เพชรโคอินัวร์
โคห์อินัวร์ (อังกฤษ: Koh-i-Noor, เปอร์เซีย: کوہ نور อ่านออกเสียง: koh iː nuːɾ|pron, "ภูเขาแห่งแสง"; บางครั้งสะกดเป็น Kuh-e Nur หรือ Koh-i-Nur) คือเพชรที่มีขนาด 105.6 กะรัต มีน้ำหนัก 21.6 กรัม ในสภาพที่เจียระไนครั้งล่าสุด (ก่อนหน้านี้มีขนาด 186.6 กะรัต หนัก 37.21 กรัม) และยังเคยเป็นเพชรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ตามหลักฐานนั้นค้นพบในรัฐอานธรประเทศ ประเทศอินเดีย พร้อมกันกับเพชรคู่แฝดที่มีชื่อว่า ดารยา-เย-นัวร์ (แปลว่า "ทะเลแห่งแสง") โคห์อินัวร์นั้นมีประวัติอันยาวนาน โดยตกเป็นเพชรของหลายราชวงศ์ในอดีต รวมถึง ราชปุตแห่งอินเดีย, ราชวงศ์โมกุล, ราชวงศ์อัฟชาริด, ราชวงศ์ดูร์รานี, ราชวงศ์ซิกข์ และล่าสุดนั้นตกเป็นของจักรวรรดิอังกฤษ[1]
แบบจำลองเหมือนจริงของโคอินัวร์ ในพิพิธภัณฑ์คริสตัลที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี | |
น้ำหนัก | 186 1/16 กะรัต (37.21 กรัม) |
---|---|
สถานที่ค้นพบ | อินเดีย |
แหล่งกำเนิด | เหมืองกอลลูร์ อำเภอกุนตูร์ รัฐอานธรประเทศ |
ผู้ครอบครอง | ส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักร |
โคห์อินัวร์ได้ถูกริบจากผู้ครอบครองคือ ดูลิป สิงห์ ในปีค.ศ. 1850 โดยบริษัทอินเดียตะวันออก และต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งสหราชอาณาจักรเมื่อสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียได้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดินีแห่งอินเดียในปีค.ศ. 1877 โคห์อินัวร์เคยถูกเรียกว่า "ศิยมันทกามณี" และต่อมา "มณยัก" หรือ "ราชาแห่งอัญมณี" ก่อนจะถูกเรียกเป็น "โคห์อินัวร์" ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยชาห์นาเดอร์ ภายหลังจากการยึดครองอินเดียของพระองค์ ในปัจจุบันโคห์อินัวร์ถูกเก็บรักษาและจัดแสดงที่หอคอยแห่งลอนดอน
เครื่องราชกกุธภัณฑ์
แก้ในปีค.ศ. 1852 ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม[2] ภายใต้การกำกับของเจ้าชายอัลเบิร์ต และผู้เชี่ยวชาญทางอัญมณี เจมส์ เทนแนนท์ ได้ทำการเจียระไนโคห์อินูร์จากขนาดดั้งเดิมที่ 186 1/6 กะรัต (หนัก 37.21 กรัม) ให้เหลือเพียงขนาดปัจจุบันที่ 105.602 กะรัต (21.61 กรัม) เพื่อเพิ่มการสะท้อนแสง ซึ่งพระองค์ได้ทรงตัดสินพระทัยอย่างกล้ำกลืนภายหลังจากทรงหารือกับผู้เชี่ยวชาญแล้ว ด้วยมูลค่าการเจียระไนประมาณ 8,000 ปอนด์ ซึ่งได้ลดขนาดของเพชรนี้ลงถึง 42 เปอร์เซนต์ แต่ถึงกระนั้นทรงไม่พอพระทัยผลงานที่ได้ จากนั้นได้นำโคห์อินัวร์ไปประดับบนมงกุฎที่สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียมักทรงอยู่บ่อยๆ ซึ่งขณะนั้นได้เก็บรักษาไว้ที่พระราชวังวินด์เซอร์ ซึ่งปกติแล้วเครื่องราชกกุธภัณฑ์จะต้องเก็บรักษาที่หอคอยแห่งลอนดอนเท่านั้น[3]
ภายหลังจากที่ทรงเสด็จสวรรคตแล้ว ในรัชกาลถัดมา สมเด็จพระราชินีอเล็กซานดราทรงให้ย้ายโคห์อินูร์มาประดับบนมงกุฏองค์ใหม่ของพระองค์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 พระสวามี ซึ่งในขณะนั้นสมเด็จพระราชินีอเล็กซานดราทรงเป็นพระราชินี (ฐานะพระอัครมเหสี) พระองค์แรกที่ทรงมงกุฏประดับเพชร ซึ่งได้เป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อมาในรัชกาลของสมเด็จพระราชินีแมรี และต่อมาสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี
การทวงสิทธิ์ในโคห์อินัวร์
แก้อินเดียได้มีการทวงสิทธิ์ในโคห์อินัวร์ เนื่องจากถือว่าถูกริบไปอย่างผิดกฎหมาย และควรที่จะถูกส่งมอบคืนให้แก่อินเดีย[4] เมื่อสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบ็ธที่ 2 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการในรัฐพิธีเฉลิมฉลองอิสรภาพครบ 50 ปีของอินเดียในปีค.ศ. 1997 ชาวอินเดียในประเทศอินเดีย และในสหราชอาณาจักรได้เรียกร้องให้มีการส่งคืนโคห์อินัวร์ให้กับอินเดีย ซึ่งต่อมาในปีค.ศ. 2013 ในขณะที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษเยือนประเทศอินเดียนั้น ได้กล่าวว่า โคห์อินัวร์จะไม่ถูกมอบคืน และไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องส่งคืนให้กับอินเดีย[5]
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Iradj Amini, บ.ก. (July 20, 2002). "KOH-I-NOOR". United States: Encyclopædia Iranica - Online Version. สืบค้นเมื่อ 2012-08-22.
- ↑ Dunton, Larkin (1896). The World and Its People. Silver, Burdett. p. 144.
- ↑ Dunton, Larkin (1896). The World and Its People. Silver, Burdett. p. 27.
- ↑ "Indian MPs demand Kohinoor's return". BBC News. 2000-04-26. สืบค้นเมื่อ 2009-08-10.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-12. สืบค้นเมื่อ 2013-04-12.