สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิก
ชื่อเต็ม | สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิก | |||
---|---|---|---|---|
ฉายา | Der FCB (The FCB) Die Bayern (The Bavarians) Stern des Südens (Star of the South) Die Roten (The Reds)[1] FC Hollywood[2] เสือใต้ (ในภาษาไทย) | |||
ชื่อย่อ | ไบเอิร์น | |||
ก่อตั้ง | 27 กุมภาพันธ์ 1900 | |||
สนาม | อัลลีอันทซ์อาเรนา | |||
ความจุ | 75,000[3] | |||
ประธาน | แฮร์แบร์ท ไฮเนอร์ | |||
ซีอีโอ | ยาน-คริสเตียน ดรีเซิน | |||
ผู้จัดการ | แว็งซ็อง กงปานี | |||
ลีก | บุนเดิสลีกา | |||
2023–24 | บุนเดิสลีกา อันดับที่ 3 | |||
เว็บไซต์ | เว็บไซต์สโมสร | |||
| ||||
สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิก หรือ สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมึนเชิน (เยอรมัน: FC Bayern München)[4] เป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพของประเทศเยอรมนี ตั้งอยู่ที่นครมิวนิก รัฐไบเอิร์น อีกชื่อหนึ่งอาจเรียกว่า บาวาเรียมิวนิก หรือ ไบเอิร์น เป็นสโมสรที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จมากที่สุดในประเทศ ปัจจุบันเล่นอยู่ในบุนเดิสลีกา ลีกสูงสุดของฟุตบอลเยอรมนี พวกเขาเป็นเจ้าของสถิติชนะเลิศลีกสูงสุด 33 สมัย และทำสถิติชนะเลิศติดต่อกัน 11 สมัยตั้งแต่ ค.ศ. 2013–2023 และยังชนะเลิศเดเอ็ฟเบ-โพคาล สูงสุด 20 สมัย รวมทั้งถ้วยยุโรปอีกหลายรายการ
สโมสรก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1900 โดยกลุ่มนักฟุตบอล 11 คน นำโดย ฟรันทซ์ จอห์น[5] แม้ไบเอิร์นมิวนิกจะชนะเลิศลีกสูงสุดสมัยแรกใน ค.ศ. 1932 ทว่าสโมสรกลับไม่ได้รับเลือกให้เข้าร่วมแข่งขันฤดูกาลแรกของบุนเดิสลีกาใน ค.ศ. 1963 ไบเอิร์นมิวนิกประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงกลางทศวรรษ 1970 ภายใต้การนำของกัปตันทีมอย่าง ฟรันทซ์ เบ็คเคินเบาเออร์ ผู้พาสโมสรชนะเลิศยูโรเปียนคัพ 3 สมัยติดต่อกันระหว่าง ค.ศ. 1974–1976 ไบเอิร์นมิวนิกเป็นหนึ่งในสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในทวีปยุโรป พวกเขาชนะเลิศยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 6 สมัย นับเป็นสถิติสูงสุดของเยอรมนี โดยชนะเลิศครั้งล่าสุดใน ค.ศ. 2020 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่พวกเขาคว้าสามถ้วยรางวัล ทำสถิติเป็นสโมสรที่สองของทวีปยุโรป ที่ชนะเลิศการแข่งขันสามถ้วยรางวัลในฤดูกาลเดียวกันได้สองครั้ง หลังเคยทำได้ใน ค.ศ. 2013 สโมสรยังชนะเลิศยูฟ่าคัพ 1 สมัย, ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ 1 สมัย และ ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 2 สมัย ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรปและอเมริกาใต้ 2 สมัย และฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก อีก 2 สมัย ส่งผลให้พวกเขาเป็นสโมสรเดียวของเยอรมนีที่ชนะการแข่งขันระดับโลกได้สองรายการ
ผู้เล่นของไบเอิร์นมิวนิกได้รับรางวัลบาลงดอร์รวมกัน 5 สมัย, รางวัลนักฟุตบอลชายยอดเยี่ยมของฟีฟ่า 2 สมัย, รางวัลรองเท้าทองคำยุโรป 5 สมัย, รางวัลนักฟุตบอลชายยอดเยี่ยมของยูฟ่าอีก 3 สมัย ภายหลังจากชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลกใน ค.ศ. 2020 ไบเอิร์นมิวนิกกลายเป็นสโมสรที่สองในประวัติศาสตร์ที่ชนะเลิศ 6 ถ้วยรางวัลภายในหนึ่งปีปฏิทิน (ชนะเลิศบุนเดิสลีกา, เดเอ็ฟเบ-โพคาล และ ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกในฤดูกาล 2019–2020 ตามด้วยการชนะเลิศเดเอ็ฟเอ็ล-ซูเพอร์คัพ 2020, ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 2020 และฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 2020 ในฤดูกาลต่อมา) พวกเขายังเป็น 1 ใน 5 สโมสรที่ชนะเลิศการแข่งขันรายการหลักของยูฟ่าครบสามรายการ (ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก, ยูฟ่าคัพ และ ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ) รวมทั้งเป็นสโมสรเดียวของเยอรมนีที่ทำได้ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2023 สโมสรอยู่ในอันดับสองจากการจัดอันดับโดยค่าสัมประสิทธิ์สโมสรฟุตบอลโดยสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรป ไบเอิร์นมิวนิกมีคู่อริในภูมิภาคได้แก่ เทเอ็สเฟา 1860 มึนเชิน และ แอร์สเทอร์ เอ็ฟเซ เนือร์นแบร์ค รวมถึงการเป็นอริกับ โบรุสซีอาดอร์ทมุนท์ มาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990
ไบเอิร์นมิวนิกเป็นสโมสรที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเยอรมนี[6] และเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลก คำขวัญประจำสโมสรคือ "Mia San Mia" แปลว่า "เรา คือ เรา" นับตั้งแต่ฤดูกาล 2005–2006 สโมสรลงเล่นที่สนามอัลลีอันทซ์อาเรนา แทนสนามเดิมคือ โอลึมพีอาชตาดีอ็อน ซึ่งถูกใช้งานมา 33 ปี สีประจำสโมสรคือสีแดงและสีขาว และตราสโมสรเป็นสัญลักษณ์ของธงรัฐไบเอิร์นซึ่งเป็นสีฟ้าและขาว ในแง่ผลประกอบการ ไบเอิร์นมิวนิกเป็นสโมสรกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในเยอรมนี และเป็นสโมสรฟุตบอลที่ทำรายรับได้มากเป็นอันดับสามของโลก เป็นรองเพียงบาร์เซโลนาและเรอัลมาดริด ด้วยมูลค่า 634.1 ล้านยูโรใน ค.ศ. 2021[7] ใน ค.ศ. 2023 สโมสรมีสมาชิกกว่า 300,000 ราย สโมสรยังมีชื่อเสียงในกีฬาประเภทอื่น ๆ เช่น หมากรุก, แฮนด์บอล, บาสเกตบอล, ยิมนาสติก, โบว์ลิ่ง และ เทเบิลเทนนิส
ประวัติ
[แก้]ยุคแรก (1900–65)
[แก้]ไบเอิร์นมิวนิก ก่อตั้งขึ้นภายในสโมสรกีฬายิมนาสติก (MTV 1879) ของเมืองมิวนิกเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1900 สมาคมฟุตบอลเยอรมนี มีมติห้ามไม่ให้นักฟุตบอลจากสโมสรดังกล่าวเข้าร่วมการแข่งขัน ทำให้นักเตะจำนวน 11 คนตัดสินใจออกจากสโมสร แล้วมาก่อตั้งสโมสรใหม่ในชื่อ สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิก และเพียงไม่กี่เดือนหลังจากนั้น ไบเอิร์นมิวนิกก็ชนะคู่แข่งในท้องถิ่นด้วยผลประตูขาดลอยรวมถึงการเอาชนะทีมเอฟเซนอร์ทเทิร์นด้วยผลประตู 15–0[8] และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศรายการ เ���าท์ เยอรมัน แชมป์เปียนชิพ ฤดูกาล 1900–01 ฤดูกาลถัดมาสโมสรสามารถคว้าถ้วยรางวัลระดับท้องถิ่นหลายรายการ
ถัดมาในฤดูกาล 1910–11 สโมสรได้เข้าร่วมก่อตั้งลีกใหม่ของรัฐไบเอิร์นคือ เครียส์ลีกา โดยได้แชมป์ในฤดูกาลแรก แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้แชมป์อีกเลยกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้น การแข่งขันทุกอย่างก็หยุดชะงักลงแต่ในช่วงสิ้นสุดทศวรรษแรกของการก่อตั้งสโมสรนั้น ไบเอิร์นมิวนิคสามารถดึงดูดผู้เล่นทีมชาติเยอรมนีคนแรกเข้าสู่ทีมได้ซึ่งก็คือ แม็กซ์ กาบลอนสกี และใน ค.ศ. 1920 สโมสรมีสมาชิกกว่า 700 รายส่งผลให้พวกเขากลายเป็นสโมสรฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในมิวนิก หลังสงครามสิ้นสุด สโมสรได้แชมป์ในระดับภูมิภาคหลายครั้ง ก่อนจะได้แชมป์ เซาท์ เยอรมัน แชมป์เปียนชิพใน ค.ศ. 1926 และทำได้อีกครั้งในสองปีต่อมา และได้แชมป์ระดับชาติครั้งแรกใน ค.ศ. 1932 เมื่อผู้ฝึกสอน ริชาร์ด คอห์น นำทีมเอาชนะไอน์ทรัคท์ฟรังค์ฟวร์ท 2–0 ในรายการชิงแชมป์เยอรมัน ภายหลังการกำเนิดระบอบนาซีขึ้น ทำให้ผู้จัดการทีมและผู้เล่นหลายรายต้องหลบหนีออกจากประเทศ จนมีคำกล่าวว่า ไบเอิร์นมิวนิคคือทีมของคนยิว ในขณะที่คู่แข่งร่วมเมืองอย่าง เทเอ็สเฟา 1860 มึนเชิน กลับได้รับการสนับสนุนจากแฟนฟุตบอลเป็นจำนวนมาก
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ไบเอิร์นมิวนิกได้เข้าร่วมการประชุมการก่อตั้งโอเบอร์ลีกา โดยแบ่งลีกออกเป็น 5 ส่วน ในช่วง ค.ศ. 1945–63 พวกเขาเปลี่ยนผู้จัดการทีมถึง 13 คน หลังจากที่ แลนเดอร์ กลับจากการลี้ภัยสงครามใน ค.ศ. 1947 ก็กลับมาเป็นประธานสโมสรอีกครั้ง สโมสรประสบปัญหาทางการเงินใน ค.ศ. 1950 โรแบนด์ เอนเดลอร์ ได้หาเงินทุนมาสนับสนุนทีมเป็นเวลา 4 ปี โดยอยู่จนถึง ค.ศ.1951 ใน ค.ศ. 1955 สโมสรตกชั้นไปแข่งในโอเบอร์ลีกา ในฤดูกาลถัดไป โดยพวกเขาคว้าแชมป์ เดเอ็ฟเบ-โพคาล หลังเอาชนะทีม ฟอร์ทูน่า ดุยเซลดอล์ฟ 1–0 ใน ค.ศ. 1963 โอเบอร์ลีกาถูกรวมลีกเป็นลีกแห่งชาติแค่ลีกเดียว โดยคัดเอา 5 อันดับแรกจากตารางคะแนน ไบเอิร์นมิวนิกอยู่อันดับ 3 และ 1860 มิวนิกเป็นแชมป์โอเบอร์ลีกา ทางสมาคมเห็นว่าในหนึ่งเมืองควรมีสโมสรฟุตบอลแค่ทีมเดียวจึงตัดสิทธิไบเอิร์นมิวนิกออกจากบุนเดิสลีกา อย่างไรก็ตามในสองปีต่อมา ทีมก็เลื่อนชั้นสู่บุนเดิสลีกาได้สำเร็จด้วยการนำทีมของนักเตะระดับตำนานอย่าง ฟรันทซ์ เบ็คเคินเบาเออร์, แกร์ท มึลเลอร์ และ เซฟฟ์ เมียเออร์
ยุคแห่งความสำเร็จ (1965–79)
[แก้]ในฤดูกาลแรกในการแข่งในระดับบุนเดิสลีกานั้น สโมสรคว้าอันดับสามพร้อมแชมป์เดเอ็ฟเบ-โพคาลมาได้ ทำให้ได้สิทธิลงแข่งในฟุตบอลยูโรเปียนคัพวินเนอร์สคัพ และคว้าแชมป์มาครองได้ หลังเอาชนะสโมสรเรนเจอส์ในช่วงต่อเวลา 1–0 จากประตูของ ฟรันทซ์ โรท ถัดมาใน ค.ศ. 1967 แม้ทีมจะได้แชมป์ เดเอ็ฟเบ-โพคาล แต่ด้วยรูปแบบการเล่นที่ไม่ดี สโมสรเลยแต่งตั้ง บลังโก เซเบค เข้ามาเป็นผู้ฝึกสอนของทีม ด้วยรูปแบบการเล่นที่เน้นการบุก และความมีวินัยมากกว่าเดิม ทำให้พวกเขาได้แชมป์ฟุตบอลลีกและฟุตบอลถ้วยใน ค.ศ. 1969 โดยเป็น 1 ใน 4 ทีมที่คว้าแชมป์สองรายการได้ในปีเดียวกัน เช่นเดียวกับ โบรุสซีอาดอร์ทมุนท์, แอร์สเทอ เอ็ฟเซ เคิลน์ และ เอ็สเฟา แวร์เดอร์ เบรเมน โดยเซเบคใช้ผู้เล่นทั้งฤดูกาลแค่ 13 คนเท่านั้น
ใน ค.ศ. 1970 อูโด แลตเท็ก นำทีมคว้าแชมป์ เดเอ็ฟเบ-โพคาลได้ในฤดูกาลแรก รวมถึงคว้าแชมป์ลีกสูงสุดเป็นสมัยที่สามในฤดูกาล 1971–72 ซึ่งในปีนี้ไบเอิร์นมิวนิกเปลี่ยนมาใช้สนามกีฬาโอลิมปิกในมิวนิกเป็นครั้งแรกในนัดตัดสินที่พบกับชัลเคอ 04 โดยมีการถ่ายทอดสอดทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์บุนเดิสลีกาอีกด้วย พวกเขาเอาชนะไปด้วยผลประตู 5–1 คว้าแชมป์อย่างเป็นทางการ และสร้างสถิติใหม่หลายรายการในขณะนั้น อาทิ เป็นทีมที่ทำคะแนนสูงสุด และทำประตูในลีกมากที่สุด[9] ก่อนจะป้องกันแชมป์ได้อีกสองสมัยติดต่อกันในสองฤดูกาลถัดมา ยิ่งไปกว่านั้น ใน ค.ศ. 1974 สโมสรคว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพสมัยแรก โดยเอาชนะ อัตเลติโกเดมาดริด ด้วยผลประตู 4–0 ในนัดแข่งใหม่ หลังจากที่ใน ค.ศ. 1967 สโมสรเคยได้แชมป์คัพวินเนอร์สคัพ และเข้าถึงรอบรองชนะเลิศยูโรเปียนคัพใน ค.ศ. 1968 และ 1972
ต่อมาใน ค.ศ. 1975 ��วกเขาป้องกันแชมป์ยูโรเปียนคัพ ได้สำเร็จ เมื่อเอาชนะลีดส์ยูไนเต็ด 2–0 จากประตูของ รอธ และ มึลเลอร์ ซึ่งหลังจบการแข่งขันแฟนฟุตบอลของลีดส์ได้ก่อจราจลในกรุงปารีส และถูกแบนจากการเข้าชมฟุตบอลยุโรปเป็นเวลาสามปี[10] สโมสรยังครองความยิ่งใหญ่ต่อเนื่องเมื่อคว้าแชมป์ยูโรเปียนคัพสามสมัยติดต่อกันใน ค.ศ. 1976 เอาชนะ อาแอ็ส แซ็งเตเตียน ที่เมืองกลาสโกว์ 1–0 ทำให้พวกเขาเป็นสโมสรที่สามที่คว้าแชมป์รายการนี้สามปีติดต่อกัน ถ้วยรางวัลสุดท้ายในช่วงทศวรรษนี้คืออินเตอร์คอนติเนนตอลคัพ โดยเอาชนะสโมสรครูไซโรจากบราซิลทั้งสองนัด หลังจากนั้นสโมสรก็เข้าสู่ช่วงเปลี่ยนแปลงและไม่ได้แชมป์อะไรเลย ก่อนที่ใน ค.ศ. 1977 เบ็คเคินเบาเออร์จะย้ายไปนิวยอร์ก คอสมอส และใน ค.ศ. 1979 เซฟฟ์ และ อูลี โฮเนบ ประกาศเลิกเล่นฟุตบอล รวมถึง แกร์ท มึลเลอร์ ที่ย้ายไปร่วมทีม ฟอร์ท เลาว์เดอดาเล่
เอฟซี เบรท์เนอร์ และ เอฟซี ฮอลลีวูด (1979–1998)
[แก้]ช่วงหลัง ค.ศ. 1980 เป็นช่วงที่วุ่นวายทั้งในสนามและปัญหาทางการเงินของทีม เพาล์ เบรท์เนอร์ และ คาร์ล-ไฮนซ์ รุมเมนิกเกอช่วยให้ทีมได้แชมป์บุนเดิสลีกาใน ค.ศ. 1980 และ 1981 จนได้รับชื่อทีมใหม่ว่า เอฟซี เบรท์เนอร์ หลังจากได้แชมป์ เดเอ็ฟเบ-โพคาล ค.ศ. 1982 เบรท์เนอร์ประกาศเลิกเล่นฟุตบอล และสองปีหลังจากนั้นสโมสรก็ไม่ได้แชมป์ใด ๆ เลยจนอดีตโค้ชอย่าง อูโด เลตเทค เข้ามาคุมทีมอีกครั้ง ไบเอิร์นมิวนิกก็ได้แชมป์เดเอ็ฟเบ-โพคาลใน ค.ศ. 1984 และยังคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาถึง 5 ครั้ง จากการแข่งขัน 6 ฤดูกาล โดยได้สองแชมป์ใน ค.ศ. 1986 และได้รองแชมป์ยูโรเปียนคัพใน ค.ศ. 1982 และ 1987 ยุพ ไฮน์เคิส ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ฝึกสอนใน ค.ศ. 1987 เขาช่วยให้ทีมคว้าแชมป์หลังจากนั้น 2 ฤดูกาลได้แก่ ฤดูกาล 1988–89, 1989–90 แล้วฟอร์มการเล่นของทีมก็ตกลง หลังจากจบฤดูกาล 1990–91 พวกเขาได้อันดับสอง แต่ในฤดูกาล 1991–92 สโมสรมีคะแนนมากกว่าโซนตกชั้นเพียง 5 คะแนน ถัดมาในฤดูกาล 1993–94 พวกเขาตกรอบคัดเลือกยูฟ่าคัพ เมื่อแพ้ทีมนอริชจากอังกฤษ ที่โอลิมปิค สเตเดียม โดยเป็นทีมเดียวจากอังกฤษที่มาชนะไบเอิร์นมิวนิคถึงที่นี่
ความสำเร็จกลับมาอีกครั้งเมื่อ ฟรันทซ์ เบ็คเคินเบาเออร์ เข้ามาคุมทีมในช่วงกลางฤดูกาล 1993–94 ช่วยให้สโมสรคว้าแชมป์ได้สำเร็จ หลังจาก 4 ปี ที่ว่างเปล่าก่อนหน้านี้ จากนั้นเขาก็ถูกแต่งตั้งเป็นประธานสโมสร โดยมีการแต่งตั้งจิโอวานนี ตราปัตโตนี และออทโท เรฮาเกิล เป็นผู้จัดการทีมต่อ ทั้งคู่จบด้วยการไม่ได้รางวัลอะไรเลย ช่วงนั้นผู้เล่นของไบเอิร์นมิวนิกมักมีข่าวปรากฏในแวดวงฮอลลีวูดบ่อย ๆ รวมถึงมักเป็นข่าวในนิตยสารวงการบันเทิงมากกว่านิตยสารฟุตบอลจนได้รับการขนานนามว่า เอฟซี ฮอลลีวูด ฟรันทซ์ เบ็คเคินเบาเออร์กลับมาดูแลทีมอีกครั้ง ในฐานะที่ปรึกษาโค้ชฤดูกาล 1995–96 เขาช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ยูฟ่าคัพได้สำเร็จ โดยเอาชนะบอร์โดในรอบชิงชนะเลิศ ถัดมาในฤดูกาล 1996–97[11] ตราปัตโตนีนำทีมกลับมาคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาได้อีกครั้ง แต่ในฤดูกาลถัดมา ไบเอิร์นเสียแชมป์ต่อทีมที่เพิ่งเลื่อนชั้นขึ้นมาอย่างไกเซอร์สเลาเทิร์น และตราปัตโตนีลาออกอีกครั้ง[12]
ทศวรรษ 2000: แชมป์ยุโรปสมัยที่ 4
[แก้]ออทมาร์ ฮิตซ์เฟลด์ อดีตผู้จัดการทีมซึ่งประสบความสำเร็จกับดอร์ทมุนท์ได้รับการแต่งตั้งให้คุมทีมระว่าง ค.ศ. 1998–2004 เพียงฤดูกาลแรกเขาก็พาไบเอิร์นคว้าแชมป์บุนเดิสลีกา และเข้ารอบชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมป์เปียนส์ลีกก่อนจะแพ้แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดในช่วงทดเวลาด้วยผลประตู 1–2[13] ฤดูกาลถัดมา เป็นวาระครบรอบ 100 ปีของสโมสร พวกเขาคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาโดยต้องตัดสินถึงนัดสุดท้าย และคว้าแชมป์ด้วยผลต่างประตูได้เสียที่ดีกว่าเลเวอร์คูเซน และยังคว้าแชมป์เดเอ็ฟเบ-โพคาลได้ ถัดมาในฤดูกาล 2000–01 สโมสรคว้าสองถ้วยรางวัลใหญ่ด้วยการคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาโดยตัดสินกันในนัดสุดท้ายอีกครั้ง และพวกเขามีคะแนนมากกว่ารองแชมป์อย่างชาลเคอ 04 เพียงหนึ่งคะแนน และยังคว้าแชมป์ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเป็นสมัยที่ 4 โดยชนะบาเลนเซียในการดวลลูกโทษหลังเสมอกัน 1–1 ณ สนามซานซีโร เป็นการกลับมาคว้าแชมป์ในรอบกว่า 25 ปี[14]
สโมสรเริ่มต้นฤดูกาล 2001–02 ด้วยแชมป์อินเตอร์คอนติเนนตัล คัพ เอาชนะกลุบอัตเลติโกโบกายูนิออร์สจากอาร์เจนตินาด้วยผลประตู 1–0 แต่พวกเขาจบฤดูกาลโดยไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใดเพิ่มได้ ถัดมาในฤดูกาล 2002–03 สโมสรคว้าแชมป์สองรายการในประเทศได้เป็นครั้งที่ 4 ด้วยการมีคะแนนมากกว่าทีมรองแชมป์ซึ่งก็คือเฟาเอ็ฟเบ ชตุทการ์ทถึง 16 คะแนนถือเป็นสถิติใหม่ที่ทีมแชมป์มีคะแนนเหนือทีมรองแชมป์มากที่สุดในขณะนั้น[15] อย่างไรก็ตาม ฮิตซ์เฟลด์ ประกาศลาออกในฤดูกาลถัดมาเนื่องจากผลงานทีมไม่สู้ดี รวมถึงการแพ้สโมสรลีกาสองอย่างอเลมันเนีย อาคเคินในรอบก่อนรองชนะเลิศฟุตบอลถ้วย[16] เฟลิคส์ มากัท เข้ามารับช่วงต่อและพาทีมคว้าสองแชมป์ทั้งบุนเดิสลีกาและเดเอ็ฟเบ-โพคาลสองฤดูกาลติดต่อกันทั้งฤดูกาล 2004–05 และ 2005–06 ซึ่งก่อนเริ่มต้นฤดูกาล 2005 สโมสรได้ย้ายไปเล่น ณ สนามแห่งใหม่คืออัลลีอันทซ์อาเรนาร่วมกับอริและเพื่อนร่วมเมืองอย่าง 1860 มึนเชิน และในฤดูกาล 2006–07 สโมสรมีผลงานย่ำแย่ โดยจบเพียงอันดับ 4 ในบุนเดิสลีกา และตกรอบฟุตบอลถ้วยโดยแพ้อาคเคินอีกครั้งเป็นเหตุให้มากัทถูกปลดในช่วงพักเบรกฤดูหนาว
ฮิตซ์เฟลด์กลับมาคุมทีมอีกครั้ง และสืบเนื่องจากความล้มเหลวในฤดูกาลที่ผ่านมาทีมมีการทุ่มซื่อผู้เล่นหลายราย ได้แก่ ลูกา โตนี และ ฟร็องก์ รีเบรี สโมสรเริ่มต้นด้วยแชมป์เดเอ็ฟเอ็ล-ลีกาโพคาล และจบฤดูกาลด้วยแชมป์อีกทั้งสองรายการในประเทศ พวกเขามีคะแนนมากกว่าเบรเมินถึงสิบคะแนนในบุนเดิสลีกา และยังคว้าแชมป์เดเอ็ฟเบ-โพคาล แต่ต้องตกรอบรองชนะเลิศยูฟ่าคัพโดยแพ้สโมสรรัสเซียอย่างเซนิตเซนต์ปีเตอส์เบิร์กขาดลอยสองนัด 1–5 ในฤดูกาล 2008–09 สโมสรมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อผู้รักษาประตูอย่างอ็อลลีเวอร์ คาห์น ประกาศเลิกเล่นอาชีพ และฮิตซ์เฟลด์ยังอำลาทีมเพื่อไปคุมทีมชาติสวิตเซอร์แลนด์ และถูกแทนที่โดยเยือร์เกิน คลีนส์มัน ผู้ฝึกสอนซึ่งพาเยอรมนีคว้าอันดับสามฟุตบอลโลก 2006 แต่ก็ถูกปลดโดยยังไม่จบฤดูกาลจากผลงานย่ำแย่ โดยมีคะแนนตามหลังเฟาเอ็ฟเอ็ล ว็อลฟส์บวร์ค และตกรอบเดเอ็ฟเบ-โพคาลจากการแพ้เลเวอร์คูเซน รวมถึงผลงานย่ำแย่ในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกโดยแพ้บาร์เซโลนาในรอบก่อนรองชนะเลิศด้วยผลประตูรวมสองนัด 1–5 ซึ่งบาร์เซโลนายิงได้ถึง 4 ประตูใน 45 นาทีแรกของการแข่งขันนัดแรกที่สเปน ยุพ ไฮน์เคิส เข้ามาคุมทีมชั่วคราวและพาทีมประคองตัวจบด้วยรองแชมป์บุนเดิสลีกา[17]
ในฤดูกาล 2009–10 ลูวี ฟัน คาล ผู้จัดการทีมชื่อดังชาวดัตซ์เข้ามาคุมทีมและสโมสรมีฤดูกาลที่ดีที่สุดในรอบทศวรรษ โดยสามารถคว้าแชมป์สองรายการในประเทศได้อีกครั้ง และยังเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ฤดูกาล 2009–10 แต่แพ้อินเตอร์มิลานด้วยผลประตู 0–2 ในฤดูกาลนี้ทีมมีผลงานโดดเด่นด้วยฟอร์มการเล่นที่ยอดเยี่ยมของอาร์เยิน โรบเบิน ซึ่งย้ายมาจากเรอัลมาดริด แม้จะเป็นผู้เล่นตำแหน่งริมเส้นแต่เขาทำได้ถึง 23 ประตูในทุกรายการ[18] โดยโรบเบินเข้ามาประสานงานร่วมกับรีเบรีในฐานะสองผู้เล่นคนสำคัญในแนวรุก ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อความสำเร็ยของทีมไปอีกเกือบหนึ่งทศวรรษ จนเป็นที่มาของฉายา "Robbery" ในช่วงเวลานั้น ผู้เล่นอายุน้อยอย่างเดวิด อาลาบา และ โทมัส มึลเลอร์ ยังได้รับโอกาสขึ้นมาเป็นผู้เล่นตัวหลักในทีมชุดใหญ่ แม้จะพาทีมประสบความสำเร็จแต่ฟัน คาล ก็ถูกปลดในเดือนเมษายน ค.ศ. 2011 ภายหลังตกรอบ 16 ทีมสุดยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกโดยแพ้อินเตอร์มิลานไปอีกครั้ง ผู้ช่วยของฟัน คาล ซึ่งก็คือแอนดรีส์ จอนเกอร์ คุมทีมต่อชั่วคราวและพาทีมจบอันดับสามในลีก
ทศวรรษที่ 2010: แชมป์ยุโรปสมัยที่ 5
[แก้]ยุพ ไฮน์เคิส (2011–2013)
[แก้]ยุพ ไฮน์เคิส กลับมาคุมทีมอีกครั้งในฤดูกาล 2011–12 และสโมสรเซ็นสัญญากับผู้เล่นคนสำคัญก็คือมานูเอ็ล น็อยเออร์ ซึ่งเข้ามาเป็นตัวแทนอ็อลลีเวอร์ คาห์น รวมถึงกองหลังอย่างเฌโรม โบอาเท็ง แต่ก็ไม่สามารถช่วยให้ทีมคว้าแชมป์รายการใดได้ โดยพวกเขาจบอันดับสองในบุนเดิสลีกาด้วยคะแนนตามหลังดอร์ทมุนท์ถึง 8 คะแนน รวมทั้งแพ้ดอร์ทมุนท์ในรอบชิงชนะเลิศเดเอ็ฟเบ-โพคาลด้วยผลประตู 2–5[19] และแม้จะเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมป์เปียนลีกที่สนาม อัลลีอันซ์ อารีนา แต่ก็แพ้จุดโทษเชลซีภายหลังเสมอกัน 1–1[20]
ต่อมาในฤดูกาล 2012–13 สโมสรเซ็นสัญญากับฆาบิ มาร์ติเนซ และพวกเขามีฤดูกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เริ่มจากแชมป์เดเอ็ฟเอ็ล-ซูเพอร์คัพ ด้วยการชนะดอร์ทมุนท์ และไม่แพ้ใครติดต่อกัน 8 นัดแรกในบุนเดิสลีกา ต่อมา ในวันที่ 6 เมษายน ค.ศ. 2013 สโมสรคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาทั้งที่เหลือการแข่งขันอีก 6 นัด เป็นสถิติการคว้าแชมป์ที่เร็วที่สุดในเยอรมนี พร้อมทำสถิติมากมาย เช่น ทีมที่ได้คะแนนสูงสุด คือ 91 คะแนน, ทำแต้มห่างกับอันดับสองมากที่สุดถึง 25 คะแนน, ชนะมากที่สุดในฤดูกาลจำนวน 29 นัด และเสียประตูน้อยที่สุดเพียง 18 ประตู และเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมป์เปียนลีกเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 5 ปีหลังสุด และครั้งนี้พวกเขาทำสำเร็จเมื่อเอาชนะดอร์ทมุนท์ได้ที่สนามเวมบลีย์ กรุงลอนดอน ด้วยผลประตู 2–1 คว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 5 ตามด้วยแชมป์เดเอ็ฟเบ-โพคาลสมัยที่ 16 จากการชนะชตุทการ์ทด้วยผลประตู 3–2 ทำให้พวกเขากลายเป็นสโมสรแรกของเยอรมนีที่ชนะเลิศสามถ้วยรางวัลในฤดูกาลเดียว และเป็นสโมสรที่เจ็ดของยุโรปที่ทำได้ สโมสรประกาศตั้งแต่ยังไม่สิ้นสุดฤดูกาลว่าแป็ป กวาร์ดิออลา จะเข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีมในฤดูกาล 2013–14 แม้สโมสรจะประกาศว่าเป็นความต้องการของไฮน์เคิสเองที่จะเกษียณหลังหมดสัญญาคุมทีม แต่ประธานสโมสรอย่าง อูลี เฮอเนส ออกมายอมรับในภายหลังว่าไฮน์เคิสไม่ได้ต้องการอำลาทีม แต่เป็นความตั้งใจของสโมสรที่ต้องการแต่งตั้งกวาร์ดิออลา จึงเป็นการบีบให้ไฮน์เคิสต้องอำลาทีม[21]
แป็ป กวาร์ดิออลา (2013–2016)
[แก้]วันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 แป็ป กวาร์ดิออลาได้รับการแต่งตั้งเข้ามาคุมทีม และก่อนเริ่มต้นฤดูกาล 2013–14 มีรายงานว่าทีมมีสมาชิกมากถึง 200,000 คน มากที่สุดในเยอรมนี กวาร์ดิออลาเริ่มต้นด้วยการเซ็นสัญญากับอดีตลูกทีมอย่างเตียโก อัลกันตารา และเขาพาทีมทำผลงานยอดเยี่ยม แม้จะประเดิมด้วยการแพ้ดอร์ทมุนท์ในเดเอ็ฟเอ็ล-ซูเพอร์คัพ 2013 ด้วยผลประตู 2–4 แต่ในเวลาต่อมา สโมสรทำสถิติไม่แพ้ใครติดต่อกันต่อเนื่องจากฤดูกาลที่แล้วถึง 53 นัด ก่อนที่สถิติจะจบลงโดยแพ้เอาคส์บวร์ค สองนัดหลังจากที่พวกเขาคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาไปแล้ว[22] กวาร์ดิออลายังพาทีมชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก และยูฟ่าซูเปอร์คัพ โดยเอาชนะเชลซีซึ่งคุมทีมโดย โชเซ มูรีนโย ในการดวลจุดโทษ และยังชนะเลิศเดเอ็ฟเบ-โพคาล โดยเอาชนะดอร์ทมุนท์ 2–0 แต่พวกเขาแพ้เรอัลมาดริดในรอบรองชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และยังมีเหตุการณ์สำคัญของสโมสร เมื่อ อูลี เฮอเนส ประธานสโมสรได้ถูกศาลตัดสินจำคุกจากคดีเลี่ยงภาษี ก่อนที่เฮอเนสจะประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ คาร์ล ฮ็อปเนอร์ รองประธานสโมสรในขณะนั้นได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งแทน
เข้าสู่ฤดูกาล 2014–15 ไบเอิร์นมิวนิกเซ็นสัญญากับกองหน้าชื่อดังอย่างรอแบร์ต แลวันดอฟสกีมาจากดอร์ทมุนท์แบบไม่มีค่าตัว รวมถึงยืมตัวกองกลางชื่อดังอย่างชาบี อาลอนโซ มาจากเรอัลมาดริด และพวกเขาปล่อยตัว โทนี โครส ไปให้เรอัลมาดริด สโมสรป้องกันแชมป์ลีกได้ต่อเนื่องทั้งสองฤดูกาลต่อมา พร้อมกับการอำลาทีมของผู้เล่นตัวหลักอย่าง บัสทีอัน ชไวน์ชไตเกอร์ และ เกลาดิโอ ปิซาร์โร และยังคว้าแชมป์ลีกและเดเอ็ฟเบ-โพคาลได้ทั้งสองรายการใน ค.ศ. 2016 แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก โดยเข้าถึงรอบรองชนะเลิศอีกสองครั้ง แพ้บาร์เซโลนา และ อัตเลติโกเดมาดริด ตามลำดับ และกวาร์ดิออลาอำลาทีมเพื่อไปคุมแมนเชสเตอร์ซิตีแม้จะได้รับการทาบทามสัญญาฉบับใหม่จากสโมสร ตลอดระยะเวลา 3 ฤดูกาลที่กวาร์ดิออลาคุมทีม เขาได้รับการยกย่องในแง่การปฏิวัติรูปแบบการเล่นให้แก่ฟุตบอลเยอรมนี ซึ่งแผนการเล่นของเขายังถูกนำไปปรับใช้โดยทีมชาติเยอรมนีในการแข่งขันรายการสำคัญ
การ์โล อันเชลอตตี (2016–2017)
[แก้]การ์โล อันเชลอตตี เข้ามารับตำแหน่งต่อในฤดูกาล 2016–17[23] และสโมสรเซ็นสัญญากับ มัทซ์ ฮุมเมิลส์ กองหลังคนสำคัญของดอร์ทมุนท์ และอูลี เฮอเนส ได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนด ก่อนที่เขาจะได้รับเลือกให้กลับมาดำรงตำแหน่งประธานสโมสรอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2016 อันเชลอตตีพาทีมคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาได้เป็นสมัยที่ห้าติดต่อกัน[24] แต่ไม่ประสบความสำเร็จในฟุตบอลถ้วยทั้งสองรายการ ต่อมา ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2017 สโมสรประกาศว่าคู่แข่งอย่าง เทเอ็สเฟา 1860 มึนเชิน จะยุติการลงเล่น ณ สนาม อัลลีอันทซ์อาเรนา ภายหลังจากตกชั้นไปสู่ลีกา 4 และก่อนเริ่มต้นฤดูกาล 2017–18 สโมสรได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้เล่นครั้งใหญ่อีกครั้ง ด้วยการเซ็นสัญญากับผู้เล่นอายุน้อยหลายราย อาทิ กีงส์แล กอมาน, กอร็องแต็ง ตอลีโซ, แซร์ช กนาบรี และ นิคคลัส ซือเลอ รวมถึงการยืมตัว ฮาเมส โรดริเกซ มาจากเรอัลมาดริด แต่ต้องแลกกับการเสียผู้เล่นตัวหลักอย่าง ฟิลลิพ ลาห์ม กัปตันทีมซึ่งประกาศเกษียณตัวเอง รวมถึงการอำลาทีมของอาลอนโซ อันเชลอตตีทำผลงานในฤดูกาลที่สองได้ไม่ดีนัก และถูกปลดหลังจากแพ้ต่อปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง 0–3 ในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
วิลลี ซาญอล เข้ามาคุมทีมชั่วคราวก่อนที่ไฮน์เคิส จะกลับมารับตำแหน่งอีกครั้งจนจบฤดูกาล ซึ่งเขายืนยันที่จะคุมทีมชั่วคราวไปจนจบฤดูกาลเท่านั้นเนื่องจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น สโมสรจบฤดูกาลด้วยแชมป์บุนเดิสลีกาอีกครั้ง แต่ในการคุมทีมนัดสุดท้ายของไฮน์เคิสซึ่งเป็นรอบชิงชนะเลิศเดเอ็ฟเบ-โพคาล ไบเอิร์นมิวนิกแพ้ไอน์ทรัคท์ฟรังค์ฟวร์ทด้วยผลประตู 1–3 ซึ่งฟรังค์ฟวร์ทคุมทีมโดย นีกอ กอวัช ผู้จัดการทีมซึ่งจะเข้ามาคุมทีมไบเอิร์นมิวนิคในฤดูกาลต่อไปนั่นเอง
นีกอ กอวัช (2018–2019)
[แก้]กอวัชเข้ามาทำผลงานได้ไม่น่าประทับใจนักในช่วงแรก โดยตามหลังคู่แข่งอย่างดอร์ทมุนต์เมื่อผ่านครึ่งฤดูกาลแรกในลีก แต่ผลงานก็ดีขึ้นหลังจากช่วงหยุดพักในฤดูหนาว และทีมกลับขึ้นสู่อันดับหนึ่งของตารางได้อีกครั้ง แต่ก็ตกรอบ 16 ทีมสุดท้ายในยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกโดยแพ้ลิเวอร์พูล ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ. 2011 ที่สโมสรไม่สามารถผ่านเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ และต่อมา อาร์เยิน โรบเบิน และ ฟร็องก์ รีเบรี สองผู้เล่นคนสำคัญได้ประกาศว่าจะอำลาทีมหลังจบฤดูกาล และในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2019 สโมสรประกาศว่า พวกเขาบรรลุข้อตกลงในการซื้อตัวลูกัส แอร์น็องแดซ ด้วยราคา 80 ล้านยูโร ซึ่งเป็นสถิติใหม่ของการซื้อตัวผู้เล่นของสโมสรเยอรมนี[25] ในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 สโมสรชนะเลิศบุนเดิสลีกา 7 สมัยติดต่อกัน และหนึ่งสัปดาห์ต่อมา พวกเขาเอาชนะ แอร์เบ ไลพ์ซิช ในรอบชิงชนะเลิศเดเอ็ฟเบ-โพคาล 2019 คว้าแชมป์เป็นสมัยที่ 19 และถือเป็นครั้งที่ 12 ที่สโมสรสามารคว้าแชมป์ลีกและแชมป์ฟุตบอลถ้วยในประเทศได้ในฤดูกาลเดียวกัน
กลับมาใช้ผู้ฝึกสอนชาวเยอรมัน
[แก้]ฮันส์-ดีเทอร์ ฟลิค และ แชมป์ยุโรปสมัยที่ 6 (2019–2021)
[แก้]ฮันส์-ดีเทอร์ ฟลิค เข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการทีมในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2019[26] และกอวัชพาทีมทำผลงานได้ย่ำแย่ก่อนจะโดนปลดหลังจากพาทีมแพ้ ไอน์ทรัคท์ฟรังค์ฟวร์ทด้วยผลประตู 1–5 ฟลิคได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทีมชั่วคราว[27] ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งให้คุมทีมจนจบฤดูกาล 2019–2020 จากผลงานอันยอดเยี่ยม และในเวลาต่อมา ฟลิคได้รับสัญญาให้เป็นผู้จัดการทีมถาวรไปจนถึง ค.ศ. 2023[28] ฟลิคพาทีมคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาและเดเอ็ฟเบ-โพคาลได้อีกครั้ง และยังพาทีมผ่านเข้าไปชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ. 2013 รวมทั้งชนะบาร์เซโลนาด้วยผลประตู 8–2[29] และเอาชนะ ออแล็งปิกลียอแน ในรอบรองชนะเลิศ 3–0 เข้าไปชิงชนะเลิศกับปารีแซ็ง-แฌร์แม็ง ที่กรุงลิสบอน และเอาชนะไปด้วยผลประตู 1–0 จากประตูของ กีงส์แล กอมาน[30] ส่งผลให้ไบเอิร์นมิวนิคเป็นสโมสรที่สองที่ชนะเลิศการแข่งขันสามรายการในฤดูกาลเดียวกันได้สองครั้งต่อจากบาร์เซโลนา[31]
เข้าสู่ฤดูกาลใหม่ ไบเอิร์นมิวนิกเริ่มต้นด้วยแชมป์ยูฟ่าซูเปอร์คัพสมัยที่สอง จากการเอาชนะเซบิยา 2–1 โดย ฆาบิ มาร์ติเนซ เป็นผู้ทำประตูในช่วงต่อเวลาพิเศษ[32] ต่อมาในวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 2020 พวกเขาชนะเลิศเดเอ็ฟเอ็ล-ซูเพอร์คัพ เอาชนะโบรุสซีอาดอร์ทมุนด์ 3–2 ต่อมา ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 สโมสรคว้าแชมป์ ฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก 2020 (เลื่อนการแข่งขันมาจากเดือนธันวาคม ค.ศ. 2020 เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา) เอาชนะ สโมสรกีฬาอัลอะฮ์ลี 2–0 ในรอบรองชนะเลิศจากสองประตูของ รอแบร์ต แลวันดอฟสกี ตามด้วยการเอาชนะ ติเกรส ยูเอเอ็นแอล จากเม็กซิโกในรอบชิงชนะเลิศ 1–0 ด้วยประตูของ แบ็งฌาแม็ง ปาวาร์ ทำสถิติเป็นสโมสรที่สองต่อจากบาร์เซโลนาที่ชนะเลิศการแข่งขัน 6 รายการต่อเนื่องกันในระยะเวลา 1 ปี แต่พวกเขาไม่ประสบความสำเร็จในการป้องกันแชมป์ยุโรป โดยพ่ายปารีแซ็ง-แฌร์แม็งในรอบก่อนรองชนะเลิศ แต่ยังชนะเลิศบุนเดิสลีกาได้เป็นสมัยที่เก้าติตด่อกัน และในฤดูกาลนี้กองหน้าคนสำคัญอย่างแลวันดอฟสกี ยังทำลายสถิติตลอดกาลของตำนานอย่าง แกร์ท มึลเลอร์ ในการทำประตูประจำฤดูกาลมากที่สุดในการแข่งขันบุนเดิสลีกา โดยทำไป 41 ประตู[33] อย่างไรก็ตาม สโมสรได้ประกาศในเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 ว่าฟลิคจะอำลาทีมเมื่อจบฤดูกาล และผู้ที่จะมารับตำแหน่งต่อคือ ยูลีอาน นาเกิลส์มัน ซึ่งขณะนั้นคุมสโมสรไลพ์ซิช โดยสโมสรต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นจำนวนเงินถึง 25 ล้านยูโรให้แก่ แอร์เบ ไลพ์ซิช[34] ต่อมา ได้มีการประกาศว่า ฟลิค จะไปรับตำแหน่งผู้จัดการทีมชาติเยอรมนี หลังจากที่เคยเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีมในยุคของโยอาคิม เลิฟ[35]
ยูลีอาน นาเกิลส์มัน, โทมัส ทุคเคิล และแชมป์ลีกสมัยที่ 33 (2021–2024)
[แก้]ภายใต้การคุมทีมของนาเกิลส์มัน ไบเอิร์นมิวนิกเอาชนะสโมสรเบรเมอร์ เอสวี ด้วยผลประตู 12–0 ในเดเอ็ฟเบ-โพคาล ฤดูกาล 2021–22 รอบแรก ใ��วันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 2021 ซึ่งถือเป็นการชนะคู่แข่งด้วยผลต่างประตูที่ขาดลอยที่สุดในรอบ 24 ปีของสโมสร ก่อนที่นาเกิลส์มันจะพาทีมคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาได้เป็นสมัยที่ 10 ติดต่อกัน หลังจากเอาชนะดอร์ทมุนท์ 3–1 แต่พวกเขาก็ล้มเหลวในฟุตบอลถ้วยอีกสองรายการ ในฤดูกาล 2022–23 สโมสรมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อกองหน้าอย่างแลวันดอฟสกีย้ายร่วมทีมบาร์เซโลนา แต่พวกเขาก็ลงทุนในตลาดซื้อขายด้วยการย้ายมาของผู้เล่นชื่อดังอย่าง ซาดีโย มาเน และ มัตไตส์ เดอ ลิคต์ รวมถึงการเซ็นสัญญากับสองผู้เล่นสำคัญจาก อาเอฟเซ อายักซ์ ซึ่งเป็นที่จับตามองในยุโรปอย่าง ไรอัน คราเฟินแบร์ค และ นูแซร์ มาซราอุย นาเกิลส์มันพาทีมเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ด้วยการเอาชนะ แอร์เบ ไลพ์ซิช ในเดเอ็ฟเอ็ล-ซูเพอร์คัพ 5–3 ก่อนที่เขาจะถูกยกเลิกสัญญาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023[36]
โทมัส ทุคเคิล อดีตผู้จัดการทีมโบรุสซีอาดอร์ทมุนท์ และเชลซี เข้ามารับตำแหน่งในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 2023 แม้จะตกรอบฟุตบอลถ้วยทั้งสองรายการ แต่ทุคเคิลก็พาทีมป้องกันแชมป์บุนเดิสลีกาได้ โดยต้องลุ้นถึงนัดสุดท้ายหลังจากบุกไปเอาชนะแอร์สเทอ เอ็ฟเซ เคิลน์ ในวันที่ 27 พฤษภาคม คว้าแชมป์เป็นปีที่ 11 ติดต่อกัน ภายหลังจบฤดูกาล สโมสรสั่งปลดผู้บริหารสองรายได้แก่ อ็อลลีเวอร์ คาห์น และ ผู้อำนวยการกีฬาอย่างฮาซาน ซาลิฮามิดซิช ซึ่งถูกวิจารณ์จากผลงานอันย่ำแย่ของสโมสรภายหลังปลดนาเกิลส์มันออกจากตำแหน่ง[37] ในวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 2023 สโมสรได้ทำลายสถิติในการซื้อตัวผู้เล่นของบุนเดิสลีกาอีกครั้ง ด้วยการเซ็นสัญญากับแฮร์รี เคน จากทอตนัมฮอตสเปอร์ด้วยราคา 110 ล้านยูโร ก่อนที่สโมสรเริ่มต้นฤดูกาล 2023–24 ด้วยการแพ้แอร์เบ ไลป์ซิก 0–3 ในเดเอ็ฟเอ็ล-ซูเพอร์คัพ และพลาดการคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยเสียตำแหน่งให้แก่ไบเออร์ 04 เลเวอร์คูเซิน และจบฤดูกาลอย่างน่าผิดหวังเนื่องจากไม่สามารถคว้าแชมป์รายการใดได้ ในวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ. 2024 ทุคเคิลประกาศอำลาสโมสรเนื่องการความไม่ลงตัวในการเจรจาสัญญาฉบับใหม่ รวมถึงแนวทางการบริหารทีมที่ขัดแย้งกับผู้บริหาร[38][39]
ค.ศ. 2024–ปัจจุบัน
[แก้]แว็งซ็อง กงปานี ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการทีมด้วยสัญญาสามปี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 2024 เขาประเดิมการคุมทีมนัดแรกในลีกด้วยการเอาชนะ เฟาเอ็ฟเอ็ล ว็อลฟส์บวร์ค ด้วยผลประตู 3–2
ตราสโมสร
[แก้]ตราสโมสรไบเอิร์นมิวนิกแต่ละยุคสมัย | ||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
สนามแข่ง
[แก้]ตั้งแต่ ค.ศ. 1925 ไบเอิร์นมิวนิกได้ลงเล่น ณ สนาม กรึนวัลเดอร์ ชตาดีอ็อน ร่วมกับ เทเอ็สเฟา 1860 มึนเชิน จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สอง สนามได้ถูกทำลายในช่วงสงคราม
ใน ค.ศ. 1972 เมืองมิวนิกได้มีมติในการสร้าง โอลึมพีอาชตาดีอ็อน (สนามกีฬาโอลิมปิก) เพื่อรองรับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 1972 ถือเป็นสนามกีฬาซึ่งมีชื่อเสียงทางด้านสถาปัตยกรรม[40] สนามแห่งนี้เปิดตัวในการแข่งขันบุนเดสลีกานัดสุดท้ายของฤดูกาล 1971–72 สามารถผู้ชมจำนวน 79,000 คนในช่วงแรก ๆ โดยสนามแห่งนี้ถือเป็นสนามกีฬาชั้นแนวหน้าของโลก และเป็นเจ้าภาพการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศรายการสำคัญมากมาย เช่น ฟุตบอลโลก 1974 ในปีถัดมา สนามกีฬาได้รับการปรับปรุงและพัฒนาหลายด้าน เช่น การเพิ่มจำนวนที่ที่นั่งจากประมาณร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 66 ในที่สุด สนามแห่งนี้ก็มีความจุ 63,000 ที่นั่งสำหรับการแข่งขันระดับชาติ และ 59,000 ที่นั่งสำหรับการแข่งขันระดับนานาชาติ เช่น การแข่งขันรายการยุโรป อย่างไรก็ตาม แฟนฟุตบอลหลายคนได้วิจารณ์ว่า การเข้าชม ณ สนามแห่งนี้ หนาวเกินไปในฤดูหนาว โดยผู้ชมครึ่งหนึ่งต้องเผชิญกับสภาพอากาศเลวร้ายเนื่องจากขาดที่กำบัง รวมถึงมีการร้องเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับระยะห่างระหว่างผู้ชมและตัวสนาม ทว่าการปรับปรุงสนามก็ไม่เกิดขึ้น เนื่องจากสถาปนิกนามว่า กึนเทอร์ ไบนิช คัดค้านการปรับปรุงสนาม[41]
หลังการพิจารณาร่วมกันอย่า���ถี่ถ้วนระหว่าง เมืองมิวนิก รัฐไบเอิร์น สโมสรไบเอิร์นมิวนิก และ เทเอ็สเฟา 1860 มึนเชิน ได้มีมติร่วมกันที่จะสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ในปลาย ค.ศ. 2000 ซึ่งไบเอิร์นมีแนวคิดที่จะต้องการสร้างสนามฟุตบอลโดยเฉพาะ (ที่มิใช่สนามกีฬาทั่วไป) มาเป็นเวลานานแล้ว นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2006 ของเยอรมนีได้กระตุ้นแนวคิดในการสร้างสนามใหม่ เนื่องจากโอลึมพีอาชตาดีอ็อนไม่ตรงตามเกณฑ์ของฟีฟ่าในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกอีกต่อไป สนามแห่งใหม่ได้แก่ อัลลีอันทซ์อาเรนา ตั้งอยู่บริเวณชานเมืองทางตอนเหนือของมิวนิก เปิดใช้งานในต้นฤดูกาล 2005–06[42] ความจุเบื้องต้นคือประมาณ 66,000 ที่นั่ง และภายหลังได้มีการเพิ่มเป็น 69,901 ที่นั่ง โดยเปลี่ยนที่นั่ง 3,000 ที่นั่งเป็นอัตราส่วน 2:1 ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 2012 ก่อนจะมีการเพิ่มความจุเป็น 71,000 ที่นั่งในเดือนมกราคม ค.ศ. 2015 ข้อเสนอเพื่อเพิ่มความจุได้รับการอนุมัติจากสภาเมือง ดังนั้น สนามจึงมีความจุ 75,000 ที่นั่งจนถึงปัจจุบัน (70,000 ที่นั่งในการแข่งขันยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก)
อัลลีอันทซ์อาเรนา ยังมีจุดเด่นในด้านความโปร่งแสงจากภายนอก ซึ่งมีการใช้ลูกเล่นด้วยการใช้แสงสีต่าง ๆ ตกแต่งในวันที่มีแข่ง โดยจะใช้สีแดงเมื่อเป็นเกมในบ้านของไบเอิร์นมิวนิก และสีขาวในวันที่ทีมชาติเยอรมนีลงแข่ง[43]
กลุ่มผู้สนับสนุน
[แก้]ไบเอิร์นมิวนิกเป็นสโมสรที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเยอรมนี และเป็นหนึ่งในสโมสรที่มีผู้ติดตามมากที่สุดในโลก ในการประชุมสามัญประจำปี ค.ศ. 2018 คณะกรรมการของสโมสรได้ประกาศว่าสโมสรมีผู้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกมากถึง 291,000 ราย และมีผู้ลงทะเบียนเป็นผู้สนับสนุนกว่า 390,000 ราย ส่งผลให้พวกเขาเป็นสโมสรที่มีกลุ่มผู้สนับสนุนที่ลงทะเบียนมากที่สุดในโลก กลุ่มผู้สนับสนันของสโมสรมีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคในเยอรมนี รวมถึงในออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีรายงานว่าผู้สนับสนุนจำนวนมากเดินทางกว่า 200 กิโลเมตรมาจากพรมแดนของทั้งสองประเทศเพื่อมาชมการแข่งขันที่ อัลลีอันทซ์อาเรนา[44] ไบเอิร์นมิวนิกมีค่าเฉลี่ยจำนวนผู้ชมในสนาม 75,000 รายซึ่งเต็มความจุของสนาม อัลลีอันทซ์อาเรนา และตั๋วของนัดการแข่งขันทั้งเกมในบ้านและเกมเยือนจะถูกขายหมดอย่างรวดเร็วล่วงหน้าหลายเดือน[45] และจากกรณีศึกษาของ Sport+Markt พบว่าไบเอิร์นมิวนิกเป็นสโมสรฟุตบอลที่มีผู้ติดตามมากที่สุดเป็นอันดับห้าของโลกจำนวน 20.7 ล้านคน และกว่า 10 ล้านคนในเยอรมนี[46]
สโมสรคู่อริ
[แก้]ไบเอิร์นมิวนิกเป็นหนึ่งในสามสโมสรฟุตบอลอาชีพซึ่งตั้งอยู่ในเมืองมิวนิก พวกเขามีคู่แข่งโดยตรงคือ เทเอ็สเฟา 1860 มึนเชิน ซึ่งในอดีตเป็นสโมสรใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมาก่อนไบเอิร์นมิวนิก โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1950 รวมถึงกรณีขัดแย้งที่ 1860 มึนเชินได้รับคัดเลือกให้ร่วมแข่งขันฤดูกาลแรกของบุนเดิสลีกาใน ค.ศ. 1963 แต่ไบเอิร์นมิวนิกไม่ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว การพบกันของทั้งสองทีมถือเป็นเกมดาร์บีระดับประเทศซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อและผู้สนับสนุนของทั้งสองทีม[47] โดยทั่วไปแล้ว แฟนฟุตบอลของสโมสร เทเอ็สเฟา 1860 มึนเชิน จะมาจากชนชั้นแรงงาน ในขณะที่ไบเอิร์นมิวนิกจะมีผู้สนับสนุนจากชนชั้นสูงและผู้มีฐานะทางสังคม[48] อันเนื่องมาจากสมาชิกของสโมสรมักเป็นกลุ่มคนที่มีชื่อเสียง อาทิ นักธุรกิจ นักการเมือง หรือบุคคลจากวงการบันเทิง อย่างไรก็ดี ไบเอิร์นมิวนิกก็มักให้ความช่วยเหลือ 1860 มึนเชินหลายครั้งเมื่อประสบปัญหาทางการเงินแม้จะเป็นอริกัน[49]
นับตั้งแต่ทศวรรษ 1920 ไบเอิร์นมิวนิกพัฒนาการเป็นคู่แข่งกับ แอร์สเทอ เอ็ฟเซ เนือร์นแบร์ค มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากเป็นสโมสรที่ตั้งอยู่ในรัฐบาวาเรียเช่นเดียวกัน ฟิลลิพ ลาห์ม อดีตกัปตันทีมของไบเอิร์นมิวนิกกล่าวว่า "การพบกับ เอ็ฟเซ เนือร์นแบร์ค ถือเป็นการแข่งขันที่พิเศษ และดุเดือดทุกครั้ง" ทั้งสองทีมลงเล่นในลีกระดับเดียวกันในกลางทศวรรษ 1920 แต่ในช่วงเวลานั้น เอ็ฟเซ เนือร์นแบร์ค ประสบความสำเร็จเหนือไบเอิร์นมิวนิกโดยชนะการแข่งขันลีกสูงสุดถึงห้าสมัยในทศวรรษนั้นซึ่งเป็นสถิติสูงสุดของประเทศในขณะนั้น ทว่าอีกหลายทศวรรษต่อมา ไบเอิร์นมิวนิกก็ก้าวขึ้นมาเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของประเทศ และทำลายสถิติการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของ เอ็ฟเซ เนือร์นแบร์ค ได้ใน ค.ศ. 1987 เมื่อพวกเขาคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาสมัยที่สิบ[50] การพบกันระหว่างสองสโมสรมีชือเรียกว่า ดาร์บีแห่งบาวาเรีย
แอร์สเทอ เอ็ฟเซ ไคเซิร์สเลาเทิร์น เป็นอีกหนึ่งสโมสรที่พัฒนาความเป็นอริกับไบเอิร์นมิวนิกมายาวนาน เริ่มตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ซึ่งการแข่งขันครั้งสำคัญเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1973 เมื่อไบเอิร์นแพ้ต่อไคเซิร์สเลาเทิร์นด้วยผลประตู 4–7 ทั้งที่ออกนำไปก่อน 4–1 ประตู[51] และความเป็นอริเพิ่มขึ้นจากการแย่งความสำเร็จในบุนเดิสลีกายาวนานหลายฤดูกาล และในอดีตไคเซิร์สเลาเทิร์น รวมถึงภูมิภาคโดยรอบเคยเป็นส่วนหนึ่งของแคว้นบาวาเรีย กระทั่งมีการลงประชามติให้แยกจากกันหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง
สโมสรอื่น ๆ ที่มีความเป็นอริกับไบเอิร์นมิวนิกอย่างเปิดเผยตั้งแต่ทศวรรษ 1970 มีอีกหลายทีมด้วยกัน อาทิ โบรุสซีอาเมินเชินกลัทบัค, ฮัมบัวร์เกอร์ เอ็สเฟา, เอ็สเฟา แวร์เดอร์เบรเมิน, ไบเออร์ 04 เลเวอร์คูเซิน และ ชัลเคอ 04 นอกจากนี้ การแข่งขันระหว่างไบเอิร์นมิวนิกและโบรุสซีอาดอร์ทมุนท์ ก็มีความดุเดือดและได้รับความสนใจจากผู้ติดตามจำนวนมากนับตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 2010 ที่ทั้งสองทีมแย่งความสำเร็จในการแข่งขันทุกรายการ โดยดอร์ทมุนท์ซึ่งคุมทีมโดยอดีตผู้จัดการทีมอย่าง เยือร์เกิน คล็อพ สามารถสร้างทีมขึ้นมาต่อกรกับไบเอิร์นมิวนิกอย่างสมศักดิ์ศรี และคว้าแชมป์บุนเดิสลีกาได้สองสมัยใน ค.ศ. 2011 และ 2012 ทั้งสองสโมสรยังพบกันในรอบชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกใน ค.ศ. 2013 ที่สนามเวมบลีย์ กรุงลอนดอน ซึ่งไบเอิร์นมิวนิกเอาชนะไปด้วยผลประตู 2–1 รวมถึงการพบกันในรอบชิงชนะเลิศถ้วยเดเอ็ฟเบ-โพคาลหลายครั้ง ใน ค.ศ. 2008, 2012, 2014 และ 2016 ความพ่ายแพ้ต่อดอร์ทมุนท์ 2–5 ในรอบชิงชนะเลิศปี 2012 ถือเป็นความพ่ายแพ้ที่ขาดลอยที่สุดของไบเอิร์นมิวนิกในรอบชิงชนะเลิศรายการนี้ ไบเอิร์นมิวนิกยังสามารถตัดกำลังดอร์ทมุนท์ได้โดยตรงจากการย้ายทีมของผู้เล่นคนสำคัญ อาทิ รอแบร์ต แลวันดอฟสกี, มารีโอ เกิทเซอ และ มัทซ์ ฮุมเมิลส์ ซึ่งย้ายร่วมทีมไบเอิร์นมิวนิก
ไบเอิร์นมิวนิกยังมีสโมสรซึ่งเป็นคู่แข่งระดับทวีปซึ่งได้แก่สโมสรชั้นนำในยุโรป อาทิ เรอัลมาดริด, เอซี มิลาน, แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และ บาร์เซโลนา โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างเรอัลมาดริด และไบเอิร์นมิวนิก ถือเป็นการพบกันของสองสโมสรที่บ่อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของรายการยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกจำนวน 24 นัด
การบริหาร และฐานะการเงิน
[แก้]เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ไบเอิร์นมิวนิกเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น เป็นผลมาจากการบริหารจัดการอย่างเป็นมืออาชีพ สโมสรมักใช้อดีตผู้เล่นสำคัญของสโมสรเข้ามาบริหารทีม[52] โดยมีการแบ่งหน้าที่ของฝ่ายบริหารออกเป็นสองกลุ่มอย่างชัดเจน กลุ่มแรกได้แก่ ผู้บริหารซึ่งทำหน้าที่ดูแลด้านฟุตบอลซึ่งมีบุคคลสำคัญ อาทิ อูลี เฮอเนส, คาร์ล-ไฮนซ์ รุมเมนิกเกอ, ฮาซาน ซาลิฮามิดชิช รวมถึง อ็อลลีเวอร์ คาห์น โดยฝ่ายบริหารกลุ่มนี้จะทำหน้าที่ในการซื้อขายนักเตะ รวมถึงการเลือกผู้จัดการทีม สาเหตุที่ไบเอิร์นมิวนิกมักใช้อดีตผู้เล่นของสโมสร และทีมชาติเยอรมนีเข้ามาดูแลด้านฟุตบอลนั้น เนื่องจากประสบการณ์ในฐานะนักเตะอาชีพมีส่วนช่วยในการบริหารได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ สโมสรยังมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินเข้ามาดูแลสโมสรโดยเฉพาะ อาทิ ทิโมธีส เฮิทเทส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของด็อยท์เชอเทเลอค็อม ไบเอิร์นมิวนิกแบ่งสัดส่วนการถือครองหุ้นสโมสรออกเป็นสี่ส่วนได้แก่ หุ้นที่สโมสรและกลุ่มผู้สนับสนุน (แฟนฟุตบอล) ถือครองร่วมกันคิดเป็น 75% และอีก 25% ที่เหลือนั้น เป็นการแบ่งกันระหว่างสามบริษัทใหญ่อย่าง อลิอันซ์, อาวดี้ และ อาดิดาส ซึ่งล้วนแต่เป็นแบรนด์ระดับโลก ซึ่งจะเป็นการรับรองได้ว่าฐานะการเงินของสโมสรย่อมมีความมั่นคงเป็นอันดับต้น ๆ สโมสรหนึ่งของโลกและแทบจะไม่มีโอกาสล้มละลาย โดยอาดิดาสเข้าถือครองหุ้นใน ค.ศ. 2002 ด้วยมูลค่า 77 ล้านยูโร ตามมาด้วยอาวดี้ใน ค.ศ. 2009 มูลค่า 90 ล้านยูโร และใน ค.ศ. 2014 อลิอันซ์เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นร่วมรายล่าสุดด้วยมูลค่ากว่า 110 ล้านยูโร พวกเขาเป็นสโมสรฟุตบอลที่ทำรายรับได้มากเป็นอันดับสามของโลก เป็นรองเพียงบาร์เซโลนา และ เรอัลมาดริด ด้วยมูลค่า 634.1 ล้านยูโรใน ค.ศ. 2021
ผู้สนับสนุนบนเสื้อของสโมสรได้แก่ ด็อยท์เชอเทเลอค็อม ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนมาตั้งแต่ฤดูกาล 2002–03 และจะสิ้นสุดลงในฤดูกาล 2022–23[53] ในขณะที่ชุดแข่งขันของสโมสรผลิตโดยอาดิดาส ซึ่งเป็นผู้ผลิตมาตั้งแต่ ค.ศ. 1974 และมีการขยายสัญญาไปจนสิ้นสุดฤดูกาล 2029–30[54] นอกจากนี้ไบเอิร์นมิวนิกยังได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระดับโลกอีกมากมายซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ทีม อาทิ กาตาร์แอร์เวย์, ซีเมนส์, ดีเอชแอล, ท่าอากาศยานนานาชาติฮะมัด และ โคคา-โคล่า เป็นต้น ไบเอิร์นมิวนิกเป็นสโมสรฟุตบอลที่ทำไรได้มากถึง 27 ฤดูกาลติดต่อกันในขณะที่หลายสโมสรในเยอรมนีมักประสบภาวะขาดทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมคู่แข่งอย่าง โบรุสซีอาดอร์ทมุนท์ ที่เคยประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักจนเกือบถึงขั้นล้มละลายในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000 มาแล้ว[55][56][57] โดยไบเอิร์นมิวนิกนั้นขึ้นชื่อในการบริหารสินทรัพย์หมุนเวียนในสโมสร พวกเขายังเป็นสโมสรฟุตบอลที่ทำรายรับได้มากเป็นอันดับสามของโลก เป็นรองเพียงบาร์เซโลนา และ เรอัลมาดริด ด้วยมูลค่า 634.1 ล้านยูโรใน ค.ศ. 2021
ในขณะที่สโมสรชั้นนำหลายสโมสร อาทิ เรอัลมาดริด และ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด มักเน้นการทำการตลาดในต่างประเทศ ไบเอิร์นมิวนิกจะเน้นการตลาดในประเทศเป็นหลัก[58] แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สโมสรได้เน้นการทำการตลาดในภูมิภาคเอเชียรวมถึงสหรัฐมากขึ้น และในวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2022 ไบเอิร์นมิวนิคได้เปิดสำนักงานต่างประเทศสาขา 3 ที่กรุงเทพมหานคร ต่อจากนครนิวยอร์ก (2014) และ เซี่ยงไฮ้ (2017) และจากการที่สโมสรเข้าชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกใน ค.ศ. 2012 มูลค่าแบรนด์ของสโมสรสูงมีจำนวนสูงถึง 786 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 59% จากปีก่อนหน้าแซงหน้าเรอัลมาดริดที่มีมูลค่า 600 ล้านดอลลาร์ และเป็นรองเพียงอันดับหนึ่งอย่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดที่มูลค่า 853 ล้านดอลลาร์ ก่อนที่พวกเขาจะแซงหน้าแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดได้ในปีต่อมา[59] จากรายงานทางการเงินของสโมสรในฤดูกาล 2018–19 ปรากฏว่าสโมสรทำรายได้สูงถึง 750.4 ล้านยูโร และทำกำไรจากการดำเนินงาน 146.1 ล้านยูโร โดยกำไรหลังหักภาษีอยู่ที่ 52.5 ล้านยูโร ซึ่งหมายความว่านี่เป็นปีที่ 27 ติดต่อกันที่สโมสรทำไรได้
ผู้เล่น
[แก้]ผู้เล่นทีมชุดแรก
[แก้]- ณ วันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 2024 [60]
หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
|
ผู้เล่นที่ถูกยืม
[แก้]หมายเหตุ: ธงชาติที่ปรากฏบ่งบอกให้ทราบว่าผู้เล่นคนนั้นสามารถเล่นให้กับชาติใดตามกฎของฟีฟ่าตามความเหมาะสม เพราะผู้เล่นบางคนอาจถือสองสัญชาติ
|
อดีตผู้เล่นที่มีชื่อเสียง
[แก้]ชื่อ | สัญชาติ | ตำแหน่ง | ปี | ลงเล่น | ประตู |
---|---|---|---|---|---|
ฟรันซ์ เบคเคนเบาเออร์ | DF | 1964–1977 | 427 | 60 | |
แกร์ด มึลเลอร์ | FW | 1964–1979 | 453 | 398 | |
อูลี่ เฮอเนส | FW | 1970–1979 | 239 | 86 | |
เซปป์ ไมเออร์ | GK | 1962–1979 | 536 | 0 | |
ฮันส์-กอร์ก ซวาร์เซนเบค | DF | 1966–1981 | 416 | 21 | |
เพาล์ ไบรท์เนอร์ | MF | 1970–1974, 1978–1983 | 255 | 83 | |
คาร์ล-ไฮนซ์ รุมเมนิกเกอร์ | FW | 1974–1984 | 310 | 162 | |
ดีเตอร์ เฮอเนส | FW | 1979–1987 | 224 | 102 | |
เคลาส์ ออเกนธาเลอร์ | DF | 1975–1991 | 404 | 52 | |
โรแลนด์ โวฮ์ฟาร์ธ | FW | 1984–1993 | 254 | 119 | |
โลทาร์ มัทเทอุส | DF/MF | 1984–1988, 1992–2000 | 302 | 85 | |
สเตฟาน เอฟเฟนแบร์ก | MF | 1990–1992, 1998–2002 | 160 | 35 | |
โอลิเวอร์ คาห์น | GK | 1994–2008 | 429 | 0 | |
เมห์เม็ต โชล | MF | 1992–2007 | 334 | 87 | |
บิเชนเต ลิซาลาซู | DF | 1997–2004, 2005–2006 | 182 | 7 | |
Giovane Élber | FW | 1997–2003 | 169 | 92 | |
ฟิลลิพ ลาห์ม | DF | 2002–2017 | 332 | 12 | |
รอแบร์ต แลวันดอฟสกี | FW | 2014–2022 | 253 | 238 |
เกียรติประวัติ
[แก้]ไบเอิร์นมิวนิกเป็นสโมสรที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของเยอรมนี พวกเขาเป็นเจ้าของสถิติชนะเลิศมากที่สุดในทั้งสี่รายการที่เคยลงแข่งขัน ได้แก่ฟุตบอลลีกสูงสุด (บุนเดิสลีกา), เดเอ็ฟเบ–โพคาล, เดเอ็ฟเอ็ล–ลีกาโพคาล และ เดเอ็ฟเอ็ล–ซูเพอร์คัพ นอกจากนี้ พวกเขายังเป็นสโมสรของเยอรมนีที่ประสบความสำเร็จในการแข่งขันระหว่างประเทศมากที่สุด โดยชนะการแข่งขันกว่า 14 รายการ รวมถึงชนะเลิศยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก 6 สมัย และพวกเขาเป็นสโมสรเดียวของเยอรมนีที่ชนะการแข่งขันรายการหลักของยูฟ่าครบทั้งสามรายการ (ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก, ยูฟ่าคัพ และ ยูฟ่าคัพวินเวอร์สคัพ และยังทำสถิติชนะเลิศการแข่งขันสามถ้วยรางวัลในฤดูกาลเดียวได้ถึงสองครั้ง
ระดับประเทศ
[แก้]- บุนเดิสลีกา
- ชนะเลิศ (33): 1931–32, 1968–69, 1971–72, 1972–73, 1973–74, 1979–80, 1980–81, 1984–85, 1985–86, 1986–87, 1988–89, 1989–90, 1993–94, 1996–97, 1998–99, 1999–2000, 2000–01, 2002–03, 2004–05, 2005–06, 2007–08, 2009–10, 2012–13, 2013–14, 2014–15, 2015–16, 2016–17, 2017–18, 2018–19, 2019–20, 2020–21, 2021–22, 2022–23
- เดเอ็ฟเบ-โพคาล
- ชนะเลิศ (20): 1957, 1966, 1967, 1969, 1971, 1982, 1984, 1986, 1998, 2000, 2003, 2005, 2006, 2008, 2010, 2012, 2013, 2015, 2019, 2020
- เดเอ็ฟเอ็ล-ลีกาโพคาล
- ชนะเลิศ (6): 1997, 1998, 1999, 2000, 2004, 2007
- เดเอ็ฟเอ็ล-ซูเพอร์คัพ
- ชนะเลิศ (10): 1987, 1990, 2010, 2012, 2016, 2017, 2018, 2020, 2021, 2022
ระดับทวีปยุโรป
[แก้]- ยูโรเปียนคัพ/ยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
- ชนะเลิศ (6): 1973–74, 1974–75, 1975–76, 2000–01, 2012–13, 2019–20
- ยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ
- ชนะเลิศ (1): 1966–67
- ยูฟ่าคัพ/ยูฟ่ายูโรปาลีก
- ชนะเลิศ (1): 1995–96
- ยูฟ่าซูเปอร์คัพ
- ชนะเลิศ (2): 2013, 2020
ระดับโลก
[แก้]- อินเตอร์คอนติเนนตัลคัพ
- ชนะเลิศ (2): 1976, 2001
ชนะเลิศสามรายการ
[แก้]- สามรายการ
การแข่งขันที่มีช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น เดเอ็ฟเอ็ล-ซูเพอร์คัพ และ ยูฟ่าซูเปอร์คัพ จะไม่นับรวมกับแชมป์รายการอื่น ๆ
สถิติสโมสร
[แก้]- นักฟุตบอลที่ลงเล่นมากที่สุด:โทมัส มึลเลอร์(715 นัด)
- นักฟุตบอลที่ทำประตูรวมสูงสุด: แกร์ด มึลเลอร์ (563 ประตู)
- นักฟุตบอลที่ทำประตูในบุนเดิสลีกาสูงสุด: แกร์ด มึลเลอร์ (398 ประตู)
- ชนะในบุนเดิสลีกาสูงสุด: ไบเอิร์นมิวนิก 11–1 โบรุสซีอาดอร์ทมุนท์ (บุนเดิสลีกา, 27 พฤศจิกายน 1971)
- แพ้ในบุนเดิสลีกาสูงสุด: ไบเอิร์นมิวนิก 0–7 ชัลเคอ 04 (บุนเดิสลีกา, 9 ตุลาคม 1976)
- ผู้จัดการทีมที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด: อ็อตมาร์ ฮิตซ์เฟลด์ (ชนะเลิศถ้วยรางวัล 14 รายการ, 1998–2004 และ 2007–08)
นอกจากนี้ ไบเอิร์นมิวนิกยังเป็นเจ้าของสถิติสำคัญในประเทศหลายรายการได้แก่:
- ชนะเลิศฟุตบอลบุนเดิสลีกา (33 สมัย) และ เดเอ็ฟเบ-โพคาล (20 สมัย)
- ชนะเลิศบุนเดิสลีกาติดต่อกันมากที่สุด (11 สมัย ค.ศ. 2013–2023)
- เป็นหนึ่งในสองสโมสรที่ลงเล่นในบุนเดิสลีกามากที่สุด (60 ฤดูกาล, ร่วมกับ เอ็สเฟา แวร์เดอร์เบรเมิน)
- มีคะแนนรวมในบุนเดิสลีกาสูงที่สุด (4,067 คะแนน)
- ชนะในบุนเดิสลีกาด้วยจำนวนนัดที่มากที่สุด (1,168 นัด)
- ทำประตูรวมในบุนเดิสลีกามากที่สุด (4,329 ประตู)
- มีผลต่างระหว่างประตูได้/เสียที่ดีที่สุดในบุนเดิสลีกา (2,215 ประตู)
- ทำคะแนนในการแข่งขันบุนเดิสลีกาในหนึ่งฤดูกาลได้สูงที่สุด (91 คะแนน, ฤดูกาล 2012–13)
- ชนะในบุนเดิสลีกาในหนึ่งฤดูกาลมากที่สุด (29 นัด, ฤดูกาล 2012–13 และ 2013–14)
- ทำประตูในบุนเดิสลีกาในหนึ่งฤดูกาลได้มากที่สุด (101 ประตู, ฤดูกาล 1971–72)
ค้นคว้าเพิ่มเติม
[แก้]- Hüetlin, Thomas: Gute Freunde. Die wahre Geschichte des FC Bayern München. Blessing, München 2006, ISBN 3-89667-254-1.
- Schulze-Marmeling, Dietrich: Der FC Bayern und seine Juden. Aufstieg und Zerschlagung einer liberalen Fußballkultur. Verlag Die Werkstatt, Göttingen 2011, ISBN 978-3-89533-781-9.[61]
- Bausenwein, Christoph, Schulze-Marmeling, Dietrich: FC Bayern München. Unser Verein, unsere Geschichte. Verlag Die Werkstatt, Göttingen 2012, ISBN 978-3-89533-894-6.
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Never-say-die Reds overcome Ingolstadt at the death". FC Bayern Munich. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 February 2017. สืบค้นเมื่อ 12 February 2017.
- ↑ Whitney, Clark (8 April 2010). "CL Comment: Van Gaal's Bayern Give New Meaning to "FC Hollywood"". goal.com. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 June 2014. สืบค้นเมื่อ 28 September 2014.
- ↑ "Ab sofort 75.000 Fans bei Bundesliga-Heimspielen" [As of now 75,000 for Bundesliga home matches]. FC Bayern Munich. 13 January 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 January 2015. สืบค้นเมื่อ 13 January 2015.
- ↑ "พี่เสือกด 3-1 ซิวบุนเดสฯเร็วสุด 27 นัด". ผู้จัดการออนไลน์. 26 มีนาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2014.[ลิงก์เสีย]
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern. Die Geschichte des deutschen Rekordmeisters (in German). Die Werkstatt. pp. 17–33. ISBN 3-89533-426-X.
- ↑ "Why Bayern Munich are the best-supported club in world football". www.bundesliga.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Deloitte Football Money League 2022". Deloitte United Kingdom (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "Bayern fans bring club's earliest years to light". The Local Germany (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2015-05-22.
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern. Die Geschichte des deutschen Rekordmeisters (in German). Die Werkstatt. pp. 165–171. ISBN 3-89533-426-X.
- ↑ "BBC News | Uniteds Euro Showdown | Unlucky Paris match for Leeds". news.bbc.co.uk.
- ↑ UEFA.com (1996-06-01). "1995/96: Klinsmann sparks Bayern triumph | UEFA Europa League". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "The most unlikely Bundesliga winners of all – DW – 03/28/2020". dw.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Jenkins, Tom (2010-03-30). "Football: How Manchester United won the Champions League in 1999". the Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2023-12-03.
- ↑ UEFA.com (2001-05-23). "2000/01: Kahn saves day for Bayern | UEFA Champions League". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern. Die Geschichte des deutschen Rekordmeisters (in German). Die Werkstatt. pp. 351–433. ISBN 3-89533-426-X.
- ↑ "CNN.com - Aachen shock holders Bayern in cup - Feb. 4, 2004". edition.cnn.com.
- ↑ "End of a Brief Era: German Club Bayern Munich Sacks Coach Klinsmann". Der Spiegel (ภาษาอังกฤษ). 2009-04-27. ISSN 2195-1349. สืบค้นเมื่อ 2023-12-03.
- ↑ "Bayern sign Dutch winger Robben from Real". Reuters (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2009-08-28. สืบค้นเมื่อ 2023-12-03.
- ↑ "Dortmund do the double – DW – 05/12/2012". dw.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Smyth, Rob (2012-05-19). "Champions League final: Bayern Munich v Chelsea – as it happened | Rob Smyth". the Guardian (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0261-3077. สืบค้นเมื่อ 2023-12-03.
- ↑ "Guardiola to take charge at Bayern | FC Bayern Munich". bundesliga.com - the official Bundesliga website (ภาษาอังกฤษ).[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Augsburg inflict first league defeat on Bayern Munich". Eurosport (ภาษาอังกฤษ). 2014-04-05.
- ↑ "Bayern Munich confirm Carlo Ancelotti will replace Pep Guardiola". Sky Sports (ภาษาอังกฤษ).[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Bundesliga: Bayern take title with huge win". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2017-04-29.
- ↑ "Für 80 Millionen Euro: Bayern holt Lucas Hernandez". kicker (ภาษาเยอรมัน).
- ↑ https://fcbayern.com/en/news/2019/07/interview-with-hansi-flick
- ↑ https://fcbayern.com/en/news/2019/11/fc-bayern-relieve-head-coach-niko-kovac-of-his-duties
- ↑ "Bayern gives coach Hansi Flick permanent deal through 2023". USA TODAY (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ UEFA.com. "Barcelona-Bayern | UEFA Champions League 2019/20". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Barcelona vs. Bayern Munich - Football Match Summary - August 14, 2020 - ESPN". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ UEFA.com (2022-05-17). "Has any team ever won the quadruple? Who's won the treble?". UEFA.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Bayern beat Sevilla to win Super Cup". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2022-06-19.
- ↑ Reuters (2021-05-22). "Lewandowski scores 41st Bundesliga goal of season to break Müller's record". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Falk, Christian (2021-04-27). "Julian Nagelsmann leaving RB Leipzig to become Bayern Munich manager". the Guardian (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Germany hire Treble-winning Flick as manager". ESPN.com (ภาษาอังกฤษ). 2021-05-25.
- ↑ "FC Bayern feuert Julian Nagelsmann! Thomas Tuchel wird Bayern-Trainer!". bild.de (ภาษาเยอรมัน).
- ↑ "Bayern Munich fire Oliver Kahn and Hasan Salihamidzic – DW – 05/27/2023". dw.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Veth, Manuel. "Thomas Tuchel Rejects Bayern Munich - What Happens Next?". Forbes (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Thomas Tuchel: Bayern Munich boss to leave despite U-turn talks". BBC Sport (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2024-05-17.
- ↑ Manfred Brocks .... (1985). Monumente der Welt (in German). Harenberg. pp. 286–287. ISBN 3-88379-035-4.
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern. Die Geschichte des deutschen Rekordmeisters (in German). Die Werkstatt. pp. 463–469. ISBN 3-89533-426-X.
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern. Die Geschichte des deutschen Rekordmeisters (in German). Die Werkstatt. pp. 463–469. ISBN 3-89533-426-X.
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern. Die Geschichte des deutschen Rekordmeisters (in German). Die Werkstatt. pp. 465–469. ISBN 3-89533-426-X.
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern : die Geschichte des deutschen Rekordmeisters. Göttingen: Werkstatt. ISBN 3-89533-426-X. OCLC 54964622.
- ↑ "Allianz Arena tops the lot! - FC Bayern Munich". web.archive.org. 2018-02-10. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-10. สืบค้นเมื่อ 2022-06-20.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "Wayback Machine" (PDF). web.archive.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-09-23. สืบค้นเมื่อ 2022-06-20.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ Bayern Magazin: Sonderheft DFB-Pokal, 27 February 2008 (in German)
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern. Die Geschichte des deutschen Rekordmeisters (in German). Die Werkstatt. pp. 439–449. ISBN 3-89533-426-X.
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern. Die Geschichte des deutschen Rekordmeisters (in German). Die Werkstatt. pp. 439–449. ISBN 3-89533-426-X.
- ↑ Schulze-Marmeling, Dietrich (2003). Die Bayern : die Geschichte des deutschen Rekordmeisters. Göttingen: Werkstatt. ISBN 3-89533-426-X. OCLC 54964622.
- ↑ "1. FC Kaiserslautern - Bayern München 7:4 (Bundesliga 1973/1974, 12. Spieltag)". weltfussball.de (ภาษาเยอรมัน).
- ↑ "Mitglieder des Aufsichtsrates der FC Bayern München AG gewählt". Bayern Magazin (in German). 61 (11): 14. 2010.
- ↑ "FC Bayern: Telekom verlängert als Hauptsponsor". kicker (ภาษาเยอรมัน).
- ↑ "Bayern renew Adidas deal to 2030". SportsPro (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2015-04-29.
- ↑ "'I would rather beg for money than ask Bayern' - Dortmund CEO reveals secret of Bayern loan | Goal.com". www.goal.com.
- ↑ Welle (www.dw.com), Deutsche. "Chasing the money: Remembering the BVB crisis | DW | 10.03.2015". DW.COM (ภาษาอังกฤษแบบบริติช).
- ↑ "Borussia: From bust to boom". www.aljazeera.com (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ "Bloomberg Soccer Trivia". Bloomberg.com (ภาษาอังกฤษ). 2013-09-19. สืบค้นเมื่อ 2022-07-22.
- ↑ "FC Bayern München AG". web.archive.org. 2013-06-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-08. สืบค้นเมื่อ 2022-07-22.
{{cite web}}
: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์) - ↑ "First Team". fcbayern.com. FC Bayern München AG. 2021. สืบค้นเมื่อ 31 August 2021.
- ↑ Vgl. Markwart Herzog: Fußball unterm Hakenkreuz เก็บถาวร 28 ตุลาคม 2014 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. In: H-Soz-u-Kult, 15. Juni 2011 (Sammelrezension zu: Backes, Gregor: "Mit Deutschem Sportgruss, Heil Hitler". Der FC St. Pauli im Nationalsozialismus. Hamburg 2010/Dietrich Schulze-Marmeling: Der FC Bayern und seine Juden. Aufstieg und Zerschlagung einer liberalen Fußballkultur. Göttingen 2011/Jakob Rosenberg u. a. (Hrsg.): Grün-Weiß unterm Hakenkreuz. Der Sportklub Rapid im Nationalsozialismus (1938–1945). Wien 2011)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บทความที่มีลิงก์เสียตั้งแต่สิงหาคม 2024
- แม่แบบทีมฟุตบอลที่ใช้พารามิเตอร์ชื่อย่อ
- สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิก
- สโมสรฟุตบอลในประเทศเยอรมนี
- สโมสรในบุนเดิสลีกา
- สโมสรฟุตบอลในมิวนิก
- สโมสรกีฬาที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2443
- สโมสรที่ชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
- สโมสรที่ชนะเลิศยูฟ่ายูโรปาลีก
- สโมสรที่ชนะเลิศยูฟ่าคัพวินเนอร์���คัพ
- สโมสรที่ชนะเลิศยูฟ่าซูเปอร์คัพ
- สโมสรที่ชนะเลิศฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก