ข้ามไปเนื้อหา

สํานักงานราชองครักษ์ประจําพระองค์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไฟล์:ราชองครักษ์ สมัยรัชกาลที่ 5.jpg
ราชองครักษ์ สมัยรัชกาลที่ 5

กรมราชองครักษ์ (Royal Thai Aid-De-Camp Department) เป็นหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่จัดราชองครักษ์ปฏิบัติหน้าที่ ถวายพระเกียรติ ถวายความปลอดภัย และ ถวายงานตามพระราชประสงค์

กำเนิดกรมราชองครักษ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงริเริ่มให้มีราชองครักษ์ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2413 ในคราวเสด็จประพาสประเทศสิงคโปร์และปัตตาเวีย (อินโดนีเซีย) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายพลโทพระบรมวงศ์เธอ กรมหลวงอดิศรอุดมเดช (ขณะนั้นดำรงพระยศ นายร้อยเอก พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์) ตามเสด็จฯ ซึ่งนับเป็น "ราชองครักษ์" พระองค์แรก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เรียกนายทหารรักษาพระองค์เหล่านี้ว่า "ราช-แอด-เดอ-แกมป์" ซึ่งคัดเลือกมาจากกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ต่อมาเมื่อตั้งกรมยุทธนาธิการขึ้นเมื่อ วันที่ 8 เมษายน 2430 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามเป็น "แอด-เดอ-แกมป์หลวง" และไปขึ้นการปกครองบังคับบัญชากับผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการต่อมาในปี พ.ศ.2434 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามเป็น "ราชองครักษ์" สืบมาจนปัจจุบัน

ในปี พ.ศ.2441 (ร.ศ.117) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบการสำหรับราชองครักษ์ให้เป็นหลักฐานมั่นคง ด้วยการตรา "พระราชบัญญัติราชองครักษ์ ร.ศ.117" ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2441 โดยในมาตรา 6 ระบุข้อความว่า "สมุหราชองครักษ์กับทั้งราชองครักษ์ประจำการพวกนี้ นับเป็นกรมหนึ่ง ขึ้นอยู่ใน กรมยุทธนาธิการ" กรมราชองครักษ์จึงถือเอา วันที่ 11 เมษายน พ.ศ.2441 นี้ เป็นวันกำเนิดกรมราชองครักษ์ ซึ่งมีสมุหราชองครักษ์ เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

วิวัฒนาการราชองครักษ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ที่จะต้องมีราชองครักษ์ไว้ปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณโดยใกล้ชิด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือก นายทหารรักษาพระองค์มาจากกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำริเปลี่ยนแปลงแก้ไขความใน พระราชบัญญัติเดิมโดยตราเป็นพระราชบัญญัติราชองครักษ์ พ.ศ. 2459 ซึ่งจากเดิมที่กำหนดให้เฉพาะนายทหารบก เป็นราชองครักษ์เท่านั้นได้โปรดเกล้าฯให้นายทหารเรือ เข้ารับราชการเป็นราชองครักษ์ด้วยและสมุหราชองครักษ์มีสิทธิขาดในการนำความเข้ากราบบังคมทูลต่อพระมหากษัตริย์ได้โดยตรง บางคราวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งนายตำรวจภูธรและนายตำรวจนครบาลเป็นราชองครักษ์เป็นกรณีพิเศษ นอกเหนือจากกฏเกณฑ์ในพระราชบัญญัติ ซึ่งนับเป็นกำเนิดของตำรวจราชสำนักเวร

เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติในปี พ.ศ.2468 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนแปลงระเบียบการเกี่ยวกับราชองครักษ์บางอย่างที่สำคัญ คือ ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ราชองครักษ์แต่เดิมในรัชกาลก่อนคงเป็นราชองครักษ์ของพระองค์สืบต่อไปและทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ใช้ "ปลอกแขน"เป็นเครื่องหมายแสดงว่าเป็นราชองครักษ์ขณะปฏิบัติหน้าที่ประจำพระองค์

วิวัฒนาการราชองครักษ์ได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาเป็นลำดับเพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาวะการณ์ในแต่ละรัชกาล ซึ่งในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลปัจจุบันได้มีกฎระเบียบและพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับราชองครักษ์ดังนี้ คือ ได้จำแนกราชองครักษ์ออกเป็น 3 ประเภท คือ

  • ราชองครักษ์พิเศษ เป็นตำแหน่งกิตติมศักดิ์แต่งตั้งจากนายทหารสัญญาบัตรและต้องปฏิบัติหน้าที่ราชองครักษ์ ในบางโอกาสตามพระราชประเพณี
  • ราชองครักษ์เวร แต่งตั้งจากนายทหารสัญญาบัตรประจำการ และคงรับราชการตามตำแหน่งเดิม มีหน้าที่ประจำ ตามเสด็จรักษาการณ์และปฏิบัติกิจการอื่นในส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์
  • ราชองครักษ์ประจำ แต่งตั้งจากนายทหารสัญญาบัตรประจำการ และเข้ารับราชการประจำในกรมราชองครักษ์ มีหน้าที่ปฏิบัติกิจการในส่วนองค์พระมหากษัตริย์แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ

ราชองครักษ์ทุกคนจะต้องปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยและถวายพระเกียรติ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ณ ที่ประทับ รวมทั้งการเสด็จ ฯ แปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระตำหนักในต่างจังหวัด เพื่อทรงงานและเยี่ยมเยียนราษฏรในทุกพื้นที่ของประเทศ

ภารกิจหลัก

กรมราชองครักษ์มีหน้าที่ตามกฎหมาย ว่าด้วยราชองครักษ์และกฎหมายว่าด้วยตำรวจราชสำนัก ได้แก่ การถวายความปลอดภัยสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชประสงค์และราชประเพณี โดยสรุปก็คือ การถวายความปลอดภัยและการถวายพระเกียรตินั่นเอง ปัจจุบันกรมราชองครักษ์ได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวในลักษณะเป็นการประจำดังนี้

  • จัดราชองครักษ์และนายตำรวจราชสำนัก ปฏิบัติหน้าที่เวรประจำพระองค์ ถวายความปลอดภัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
  • จัดราชองครักษ์และนายตำรวจราชสำนักปฏิบัติหน้าที่เวรประจำพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารวังศุโขทัย
  • จัดราชองครักษ์และนายตำรวจราชสำนักปฏิบัติหน้าที่เวรประจำพระองค์ ณ สถานที่ประทับเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จ ฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรมต่างจังหวัด หรือเมื่อมีพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จ ฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ และประทับแรมต่างจังหวัด
  • จัดราชองครักษ์รับเสด็จ ตามเสด็จ หรือไปเฝ้า ฯ ในการเสด็จ ฯ ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในงานอันเป็นพระราชพิธี รัฐพิธี หรือส่วนพระองค์ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด
  • จัดราชองครักษ์ตามเสด็จ พระบรมวงศานุวงศ์ในการเสด็จ ฯ เยือนต่างประเทศ และจัดราชองครักษ์ ที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารประจำ ณ ประเทศต่าง ๆ ปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัย เมื่อมีพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จ ฯ ณ ประเทศนั้น ๆ
  • จัดราชองครักษ์และนายตำรวจราชสำนักปฏิบัติหน้าที่ประจำพระราชอาคันตุกะ ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการและส่วนพระองด์ในบางโอกาส

นอกจากนั้นยังมีภารกิจต่าง ๆ จำนวนมาก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ไว้วางพระราชฤทัยให้กรมราชองครักษ์ปฏิบัติ ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ ข้าราชการกรมราชองครักษ์เป็นอย่างยิ่ง และได้สนองพระเดชพระคุณด้วยความเรียบร้อยตลอดมาโดยเหตุที่กรมราชองครักษ์เป็นส่วนราชการที่มีภารกิจในการสนองพระเดชพระคุณสถาบันพระมหกษัตริย์โดยตรง ซึ่งเป็นภารกิจพิเศษที่ต้องใช้ความคล่องแคล่วรวดเร็วในการสั่งการและบริหารงานทั่วไป

หน่วยสมทบ

  • หน่วยแยกรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ประจำกรมราชองครักษ์
  • สำนักงานนายตำรวจราชสำนักประจำ
  • นายทหารเสริมกำลังพิเศษ