วงศ์แคหางค่าง
วงศ์แคหางค่าง | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | พืช (Plantae) |
หมวด: | พืชดอก (Magnoliophyta) |
ชั้น: | พืชใบเลี้ยงคู่ (Magnoliopsida) |
อันดับ: | Lamiales |
วงศ์: | วงศ์แคหางค่าง (Bignoniaceae) L. |
วงศ์แคหางค่าง หรือ วงศ์ไม้ปีบ[1] (ชื่อวิทยาศาสตร์:En:Bignoniaceae) เป็นชื่อวงศ์พรรณไม้ของพืชในตระกูล ปีบ เพกา แคสันติสุข แคแสด ศรีตรัง ชมพูพันธุ์ทิพย์ เหลืองปรีดียาธร ลักษณะเด่นคือ สัณฐานดอกลักษณะปากแตร ส่วนลักษณะเด่นอื่น ๆ ใบเดี่ยวติดเป็นวงรอบข้อ หรือใบประกอบติดตรงข้ามแต่ละคู่ตั้งฉากกัน ใบด้านล่างมีต่อม ดอกใหญ่บานเด่นชัด เกสรเพศผู้มี 4 อัน สั้น 2 ยาว 2 มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน 1 อัน ผลแห้งแตก แข็ง ผิวเรียบ เมล็ดมีปีก และมีจำนวนมาก
เดิมทีวงศ์แคหางค่างอยู่ในอันดับ Scrophulariales แต่ภายหลังยุบรวม อันดับ Scrophulariales เข้ากับอันดับกะเพรา (Lamiales) จึงทำให้วงศ์แคหางค่างถูกจัดอยู่ในอันดับแลเมียลิส ไปด้วยโดยปริยาย
ลักษณะประจำวงศ์
[แก้]วงศ์แคหางค่าง เป็นวงศ์ของ ไม้เลื้อย หรือไม้ต้นเนื้อแข็ง ใบเป็นใบเดี่ยว หรือใบประกอบ มีเส้นใบออกจากสองข้างของเส้นกลางใบแบบขนนก ดอก ใหญ่ และบานเด่นชัด กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกัน กลีบดอกเชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้มี 4 อัน สั้น 2 ยาว 2 รังไข่ติดเหนือวงกลีบ มี 2 ช่อง มีไข่อ่อนหลายหน่วยต่อ 1 ช่อง ผล เป็นแบบผลแห้งแตก แข็ง ผิวเรียบ เมล็ดมีปีก
วงศ์ใกล้เคียง
[แก้]- วงศ์ว่านไก่แดง (Gesneriaceae) และ วงศ์มณเฑียรทอง (Scrophulariaceae) โดยทั้งสองวงศ์นี้พบน้อยที่เป็นไม้เนื้อแข็งและไม่พบเป็นไม้เลื้อย ใบของทั้งสองวงศ์นี้เป็นใบเดี่ยว เมล็ดไม่มีปีก
- วงศ์สัก (Verbenaceae) แต่ไข่อ่อนของวงศ์สักมีจำนวนน้อย และเมล็ดไม่มีปีก
การกระจายพันธุ์
[แก้]ส่วนใหญ่กระจายพันธุ์ในเขตร้อน มีบางชนิดเท่านั้นที่กระจายไปในเขตอบอุ่น โดยในประเทศไทย มี 14 สกุล เช่น
- สกุลปีบ (Millingtonia) ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ได้แก่ ปีบ (Millingtonia hortensis L.f.)
- สกุลเพกา (Oroxylum) ไม้ต้น พบในป่าดิบชื้น ได้แก่ เพกา (Oroxylum indicum (L.) Kurz.)
- สกุลกาซะลองคำ (Radermachera) ไม้ต้น พบในป่าดิบชื้น เช่น แคชาญชัย (Radermachera glandulosa (Blume) Miq.)
- สกุลแคทราย (Stereospermum) ไม้ต้น พบในป่าดิบชื้น ได้แก่ แคทราย (Stereospermum neuranthum Kurz.)
- สกุลแคสันติสุข (Santisukia) ไม้ต้นขนาดเล็ก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เช่น แคสันติสุข (Santisukis kerrii (Barnett & Sandwith) Brummit.)
- สกุลตาเบบูยา (Tabebuia) ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เช่น ชมพูพันธุ์ทิพย์ (Tabebuia rosea (Bertol.) DC.), เหลืองปรีดียาธร (Tabebuia argentea Britt.)
- สกุลศรีตรัง (Jacaranda) ไม้ต้นผลัดใบขนาดกลาง เช่น Jacaranda obtusifolia Bonpl., Jacaranda mimosifolia D.Don
การใช้ประโยชน์
[แก้]พืชในวงศ์แคหางค่างที่นิยมปลูกเป็นพืชประดับ เช่น น้ำเต้าต้น (Crescentia cujete L.) ศรีตรัง (Jacaranda obtusifolia Bonpl.) ไส้กรอกแอฟริกา (Kigelia africana (Lam.) Benth.) แคแสด (Spathodea campanulata P. Beauv.) ชมพูพันธุ์ทิพย์ (Tabebuia rosea (Bertol.) DC.) ทองอุไร (Tecoma stans (L.) Kunth.) เป็นต้น ดอกจะมีนก ค้างคาว มาดูดน้ำหวาน ส่วนเมล็ด มีปีกและแพร่พันธุ์โดยลม
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-27. สืบค้นเมื่อ 2007-08-27.
- ก่องกานดา ชยามฤต. ลักษณะประจำวงศ์พรรณไม้. กรุงเทพมหานคร : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, 2548. ISBN 974-415-175-7
- แคสันติสุข เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สารานุกรมพืช สำนักงานหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- ศรีตรัง พรรณไม้มงคลประจำจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการพืชเศรษฐกิจ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- ศรีตรัง จิตรลดาพฤกษาพรรณ