แมวไทย
มุมมองและกรณีตัวอย่างในบทความนี้อาจไม่ได้แสดงถึงมุมมองที่เป็นสากลของเรื่อง |
แมวไทย คือแมวที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย คุณสมบัติที่ทำให้แมวไทยเหนือกว่าแมวชนิดอื่น คือ เรื่องอุปนิสัย แมวไทยมีความฉลาด มีความเป็นตัวของตัวเอง รู้จักคิด รู้จักประจบ รักบ้าน รักเจ้าของ และเหนืออื่นใด คือ รักความอิสระของตัวเองเป็นชีวิตจิตใจ อิสระที่ จะกิน จะดื่ม หรือจะไปไหนตามที่ใจชอบ ซึ่งถือว่าเป็นบุคลิกประจำตัวที่ทำให้แตกต่างจากแมวพันธุ์อื่น สีสันตามตัวของแมวไทย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักรักแมวรู้สึกสุขใจยามได้มอง ไม่ว่าจะเป็น วิเชียรมาศ เก้าแต้ม ขาวมณีหรือขาวปลอด นิลรัตน์หรือดำปลอด ศุภลักษณ์หรือ ทองแดง สีสวาดหรือแมวไทยพันธุ์โคราช ต่างล้วนได้รับความสนใจ จากเจ้าของและผู้สนใจทั้งสิ้น
ประวัติ
แก้แมวถือเป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงของคนไทยมาช้านาน และได้รับสิทธิในการขึ้นไปอาศัยอยู่บนเรือนร่วมกับมนุษย์ ดังปรากฏในประเพณีขึ้นบ้านใหม่ที่จะมอบของมงคลต่าง ๆ แก่เจ้าของเรือน ซึ่งมีสัตว์เลี้ยงสองชนิดไก่และแมว ทั้งยังปรากฏแมวในสำนวนหรือสุภาษิตต่าง ๆ เป็นต้นว่า "หุงข้าวประชดหมา ปิ้งปลาประชดแมว" "ฝากปลาย่างไว้กับแมว" และ "แมวนอนหวด" เป็นต้น[1] นอกจากเลี้ยงในเรือนแล้ว พระสงฆ์ก็นิยมเลี้ยงแมวในวัดด้วย เพราะป้องกันมิให้หนูมากัดทำลายพระไตรปิฏก[2]
���ำราดูลักษณะแมว เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นหนึ่งในตำราพรหมชาติซึ่งคัดลอกต่อ ๆ กันมา ฉบับหนึ่งอยู่ในการครอบครองของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (นวม พุทฺธสโร) สมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย ผู้โปรดปรานการเลี้ยงแมว ตำราดังกล่าวเป็นสมุดข่อย เนื้อหาแต่งเป็นโคลงและกาพย์ แบ่งแมวไทยออกเป็น 23 สายพันธุ์ เป็นแมวมงคล 17 สายพันธุ์ และแมวให้โทษ 6 สายพันธุ์[1][3] ส่วนตำราแมวฉบับอื่น ๆ ก็ระบุไว้ใกล้เคียงกัน[4][5] จากเนื้อหาแสดงให้เห็นถึงค่านิยมของคนไทยด้านรูปล��กษณ์ เพราะแมวมงคลนั้นล้วนมีลักษณะที่งาม อันแสดงให้เห็นว่าแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นบ้านเป็นตาของบ้าน[1] ทั้งนี้แมวไทยส่วนใหญ่มีอุปนิสัยดี ไม่ดุร้าย ฉลาด รู้จักประจบประแจง รักเจ้าของ และมีความเป็นต้วของตัวเอง[2] และมีข้อดีที่สำคัญคือมีภูมิต้านทานต่อโรคเขตร้อนสูง ขนสั้น ไม่มีปัญหาด้านเชื้อราจากความชื้น[6]
เมื่อปี พ.ศ. 2427 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแมววิเชียรมาศคู่หนึ่งให้แก่ กงสุลอังกฤษชื่อ โอเวน กูลด์ แมวไทยคู่นี้ชนะการประกวดแมวที่ กรุงลอนดอน และทำให้ชาวอังกฤษนิยมเลี้ยงแมวไทยมากขึ้น ในที่สุดก็แพร่หลายไปทั่วโลก และแมววิเชียรมาศก็เป็นที่รู้จักในภาษาอังกฤษว่า "Siamese Cat" หรือ แมวสยาม
สำหรับในประเทศไทย คนไทยที่เป็นที่รับรู้ดีว่าชอบเลี้ยงแมวไทย เช่น สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, พิชัย วาสนาส่ง อดีตผู้เชี่ยวชาญเรื่องการต่างประเทศ และ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล อดีตผู้อำนวยการ อสมท. เป็นต้น
แมวไทยในระดับนานาชาติ
แก้ในสหรัฐอเมริกา แมวไทยตัวแรกเป็นแมวของ ลูซี่ เว็บบ์ ภรรยาของ รัทเทอร์ฟอร์ด บี. เฮส์ ประธานาธิบดีคนที่ 29 ของสหรัฐอเมริกา[7]
ทั้งนี้แมววิเชียรมาศได้รับการยกย่องจากนักจิตบำบัดในฐานะแมวที่ช่วยเสริมสร้างความสดใสและสมดุลทางอารมณ์ให้กับผู้เลี้ยง และมักถูกแนะนำให้ผู้ป่วยโรคทางจิตเวชที่มีโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวล เพื่อเป็นตัวช่วยในการบำบัดอาการ[6] ชาวต่างชาตินิยมนำแมวไทยไปผสมกับแมวพันธุ์ที่มีอุปนิสัยดุ เพื่อให้ลูกที่เกิดมาเชื่องหรือดุน้อยลง[2]
ปัจจุบันแมวไทยที่ปรากฏในตำราซึ่งยังหลงเหลืออยู่คือ วิเชียรมาศ, โกนจา, ขาวมณี มาเลศ และศุภลักษณ์ ได้มีสิทธิบัตร แบ่งเป็น วิเชียรมาศ (พ.ศ. 2471) จดโดยอังกฤษ โกนจา, ขาวมณี (พ.ศ. 2542) และมาเลศ (พ.ศ. 2502) จดโดยสหรัฐ ศุภลักษณ์ (พ.ศ. 2567) จดโดยไทย[6][8][9]
ปัจจุบันยีนของแมวไทยได้กระจายไปสู่แมวสายพันธุ์ต่างประเทศทั่วโลกมากถึง 40 สายพันธุ์ด้วยกัน[10]
ชนิด
แก้สมุดข่อยโบราณได้กล่าวถึงแมวไทยไว้ 23 ชนิด ซึ่งเป็นแมวดีให้คุณ 17 ชนิด และแมวร้ายให้โทษ 6 ชนิด แมวไทย (วิฬาร) ที่ยังเหลือให้พบเห็นในปัจจุบันนี้มี 6 ชนิดคือ วิเชียรมาศ สีสวาด ศุภลักษณ์ โกญจา ขาวมณี และแซมเสวตร[11] แต่แท้จริงแล้วในสมุดข่อยโบราณได้กล่าวถึงแมวไทยว่ามีทั้งหมด 23 สายพันธุ์ แบ่งออกเป็นแมวให้คุณ 17 ชนิด และ แมวร้ายให้โทษอีก 6 ชนิด
แมวดีให้คุณ
แก้รูป | ชื่อ | ลักษณะ |
---|---|---|
กรอบแว่น, อานม้า | มีขนสีขาวทั้งตัว ส่วนขอบตาและกลางแผ่นหลังมีสีดำ คล้ายกรอบแว่นตาและอานม้าตามลำดับ | |
กระจอก | มีขนสีดำมันทั้งตัว ตาสีเหลือง รอบปากมีสีขาว | |
การเวก | ขนมีสีดำทั้งตัว ปลายจมูกมีสีขาว สีเหลืองอำพัน | |
เก้าแต้ม | ขนมีสีขาวทั้งตัว มีจุดสีดำรอบตัวเก้าแห่ง คือ หัว คอ โคนขาหน้าและหลังทั้งสี่ ไหล่ทั้งสอง และโคนหาง | |
โกนจา, โกญจา, ร่องมด, ดำปลอด | ขนสั้นเรียบละเอียดสีดำสนิททั้งตัวนัยน์ตาสีเหลืองอมเขียว ปากเรียว หูตั้ง | |
จตุบท | มีสีดำ นอกจากปลายเท้าขึ้นมาจนถึงข้อพับทั้งสี่ข้างเป็นสีขาว นัยน์ตาเป็นสีเหลือง | |
แซมเสวตร | มีลักษณะเดียวกับโกนจา ตาสีเขียว แต่มีขนสีขาวแซม | |
นิลจักร | มีขนสีดำ บริเวณลำคอมีขนสีขาวเป็นวงเหมือนคล้องพวงมาลัย | |
นิลรัตน์ | มีลักษณะเดียวกับโกนจา ต่างกันตรงที่มีเล็บดำ ลิ้นดำ ฟันดำ และนัยน์ตาสีดำ | |
ปัดเสวตร, ปัดตลอด | มีขนสีดำเป็นมันเรียบ ยกเว้นปลายจมูกจนถึงปลายหางมีขาว ดวงตามีสีเหลืองคล้ายพลอย | |
มาเลศ, สีสวาด, โคราช, ดอกเลา[12] | มีขนสั้นสีสวาด ผิวหนังบริเวณจมูกและริมฝีปากมีสีเงินหรือม่วงอ่อน นัยน์ตาสีเขียว | |
มุลิลา | มีขนสีดำ ขนเรียบเป็นมัน แต่บริเวณสองหูเป็นสีขาว นัยน์ตาสีเหลือง | |
รัตนกำพล | มีขนสีขาว ยกเว้นลำตัวจะมีสีดำคาด นัยน์ตาสีทอง | |
วิเชียรมาศ | มีขนสั้นสีน้ำตาลอ่อน แต้มสีครั่งหรือน้ำตาลบนใบหน้า หูสองข้าง เท้าทั้งสี่ หาง และอวัยวะเพศ นัยน์ตาสีฟ้า | |
วิลาศ | มีขนเรียบสีดำ ยกเว้นใบหูทั้งสองข้าง ปากล่างลงมาถึงหน้าอก ปลายเท้าทั้งสี่ และจากท้ายทอย หลัง จนถึงปลายหางมีสีขาว | |
ศุภลักษณ์, ทองแดง | มีขนสีทองแดง นัยน์ตาสีเหลืองอำพัน อุ้งเท้ามีสีชมพู[12] | |
สิงหเสพย์, โสงหเสพย | มีขนสีดำทั้งตัว แต่มีสีขาวอยู่บริเวณริมฝีปาก จมูกและรอบคอ นัยน์ตาสีเหลืองทอง |
แมวร้ายให้โทษ
แก้รูป | ชื่อ | ลักษณะ |
---|---|---|
กอบเพลิง | มีนิสัยชอบอยู่ลำพังในที่ลับตา เมื่อพบคนจะหลบหนี | |
ทุพลเพศ | มีสีขาวหม่น หางขอดหรือม้วน นัยน์ตาสีแดงเหมือนเลือด | |
ปีศาจ | มีรูปร่างผอม ผิวหนังเหี่ยวยาน หางขอด นัยน์ตาสีแดง เมื่อออกลูกก็จะกินลูกของตัวเอง | |
พรรณพยัคฆ์, ลายเสือ | มีขนหยาบสีมะกอกเขียวหรือมะกอกแดงคาดลายอย่างเสือ นัยน์ตาสีแดง ชอบร้องเสียงโหยหวน | |
หิณโทษ | เป็นแมวเพศเมียลักษณะสวยงาม ขนงาม แต่มักแท้งลูกในท้อง | |
เหน็บเสนียด | เป็นแมวรูปพรรณพิกลพิการ โคนหางสีออกด่างและมักเอาหางซ่อนไว้ใต้ก้น และชอบกัดแมวตัวอื่นเสมอ |
อื่น ๆ
แก้เป็นแมวไทยที่พบในยุครัตนโกสินทร์ และไม่ปรากฏในสมุดข่อยในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้แก่
รูป | ชื่อ | ลักษณะ |
---|---|---|
กลีบบัว, สีกลีบบัว | ขนมีสีเทาอมชมพูล้วนทั้งตัว[13] คล้ายกลีบดอกบัวบูชาพระ อุ้งเท้ามีสีชมพู พบในปี พ.ศ. 2559 มีจำนวน 6 ตัวทั่วประเทศ[14] | |
ขาวมณี, ขาวปลอด | มีสีขาวปลอด มีตาสองสี เพิ่งถือกำเนิดในต้นยุครัตนโกสินทร์ | |
ท็องกินีส | เป็นแมวลูกผสมวิเชียรมาศกับเบอร์มีส ทำให้กลายเป็นแมวพันธุ์แท้ได้ หากนำท็องกินีสผสมกันก็จะออกลูกมาเป็นทั้งวิเชียรมาศและเบอร์มีส[15] | |
เบอร์มีส, ทองแดง, ศุภโชค | เป็นแมวไทยที่ไม่ปรากฏในสมุดข่อย ผู้คนมักเรียกว่า "ทองแดง" และสับสนกับศุภลักษณ์ ต่างตรงที่เบอร์มีสมีตาสีทอง[16] | |
วิฬาร์กรุงเทพ (เดิม มอคค่า)[17] |
เป็นแมวไทยสายพันธุ์ใหม่ พบในปี พ.ศ. 2558[18] มีจำนวน 25 ตัวทั่วประเทศ[19] |
ความเชื่อ
แก้คนไทยมีความเชื่อเรื่องลูกกรอกแมว คือซากลูกแมวที่ตายในท้อง หากนำมาบูชาจะเกิดลาภผล นอกจากนี้ยังเชื่อในเรื่องเพชรตาแมว คือลูกตาของแมวที่เป็นต้อหิน เมื่อแมวนั้นตาย ดวงตาที่เป็นต้อจะแข็งเป็นหิน หากใครครอบครองจะเกิดโชคลาภ คิดสิ่งใดหรือปรารถนาสิ่งใดก็จะสมประสงค์ดังหวัง[20]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 "ตำราดูแมว" (PDF). สถาบันไทยศึกษา. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2018.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "แมวมงคง...ในตำราสมุดข่อยโบราณวัดทองนพคุณ". โพสต์ทูเดย์. 31 กรกฎาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2018.
- ↑ "ตำราดูลักษณะแมว (วิฬาร์) ของวัดอนงคาราม". สยามบรรณาคม. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2018.
- ↑ "ตำราแมวไทย". มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กันยายน 2018. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2018.
- ↑ "ก่อนหมดวันแมวโลก! เปิดภาพชุดสมุดข่อย "ตำราแมวไทย" นักวิชาการเชื่อ ลอกต่อกันมาตั้งแต่ยุคอยุธยา". มติชนออนไลน์. 8 สิงหาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2022.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 วรรณนัช ท้วมสมบูรณ์ (1 กันยายน 2017). "เลี้ยงแมวไทยกันไหม? แมวศุภลักษณ์ กับโอกาสสุดท้ายที่ทาสแมวจะได้เป็นเจ้าของแมวไทยขึ้นทะเบียน". เดอะสแตนดาร์ด. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2018.
- ↑ "ประธานาธิบดีสหรัฐ". เดลินิวส์. 31 สิงหาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2014.
- ↑ "ไทยเชื่องช้า แมวไทยสี่ชนิดกลายเป็นของต่างชาติไปแล้ว". โลกสีเขียว. 9 ตุลาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2018.
- ↑ เหล่าทาสฮือฮา! สหพันธ์แมวโลกรับรอง สายพันธุ์ ‘ศุภลักษณ์’ ของไทยแล้ว... สามารถติดตามต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/news/3773272/
- ↑ Cats 101 - EPISODE 3, สารคดีอนิมอลพลาเน็ต. ทรูวิชั่นส์. พฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2556.
- ↑ ""แซมเสวตร" การกลับมาของแมวไทยโบราณ ?". ผู้จัดการรายวัน. 7 มิถุนายน 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 กรกฎาคม 2017.
- ↑ 12.0 12.1 "หาตัวแมวมงคล "ศุภลักษณ์" 1 ใน 5 เหมียวไทยแท้". มติชนออนไลน์. 9 ตุลาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2018.
- ↑ "แมวกลีบบัว แมวสายพันธุ์ใหม่ของไทยที่หายากกว่าแมวศุภลักษณ์ มีสีเทาอมชมพู ฝรั่งเรียก Thai Lilac". แมวสยาม. 25 เมษายน 2016. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2018.
- ↑ "แมวไทยสีกลีบบัว แมวไทยชนิดใหม่ที่หายากมาก". แมวสยาม. 8 ตุลาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2018.
- ↑ "แมวท็องกินีส". แมวสยาม. 13 กุมภาพันธ์ 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 ตุลาคม 2017. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2018.
- ↑ "ปัญหาโลกแตก แมวเบอร์มีสกับแมวศุภลักษณ์ต่างกันอย่างไร ?". แมวสยาม. 13 กุมภาพันธ์ 2018. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2022.
- ↑ "เปลี่ยนชื่อแมวมอคค่า เป็น "แมววิฬาร์กรุงเทพ"". แมวสยาม. 12 กุมภาพันธ์ 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 พฤษภาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2022.
- ↑ "สายพันธุ์แมวไทย". แมวสยาม. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2022.
- ↑ "รายชื่อแมววิฬาร์กรุงเทพ". แมวสยาม. 8 กุมภาพันธ์ 2018. สืบค้นเมื่อ 19 พฤษภาคม 2022.
- ↑ "แมว เทพเจ้าแห่งลาภผล (๒)". เสรีชัย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 28 มีนาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 20 พฤษภาคม 2018.
ดูเพิ่ม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แมวไทย
- ชนิดของแมวไทย เก็บถาวร 16 มีนาคม 2007 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แมวไทย ที่เฟซบุ๊ก