ทำเนียบขาว
ทำเนียบขาว (อังกฤษ: White House) เป็นที่พำนักอย่างเป็นทางการและสถานที่ทำงานหลักของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ตั้งอยู่ ณ เลขที่ 1600 ถนนเพนซิลเวเนีย เขตตะวันตกเฉียงเหนือ วอชิงตัน ดี.ซี. โดยเป็นสถานที่พำนักของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทุกคนตั้งแต่ประธานาธิบดีจอห์น แอดัมส์ ในปี ค.ศ. 1800
ทำเนียบขาว | |
---|---|
บน: ทำเนียบขาวฝั่งทิศเหนือ หันหน้าสู่จัตุรัสลาฟาแยต ล่าง: ทำเนียบขาวฝั่งทิศใต้ หันหน้าสู่สวนเอลลิปส์ | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ประเภท | จวนและสถานที่ทำงาน |
สถาปัตยกรรม | ฟื้นฟูคลาสสิกและปัลลาดีโอ |
เมือง | เลขที่ 1600 ถนนเพนซิลเวเนีย เขตตะวันตกเฉียงเหนือ วอชิงตัน ดี.ซี. |
ประเทศ | สหรัฐอเมริกา |
พิกัด | 38°53′52″N 77°02′11″W / 38.8977°N 77.0365°W |
เริ่มสร้าง | 13 ตุลาคม 1792 |
แล้วเสร็จ | 1 พฤศจิกายน 1800[1] |
การออกแบบและการก่อสร้าง | |
สถาปนิก | เจมส์ โฮบัน |
ทำเนียบขาวถูกออกแบบโดยสถาปนิกชาวไอริช เจมส์ โฮบัน[2] และก่อสร้างระหว่างปี ค.ศ. 1792 ถึง ค.ศ. 1800 ด้วยหินทรายอะเกียครีกสีขาวในรูปแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิก เมื่อประธานาธิบดีทอมัส เจฟเฟอร์สัน ย้ายเข้ามาพำนักในปี ค.ศ. 1801 ได้ร่วมกับสถาปนิก เบนจามิน เฮนรี ลาทรอบ ขยายต่อเติมทำเนียบออกไปด้วยระเบียงเสาสองแห่งเพื่อเชื่อมคอกม้ากับโรงเก็บของ[3] อย่างไรก็ตามในปี ค.ศ. 1814 ซึ่งเป็นช่วงของสงครามปี ค.ศ. 1812 ทำเนียบถูกเผาโดยกองทัพสหราชอาณาจักรในการเผากรุงวอชิงตัน ทำลายภายในอาคารและภายนอกอาคารส่วนมาก การบูรณะฟื้นฟูจึงเริ่มขึ้นแทบจะโดยทันทีหลังจากนั้น และประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร ได้ย้ายเข้าไปในอาคารซึ่งบูรณะเสร็จบางส่วนในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1817 ส่วนการก่อสร้างยังคงดำเนินต่อไปโดยต่อเติมระเบียงทิศใต้ในปี ค.ศ. 1824 และทิศเหนือในปี ค.ศ. 1829
เนื่องจากความแออัดคับแคบในส่วนคฤหาสน์ ประธานาธิบดีธีโอดอร์ โรสเวลต์ จึงได้ย้ายส่วนที่ทำงานไปยังปีกตะวันตกที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในปี ค.ศ. 1901 แปดปีหลังจากนั้นประธานาธิบดีวิลเลียม ฮาวเวิร์ด แทฟต์ ได้ขยายปีกตะวันตกเพิ่มเติมและสร้างห้องทำงานรูปไข่ขึ้นมาครั้งแรก แต่ในท้ายที่สุดก็ย้ายออกไปจากการต่อเติมในภายหลัง ในส่วนของคฤหาสน์หลัก ห้องใต้หลังคาชั้นสามถูกดัดแปลงเป็นส่วนที่อยู่อาศัยในปี ค.ศ. 1927 ด้วยหลังคาทรงปั้นหยาที่มีอยู่เดิมและเพิงหลังคาขนาดยาว ต่อมาจึงมีการต่อเติมปีกตะวันออกและใช้เป็นส่วนรับรองสำหรับงานสังคม โดยระเบียงเสาของประธานาธิบดีเจฟเฟอร์สันก็ได้เชื่อมกับปีกตะวันออกนี้ด้วย การดัดแปลงปีกตะวันตกเสร็จสิ้นลงในปี ค.ศ. 1946 ด้วยการขยายพื้นที่ในส่วนของสำนักงาน จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1948 มีการตรวจพบว่ากำแพงรองรับโครงสร้างภายนอกและคานไม้รองรับโครงสร้างภายในจวนที่จะพังถล่มลงมา ประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน จึง���ำเนินการรื้อถอนห้องในโครงสร้างภายในออกทั้งหมดและเสริมโครงเหล็กเข้าไปในกำแพงเพื่อรองรับโครงสร้างภายในอาคาร จากนั้นจึงดำเนินการสร้างห้องที่อยู่ภายในอาคารขึ้นมาใหม่
ในปัจจุบัน กลุ่มอาคารทำเนียบขาวประกอบไปด้วยส่วนคฤหาสน์ที่พำนัก ปีกตะวันตก ปีกตะวันออก อาคารสำนักงานบริหารไอเซนฮาวร์ (Eisenhower Executive Office Building; ที่ทำการเดิมของกระทรวงการต่างประเทศ แต่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักงานเจ้าหน้าที่ของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี) และคฤหาสน์แบลร์ (Blair House) ซึ่งใช้เป็นที่พำนักรับรองอาคันตุกะ ส่วนคฤหาสน์ที่พำนักมีทั้งหมดหกชั้นประกอบไปด้วย ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ชั้นพื้นดิน ชั้นหนึ่ง ชั้นสอง และชั้นสาม
บริบทคำว่า ทำเนียบขาว มักถูกใช้เป็นนามนัยสำหรับสำนักบริหารงานประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (Executive Office of the President of the United States) และสำหรับที่ทำการและที่ปรึกษาของประธานาธิบดีด้วยเช่นกัน ทำเนียบขาวยังถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประธานาธิบดีที่ดูแลโดยสำนักงานอุทยานแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 2007 ทำเนียบขาวถูกจัดลำดับให้เป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นที่ชื่นชอบมากที่สุดอันดับสองของอเมริกาโดยสถาบันสถาปนิกอเมริกันอีกด้วย
โครงสร้าง
แก้ทำเนียบขาวมีพื้นที่ใช้สอยรวม 55,000 ตารางฟุต (5,100 ตร.ม.) มีห้องทั้งหมด 132 ห้อง และสระว่ายน้ำ 1 สระ ทำเนียบขาวเป็นอาคารหลังแรกในวอชิงตัน ดี.ซี. ที่ทำทางลาดสำหรับรถเข็น ซึ่งปรับปรุงสำหรับประธานาธิบดีแฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ ที่นั่งรถเข็นเนื่องจากอาการเจ็บป่วย(ที่ทำเป็นหนัง)
ปีกตะวันตก
แก้สำนักงานเดิมมีความแออัดคับแคบ จึงมีการต่อเติมอาคารเพิ่มอีก 2 ปีกเชื่อมกับอาคารกลาง โดยปีกตะวันตกเป็นสำนักงานของประธานาธิบดี (ห้องทำงานรูปไข่) และทีมงานระดับสูงอีกประมาณ 50 คน รวมถึงห้องประชุมของคณะรัฐมนตรี
ปีกตะวันออก
แก้ปีกตะวันออกถูกสร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1942 ในลักษณะอาคารอเนกประสงค์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1977 สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งซึ่งคนปัจจุบันคือ จิล ไบเดิน ได้ใช้ปีกตะวันออกเป็นสำนักงานและตั้งชื่อว่า "สำนักงานสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง" ซึ่งใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง
แก้- ↑ "John Adams moves into White House". History.com.
- ↑ "History of the White House". The White House. สืบค้นเมื่อ May 14, 2012.
- ↑ Michael W. Fazio and Patrick A. Snadon (2006). The Domestic Architecture of Benjamin Henry Latrobe. The Johns Hopkins University Press. pp. 364–366.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้38°53′51″N 77°02′12″W / 38.89763°N 77.03658°W
- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ ทำเนียบขาว
- แผนที่ จาก มัลติแมป โกลบอลไกด์ หรือ กูเกิลแผนที่
- ภาพถ่ายทางอากาศ จาก เทอร์ราเซิร์ฟเวอร์
- ภาพถ่ายดาวเทียม จาก วิกิแมเปีย