ข้ามไปเนื้อหา

หลวงพ่อเงิน พุทฺธโชติ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก หลวงปู่เงิน พุทธโชติ)
หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ

(เงิน พุทธโชติ)
ชื่ออื่นหลวงพ่อเงิน พุทธโชติ
ส่วนบุคคล
เกิด16 กันยายน พ.ศ. 2351 (111 ปี)
มรณภาพ20 กันยายน พ.ศ. 2462
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร
อุปสมบทพ.ศ. 2373
พรรษา89
ตำแหน่งอดีตเจ้าอาวาสวัดบางคลาน

หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ เกิดวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2351 ตรงกับรัชกาลของ​ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นอดีตเจ้าอาวาส​ วัดบางคลาน จังหวัดพิจิตร

ประวัติ

[แก้]

หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ เกิดเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2351 ตรงกับวันศุกร์​ แรม​ 12​ ค่ำ เดือน 10 ปีมะโรง ในปลายแผ่นดินของ​ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอด​ฟ้า​จุฬา​โลกมหาราช​ รัชกาลที่ 1 โยมบิดาชื่อ อู๋ เป็นชาวบางคลาน (อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร) โยมมารดาชื่อฟัก เป็นชาวแสนตอ (อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร) โดยหลวงพ่อเงินเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน

เมื่อท่านอายุได้ 3 ขวบ ผู้เป็นลุงได้พามาอยู่ที่กรุงเทพฯ​ เพื่อศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่วัดตองปุ​ หรือ​ วัดชนะสงคราม ต่อมา เมื่อท่านอายุ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดชนะสงคราม ศึกษาพระธรรมวินัย​ ก่อนที่หลวงพ่อเงินจะบวชเป็นพระ​ ท่านได้สึกจากการเป็นสามเณรเมื่ออายุครบ 20 ปี และได้กลับไปสู่บ้านเกิดเมืองนอนคือจังหวัดพิจิตร ระหว่างที่สึกออกมานี้ ด้วยความที่เป็นวัยฉกรรจ์ ท่านได้ไปชอบพอกับสาวชาวบ้านชื่อ เงิน เช่นเดียวกัน แต่ด้วยมิใช่เนื้อคู่ จึงทำให้ต้องแคล้วคลาดจากกัน มีเรื่องเล่ากันว่า เมื่อครั้งที่ท่านไปมาหาสู่ที่บ้านสาว ตอนขึ้นบ้านนั้นขั้นบันไดเกิดหักขึ้นมาทำให้ท่านตกบันได​ ท่านจึงเกิดความละอายและไม่กล้าไปบ้านสาวคนนั้นอีกเลย ครั้นพออายุได้ 20 ปี บิดา มารดา และญาติพี่น้องมีความประสงค์จะให้ท่านอุปสมบทเป็นพระ แต่ท่านไม่ยอมเพราะเกรงว่าอายุของท่านจะไม่ครบบริบูรณ์จริง​ บรรดาญาติก็อนุโลมตาม จนกระทั่งหลวงพ่ออายุได้ 22 ปี ตรงกับ พ.ศ.2373 ท่านอุปสมบท ณ วัดชนะสงคราม มีฉายาว่า "พุทธโชติ" บวชได้ 3 พรรษา​ พี่ชายของท่านคือขุนภุมรา ได้เดินทางไปรับกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดคงคาราม​ (วัดบางคลานใต้)​ จังหวัดพิจิตร เนื่องจากปู่ของท่านได้ล้มป่วยลง​ ต้องการให้หลวงพ่อเงินช่วยดูแลรักษาเพราะได้ร่ำเรียนวิชาแพทย์แผนโบราณและรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีต่างๆ อยู่วัดคงคาราม ได้ 1 พรรษา เนื่องจากท่านเป็นพระนักวิปัสสนากรรมฐานชอบอยู่อย่างสงบในช่วงเข้ากรรมฐาน ท่านเห็นว่าระหว่างแม่น้ำยมและแม่น้ำพิจิตร​ (แม่น้ำน่านสายเก่า)​ ที่ไหลมาบรรจบกัน​ มีวัดร้างเก่าอยู่และมีป่าอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การวิปัสสนากรรมฐานเป็นอย่างมาก พ.ศ.2477 ท่านจึงไปสร้างวัดใหม่​ ลึกเข้าไปจากวัดร้างเดิมประมาณ 500 เมตร ชื่อวัดว่า​ วัดวังตะโก ตามชื่อหมู่บ้าน​ ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น​ วัดบางคลาน​ หรือ​ วัดหิรัญญาราม​ ตอนที่ย้ายจากวัดคงคาราม หลวงพ่อได้นำกิ่งโพธิ์ติดตัวมาด้วย 1 กิ่ง​ แล้วนำกิ่งโพธิ์นั้นมาปลูกเสี่ยงทาย ถ้าหากต้นโพธิ์ตายก็คงจะอยู่ไม่ได้ ถ้าหากที่นี่จะเป็นวัดได้ขอให้ต้นโพธิ์เจริญงอกงาม ปรากฏว่าต้นโพธิ์เจริญงอกงามแผ่กิ่งก้านสาขาใหญ่โต แล้ววัดก็เจริญรุ่งเรืองตามลำดับ​ จากกุฏิหลังคามุงแฝกเป็นมุงกระเบื้อง และสร้างศาลาพระอุโบสถตามลำดับ ตลอดระยะเวลาที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่นี่​ ได้บำบัดรักษาผู้ป่วยตามตำรับแพทย์แผนโบราณ การอาบน้ำมนต์ญาติโยมเดินทางมาให้รักษา มาขอมอบตัวเป็นศิษย์อย่างไม่ขาดสาย​ หลวงพ่อเงินก็ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ที่นี่ด้วย​

จากหนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดพิจิตร ได้กล่าวถึงผลงานที่สำคัญหลวงพ่อเงินไว้ว่า ผลงานที่สำคัญของ���ลวงพ่อเงิน

1. ด้านการก่อสร้าง หลวงพ่อเงินมักเป็นธุระในการก่อสร้างถาวรวัตถุ​ เพราะท่านเป็นนักก่อสร้าง​ ได้ก่อสร้างโบสถ์ วิหาร วัดใกล้เคียงอยู่เสมอ โดยเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างจากการรวบรวมทรัพย์จากการทำวัตถุมงคล เช่น พระเครื่อง พระพิมพ์ต่างๆ พระบูชา ตลอดจนมีผู้บริจาคร่วมก่อสร้างศาลาพักร้อน เพื่อคนที่สัญจรไปมาจะได้พัก ศาลาที่ยังคงเหลืออยู่ เช่น ศาลาพักร้อนที่อยู่ระหว่าง​ หนองหลวงกับ​หนองขาว​ และที่​หนองแหน เขตตำบลบางคลาน อำเภอโพทะเล​ จังหวัดพิจิตร

2. ด้านการรักษาด้วยวิชาแพทย์แผนโบราณ หลวงพ่อเงินเป็นหมอแผนโบราณที่เก่งทางด้านรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยยาสมุนไพร หรือบางครั้งก็ใช้น้ำมนต์รักษา (คงจะได้ผลทางด้านกำลังใจในฐานะพระที่มีวิชาวิปัสสนาแก่กล้า) ปัจจุบันตำรายาสมุดข่อยของท่านยังคงเก็บรักษาไว้ที่วัดบางคลาน

3. ทางด้านวิปัสสนาเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียง เป็นศิษย์สำนักเดียวกันและเป็นเพื่อนสนิทกับ​ หลวงปู่ศุข​ วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท ซึ่งท่านได้แนะนำ​ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ​ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์​ ให้มาเรียนทางด้านวิปัสสนากับหลวงพ่อเงิน รวมทั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสก็เสด็จมาประทับ ณ วัดวังตะโก เป็นเวลาหลายวันเพื่อทรงศึกษาทางด้านวิปัสสนา

หลวงพ่อเงินถึงแก่มรณภาพเมื่อก่อนรุ่งสางของวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2462 แรม​ 11​ ค่ำ​ เดือน​ 10​ เวลาประมาณตีห้า​ (ตรงกับเช้าวันเสาร์​ เวลาไทยหากยังไม่รุ่งสางยังนับเป็นวันศุกร์)​ สิริอายุได้ 111 ปี

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]
ก่อนหน้า หลวงพ่อเงิน พุทฺธโชติ ถัดไป
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) เกจิอาจารย์
(พ.ศ. 2375 - พ.ศ. 2464)
หลวงปู่ทอง อายะนะ