เฟอเรโร รอชเชอร์
ประเภท | ช็อกโกแลต |
---|---|
แหล่งกำเนิด | อิตาลี |
ผู้สร้างสรรค์ | แฟร์เรโรเอสพีเอ |
ส่วนผสมหลัก | ช็อกโกแลตนม, เฮเซลนัต, น้ำมันปาล์ม, แป้งสาลี |
76.6 กิโลแคลอรี (321 กิโลจูล) | |
เฟอเรโร รอชเชอร์ (อักษรโรมัน: Ferrero Rocher) เป็นขนมหวานทำจากช็อกโกแลตและเฮเซลนัต ซึ่งแฟร์เรโรเอสพีเอ บริษัทช็อกโกแลตอิตาลี เป็นผู้ผลิต
ประวัติ
เฟอเรโร รอชเชอร์ มีขึ้นในยุโรปเมื่อ ค.ศ. 1982 แต่เมื่อออกจำหน่ายได้ไม่นาน ก็พักการผลิตไประยะหนึ่งเพราะปัญหาการพิมพ์ฉลาก[1]
มีเกเล แฟร์เรโร (Michele Ferrero) ซึ่งได้รับขนานชื่อว่าเป็นผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์นี้ ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ตามชื่อถ้ำ "รอเชเดอมาซาบีแยล" (Rocher de Massabielle) ที่เมืองลูร์ด (Lourdes) อันเป็นที่ตั้งวิหารในศาสนาคริสต์[2] โดยคำว่า "รอเช" (rocher) ในภาษาฝรั่งเศสนั้น หมายความว่า หิน หรือก้อนหิน[3]
ส่วนประกอบ
เฟอเรโร รอชเชอร์ หนึ่งลูก ประกอบด้วย ผลเฮเซลนัตคั่ว เคลือบด้วยช็อกโกแลตที่ทำจากเฮเซลนัต จากนั้นหุ้มด้วยเวเฟอร์บาง ๆ หนึ่งชั้น แล้วเคลือบด้วยช็อกโกแลตนมผสมเฮเซลนัตบด ก่อนห่อด้วยกระดาษสีทอง[4]
ส่วนประกอบทั่วไป ได้แก่ ช็อกโกแลนม, น้ำตาล, เนยโกโก้, มวลโกโก้, ผงโกโก้ไขมันต่ำ, หางนม, นมผงขาดมันเนย, น้ำมันเนย, น้ำมันปาล์ม, แป้งสาลี, เฮเซลนัต, เกลือ, และโซเดียมไบคาร์บอเนต และใช้เลซิทินเป็นสารทำให้เกาะตัว[5]
การผลิต
การผลิตนั้นใช้เครื่องจักร ขั้นตอนการผลิตไม่เป็นที่เปิดเผย และไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์บันทึกภาพหรือเสียงเข้าในสถานที่ผลิต นับแต่ ค.ศ. 2015 มีนักวารสารศาสตร์ได้รับเชิญเข้าชมสถานที่เพียงไม่กี่คน[6] และมีสถิติว่า นับตั้งแต่ปีเดียวกันนั้น โรงงานที่แอลบาผลิตเฟอเรโร รอชเชอร์ วันละ 24 ล้านลูก[6]
การจำหน่าย
แต่ละปี มีเฟอเรโร รอชเชอร์ ราว 3.6 ล้านลูกวางขายในประเทศต่าง ๆ กว่า 40 ประเทศ[7] ในจำนวนนี้เป็นประเทศในยุโรป 28 ประเทศ, อเมริกา 9 ประเทศ, เอเชีย 9 ประเทศ, โอเชียเนีย 2 ประเทศ, และแอฟริกา 2 ประเทศ[8]
ผลกระทบทางวัฒนธรรม
คริสต์มาส
เฟอเรโร รอชเชอร์ ได้รับการเชื่อมโยงกับวันคริสต์มาสและปีใหม่ โดยนับตั้งแต่ ค.ศ. 2015 ร้อยละ 61 ของยอดขายเกิดขึ้นในช่วงสามเดือนสุดท้ายของปี[6]
การโฆษณาในสหราชอาณาจักร
ในสหราชอาณาจักรช่วงคริสต์ทศวรรษ 1990 มีการออกโฆษณาเป็นชุดเพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์นี้โดยอ้างอิงงานเลี้ยงในที่พักทูตยุโรป และโฆษณาดังกล่าวถูกล้อเลียนบ่อยครั้งในวัฒนธรรมประชานิยม[9] ใน ค.ศ. 2000 โฆษณานี้ติดอันดับที่ 21 ในผลสำรวจความนิยม "100 โฆษณายอดเยี่ยม" ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 แห่งสหราชอาณาจักร[10]
ฮ่องกงและจีน
เฟอเรโร รอชเชอร์ กับนมผงสำหรับทารก เป็นหนึ่งในสินค้าสิบอย่างที่ถูกลักลอบนำเข้าจีนแผ่นดินใหญ่ผ่านชายแดนฮ่องกงมากที่สุด[11]
อ้างอิง
- ↑ Allen, Lawrence L. (1 January 2010). Chocolate Fortunes: The Battle for the Hearts, Minds, and Wallets of China's Consumers (ภาษาอังกฤษ). AMACOM Div American Mgmt Assn. ISBN 9780814414323.
- ↑ Caldwell, Zelda (8 May 2018). "How Ferrero Rocher chocolates were inspired by the Virgin Mary" (ภาษาอังกฤษ). Aleteia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-28. สืบค้นเมื่อ 2020-11-03.
- ↑ "rocher - traduction - Dictionnaire Français-Anglais". WordReference.com.
- ↑ "A Brilliant Idea …". Ferrero Rocher. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-20. สืบค้นเมื่อ 2020-11-03.
- ↑ "Ferrero Rocher". ferrero.ca. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-02. สืบค้นเมื่อ 14 July 2016.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 Sarah Butler (30 October 2015). "Full steam ahead at Ferrero factory as chocolatier eyes No 1 spot in UK". The Guardian.
- ↑ Iyoob, Umar. "Report on Ferrero (Rocher)". Scribd. สืบค้นเมื่อ 16 July 2016.
- ↑ "Ferrero - Worldwide". Ferrero. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-28. สืบค้นเมื่อ 16 July 2016.
- ↑ Wood, Zoe (17 November 2009). "Family behind Ferrero Rocher linked to deal with Cadbury". The Guardian. London.
- ↑ "The 100 Greatest TV Ads". London: Channel 4. 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 June 2001. สืบค้นเมื่อ 4 August 2019.
- ↑ Sturzel, Winston (11 January 2018). "Milk and Chocolate SMUGGLING worse than HEROIN smuggling in China!". Serpentza (YouTube channel).