ข้ามไปเนื้อหา

เอื้องหมายนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Costus speciosus)
เอื้องหมายนา
ดอกเอื้องหมายนา (Costus speciosus)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Monocots
ไม่ได้จัดลำดับ: Commelinids
อันดับ: Zingiberales
วงศ์: Costaceae
สกุล: Costus
สปีชีส์: C.  speciosus
ชื่อทวินาม
Costus speciosus
(J.Konig) Sm.
ภาพวาด – เอื้องหมายนา

เอื้องหมายนา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Costus speciosus, หรือ Cheilocostus speciosus; อังกฤษ: Indian Head Ginger) หรือ เอื้องเพชรม้า เป็นพืชล้มลุกอายุหลายฤดู จัดอยู่ในวงศ์เอื้องหมายนา ชอบขึ้นในที่ชื้นแฉะ มีเหง้าใต้ดิน ใช้เป็นไม้ประดับได้ เจริญได้ดีทั้งในที่ได้รับร่มเงาบ้าง หรือกลางแสงแดดจัดที่มีความชื้นสูง เอื้องหมายนาเป็นพืชมีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนและเป็นพืชประจำถิ่นในประเทศอินเดีย ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงเกาะนิวกินี

ลักษณะทั่วไป

[แก้]

ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 9.1–15.1 มิลลิเมตร สูง 1.5–2 เมตร อวบน้ำ ต้นเกลี้ยงหรือมีขนปกคลุม เหง้าใต้ดินสะสมอาหาร กาบใบปิด โอบรอบลำต้น มีสีแดงหรือสีน้ำตาลแดง ใบของเอื้องหมายนาเป็นใบเดี่ยว ออกเวียนสลับ รูปร่างกึ่งรูปขอบขนานกึ่งรูปหอก (oblong - lanceolate) ปลายใบเรียวแหลม ใบกว้าง 6–8 เซนติเมตร ยาว 20.5–29.6 เซนติเมตร ใต้ใบมีขนละเอียดสีขาวคล้ายกำมะหยี่ โคนใบแผ่เป็นกาบสีเขียวหรือสีน้ำตาลแดงหุ้มลำต้น ดอกของเอื้องหมายนาออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อดอกตั้งตรง ดอกตูมจะมีกาบสีแดงคล้ำหุ้มอยู่ ดอกติดกันแน่น ดอกย่อยเป็นรูปกรวยสีขาวมี 3 กลีบ กลีบหนึ่งมีขนาดโตและกว้างเป็นจะงอย ดอยเอื้องหมายนาจะทยอยบานครั้งละ 1–2 ดอก ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงพฤศจิกายน ส่วนฝักและผลเมื่อสุกจะเป็นรูปไข่มีสีแดงสด เมล็ดมีสีดำ เยื่อหุ้มเมล็ดสีขาว ผลแห้งแตกได้ ขยายพันธุ์โดยการแบ่งกอ หรือเพาะเมล็ด พบกระจายทั่วไปตั้งแต่อินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีพบในอเมริกาใต้

ประโยชน์

[แก้]

เหง้าเป็นหัวมีแป้ง 60% ใช้เป็นอาหารได้ มีเส้นใยมาก ในประเทศมาเลเซีย อินเดีย และฟิลิปปินส์ใช้หน่ออ่อนใส่แกง เป็นผัก เหง้าและเมล็ดมีสารไดออสจีนิน ซึ่งมีฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง และเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ยาสเตอรอยด์ เมล็ดมีกรดไขมันที่มีกลิ่นหอม เหง้าสดจะมีพิษ เมื่อบริโภคในปริมาณมากจะทำให้อาเจียน ท้องร่วงรุนแรง และทำให้แท้งเนื่องจากการที่มีฤทธิ์ต้านการฝังตัวของตัวอ่อนที่ผนังมดลูก วิธีลดพิษคือต้องทำให้สุกก่อน ในมาเลเซียใช้ต้นเอื้องหมายนาในพิธีกรรมต่างๆ

  • เหง้าสด – มีรสฉุน เย็นจัด สามารถใช้ตำพอกบริเวณสะดือ รักษาโรคท้องมาน ใช้ขับปัสสาวะ เป็นยาถ่าย แก้ตกขาว บวมน้ำ ฆ่าพยาธิ รักษาโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แผลอักเสบบวมมีหนอง และฆ่าพยาธิ น้ำคั้นจากหัวสดใช้เป็นยาขับลม ใช้เป็นยาแก้วิงเวียน เหง้ากินกับหมากแก้ไอ
  • ราก – เป็นยาขม ขับเสมหะ ขับพยาธิ แก้ไอ แก้โรคผิวหนัง
  • ใบ – แก้ไข้ น้ำคั้นจากใบและยอดอ่อนใช้รักษาโรคตาและหู น้ำต้มใบและใบขยี้ละเอียดใช้ทาภายนอก รักษาโรคผิวหนังและลดไข้
  • นิยมตัดประดับแจกันทั้งต้นที่มีช่อดอก เนื่องจากมีความสวยงามทั้งต้นและกาบประดับ นอกจากนี้ยังปลูกเป็นไม้ประดับได้อีกด้วย
  • เอาส่วนของดอก ใบและเหง้ามาบดให้ละเอียดผสมน้ำแล้วนำไปลาดเทลงแปลงนาที่มีการระบาดของหอยเชอรี่จะได้ผลดี เนื่องจากเอื้องหมายนามีสาร แทนนิน ทำให้หอยตายได้ ไข่ฝ่อ

ชื่อท้องถิ่น

[แก้]

ชื่อ "เอื้องหมายนา" มีที่มาจากประเพณีการสู่ขวัญควาย เนื่องจากชาวนาได้ดุด่า ทุบตีควายระหว่างการไถพรวนในฤดูการทำงาน เมื่อต้นกล้าโตเต็มที่สามารถถอนกล้าไปดำนาแล้วนั้นเป็นอันสิ้นสุดสำหรับการใช้แรงงานของควาย จากนั้นชาวนาก็จะขอขมาลาโทษจากควาย หรือที่เรียกว่า "สู่ขวัญควาย" ซึ่งในพิธีจะมีการนำต้นเอื้องหมายนา ไปปักไว้ 4 ทิศของบริเวณพื้นที่นาของตนเองที่เป็นเจ้าของ เอื้องหมายนาที่ปักไว้นี้มีประโยชน์คือ ป้องกันวัชพืชของต้นข้าว เช่น เพลี้ย บั่ว ที่จะมาทำลายต้นข้าว เมื่อป้องกันวัชพืชเหล่านี้ได้ต้นข้าวจะออกรวงดี จึงเป็นที่มาของชื่อ "เอื้องหมายนา" ในแต่ละท้องถิ่นก็จะมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป ดังนี้

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

เอื้อง หมายนา ถามคุณตาทวดอายุ104ปี แกบอกว่า สมัยโบราณ เขาจับจองที่ทำ ตามข้างๆลำห้วย มักจะใช้กอเอื้องนี้ไปปลูกตามแดน หรือบอกแดน คนกับคนอื่นว่า ของเขาอยู่จากต้นเอื้องนี้ไปหาต้นนี้ คือหมายเขตแดน นานั่นอง บางคนขุดไปปลูกตามมุมเขต จึงเรียกกันว่าเอื้องหมายที่นา คนต่อๆมาเรียกสั้นๆว่าเอื้องหมายนา