข้ามไปเนื้อหา

จังหวัดไซตามะ

พิกัด: 35°57′N 139°33′E / 35.950°N 139.550°E / 35.950; 139.550
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Saitama Prefecture)
จังหวัดไซตามะ

埼玉県
การถอดเสียงภาษาญี่ปุ่น
 • ญี่ปุ่น埼玉県
 • โรมาจิSaitama-ken
ตามเข็มนาฬิกาจากด้านบน: ศูนย์กลางเมืองใหม่ไซตามะ, หุบเขานางาโตโระ, ปราสาทโอชิ, วัดคังงิ, หอระฆังโทกิโนะคาเนะ
ธงของจังหวัดไซตามะ
ธง
โลโกอย่างเป็นทางการของจังหวัดไซตามะ
สัญลักษณ์
แผนที่
ที่ตั้งของจังหวัดไซตามะ
พิกัด: 35°57′N 139°33′E / 35.950°N 139.550°E / 35.950; 139.550
ประเทศญี่ปุ่น
ภูมิภาคคันโต
เกาะฮนชู
เมืองหลวงไซตามะ
หน่วยการปกครองอำเภอ: 8, เทศบาล: 63
การปกครอง
 • ผู้ว่าราชการ โมโตฮิโระ โอโนะ
พื้นที่
 • ทั้งหมด3,797.75 ตร.กม. (1,466.32 ตร.ไมล์)
อันดับพื้นที่ที่ 39
ประชากร
 (1 มกราคม 2020)
 • ทั้งหมด7,338,536 คน
 • อันดับที่ 5
 • ความหนาแน่น1,900 คน/ตร.กม. (5,000 คน/ตร.ไมล์)
รหัส ISO 3166JP-11
สัญลักษณ์ 
• ต้นไม้เคยากิ หรือเซลโควาญี่ปุ่น (Zelkova serrata)
• ดอกไม้พริมโรส (Primula sieboldii)
• นกนกเขาแขก (Streptopelia decaocto)
เว็บไซต์www.pref.saitama.lg.jp

จังหวัดไซตามะ (ญี่ปุ่น: 埼玉県โรมาจิSaitama-ken) เป็นเขตการปกครองระดับจังหวัดของประเทศญี่ปุ่น ตั้งอยู่บริเวณภาคคันโต มีเมืองหลักชื่อเดียวกันคือ ไซตามะ

จังหวัดไซตามะเป็นที่ตั้งของสนามกีฬาไซตามะ 2002 เป็นสนามกีฬาฟุตบอลที่ใช้แข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 2002 ศูนย์กีฬาในร่มไฮเทคไซตามะซูเปอร์อารีนา จังหวัดไซตามะเป็นจังหวัดที่มีความเจริญมากเพราะอยู่ติดกับกรุงโตเกียว ซึ่งเขตชิจิบุในจังหวัดนี้มีเทือกเขา ทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม จึงเป็นจุดที่มีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมา ส่วนสถานที่น่าสนใจอีกที่หนึ่งก็คือ หมู่บ้านบอนไซ โอมิยะ

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ในสมัยโบราณ เริ่มมีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไซตามะตั้งแต่ประมาณเมื่อ 30,000 ปีก่อน โดยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เมืองโทโกโรซาวะ(所沢) หรือเมืองคาวาโมโตะ ทำให้ทราบว่าผู้คนในสมัยโบราณนั้นหาอาหารจากการล่าสัตว์และจับปลา หลังจากนั้นก็พบเครื่องใช้ในการหุงหาและเก็บรักษาอาหารในสมัยโจมงที่มีอายุเก่าแก่ 10,000 ปีก่อนหน้านี้ในภายหลัง ทำให้ทราบถึงพฤติกรรมการบริโภคอาหารของคนในสมัยโบราณอย่างแน่ชัด

เมื่อประมาณ 2,000 ปีก่อน ก็ได้มีการนำการปลูกข้าวขึ้นมาเผยแพร่จากฝั่งตะวันตกของประเทศ พร้อมทั้งยังมีการนำวัฒนธรรมการใช้วัสดุทองเหลืองต่าง ๆ ขึ้นมาเผยแพร่พร้อมกันอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครื่องใช้ไม้สอยในสมัยยาโยอิขึ้นในช่วงนี้ด้วย

และเมื่อประมาณ 1,600 ปีก่อน ก็ได้เริ่มมีการสร้างหลุมศพแบบสมัยโบราณขึ้นมา ซึ่งมีหลุมศพขนาดใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นมา 9 แห่ง และ 1 ในนั้นก็มีความสำคัญต่อการศึกษาวัฒนธรรมในสมัยนั้นอย่างมาก หลุมศพสมัยโบราณที่ถูกสร้างขึ้นในเมืองไซตามะ

เมื่อถึงสมัยนาระ ได้มีการร่างกฎหมายและมีการทำสำมะโนประชากรขึ้น มีการมอบพื้นที่ในการทำกสิกรรมให้กับพลเรือนและมีการเก็บภาษีจากพลเมืองอีกด้วย ในสมัยเฮอันที่พวกราชวงศ์และขุนนางอาศัยกันอยู่อย่างหรูหราในเมืองหลวง พื้นที่ห่างไกลอย่างไซตามะก็มีพวกนักรบขึ้นมาครองอำนาจครอบครองและมีบทบาทอย่างมาก สมัยคามากูระนั้น ก็มีนักรบหลายคนขึ้นครองอำนาจในเขตต่าง ๆ ของเมืองไซตามะด้วย

เมื่อถึงสมัยเอโดะ มีการพัฒนาเมืองเอโดะขนานใหญ่ ทำให้จังหวัดไซตามะได้รับการพัฒนาขึ้น มีถนนใหญ่หลายสายตัดผ่านมาและมีการวางท่อชลประทานขนาดใหญ่มากมายด้วย โดยในสมัยนั้นได้พัฒนาพื้นที่เขตคันโตโดยยึดไซตามะเป็นแกนกลางสำคัญในการพัฒนา

จนเมื่อรัฐบาลโทกูงาวะล่มสลายลง การปกครองภายในจังหวัดก็เกิดการเปลี่ยนแปลง จนมีการจัดตั้ง "จังหวัดไซตามะ" ขึ้นเมื่อปีเมจิที่ 4 แต่ก็มีเมืองที่ขึ้นอยู่กับจังหวัดไม่มาก จนในช่วงหลังสงครามโลกก็ได้รวบรวมเมืองต่าง ๆ ขึ้นมาจนเป็นจังหวัดในปัจจุบันได้

หลังยกเลิกระบบแคว้น

[แก้]
อาคารศาลากลางจังหวัดไซตามะในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

ในช่วงการปฏิรูปเมจิ ไม่นานหลังจากรวมรวมดินแดนที่เป็นของรัฐบาลโชกุนในแคว้นมูซาชิให้มาอยู่ภายใต้การปกครองของผู้ว่าราชการมูซาชิ (武蔵知県事 Musashi chikenji) ได้มีการกำหนดให้ดินแดนของรัฐบาลโชกุนและฮาตาโมโตะในอดีตหลายแห่งในตะวันตกเฉียงเหนือของมูซาชิ เป็นจังหวัดโอมิยะ (大宮県 Ōmiya-ken) และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดอูราวะ (浦和県 Urawa-ken) เมื่อ ค.ศ. 1868/69 ในขณะที่ดิน���ดนส่วนอื่น ๆ ของแคว้นมูซาชิได้กลายเป็นพื้นที่ของจังหวัดที่มีอยู่เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ซึ่งได้แก่ จังหวัดอิวาฮานะ (ซึ่งต่อมาคือจังหวัดกุมมะ) และจังหวัดนิรายามะ (ซึ่งต่อมาคือจังหวัดชิซูโอกะ จังหวัดคานางาวะ และจังหวัดโตเกียว) หลังจากการยกเลิกระบบแคว้นโดยการแทนที่คำว่าแคว้นศักดินา (藩 -ฮัง) เป็นคำว่าจังหวัด (県 -เค็ง) และรวบรวมดินแดนย่อยที่เกี่ยวข้อง (ยกเลิกดินแดนแทรกและดินแดนส่วนแยกที่มีอยู่ในยุคศักดินา) จะเป็นช่วงของการควบรวมจังหวัดระลอกแรกใน ค.ศ. 1871/72 ในช่วงนี้ จังหวัดโอชิและจังหวัดอิวัตสึกิถูกรวมเข้ากับจังหวัดอูราวะ ทำให้หลังจากการควบรวม จังหวัดอูราวะมีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอไซตามะทั้งหมดและพื้นที่ตอนเหนือของอำเภออาดาจิและอำเภอคัตสึชิกะ (แต่ในเวลานั้นแต่ละจังหวัดจะแบ่งเขตการปกครองออกเป็นไดกุ 大区 และโชกุ 小区 ยังไม่ได้แบ่งออกเป็นอำเภอ) และเปลี่ยนชื่อเป็นจังหวัดไซตามะ ในตอนแรกจะตั้งศาลากลางจังหวัดไซตามะที่เมืองอิวัตสึกิ ในอำเภอไซตามะ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1871 ตามคำสั่งของดาโจกังว่าด้วยการจัดตั้งจังหวัด แต่ท้ายที่สุดแล้วยังคงใช้ศาลากลางจังหวัดอูราวะเดิมที่เมืองอูราวะ ในอำเภออาดาจิ

จังหวัดคาวาโงเอะถูกผนวกรวมกับพื้นที่อื่น ๆ เข้าเป็นจังหวัดอิรูมะ (入間県, Iruma-ken; ใช้ศาลากลางจังหวัดคาวาโงเอะเดิม ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองคาวาโงเอะ อำเภออิรูมะ) ซึ่งประกอบด้วย 13 อำเภอของแคว้นมูซาชิซึ่งอยู่ในฝั่งตะวันตกของไซตามะในปัจจุบัน ใน ค.ศ. 1873 จังหวัดอิรูมะได้รวมเข้ากับจังหวัดกุมมะ (ที่ตั้งศาลากลางจังหวัด: เมืองทากาซากิ อำเภอกุนมะ) กลายเป็นจังหวัดคูมางายะ (ที่ตั้งศาลากลางจังหวัด: เมืองคูมางายะ อำเภอโอซาโตะ) แต่จังหวัดคูมางายะถูกแบ่งออกอีกครั้งใน ค.ศ. 1876 โดยพื้นที่ที่เคยเป็นแคว้นโคซูเกะได้กลายมาเป็นจังหวัดกุมมะอีกครั้ง และพื้นที่ที่เคยเป็นแคว้นมูซาชิหรือจังหวัดอิรูมะเดิม ได้ถูกผนวกเข้ากับจังหวัดไซตามะ ยกเว้นการโอนบางเทศบาลไปขึ้นกับจังหวัดโตเกียวในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1890/1900 และการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ หลายครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ผ่านการควบรวมเทศบาลข้ามจังหวัดหรือการโอนย้ายพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้จังหวัดไซตามะมีอาณาเขตดังเช่นในปัจจุบัน

9 อำเภอของจังหวัดไซตามะในคริสต์ศตวรรษที่ 19/20 แสดงทับซ้อนกับเขตเทศบาลในคริสต์ศตวรรษที่ 21 สีม่วงเข้ม: คัตสึชิกะเหนือ; สีฟ้าอ่อน: ไซตามะเหนือ; สีน้ำเงินเข้ม: ไซตามะใต้; สีชมพู: อาดาจิเหนือ; สีส้ม: อิรูมะ; สีเหลืองอ่อน: ฮิกิ; สีเขียวเข้ม: โอซาโตะ; สีเขียวอ่อน: โคดามะ; สีม่วง: ชิจิบุ

ในช่วงของการฟื้นฟูอำเภอให้เป็นหน่วยการปกครองอีกครั้งใน ค.ศ. 1878/79 จังหวัดไซตามะถูกแบ่งย่อยออกเป็น 18 อำเภอตามการแบ่งอำเภอในสมัยก่อนของแคว้นมูซาชิ แต่มีที่ว่าการอำเภอเพียง 9 แห่ง (ใช้บริหารร่วมกันในหลายอำเภอ) แต่แล้วอำเภอต่าง ๆ ก็ถูกควบรวมอย่างเป็นทางการจนเหลือ 9 อำเภอใน ค.ศ. 1896/97 ได้แก่ อำเภออาดาจิเหนือ อิรูมะ ฮิกิ ชิจิบุ โคดามะ โอซาโตะ ไซตามะเหนือ ไซตามะใต้ และคัตสึชิกะเหนือ อำเภอนีกูระ (หรือเรียกอีกอย่างว่า นีซะ ชิกิ หรือชิรางิ) ซึ่งเป็นหนึ่งในอำเภอที่ปรากฏอยู่ใน ค.ศ. 1878/79 ในตอนแรกได้ถูกควบรวมเข้ากับอำเภออาดาจิเหนือใน ค.ศ. 1896 แต่ในภายหลังพื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอก็ได้ถูกโอนไปรวมกับอำเภอทามะเหนือและอำเภอโทชิมะเหนือของจังหวัดโตเกียว ในช่วงที่มีการจัดตั้งเทศบาล (นคร เมือง และหมู่บ้าน) ใน ค.ศ. 1889 อำเภอเหล่านี้ในตอนแรกถูกแบ่งย่อยเป็น 40 เมือง และ 368 หมู่บ้าน นครแห่งแรกในจังหวัดไซตามะจัดตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1922 ในตอนที่เมืองคาวาโงเอะจากอำเภออิรูมะได้รับการยกฐานะกลายมาเป็นนครคาวาโงเอะ ในขณะที่เมืองอูราวะในอำเภออาดาจิเหนือ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัดไซตามะ ยังคงมีฐานะเป็นเมืองเรื่อยมาจนถึง ค.ศ. 1934 หลังจากการควบรวมเทศบาลครั้งใหญ่ในยุคโชวะช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 จำนวนเทศบาลในจังหวัดไซตามะก็ลดลงเหลือ 95 แห่ง ในขณะนั้นมีนครอยู่ด้วยกัน 23 แห่ง ต่อมาเมื่อมีการควบรวมเทศบาลกิจการครั้งใหญ่ในยุคเฮเซในช่วงคริสต์ทศวรรษ 2000 ทำให้จำนวนเทศบาลลดลงเหลือต่ำกว่า 70 แห่ง

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อโตเกียวขยายตัวอย่างรวดเร็วและระบบขนส่งสมัยใหม่ทำให้การเดินทางสะดวกขึ้น การขาดแคลนที่ดินในโตเกียวทำให้จังหวัดไซตามะได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จำนวนประชากรของจังหวัดไซตามะเพิ่มขึ้นเกือบสามเท่าเมื่อเทียบกับใน ค.ศ. 1960 เมืองส่วนใหญ่ในจังหวัดเชื่อมต่อกับใจกลางโตเกียวด้วยรถไฟ และเริ่มพัฒนาเป็นชานเมืองของโตเกียวที่ประกอบไปด้วยพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เชิงพาณิชย์

ใน ค.ศ. 2001 นครอูราวะควบรวมกับนครโอมิยะและนครโยโนะเพื่อจัดตั้งเป็นนครไซตามะ (แต่ชื่อเขียนด้วยฮิรางานะ ต่างจากชื่ออำเภอและชื่อจังหวัดที่เขียนด้วยคันจิ) กำหนดเป็นเมืองหลวงใหม่ของจังหวัดไซตามะ ต่อมาใน ค.ศ. 2003 นครไซตามะได้รับการยกฐานะเป็นนครใหญ่ที่รัฐกำหนดแห่งแรกและแห่งเดียว (จนถึงขณะนี้) ของจังหวัด[1]

ภูมิศาสตร์

[แก้]
แผนที่ภูมิประเทศจังหวัดไซตามะ

จังหวัดไซตามะมีอาณาเขตติดกับมหานครโตเกียว จังหวัดชิบะ จังหวัดอิบารากิ จังหวัดโทจิงิ จังหวัดกุมมะ จังหวัดนางาโนะ และจังหวัดยามานาชิ ตั้งอยู่ในบริเวณตอนกลาง-ตะวันตกของภูมิภาคคันโต โดยมีความยาวจากตะวันตกไปตะวันออก 103 กิโลเมตร และจากเหนือไปใต้ 52 กิโลเมตร จังหวัดไซตามะมีพื้นที่ 3,797.75 ตารางกิโลเมตร ถือเป็นจังหวัดที่มีขนาดพื้นที่เล็กเป็นอันดับ 9 ของประเทศญี่ปุ่น อาณาเขตทางทิศตะวันออกที่ติดกับจังหวัดชิบะถูกกำหนดโดยแม่น้ำเอโดะ อาณาเขตทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือที่ติดกับจังหวัดกุมมะถูกกำหนดโดยแม่น้ำโทเนะและแม่น้ำคานางาวะ และแนวสันปันน้ำระหว่างแม่น้ำอารากาวะกับแม่น้ำคานางาวะ อาณาเขตทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ถูกกำหนดโดยแนวสันปันน้ำของแม่น้ำอารากาวะ แม่น้ำทามะ และแม่น้ำฟูเอฟูกิ

ภูมิประเทศของจังหวัดไซตามะแบ่งออกเป็นพื้นที่ภูเขาทางตะวันตกและพื้นที่ราบทางตะวันออก โดยมีเส้นแบ่งเป็นแนวเขตรอยต่อธรณีแปรสัณฐานฮาจิโอจิ (八王子構造線) ซึ่งทอดผ่านพื้นที่โคดามะ (ส่วนหนึ่งของนครฮนโจ), เมืองโองาวะ, และนครฮันโน ระดับความสูงทางฝั่งตะวันตกจะสูงที่สุดและจะลดระดับลงเมื่อไปทางตะวันออก จากเทือกเขา ไปสู่เนินเขา ที่ราบสูง และที่ราบลุ่ม พื้นที่ราบสูงและที่ราบลุ่มทางตะวันออกครอบคลุมพื้นที่คิดเป็นร้อยละ 67.3 ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัด[2]

ฝั่งตะวันออกของจังหวัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบคันโต สามารถแบ่งย่อยพื้นที่ได้อีกเป็น 9 เนินเขา และ 10 ที่ราบสูง โดยพื้นที่เนินเขาจะครอบคลุมพื้นที่เล็ก ๆ ติดกับเทือกเขาคันโต เช่น เนินเขาฮิกิ และเนินเขาซายามะ ส่วนที่ราบสูงส่วนใหญ่จะถูกล้อมรอบด้วยที่ราบลุ่มน้ำจากตะกอนน้ำพา ในส่วนตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด จะมีที่ราบสูงโอมิยะ ซึ่งขนาบข้างโดยแม่น้ำฟูรูโตเนะทางทิศตะวันออกและแม่น้ำอารากาวะทางทิศตะวันตก[3]

ฝั่งตะวันตกของจังหวัดเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เทือกเขาคันโต โดยมีแอ่งชิจิบุตั้งอยู่ตรงกลาง พื้นที่ทางตะวันตกของแอ่งชิจิบุมียอดเขาสูง เช่น เขาซัมโป (三宝山, ตาม GSI อ่านว่า ซันโปยามะ แต่โดยทั่วไปจะอ่านว่า ซัมโปซัง) อยู่ที่ระดับความสูง 2,483 เมตร ตั้งอยู่ตรงพรมแดนทางทิศตะวันตกของจังหวัดไซตามะซึ่งติดกับจังหวัดนางาโนะ และเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในจังหวัดไซตามะ[4] และเขาโคบูชิ อยู่ที่ระดับความสูง 2,475 เมตร ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำอารากาวะ พื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติชิจิบุ-ทามะ-ไค ส่วนพื้นที่ทางตะวันออกของแอ่งชิจิบุจะประกอบไปด้วยภูเขาที่สูงน้อยกว่า

แม่น้ำโทเนะ ซึ่งเป็นหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของประเทศญี่ปุ่น เป็นส่วนหนึ่งของพรมแดนทางทิศเหนือของจังหวัด แต่ปัจจุบัน เส้นทางน้ำในจังหวัดไซตามะส่วนใหญ่ต่างไหลลงสู่แม่น้ำอารากาวะและแม่น้ำเอโดะ เนื่องจากทางน้ำหลักของแม่น้ำโทเนะถูกเปลี่ยนเส้นทางไปทางทิศตะวันออกโดยโทกูงาวะในคริสต์ศตวรรษที่ 17 เพื่อป้องกันไม่ให้เมืองหลวงเอโดะที่กำลังเติบโตถูกน้ำท่วม[5]

การเมืองการปกครอง

[แก้]

การเมืองระดับชาติ

[แก้]

ในรัฐสภาญี่ปุ่น คณะผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากจังหวัดไซตามะประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 15 คน และสมาชิกวุฒิสภา 8 คน (4 คนต่อหนึ่งรอบการเลือกตั้ง) การเลือกตั้งครั้งล่าสุดคือการเลือกตั้งทั่วไป ��.ศ. 2021 (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) และการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ค.ศ. 2022

การเมืองท้องถิ่น

[แก้]
อาคารหลักของศาลากลางจังหวัดไซตามะในปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่ในนครไซตามะ

ผู้ว่าราชการจังหวัด

[แก้]

เช่นเดียวกับการบริหารจังหวัดทั้งหมดของประเทศญี่ปุ่น จังหวัดไซตามะมีหัวหน้าฝ่ายบริหารคือผู้ว่าราชการจังหวัด (県知事; kenchiji) ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่ ค.ศ. 1947 ผู้ดำรงตำแหน่งปัจจุบันคือ โมโตฮิโระ โอโนะ อดีตสมาชิกรัฐสภาจากพรรค DPFP ซึ่งได้รับการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2019 โดยได้รับการสนับสนุนจากพรรคกลางซ้าย (พรรค CDP, DPFP, SDP) ชนะด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 47.9 คู่แข่งคือ เค็นตะ อาโอชิมะ อดีตนักเบสบอล (คะแนนเสียงร้อยละ 44.9) ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคกลางขวา (พรรค LDP, พรรคโคเม) และผู้สมัครอีกสามคน[6]

โนมูระ โมริฮิเดะ ผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะคนแรก

โนมูระ โมริฮิเดะ (野村盛秀) ซามูไรจากแคว้นซัตสึมะ ผู้ชนะสงครามโบชิงและยึดครองรัฐบาลร่วมกับพันธมิตรในช่วงการปฏิรูปเมจิ ได้กลายมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะคนแรก (ในช่วงทศวรรษแรกเรียกว่า เค็นเร (県令; kenrei)) เป็นระยะเวลาสั้น ๆ ใน ค.ศ. 1871 ส่วนชาวจังหวัดไซตามะคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้คือ ยูอิจิ โอซาวะ ผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะคนที่ 43 ใน ค.ศ. 1949

รายชื่อผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะ ตั้งแต่ ค.ศ. 1947
ชื่อ เริ่ม สิ้นสุด
จิตสึโซะ นิชิมูระ (西村実造) 12 เมษายน ค.ศ. 1947 28 มีนาคม ค.ศ. 1949
ยูอิจิ โอซาวะ (大沢雄一) 17 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 28 พฤษภาคม ค.ศ. 1956
ฮิโรชิ คูริฮาระ (栗原浩) 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1956 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1972
ยาวาระ ฮาตะ (畑和) 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1972 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1992
โยชิฮิโกะ สึจิยะ (土屋義彦) 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1992 18 กรกฎาคม ค.ศ. 2003
คิโยชิ อูเอดะ (上田清司) 31 สิงหาคม ค.ศ. 2003 30 สิงหาคม ค.ศ. 2019
โมโตฮิโระ โอโนะ (大野元裕) 31 สิงหาคม ค.ศ. 2019 อยู่ในตำแหน่ง

สภาจังหวัด

[แก้]

เช่นเดียวกับจังหวัดอื่น ๆ ข้อบัญญัติของจังหวัด งบประมาณ และการอนุมัติการแต่งตั้งผู้บริหารระดับจังหวัดที่สำคัญ เช่น รองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือสมาชิกคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ เป็นอำนาจของสภาจังหวัด ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงและมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปีในหนึ่งรอบการเลือกตั้ง ซึ่งอาจสอดคล้องกับวาระของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือไม่ก็ได้ แต่ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัดยังคงเป็นส่วนหนึ่งของรอบการเลือกตั้งท้องถิ่นพร้อมกันทั่วประเทศ (แต่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไซตามะได้หลุดออกจากรอบการเลือกตั้งพร้อมกันแล้วเมื่อ ค.ศ. 1949) ในรอบล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2023 พรรค LDP ยังคงรักษาเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดด้วยจำนวน 53 ที่นั่งจากทั้งหมด 93 ที่นั่งในสภา[7][8] เช่นเดียวกับจังหวัดส่วนใหญ่ สภาจังหวัดไซตามะก่อตั้งขึ้นตามกฎหมายใน ค.ศ. 1878 และเปิดประชุมครั้งแรกใน ค.ศ. 1879[9]

การแบ่งเขตการปกครอง

[แก้]
แผนที่เทศบาลในจังหวัดไซตามะ
     นครใหญ่ที่รัฐกำหนด      นคร      เมือง      หมู่บ้าน

จังหวัดไซตามะแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 63 เทศบาล ประกอบด้วย 40 เทศบาลนคร, 22 เทศบาลเมือง และ 1 เทศบาลหมู่บ้าน พื้นที่ที่แสดงในตารางมาจากรายงานของสำนักงานสารสนเทศภูมิศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่นใน ค.ศ. 2019[10] และจำนวนประชากรที่แสดงในตารางมาจากรายงานสำมะโนประชากรประจำ ค.ศ. 2015 ของสำนักงานสถิติ กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสาร[11] โดย 40 นครในจังหวัดไซตามะมีพื้นที่รวมกัน 2,823.05 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 74.33 ของพื้นที่จังหวัด และมีประชากรรวม 6,760,813 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 93.04 ของประชากรทั้งจังหวัด

จังหวัดไซตามะมี 8 อำเภอ โดยครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่เป็นเทศบาลเมืองและเทศบาลหมู่บ้าน

กีฬา

[แก้]
ไซตามะสเตเดียม 2002

ทีมกีฬาต่อไปนี้มีฐานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดไซตามะ

การท่องเที่ยว

[แก้]

สถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่ในจังหวัดไซตามะตั้งอยู่ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจังหวัด ซึ่งเรียกว่าภูมิภาคชิจิบุ ภูมิภาคนี้ประกอบด้วยพื้นที่เนินเขาและภูเขาที่มีความสูงปานกลางเป็นส่วนใหญ่ และตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ภูมิภาคนี้เป็นที่นิยมมากในการเดินทางท่องเที่ยวระยะสั้นของหมู่ผู้อยู่อาศัยในจังหวัดไซตามะและจังหวัดใกล้เคียง เนื่องจากสามารถเดินทางไปได้สะดวกผ่านโครงข่ายรถไฟ

มาสคอส

[แก้]

โคบาตง (ญี่ปุ่น: コバトンโรมาจิKobaton) เป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัด เป็นนกเขาหูสีม่วง ซึ่งเป็นนกประจำจังหวัดด้วยเช่นกัน โคบาตงถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ในการแข่งขันกีฬาแห่งชาติประจำปีครั้งที่ 59 ที่จัดขึ้นในจังหวัดเมื่อ ค.ศ. 2004 และได้รับการเปิดตัวเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดเมื่อ ค.ศ. 2005 โดยมีพิธีเปิดตัวและจดหมายแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีโคบาตงเวอร์ชันนั่งเก้าอี้รถเข็นอีกด้วย[12]

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

[แก้]

จังหวัดไซตามะมีความสัมพันธ์แบบเมืองพี่น้องกับรัฐและเขตการปกครองหลายแห่ง ดังแสดงด้านล่าง (เรียงตามลำดับเวลา)[13]

อ้างอิง

[แก้]

เชิงอรรถอ้างอิง

[แก้]
  1. 埼玉県近現代史主要年表 [Saitama prefectural modern history [1868–2016] chronological table of major events] (PDF). Saitama prefectural government (ภาษาญี่ปุ่น). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ June 27, 2020. สืบค้นเมื่อ June 27, 2020.
  2. 埼玉県総務部広聴広報課 (2008-02-06). "埼玉県/彩の国わくわくこどもページ/県のあらまし/土地・気象". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-06. สืบค้นเมื่อ 2010-12-07.
  3. "地形と歴史". 2004-09-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-09-28. สืบค้นเมื่อ 2010-12-07.
  4. GSI: 都道府県の最高地点 เก็บถาวร 2020-07-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Japanese, -to/-dō/-fu/-ken no saikōchiten; "highest points of each prefecture"), retrieved June 27, 2020.
  5. MLIT, Kantō regional development bureau: 利根川の東遷 เก็บถาวร 2020-06-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Japanese: Tonegawa no tōsen; "Eastward shift of the Tone river")
  6. NHKSenkyoWeb, August 26, 2019: 2019 Saitama gubernatorial election result and summary coverage เก็บถาวร 2020-10-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Japanese), retrieved June 27, 2020.
  7. 日本放送協会. "統一地方選挙2023 衆参補欠選挙 |NHK選挙WEB". www.nhk.or.jp (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2023-05-01.
  8. "総務省|第20回統一地方選挙 発表資料". 総務省 (ภาษาญี่ปุ่น). สืบค้นเมื่อ 2023-05-01.
  9. Saitama Prefectural Assembly: Chronological table เก็บถาวร 2020-11-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  10. 10.0 10.1 令和元年全国都道府県市区町村別面積調(7月1日時点) (.pdf) (Report) (ภาษาญี่ปุ่น). สำนักงานสารสนเทศภูมิศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่น. 1 กรกฎาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2019.
  11. 11.0 11.1 Population, Population Change(2010-2015), Area, Population Density, Households and Households Change(2010-2015) - Japan*, All Shi, All Gun, Prefectures*, All Shi of Prefectures, All Gun of Prefectures, Shi*, Ku*, Machi*, Mura* and Municipalities in 2000 (.csv) (Report) (ภาษาญี่ปุ่น). สำนักงานสถิติ กระทรวงกิจการภายในประเทศและการสื่อสาร. 16 ธันวาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2019.
  12. 埼玉県総務部広聴広報課 (2008-02-21). "埼玉県/埼玉県のマスコット コバトン". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-02-21. สืบค้นเมื่อ 2010-12-07.
  13. "Sister States and Provinces of Saitama Prefecture". Saitama Prefecture. 1 July 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 December 2012. สืบค้นเมื่อ 17 June 2012.

แหล่งข้อมูล

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]