ข้ามไปเนื้อหา

เอมีล โอกุสต์ กอลงแบ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(ต่าง) ←รุ่นเก่ากว่านี้ | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นที่ใหม่กว่า → (ต่าง)
เอมีล โอกุสต์ กอลงแบ
เกิด26 พฤษภาคม ค.ศ. 1849
กัป จังหวัดโอตซาลป์ ประเทศฝรั่งเศส
เสียชีวิต23 สิงหาคม ค.ศ. 1933 (84 ปี)
โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ จังหวัดพระนคร ราชอาณาจักรสยาม
สัญชาติฝรั่งเศส
อาชีพบาทหลวง
ครู

เอมีล เยแนสต์ โอกุสต์ กอลงแบ (ฝรั่งเศส: Émile Genest August Colombet) หรือที่นิยมสะกดว่า เอมิล ออกัสต์ กอลมเบต์ เป็นบาทหลวงโรมันคาทอลิกชาวฝรั่งเศส อดีตเจ้าอาวาสอาสนวิหารอัสสัมชัญ ผู้บูรณะสร้างโบสถ์หลังปัจจุบัน และผู้ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ

ประวัติ

[แก้]

ชีวิตช่วงต้น

[แก้]

บาทหลวงกอลงแบ เกิดวันที่ 26 พฤษภาคม 1849 ที่เมืองกัป จังหวัดโอตซาลป์ ประเทศฝรั่งเศส มีพี่น้องทั้งหมด 10 คน พื้นเพของตระกูลกอลงแบเป็นพวกที่ศรัทธาในพระเจ้าอยู่แล้ว หนึ่งในพี่น้องของเอมิล กอลอมเบต์ ก็เป็นบิชอบอยู่ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญในเมืองกัปด้วย ชีวิตในวัยเด็กของท่านมักเจ็บป่วยอยู่เสมอ เมื่ออายุได้ 3 ปี มารดาของท่านจึงพาท่านไปรักษากับบาทหลวงเวียอันเนย์ เจ้าอาวาสแห่งอาร์ส ที่เมืองมาร์กเซย์ ท่านจึงได้รับศีลจนแข็งแรงดี เมื่อกลับจากมาร์กเซย์ท่านได้เข้าเป้นนักขับร้องในอาสนวิหาร ทำให้ท่านมีรสนิยมในทางดนตรีนับตั้งแต่เด็ก[1] หลังจากที่ได้เรียนหนังสือจบจากบ้านเณรเล็กแล้ว ท่านก็เข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศในวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1867 แต่ในปี ค.ศ. 1870 มีสงครามเกิดขึ้น บ้านเณรจึงถูกปิด และการที่ท่านได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้าเกณฑ์ไปทำสงคราม ก็เพราะท่านได้ศีลรองอนุสงฆ์แล้ว[2]

เดินทางสู่สยาม

[แก้]

วันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ.1871 ท่านได้รับศีลบวชเป็นบาทหลวงคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (MEP) จากนั้น ได้ออกเดินทางมามิสซังสยาม เมื่อ 31 มกราคม ค.ศ. 1871 เดินทางถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 5 เมษายน 1872 ขณะนั้นท่านมีอายุเพียง 23 ปี เริ่มต้นภารกิจในไทยด้วยการเป็นอาจารย์ที่บ้านเณรบางนกแขวก (เป็นเวลา 2 ปี ) จากนั้นในปี ค.ศ. 1875 ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนพฤศจิกายน ทางมิสซังฯได้ให้ท่านมาเป็นผู้ช่วยอธิการโบสถ์กาลหว่าร์

เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1875 คุณพ่อกอลงแบเข้ารับตำแหน่งเป็นเป็นเจ้าอาวาสโบสถ์อัสสัมชัญ คุณพ่อกอลงแบจะสร้างโรงเรียนหนึ่งขึ้น เพื่อให้พวกเด็กกำพร้าทุกคน พวกลูกๆ ของชาวยุโรป ซึ่งอยู่ในที่อันตรายอย่างใหญ่หลวงทั้งทางด้านวิญญาณและร่างกาย ได้รับประโยชน์จากโรงเรียนดังกล่าวนี้ด้วย ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม อาคารเดิมต่างๆ ของบ้านเณร ซึ่งพวกนักเรียนเพิ่งถูกส่งไปอยู่ที่บางช้างไม่มีใครใช้ คุณพ่อกอลงแบจึงขอพระสังฆราชเวย์ และใช้เป็นโรงเรียนประจำโบสถ์ในปี ค.ศ. 1877

ก่อตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญ

[แก้]

เมื่อปี ค.ศ. 1885 คุณพ่อกอลงแบเปลี่ยนฐานะของโรงเรียนจากโรงเรียนประจำโบสถ์มาเป็น “อัสสัมชัญคอลเลจ” และเปิดรับเด็กนักเรียนทุกคนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติและศาสนา 6 มกราคม 1887 ได้เสนอโครงการขยายการศึกษา และการก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ ต่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 50 ชั่ง และ 25 ชั่ง รวมเป็นเงิน 6,000 บาท เป็นรากฐานในการก่อสร้างด้วย รวมทั้งบรรดาพระราชวงศ์ และข้าราชการ ชั้นสูง ก็ได้ร่วมกันบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลด้วย เมื่อ 15 สิงหาคม 1887 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเรียน

ในปี ค.ศ. 1900 คุณพ่อกอลงแบซึ่งมีอาการเจ็บป่วยจากอากาศในเมืองไทย ได้ลาพระสังฆราชกลับไปประเทศฝรั่งเศสเพื่อรักษาตัว แต่ในการเดียวกันนี้ ท่านสังฆราชได้มอบหมายให้คุณพ่อกอลงแบหาคณะภราดาฯเพื่อมาบรรเทาภาระของโรงเรียนด้วย คุณพ่อกอลงแบได้รับคำแนะนำจากภราดาอาร์คีลิน ให้ขึ้นรถไฟไปเข้าพบท่านอธิการใหญ่แห่งคณะภราดาเซนต์คาเบรียล ณ เมืองแซ็ง-โลร็อง-ซูร์-แซ็ฟวร์ จังหวัดว็องเด และเจรจาต่อรองตามเงื่อนไขของทางมิสซังฯ เมื่อท่านอธิการใหญ่ตอบตกลง จึงได้ส่งคณะภราดาฯ ชุดแรก 5 คน เข้ามาในไทย เมื่อปี ค.ศ. 1901 ส่วนคุณพ่อกอลงแบยังคงพำนักรักษาตัวที่ฝรั่งเศสต่อไปอีกปี และะเดินทางกลับไทยในปี ค.ศ. 1902

คุณพ่อกอลงแบยังเป็นคนประสานงานสำคัญในการชักชวนให้คณะภคินีเซนต์ ปอล เดอ ชาร์ต เข้ามาเปิดโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงในปี ค.ศ. 1904 ในปัจจุบันคือ โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ 1904 เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้ง “สโมสรนักเรียนเก่าอัสสัมชัญ (สมาคมอัสสัมชัญ) ”

ในปี ค.ศ. 1906 คุณพ่อกอลงแบเริ่มประกาศเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านสำหรับการก่อสร้างโบสถ์อัสสัมชัญหลังใหม่ คุณพ่อกอลงแบถือเป็นโต้โผใหญ่ในโครงการใหญ่ยักษ์เช่นนี้ ท่านใช้เวลาไปกับการสร้างโบสถ์หลังใหม่ทั้งสิ้น 13 ปี ในปี 1907 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอุปมุขนายกมิสซังฯ และปี 1909 รักษาการในตำแหน่งประมุขมิสซังฯ ชั่วคราว ภายหลังมรณกรรมของพระคุณเจ้าฌอง หลุยส์ เวย์ และโบสถ์หลังใหม่สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1919 ในปี 20 ธันวาคม 1922 ท่านได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ (La Legion d'Honneur) จากรัฐบาลฝรั่งเศส ในฐานะที่คุณพ่อได้ประกอบคุณงามความดี ทำชื่อเสียงให้ แก่ประเทศ นอกจากนี้คุณพ่อยังเคยได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เบญจมาภรณ์ช้างเผือก จากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะที่ทำคุณประโยชน์ ให้แก่ประเทศสยาม[3]

วาระสุดท้าย

[แก้]

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1926 คุณพ่อกอลงแบซึ่งพักผ่อนเพราะอาพาธ ได้เลือกไปพักที่โรงพยาบาลของมิสซัง ในปี ค.ศ.1933 สองสามวันก่อนฉลองแม่พระเสด็จขึ้นสวรรค์ คุณพ่อได้แสดงความปรารถนาที่จะไปร่วมพิธีแห่ ซึ่งทำกันทุกปีรอบอาสนวิหารที่รักของท่านในโอกาสฉลองนี้ แต่ก็ต้องล้มเลิก เพราะไข้ขึ้นสูง[2]

ตั้งแต่นั้นมา กำลังของท่าน ก็มีแต่ลดถอยลง และวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1933ก็ค่อยๆ สิ้นใจ โดยมีคุณพ่อแฟร์เลย์ และภคินีต่าง ๆ ของโรงพยาบาลคอยเฝ้าดูอยู่ วันก่อนคุณพ่อรับศีลมหาสนิท และพระสังฆราชแปร์รอสมาเยี่ยมท่าน และท่านยังได้ร่วมสวดเร้าวิงวอน ตามที่พระสังฆราชเสนอให้ท่านสวด[2]

พิธีปลงศพจัดขึ้นวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1933 เป็นพิธีที่ระทึกใจที่สุด : มีคนอย่างน้อย 2,000 คน รีบเร่งกันมาในอาสนวิหาร พระสังฆราชแปร์รอสขับมิสซา เรกวีแอม และสวดส่งศพ แล้วศพก็ถูกแห่ไปรอบอาสนวิหาร และสนามโรงเรียนอัสสัมชัญ : เป็นการแห่ที่ใหญ่โตมโหฬาร[2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. หนังสือพิมพ์บางกอกไตม์ส วันพุฒที่ 26 เมษายน 2465 หน้า 7
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 คุณพ่อ เอมิล ออกัสต์ กลอมเบต์ ประวัติพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (มรณะ), Published on Thursday, 07 April 2016 08:56 Written by หอจดหมายเหตุ Hits: 2622
  3. พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ พ.ศ. 2465 (2465, 13 สิงหาคม). ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 39 หน้า 1380