เสือปลา
เสือปลา หรือ เสือแผ้ว (ชื่อวิทยาศาสตร์: Prionailurus viverrinus) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกเสือขนาดเล็ก จัดเป็นแมวป่าขนาดกลาง รูปร่างอ้วนป้อม
เสือปลา | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอตา Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม Mammalia |
อันดับ: | สัตว์กินเนื้อ Carnivora |
อันดับย่อย: | เฟลิฟอเมีย Feliformia |
วงศ์: | เสือและแมว Felidae |
วงศ์ย่อย: | แมว Felinae |
สกุล: | สกุลแมวดาว (Bennett, 1833) |
สปีชีส์: | Prionailurus viverrinus |
ชื่อทวินาม | |
Prionailurus viverrinus (Bennett, 1833) | |
ที่อยู่อาศัยของเสือปลาใน ค.ศ. 2016[1] |
ลักษณะทั่วไป
แก้เสือปลามีขนาดใหญ่กว่าแมวบ้าน รูปร่างอ้วนหนา บึกบึน ม่อต้อ ลักษณะภายนอกหลายอย่างคล้ายชะมด จึงมีชื่อชนิดว่า viverrine ซึ่งแปลว่า คล้ายชะมด หัวโตและกว้าง กระบอกปากค่อนข้างยาว ลวดลายคล้ายแมวดาวมาก ขนมันวาวหยาบสั้นสีเทาอมน้ำตาลหรือเทาอมมะกอก มีเส้นและจุดรี ๆ สีน้ำตาลพาดตามแนวยาวของลำตัวทั่วทั้งตัว มีเส้นพาดข้ามหัวจากหน้าผากไปถึงคอประมาณ 6-8 เส้น มีเส้นเด่นชัดสองเส้นลากจากคิ้วข้ามหัวไปจนถึงหัวไหล่ด้านหลังแล้วเริ่มแตกออกเป็นท่อน ช่วงล่างของลำตัวมีสีขาว ม่านตามีสีอมเขียว หูสั้นและกลม หลังหูมีสีดำและมีแต้มสีขาวเด่นชัดอยู่กลางใบ ขาสั้น เสือปลามีปลอกเล็บไม่สมบูรณ์ จึงหดเล็บได้ไม่หมด หางอ้วนและสั้น (ยาว 21-23 ซม.) หรือเพียงประมาณ 37% ของความยาวหัว-ลำตัว มีปล้องที่ไม่ครบรอบหลายปล้อง ปลายหางสีดำ ตัวผู้หนัก 11-12 กิโลกรัม ตัวเมียหนัก 6-7 กิโลกรัม
เสือปลามีขน 2 ชั้น ซึ่งพัฒนามาเพื่อหากินกับน้ำโดยเฉพาะ ขนชั้นในสั้นเกรียนและแน่นมากจนน้ำซึมผ่านไม่ได้ ทำให้ตัวของเสือปลาแห้งและช่วยรักษาความอบอุ่นเอาไว้ในขณะที่ลงจับปลาในน้ำ ขนชั้นนอกจะยาวซึ่งเป็นชั้นที่มีลวดลายและมันวาว
เสือปลามีสัญฐานที่เหมาะกับการหากินกับน้ำและจับปลาเป็นอาหาร แต่เมื่อเทียบกับแมวป่าหัวแบนแล้วยังนับว่าเป็นรอง แมวป่าหัวแบนมีฟันกรามน้อย (pre-molar) ที่ยาวและแหลม เหมาะที่จะยึดจับเหยื่อที่ลื่นไหลง่ายเช่นปลา ��่วนเสือปลาจะมีฟันเล็กและมีพัฒนาการของฟันด้อยกว่า ตีนของเสือปลามีพังพืดเล็กน้อยอยู่ระหว่างนิ้วซึ่งพัฒนามาเพื่อจับปลา แต่พังผืดนิ้วของเสือปลาก็ยังพัฒนามาไม่เต็มที่ โดยมีพัฒนาการของพังผืดใกล้เคียงกับบอบแคต
อุปนิสัย
แก้เสือปลาพบได้ทุกเวลาเพราะหากินทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นแมวอีกชนิดหนึ่งที่ไม่กลัวน้ำอย่างแมวทั่วไป เสือปลาเป็นสัตว์ที่หากินกับน้ำโดยเฉพาะ ไม่เคยพบห่างจากแหล่งน้ำเลย ชอบแหล่งน้ำที่ไหลช้าหรือนิ่ง เช่น หนองบึง ป่าชายเลน และป่าริมลำธาร ว่ายน้ำเก่ง เวลาว่ายน้ำจะใช้ขาหลังที่มีพังผืดตีน้ำ จับสัตว์น้ำเป็นอาหาร เช่น ปลา กบ คางคก หอยทาก กุ้ง และปู นอกจากสัตว์น้ำแล้วยังจับนก งู กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดเล็ก เช่น หนู ลูกกวาง ลูกหมูป่า และชะมดเช็ด ได้เหมือนกัน บางครั้งอาจฆ่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านเช่น ลูกวัว ลูกแพะ เป็ดไก่ หมา ของชาวบ้านกินด้วย การจับปลาของเสือปลามีสองวิธีคือ นั่งอยู่ริมน้ำแล้วตบช้อนปลาขึ้นมาบนบกด้วยอุ้งตีนหน้า กับการดำน้ำลงไปจับปลาด้วยปาก
บางครั้งเสือปลาก็อาจกินซากสัตว์ที่ไม่ได้ล่าเองเหมือนกัน เคยมีผู้พบเสือปลากินซากวัวในอุทยานแห่งชาติเคโอลาเดียวในอินเดีย และในจิตวันก็เคยมีผู้พบเสือปลากินซากที่เสือโคร่งทิ้งไว้ ในการวิจัยในอินเดียเมื่อไม่นานมานี้ พบว่าเสือปลาชอบกินหญ้าด้วย
เสือปลามีนิสัยดุมากกว่าแมวทั่ว ๆ ไป การเลี้ยงเสือปลาไม่มีทางทำให้เสือปลาเชื่องได้เลย เคยมีผู้พบเสือปลาฆ่าเสือดาวที่หนักกว่ามันเองถึง 2 เท่า
ถิ่นที่อยู่อาศัย
แก้เสือปลาพบได้ตั้งแต่อินเดียตอนเหนือ ศรีลังกา พม่า ไทย เรื่อยลงมาจนถึงสุมาตราและชวา พบได้ทั่วไปในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น หนองน้ำ ที่ลุ่มน้ำขัง ดงอ้อ และลุ่มแม่น้ำทั่วไป แต่ก็พบได้ในป่าดิบและป่าแล้งเขตร้อนได้เช่นกัน พบได้ถึงระดับสูง 1,525 เมตรที่เทือกเขาหิมาลัยในอินเดีย ในอดีตเคยเชื่อกันว่าเสือปลาแพร่กระจายพันธุ์ไปทางใต้ถึงเพียงแค่คอคอดกระ แต่ในปี 2510 มีการพบเสือปลาในคาบสมุทรมาเลเซีย แต่ไม่แน่ชัดว่าเสือปลาเพิ่งจะแพร่กระจายเข้ามาในคาบสมุทรนี้หรือว่ามีมานานแล้วแต่หายาก หรือว่าตัวที่จับได้นั้นเป็นเสือปลาที่หลุดจากกรงเลี้ยง เช่นเดียวกับรายงานที่สิงคโปร์ บาหลี และบอร์เนียว ส่วนในประเทศจีน พบเสือปลาในมณฑลกวางสีและยูนนานใกล้กับชายแดนเวียดนาม และมีรายงานที่ไม่เป็นที่ยืนยันว่ามีในไต้หวันด้วย
ในประเทศอินเดีย เสือปลาพบได้ในหุบเขาบริเวณแม่น้ำคงคาและพรหมบุตร และชายฝั่งตะวันออกตอนบน และอาจยังคงมีอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกตอนล่างด้วย แต่ไม่พบที่อื่น ๆ ในปากีสถานส่วนใหญ่พบทางตอนล่างของลุ่มแม่น้าสินธุ แต่มีบางส่วนก็แพร่กระจายไปแม่น้ำราวีและสุตเลชทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศด้วย
ในชวา พื้นที่หากินของเสือปลาถูกจำกัดอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งเพียงไม่กี่แห่ง ในการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้พบเสือปลาในพื้นที่ไม่เกิน 15 กิโลเมตรจากชายฝั่ง ประชากรเสือปลาในเกาะนี้มีน้อยมากถึงขั้นวิกฤตเนื่องจากที่อยู่อาศัยทุกมนุษย์ทำลาย ทั้งจากการบุกรุกเพื่อทำการเกษตรและจากมลพิษที่เกิดจากยาฆ่าแมลง
จากการศึกษาชีวิตของเสือปลาในเนปาล พบว่าตัวเมียใช้พื้นที่หากินประมาณ 4-8 ตารางกิโลเมตร ส่วนตัวผู้ใช้พื้นที่ประมาณ 22 ตารางกิโลเมตร และพบว่าแมวป่าใช้พื้นที่ร่วมกับเสือปลาด้วย
ชีววิทยา
แก้เชื่อว่า เสือปลาผสมพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี สร้างรังในกอไม้ ดงอ้อ โพรงไม้ ซอกหิน หรือที่เปลี่ยวอื่น ๆ เคยมีผู้พบเห็นลูกแมวในเดือนเมษายนและมิถุนายน ที่สวนสัตว์ฟิลาเดลเฟีย เสือปลาออกลูกในเดือนมีนาคมและสิงหาคม ตั้งท้องนาน 63-70 วัน ออกลูกครั้งละ 1-4 ตัว (ส่วนใหญ่ 2 ตัว) ลูกเสือปลาแรกเกิดหนัก 170 กรัม ตาเปิดได้เมื่ออายุ 16 วัน เริ่มกินเนื้อได้เมื่ออายุ 53 วัน และหย่านมได้เมื่ออายุได้ 4-6 เดือน เมื่ออายุได้ 8-9 เดือน เสือปลาวัยรุ่นก็จะใหญ่เท่าพ่อแม่แล้วและจะหากินเองเมื่ออายุ 12-18 เดือน มีรายงานที่ไม่เป็นที่ยืนยันว่าพ่อเสือปลาช่วยแม่เสือปลาเลี้ยงดูลูกแมวด้วย เสือปลาในที่เพาะเลี้ยงมีอายุยืนได้ถึง 12 ปี
ในพื้นที่ใกล้ชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ฤดูผสมพันธุ์จะตกราวเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ และออกลูกในเดือนมีนาคมจนถึงพฤษภาคม แต่ก็มีการผสมพันธุ์ในเดือนมิถุนายนด้วย
ภัยที่คุกคาม
แก้ภัยที่คุกคามเสือปลาที่ร้ายแรงที่สุดคือการทำลายพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือปลา ในเอเชียมีพื้นที่ชุ่มน้ำสำคัญ 700 แห่ง ในจำนวนนี้ กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ถูกรบกวนและกำลังเสื่อมโทรมลงไปโดยทั้งการแผ้วถางเพื่อทำที่อยู่อาศัยของมนุษย์ การขยายพื้นที่เกษตร และการทำเกษตรเคมีซึ่งทำให้แหล่งน้ำเป็นพิษ การตัดไม้และการจับปลามากเกินไป ในบางพื้นที่ประชาชนนิยมกินเนื้อของเสือปลาด้วย และเสือปลาบางส่วนก็ถูกคนฆ่าเนื่องจากมันไปฆ่าสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน การล่าเพื่อเอาหนังก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสือปลาลดจำนวนลง แม้ว่าหนังเสือปลาจะไม่เป็นที่นิยมในตลาดหนังสัตว์มากนักก็ตาม
หนึ่งในพื้นที่ ๆ มีแรงกดดันมากที่สุดสำหรับเสือปลาคือบริเวณชายฝั่งของรัฐกรณาฏกะทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย และสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี สินธุ แม่น้ำโขง และแม่น้ำแดง สำหรับเสือปลาพันธุ์ชวา (P.v. rizophoreus) ซึ่งอยู่ในเกาะชวาค่อนข้างมีแรงกดดันน้อยกว่าพันธุ์อื่น ๆ
การอนุรักษ์
แก้เสือปลาถูกจัดไว้ใน CITES Appendix II และได้รับการป้องกันตามกฎหมายในพื้นที่ส่วนใหญ่ โดยมีคำสั่งห้ามล่าในประเทศบังกลาเทศ, กัมพูชา, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, พม่า, เนปาล, ปากีสถาน, ศรีลังกา, ไทย และยังมีการควบคุมการล่าในลาว ส่วนในประเทศภูฏานและเวียดนาม สัตว์ชนิดนี้ไม่ได้รับการป้องกันนอกพื้นที่ป้องกัน[2] ความอยู่รอดของมันขึ้นอยู่กับการป้องกันพื้นที่ชุ่มน้ำ หลีกเลี่ยงการดักจับ บ่วง และวางพิษตามอำเภอใจ[1]
ในพื้นที่ที่ความเสื่อมโทรมของที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาหลัก อย่างชายฝั่งรัฐอานธรประเทศ องค์การนอกภาครัฐกำลังทำงานเพื่อชะลอการเปลี่ยนที่อยู่อาศัยด้วยความร่วมมือกับชาวบ้านในท้องที่ ซึ่งส่วนหนึ่งของงานคือการสร้างอาชีพทางเลือก เพื่อให้ชาวบ้านสามารถหาเงินได้โดยไม่ทำลายที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ[3][4]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 Mukherjee, S.; Appel, A.; Duckworth, J.W.; Sanderson, J.; Dahal, S.; Willcox, D.H.A.; Herranz Muñoz, V.; Malla, G.; Ratnayaka, A.; Kantimahanti, M.; Thudugala, A.; Thaung, R. & Rahman, H. (2016). "Prionailurus viverrinus". IUCN Red List of Threatened Species. 2016: e.T18150A50662615. doi:10.2305/IUCN.UK.2016-2.RLTS.T18150A50662615.en. สืบค้นเมื่อ 24 January 2022.
- ↑ Nowell, K. & Jackson, P. (1996). "Fishing Cat, Prionailurus viverrinus (Bennett, 1833)". Wild Cats: status survey and conservation action plan (PDF). Gland, Switzerland: IUCN/SSC Cat Specialist Group. pp. 74−76. ISBN 978-2-8317-0045-8.
- ↑ Eng, K.F. (2020). "By saving this adorable, elusive wild cat, you could help save the planet (really!)". ideas.ted.com. สืบค้นเมื่อ 2020-11-29.
- ↑ "Projects | Fishing Cat Conservancy | United States". Fishing Cat Conservancy. สืบค้นเมื่อ 2019-03-07.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- ARKive: Prionailurus viverrinus with images and movies
- BioGraphic: Fishing Cat's Cradle by Morgan Heim and Katie Jewett, October 2016
- New International Encyclopedia. 1905. .
- Fishing Cat Conservancy
- Fishing Cat Working Group
- IUCN/SSC Cat Specialist Group: Fishing cat Prionailurus viverrinus เก็บถาวร 2017-06-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- The Jaguar and its Allies: The Fishing Cat