โคเบะ
นครโคเบะ 神戸市 | |
---|---|
จากบนซ้าย: ท่าเรือโคเบะ, สะพานอากาชิไคเกียว, คิตาโนะ-โช, ไชนาทาวน์โคเบะ (นังกิง-มาจิ), ทิวทัศน์ยามค่ำมองจากคิกูเซไดบนเขามายะ, โคเบะพอร์ตทาวเวอร์ | |
ที่ตั้งของโคเบะในจังหวัดเฮียวโงะ | |
พิกัด: (1545410)_region:JP-28 34°41′24″N 135°11′44″E / 34.69000°N 135.19556°E | |
ประเทศ | ญี่ปุ่น |
ภูมิภาค | คันไซ |
จังหวัด | จังหวัดเฮียวโงะ |
บันทึกทางการครั้งแรก | 201 ก่อนคริสตกาล |
สถานะนคร | 1 เมษายน 1889 |
การปกครอง | |
• นายกเทศมนตรี | คิโซ ฮิซาโมโตะ |
พื้นที่ | |
• นคร | 557.02 ตร.กม. (215.07 ตร.ไมล์) |
ประชากร (1 มิถุนายน 2021) | |
• นคร | 1,522,188 คน |
• อันดับ | ที่ 7 |
• ความหนาแน่น | 2,700 คน/ตร.กม. (7,100 คน/ตร.ไมล์) |
• รวมปริมณฑล[1] (2015) | 2,419,973 (ที่ 6) คน |
เขตเวลา | UTC+9 (เวลามาตรฐานญี่ปุ่น) |
สัญลักษณ์ | |
• ต้นไม้ | แต้ฮั้งฮวย (Camellia sasanqua) |
• ดอกไม้ | ไฮเดรนเยีย |
โทรศัพท์ | 078-331-8181 |
ที่อยู่ | 6-5-1 Kano-chō, Chūō-ku, Kōbe-shi, Hyōgo-ken 650-8570 |
เว็บไซต์ | www |
โคเบะ | |||||
ชื่อภาษาญี่ปุ่น | |||||
---|---|---|---|---|---|
ชินจิไต | 神戸 | ||||
คีวจิไต | 神戶 | ||||
ฮิรางานะ | こうべ | ||||
คาตากานะ | コーベ | ||||
|
นครโคเบะ (ญี่ปุ่น: 神戸市; โรมาจิ: Kōbe-shi; อังกฤษ: Kobe City[2]) เป็นเมืองหลวงของจังหวัดเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเมืองขนาดใหญ่อันดับที่ 5 และเป็นเมืองท่าที่สำคัญของญี่ปุ่น ตั้งอยู่ทางฝั่งใต้ของเกาะฮนชู ห่างจากโอซากะไปทางตะวันตกประมาณ 30 กิโลเมตร มีประชากรประมาณ 1.5 ล้านคนและเป็นส่วนหนึ่งของมหานครเคฮันชิง
โคเบะปรากฏในหลักฐานลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกในพงศาวดารนิฮงโชกิที่กล่าวถึงการก่อตั้งศาลเจ้าอิกูตะโดยพระจักรพรรดิจิงกูเมื่อ ค.ศ. 201[3] โคเบะไม่มีประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากนัก แม้แต่เมื่อครั้งที่ท่าเรือโคเบะอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะในสมัยเอโดะ จนกระทั่งมีการก่อตั้งเมืองขึ้นในปี ค.ศ. 1889 ในชื่อเมือง "คัมเบะ" (神戸) เพื่อระลึกถึงผู้บริจาคในการสร้างศาลเจ้าอิกูตะ[4] จากนั้น ใน ค.ศ. 1956 รัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดตั้งให้โคเบะมีฐานะเป็นนครใหญ่ที่รัฐกำหนด
โคเบะเป็นเมืองท่าที่สำคัญของญี่ปุ่นที่มีการค้าขายกับทางประเทศตะวันตกนับตั้งแต่การยกเลิกนโยบายปิดประเทศ ในปี ค.ศ. 1995 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทำให้เมืองโคเบะได้รับความเสียหายอย่างหนัก แต่ก็สามารถซ่อมแซมบูรณะจนกลายมาเป็นเมืองท่าที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งได้ บร��ษัทหลาย ๆ แห่งได้ตั้งสำนักงานใหญ่ที่โคเบะ และเมืองนี้ยังขึ้นชื่อในเรื่องของเนื้อโคเบะอีกด้วย
ประวัติศาสตร์
[แก้]ยุคแรกเริ่มจนถึงยุคเมจิ
[แก้]มีการขุดพบการใช้เครื่องมือของมนุษย์ในยุคโจมงทางตะวันตกของโคเบะ[5] ด้วยความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ของโคเบะทำให้มีการพัฒนาท่าเรือขึ้นที่บริเวณแห่งนี้ หลักฐานลายลักษณ์อักษรของโคเบะปรากฏครั้งแรกในพงศาวดารนิฮงโชกิ ที่กล่าวถึงการตั้งศาลเจ้าอิกูตะโดยพระจักรพรรดิจิงกูเมื่อ ค.ศ. 201[3]
ในยุคนาระและยุคเฮอันนั้น ท่าเรือในบริเวณนี้ก็เป็นที่รู้จักในชื่อท่าจอดเรือแห่งโอวาดะ (โอวาดะ โนะ โทมาริ) เป็นจุดที่เริ่มต้นของการเดินทางเจริญสัมพันธไมตรีกับจีน[5] เมืองโคเบะเคยเป็นเมืองหลวงของญี่ปุ่นเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เมื่อปี ค.ศ. 1180 เมื่อซามูไรไทระ โนะ คิโยโมริสั่งให้พระจักรพรรดิอันโตกุย้ายไปอยู่ที่เขตฟูกูฮาระในเขตเมืองโคเบะ[5] แต่หลังจากนั้น 5 เดือน พระจักรพรรดิก็ย้ายกลับไปเคียวโตะอีกครั้ง[6] ในช่วงปลายของยุคเฮอัง โคเบะเป็นสมรภูมิของสงครามเก็มเป อันเป็นเป็นเส้นแบ่งระหว่างยุคเฮอังและยุคคามากูระ
หลังจากยุคคามากูระ โคเบะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าขายกับจีนและต่างประเทศ และในคริสต์ศตวรรษที่ 13 โคเบะเริ่มเป็นที่รู้จักในชื่อ ท่าเรือเฮียวโงะ (兵庫津 เฮียวงตสึ) เป็นท่าเรือสำคัญเคียงคู่กับท่าเรือของเมืองโอซากะ
หลังจากนั้น เมื่อเข้าสู่ยุคเอโดะ พื้นที่ทางตะวันออกของโคเบะอยู่ภายใต้การปกครองของมณฑลอะมะงะซะกิและพื้นที่ทางตะวันออกอยู่ภายใต้การปกครองของมณฑลอะกะชิ ส่วนพื้นที่ตอนกลางของเมืองถูกปกครองโดยรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะ[7][8] จนกระทั่งมีการยกเลิกไปเมื่อมีการยกเลิกระบบศักดินาในปี ค.ศ. 1871 เมื่อล่วงเข้าสู่ยุคเมจิ และมีการใช้ระบบการปกครองแบบจังหวัด ดังเช่นที่ใช้กันในทุกวันนี้
รัฐบาลบากูฟุเปิดท่าเรือโคเบะให้ค้าข่ายกับต่างประเทศได้พร้อมท่าเรือโอซากะเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1868 ก่อนที่จะเกิดสงครามโบชิงและการปฏิรูปเมจิขึ้น จากนั้นพื้นที่ของโคเบะจึงเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น และมีชาวตะวันตกเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณคิตาโนะทางตอนเหนือของโคเบะในปัจจุบัน
-
ท่าเรือโคเบะในศตวรรษที่ 19
-
The Bund
-
ย่านคิตาโนะ สร้างขึ้นในช่วงทศวรรษ 1880 - 1910
-
สำนักงานจังหวัดเฮียวโงะเดิม สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1902
สมัยใหม่
[แก้]เมืองโคเบะ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1889 และเนื่องจากเมืองมีความเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์กับศาลเจ้าอิกูตะ จึงได้ตั้งชื่อเมืองว่า "โคเบะ" ซึ่งมาจากคำว่า "คันเบะ" (神戸) ที่เป็นคำโบราณที่หมายถึงผู้ที่บริจา��ในการสร้างศาลเจ้าแห่งนี้
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โคเบะถูกโจมตีทางอากาศอย่างหนัก และเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดคือการทิ้งระเบิด B-29 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ. 1945 จนเป็นเหตุให้มีพลเรือนเสียชีวิต 8,841 ราย พื้นที่เมืองโคเบะลดลงไปกว่าร้อยละ 21 เป็นเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่องสุสานหิ่งห้อยโดยสตูดิโอจิบลิ
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ค.ศ. 1975 เทศมนตรีเมืองโคเบะผ่านบัญญัติว่าด้วยการห้ามมิให้ยานพาหนะใดที่บรรทุกอาวุธนิวเคลียร์เข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือโคเบะโดยเด็ดขาดหลังจากที่ได้รับการกดดันจากพลเรือนมาโดยตลอด
เมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1995 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ฮันชิงวัดขนาดได้ที่แมกนิจูด 7.2 เมื่อเวลา 5:46 นาฬิกา คร่าชีวิตชาวเมืองไป 6,434 ราย และประชาชนไร้ที่อยู่อาศัย 212,443 คน ท่าเรือและหลายส่วนของเมืองได้รับความเสียหาย[9] หลังจากได้มีการบูรณะเมืองจนเข้าสู่สภาพปกติเรียบร้อยแล้ว เมืองโคเบะได้จัดแสดงแสงสี (Luminari) เพื่อเป็นที่ระลึกถึงโศกนาฏกรรมในครั้งนั้นเป็นประจำทุกปี
ท่าเรือโคเบะเคยเป็นท่าเรือที่มีเรือเข้าออกมากที่สุดของญี่ปุ่นและติดอันดับท่าเรือชั้นนำของเอเชีย จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ฮันชิง[10] ปัจจุบัน โคเบะเป็นท่าเรืออันดับที่ 4 ของญี่ปุ่นและเป็นท่าเรือที่มีเรือเข้าออกมากที่สุดเป็นอันดับ 49 ของโลก (จากการจัดอันดับเมื่อปี 2012)
ภูมิศาสตร์
[แก้]โคเบะตั้งอยู่ระหว่างชายฝั่งและภูเขา เป็นเมืองที่ยาวและแคบ ทางตะวันออกติดกับนครอาชิยะ ทางตะวันตกติดกับนครอากาชิ และมีเมืองอื่น ๆ ที่สำคัญตั้งอยู่รอบ ๆ เช่น ทาการาซูกะ นิชิโนมิยะ และมิกิ
จุดสังเกตที่สำคัญของพื้นที่บริเวณท่าเรือโคเบะคือหอคอยท่าเรือ อันเป็นหอคอยเหล็กกล้าสีแดง และชิงช้าสวรรค์ยักษ์ในย่านฮาร์เบอร์แลนด์ นอกจกนี้ยังมีการถมทะเลเพื่อสร้างเป็นเกาะพอร์ทและเกาะร็อกโกเพื่อขยายพื้นที่ของเมืองอีกด้วย
สำหรับย่านไกลจากทะเลนั้น มีย่านโมโตมาชิ ซันโนมิยะ และไชน่าทาวน์ เป็นย่านที่สำคัญของเมือง มีทางรถไฟหลายสายให้บริการรับส่งผู้โดยสารจากฝั่งตะวันออกไปถึงฝั่งตะวันตกของเมือง โดยมีศูนย์กลางรถไฟหลักอยู่ที่สถานีซันโนมิยะ สถานีโคเบะ และสถานรถไฟชิงกันเซ็งชินโคเบะ
จุดชมวิวที่สำคัญของเมืองอยู่บนภูเขารกโก สูงจากระดับน้ำทะเล 931 เมตร สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ทั้งเมือง และจะมีความสวยงามเป็นพิเศษในช่วงฤดูใบไม้ร่วง
-
หอคอยท่าเรือโคเบะ
-
ฮาร์เบอร์แลนด์
-
ไชน่าทาวน์ โคเบะ
-
แพนด้ายักษ์คูคู ที่สวนสัตว์โอจิ
เขตปกครอง
[แก้]เทศบาลนครโคเบะแบ่งการปกครองออกเป็น 9 เขต ได้แก่
ชื่อเขต | คันจิ | พื้นที่ (ตร.กม) | หมายเลข |
---|---|---|---|
เขตคิตะ | 北区 | 241.84 | 2 |
เขตชูโอ | 中央区 | 28.37 | 7 |
เขตซูมะ | 須磨区 | 30 | 4 |
เขตทารูมิ | 垂水区 | 26.89 | 3 |
เขตนางาตะ | 長田区 | 11.46 | 5 |
เขตนาดะ | 灘区 | 31.4 | 8 |
เขตนิชิ | 西区 | 137.86 | 1 |
เขตฮิงาชินาดะ | 東灘区 | 30.36 | 9 |
เขตเฮียวโงะ | 兵庫区 | 14.54 | 6 |
ภูมิอากาศ
[แก้]โคเบะ เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศแบบอบอุ่นชื้น (CFA ตามระบบการแบ่งภูมิอากาศของเคิปเปน) มีฤดูร้อนที่ร้อนและฤดูหนาวที่อากาศเย็น ความชื้นในช่วงฤดูร้อนจะสูงกว่าฤดูหนาว แม้ว่าเป็นค่าที่ค่อนข้างต่ำกว่าบริเวณอื่น ๆ ในเกาะฮนชู และเป็นเมืองที่ไม่ค่อยจะมีหิมะตก
ข้อมูลภูมิอากาศของKobe | |||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เดือน | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ทั้งปี |
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) | 8.4 (47.1) |
8.8 (47.8) |
12.3 (54.1) |
18.5 (65.3) |
22.9 (73.2) |
26.0 (78.8) |
29.8 (85.6) |
31.6 (88.9) |
27.6 (81.7) |
22.0 (71.6) |
16.6 (61.9) |
11.3 (52.3) |
19.65 (67.37) |
อุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละวัน °C (°F) | 4.7 (40.5) |
5.0 (41) |
8.0 (46.4) |
14.0 (57.2) |
18.4 (65.1) |
22.0 (71.6) |
25.9 (78.6) |
27.3 (81.1) |
23.6 (74.5) |
17.7 (63.9) |
12.5 (54.5) |
7.5 (45.5) |
15.55 (59.99) |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) | 1.4 (34.5) |
1.5 (34.7) |
4.0 (39.2) |
9.8 (49.6) |
14.4 (57.9) |
18.8 (65.8) |
23.1 (73.6) |
24.3 (75.7) |
20.4 (68.7) |
14.1 (57.4) |
8.8 (47.8) |
4.1 (39.4) |
12.06 (53.71) |
ปริมาณฝน มม (นิ้ว) | 43.4 (1.709) |
54.4 (2.142) |
92.6 (3.646) |
136.4 (5.37) |
144.2 (5.677) |
218.0 (8.583) |
156.8 (6.173) |
91.7 (3.61) |
170.8 (6.724) |
103.1 (4.059) |
66.2 (2.606) |
38.0 (1.496) |
1,315.6 (51.795) |
ปริมาณหิมะ ซม (นิ้ว) | 1 (0.4) |
1 (0.4) |
1 (0.4) |
0 (0) |
0 (0) |
0 (0) |
0 (0) |
0 (0) |
0 (0) |
0 (0) |
0 (0) |
0 (0) |
3 (1.2) |
ความชื้นร้อยละ | 61 | 63 | 62 | 64 | 67 | 74 | 77 | 73 | 71 | 67 | 66 | 63 | 67.3 |
จำนวนชั่วโมงที่มีแดด | 144.7 | 127.9 | 161.1 | 170.1 | 195.9 | 146.7 | 174.5 | 201.6 | 145.8 | 159.3 | 143.1 | 146.9 | 1,917.6 |
แหล่งที่มา: NOAA (1961-1990) [11] |
ประชากร
[แก้]เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 2007 โคเบะมีประชากร 1,530,295 คน คิดเป็น 658,876 หลังคาเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จากปีที่แล้ว ความหนาแน่นของประชากรอยู่ที่ 2,768 คนต่อตารางกิโลเมตร มีอัตราส่วนของผู้ชาย 90.2 คนต่อผู้หญิง 100 คน มีอัตราส่วนของประชากรอายุระหว่าง 0-14 ปีอยู่ที่ร้อยละ 13 อายุระหว่าง 15-64 ปีอยู่ที่ร้อยละ 67 และอายุเกิน 65 ปีอยู่ที่ร้อยละ 20 [12]
มีชาวต่างชาติที่ลงทะเบียนอาศัยอยู่ในโคเบะประมาณ 44,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลี (22,237 คน) ชาวจีน (12,516 คน) ชาวเวียดนาม (1,301 คน) และชาวสหรัฐอเมริกา (1,280 คน)[12]
เศรษฐกิจ
[แก้]ท่าเรือโคเบะ เป็นท่าเรือที่สำคัญและเป็นศูนย์กลางการผลิตของเขตอุตสาหกรรมฮันชิง โคเบะเป็นเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าที่มีเรือเข้าออกมากที่สุดในภูมิภาค มากกว่าท่าเรือโอซากะ และสูงเป็นอันดับ 4 ของญี่ปุ่น[13]
ในปี ค.ศ. 2004 โคเบะมีผลิตภัณฑ์มวลรวมอยู่ที่ 6.3 ล้านล้านเยน คิดเป็นร้อยละ 34 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดเฮียวโงะและคิดเป็นร้อยละ 8 ของแถบคันไซ[14][15] รายได้ต่อหัวของประชากรอยู่ที่ 2.7 ล้านเยนต่อปี แบ่งเป็นประเภทหนึ่ง (เกษตรกรรม ประมง และเหมืองแร่) ร้อยละ 1 ประเภทที่สอง (การผลิตและอุตสาหกรรม) ร้อยละ 21 และประเภทบริการ ร้อยละ 78
มูลค่าของสินค้าที่ผลิตได้ในปี 2004 ของโคเบะคือ 2.5 ล้านล้านเยน โดยส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก อาหาร อุปกรณ์การขนส่ง และอุปกรณ์การสื่อสาร
การคมนาคม
[แก้]การขนส่งทางราง
[แก้]สถานีซันโนมิยะ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมของโคเบะ โดยมีรถไฟเจอาร์สายโคเบะเชื่อมต่อโคเบะกับโอซากะและฮิเมจิ ส่วนรถไฟฮันกีวสายโคเบะและรถไฟฮันชิงสายโคเบะก็เชื่อมต่อโคเบะกับสถานีอูเมดะในโอซากะ นอกจากนี้ รถไฟใต้ดินโคเบะก็เชื่อมต่อกับรถไฟซันโย ชิงกันเซ็งที่สถานีชินโคเบะ และรถไฟฟ้าซันโยก็ให้บริการรถไฟเชื่อมต่อกับฮิเมจิด้วยรถไฟด่วนโคเบะ
นอกจากนี้ ยังมีรถไฟเชื่อมเมืองโคเบะกับส่วนอื่น ๆ ในจังหวัดเฮียวโงะอีก เช่น รถไฟฟ้าโคเบะ รถไฟโฮกุชิงเกียวกุ และรถไฟโคเบะนิวทรานซิท
การคมนาคมทางถนนและทางอากาศ
[แก้]โคเบะเป็นศูนย์กลางของทางด่วน โดยเฉพาะทางด่วนเมชิง (นาโงยะ–โคเบะ) และทางด่วนฮันชิง (โอซากะ–โคเบะ) มีทางด่วนโคเบะ–อาวาจิ–นารูโตะที่เชื่อมโคเบะกับนารูโตะผ่านเกาะอาวาจิทางสะพานอากาชิไคเกียวที่มีชื่อเสียงในฐานะสะพานแขวนที่ยาวที่สุดในโลก
สำหรับการคมนาคมทางการอากาศ มีท่าอากาศยานนานาชาติโอซากะและท่าอากาศยานโคเบะที่อยู่ใกล้กับเมือง ขณะที่ศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศของภูมิภาคคันไซจะอยู่ที่ท่าอากาศยานนานาชาติคันไซ
การศึกษา
[แก้]เมืองโคเบะมีโรงเรียนระดับประถมศึกษา 169 แห่ง มีโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 81 แห่ง มีนักเรียนประมาณ 80,200 และ 36,000 คนตามลำดับ[16] สำนักงานเขตโคเบะให้บริการการศึกษาระดับมัธยมปลาย 7 แห่ง และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาจังหวัดเฮียวโงะรับผิดชอบโรงเรียนมัธยมปลายอีก 18 แห่ง มีนักเรียนทั้งสิ้น 43,400 คน
โคเบะยังมีมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนตั้งอยู่มากมาย โดยมีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงคือ มหาวิทยาลัยโคเบะ
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
[แก้]เมืองฝาแฝดและเมืองพี่น้อง
[แก้]- ซีแอตเทิล, สหรัฐอเมริกา (1957)[17]
- มาร์แซย์, ฝรั่งเศส (1961)[17]
- รีโอเดจาเนโร, บราซิล (1969)[17]
- ไฟซาลาบาด, ปากีสถาน (2000)
- รีกา, ลัตเวีย (1974)[17][18]
- บริสเบน, ออสเตรเลีย (1985)[17]
- บาร์เซโลนา, สเปน (1993)[17]
- ไฮฟา, อิสราเอล (2004)
- อินชอน, เกาหลีใต้ (2010)[17]
ท่าเรือพี่น้อง
[แก้]- รอตเทอร์ดาม, เนเธอร์แลนด์ (1967)[17]
- ซีแอตเทิล, สหรัฐอเมริกา (1967)[17]
ความร่วมมือทางธุรกิจ
[แก้]- เทียนจิน, จีน (เมืองพันธมิตร) (1973)[17]
- ฟิลาเดเฟีย, สหรัฐอเมริกา (เมืองพันธมิตรและเมืองความร่วมมือทางธุรกิจ) (1986)[17]
- แตร์นี, อิตาลี (เมืองพันธมิตรและเมืองความร่วมมือทางธุรกิจ) (1993)
- แทกู, เกาหลีใต้ (เมืองความร่วมมือทางธุรกิจ) (2010)[17]
คลังภาพ
[แก้]-
วัดไทซัน สถานที่เก็บสมบัติประจำชาติญี่ปุ่น
-
สุสานอันโยอิน
-
ภาพวาดนิชิกิเอะ แสดงเรือกลไฟของชาวต่างชาติกำลังเทียบท่าเรือเฮียวโงะในช่วงเปิดประเทศสู่โลกตะวันตกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19
-
โคเบะจากมุมมองบนเครื่องบิน
-
ย่านใจกลางเมือง
-
ทัศนียภาพยามค่ำคืนจากคิกูเซได
-
ทัศนียภาพยามค่ำคืน
-
ทัศนียภาพยามค่ำคืนเมื่อมองจากสวนสมุนไพรนูโนบิกิ
-
อนุสรณ์สถานแผ่นดินไหวโคเบะ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "UEA Code Tables". Center for Spatial Information Science, University of Tokyo. สืบค้นเมื่อ January 26, 2019.
- ↑ "Kobe's official English name". City.kobe.lg.jp. 2013-02-18. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-22. สืบค้นเมื่อ 2013-03-31.
- ↑ 3.0 3.1 Ikuta Shrine official website เก็บถาวร 2008-04-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - "ประวัติของศาลเจ้าอิกุตะ" (ภาษาญี่ปุ่น)
- ↑ Nagasaki University เก็บถาวร 2007-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - "Ikuta Shrine". Retrieved February 3, 2007.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 City of Kobe เก็บถาวร 2007-09-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - "ประวัติศาสตร์ของโคเบะ" (ภาษาญี่ปุ่น). เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2550.
- ↑ Kobe City Info เก็บถาวร 2008-06-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - "History". เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550.
- ↑ City of Kobe เก็บถาวร 2008-04-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - "โคเบะเมืองเก่า" (ภาษาญี่ปุ่น). เรียกดูข้อมูล 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550.
- ↑ City of Ashiya เก็บถาวร 2008-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - "An Outline History of Ashiya". เรียกดูข้อมูล 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550.
- ↑ The Great Hanshin-Awaji Earthquake Statistics and Restoration Progress เก็บถาวร 2008-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (Jan. 2008). เรียกดูข้อมูล 14 เมษายน พ.ศ. 2551.
- ↑ Maruhon Business News เก็บถาวร 2001-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - Port Conditions in Japan. เรียกดูข้อมูล 23 มกราคม พ.ศ. 2550.
- ↑ "Kobe Climate Normals 1961-1990". National Oceanic and Atmospheric Administration. สืบค้นเมื่อ January 6, 2013.
- ↑ 12.0 12.1 City of Kobe เก็บถาวร 2007-08-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - "Statistical Summary of Kobe". Retrieved July 25, 2007.
- ↑ American Association of Port Authorities เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - "World Port Rankings 2005". เรียกดูข้อมูล 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2550.
- ↑ Hyogo Industrial Advancement Center เก็บถาวร 2007-07-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - "Industry Tendencies in Various Areas of Hyogo Prefecture" (ภาษาญี่ปุ่น). เรียกดูข้อมูล 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2550.
- ↑ Cabinet Office, Government of Japan เก็บถาวร 2007-07-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - "2004 Prefectural Economy Survey" (Japanese). เรียกดูข้อมูล 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2550.
- ↑ City of Kobe เก็บถาวร 2007-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - "Number of municipal schools and students" (ภาษาญี่ปุ่น). เรียกดูข้อมูล 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2550.
- ↑ 17.00 17.01 17.02 17.03 17.04 17.05 17.06 17.07 17.08 17.09 17.10 17.11 "Kobe's Sister Cities". Kobe Trade Information Office. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-21. สืบค้นเมื่อ 2013-08-11.
- ↑ "Twin cities of Riga". Riga City Council. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-04. สืบค้นเมื่อ 2009-07-27.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- (อังกฤษ) เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของโคเบะ เก็บถาวร 2019-01-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- (ญี่ปุ่น) Channel ของโคเบะในเว็บไซต์ YouTube
- คู่มือการท่องเที่ยว Kobe จากวิกิท่องเที่ยว (ในภาษาอังกฤษ)