อีซาแบลแห่งโปรตุเกส
อีซาแบลแห่งโปรตุเกส (โปรตุเกส: Isabel de Portugal) เป็นจักรพรรดินีแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์, ดัชเชสแห่งบูร์กอญ และพระราชินีแห่งเยอรมนี, อิตาลี, สเปน, เนเปิลส์ และซิซิลีจากการอภิเษกสมรสกับจักรพรรดิการ์โลสที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
อีซาแบลแห่งโปรตุเกส | |
---|---|
จักรพรรดินีโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ สมเด็จพระราชินีแห่งอิตาลี | |
ดำรงพระยศ | 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2073 – 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2082 |
สมเด็จพระราชินีแห่งสเปนและชาวโรมัน อาร์ชดัชเชสแห่งออสเตรีย เลดีแห่งเนเธอร์แลนด์ | |
ดำรงพระยศ | 10 มีนาคม พ.ศ. 2069 – 1 เมษายน พ.ศ. 2082 |
พระราชสมภพ | 24 ตุลาคม พ.ศ. 2046 ลิสบอน โปรตุเกส |
สวรรคต | 1 พฤษภาคม พ.ศ.2082 โตเลโด สเปน |
ฝังพระศพ | เอลเอสโกเรียล |
คู่อภิเษก | จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ |
พระราชบุตร | |
ราชวงศ์ | อาวิช (โดยพระราชสมภพ) ฮาพส์บวร์ค (โดยอภิเษกสมรส) |
พระราชบิดา | พระเจ้ามานูแวลที่ 1 แห่งโปรตุเกส |
พระราชมารดา | มาริอาแห่งอารากอน |
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
ลายพระอภิไธย |
ชาติกำเนิด
แก้อีซาแบลเสด็จพระราชสมภพที่ลิสบอน ราชอาณาจักรโปรตุเกส เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1503 ทรงเป็นพระโอรสธิดาคนที่สองและเป็นพระธิดาคนโตของพระเจ้ามานูแวลที่ 1 แห่งโปรตุเกสกับมาริอาแห่งอารากอน พระมเหสีคนที่สองซึ่งเป็นพระธิดาของสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา พระองค์ทรงได้รับการตั้งชื่อว่าอีซาแบลตามพระนางและพระธิดาคนแรกของพระนางซึ่งเป็นพระมเหสีคนแรกของพระบิดา (อิซาเบลแห่งอารากอน) ในปีที่อีซาแบลเกิด สมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 พระอัยกีมีสุขภาพที่ย่ำแย่และสิ้นพระชนม์ในปีต่อมา
อีซาแบลมีชีวิตวัยเยาว์อันแสนสุขในครอบครัวที่มั่งคั่ง ทรงใช้ช่วงเวลาวัยเยาว์ที่พระราชวังรีไบราซึ่งต่อมาถูกแผ่นดินไหวทำลาย พระองค์โปรดการเรียนรู้ภาษาใหม่ ๆ และโปรดปรานในงานวรรณกรรม ในวัยเด็กทรงศึกษาภาษาละติน ภาษาสเปน และภาษาฝรั่งเศส
การอภิเษกสมรส
แก้มาริอา พระมารดาของอีซาแบลได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในพินัยกรรมว่าพระธิดาของพระองค์ต้องสมรสกับกษัตริย์หรือพระโอรสตามกฎหมายของกษัตริย์เท่านั้น และการ์โลส (คาร์ล) แห่งฮาพสบวร์คถูกมองว่าเป็นคู่ครองที่เหมาะสมสำหรับอีซาแบล พระองค์เป็นพระโอรสของฆัวนาแห่งกัสติยา พระเชษฐภคินีของมาริอา กับเฟลิเปผู้หล่อเหลา ดยุคแห่งบูร์กอญ จึงมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องชั้นที่หนึ่งของอีซาแบล
การสมรสของการ์โลสและอีซาแบลมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อทั้งสเปนและโปรตุเกส ด้วยโปรตุเกสเป็นราชอาณาจักรที่มั่งคั่ง ส่วนการ์โลสก็ได้รับเลือกเป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ การเป็นพันธมิตรกันของสองราชอาณาจักรจะเป็นสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรป ทว่ากีโยม เดอ ครัว หนึ่งในที่ปรึกษาของจักรพรรดิการ์โลสกลับแนะนำให้พระองค์สมรสกับแมรี ทิวเดอร์ ลูกพี่ลูกน้องชั้นที่หนึ่งอีกคนของพระองค์ซึ่งเป็นพระธิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษกับกาตาลินาแห่งอารากอน แมรี ทิวเดอร์อ่อนวัยกว่าจักรพรรดิการ์โลส 16 พรรษา ทั้งคู่หมั้นหมายกันในปี ค.ศ. 1521 แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1525 พระองค์ได้ล้มเลิกแผนการสมรสเนื่องจากแมรียังเด็กเกินไป ในขณะที่จักรพรรดิไม่ต้องการรออีกต่อไป
พระองค์หันกลับมาหาอีซาแบลอีกครั้ง พระนางอ่อนวัยกว่าพระองค์เพียง 3 พรรษา และมีสินเดิมติดตัวเป็นเงิน 900,000 กรูซาดูโปรตุเกสซึ่งมากพอที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของจักรวรรดิที่ย่ำแย่หลังการทำสงครามอิตาลีในช่วงปี ค.ศ. 1521–1526 การพูดภาษาสเปนได้อย่างคล่องแคล่วเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้จักรพรรดิการ์โลสตัดสินใจสมรสกับพระนาง ขณะเดียวกันกาตาลินาแห่งออสเตรีย พระขนิษฐาของพระองค์ก็ได้สมรสกับพระเจ้าฌูเอาที่ 3 แห่งโปรตุเกส พระเชษฐาของอีซาแบล สองพี่น้องแห่งโปรตุเกส พระเจ้าฌูเอาที่ 3 กับอีซาแบล เป็นลูกพี่ลูกน้องชั้นที่หนึ่งของสองพี่น้องที่ทั้งคู่สมรสด้วย ทั้งสี่คนเป็นพระนัดดาของพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยากับพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอน ซึ่งการสมรสของทั้งคู่เป็นการรวมสเปนเข้าด้วยกัน
ปี ค.ศ. 1526 อีซาแบลได้เดินทางมาสเปนเพื่อพบกับดยุคแห่งคาลาเบรีย, อัครมุขนายกแห่งโตเลโด และดยุคแห่งเบฆาร์ ก่อนเดินทางต่อไปเซบิยาเพื่อพบกับจักรพรรดิการ์โลสด้วยเหตุผลทางการเมือง พระองค์ไปถึงเซบิยาในเดือนมีนาคม สองอาทิตย์ต่อมาจักรพรรดิการ์โลสได้ตามมาสมทบ พระองค์ตกหลุมรักอีซาแบลทันทีและตัดสินสมรสกับพระนางอย่างรวดเร็ว ทั้งคู่สมรสกันในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1526 ที่พระราชวังอัลกาซาแห่งเซบิยาของชาวมัวร์ การสมรสแม้จะเริ่มต้นด้วยเหตุผลด้านการเงินและด้านราชวงศ์ แต่ต่อมากลับกลายเป็นความสัมพันธ์ที่มากกว่าการสมรสเพื่อผลประโยชน์ ทั้งคู่ใช้เวลาช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ด้วยกันอย่างหวานชื่นที่อันดาลูซิอาในอาลัมบราในกรานาดา ทรงอยู่ในโลกที่มีเพียงพระองค์สองคนและพูดคุยหัวเราะกันตลอดเวลา
ในตอนที่สมรสอีซาแบลได้รับการบรรยายไว้ว่าทรงบอบบางและน่าทะนุถนอม ทั้งพระองค์และพระสวามีต่างศรัทธาในศาสนาอย่างแรงกล้า
ชีวิตสมรสและการสิ้นพระชนม์
แก้อีซาแบลมีพระโอรสธิดาให้จักรพรรดิการ์โลสหกคน คือ
- พระเจ้าเฟลิเปที่ 2 แห่งสเปน (ประสูติ ค.ศ. 1527)
- มาริอา (ประสูติ ค.ศ. 1528) สมรสกับจักรพรรดิมักซีมีเลียนที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ลูกพี่ลูกน้องชั้นที่หนึ่งของพระองค์เอง
- เฟร์นันโด (ประสูติ ค.ศ. 1529) สิ้นพระชนม์ในวัยทารก
- ฆัวนาแห่งออสเตรีย (ประสูติ ค.ศ. 1535) สมรสกับอิงฟังตึฌูเอา มานูแวลแห่งโปรตุเกส ลูกพี่ลูกน้องชั้นที่หนึ่งทั้งในฝั่งบิดาและมารดา ทรงเป็นมารดาของพระเจ้าซือบัสตีเอาแห่งโปรตุเกส
- ฆวน (ประสูติ ค.ศ. 1537) สิ้นพระชนม์ในวัยทารก
- พระโอรส (ประสูติ ค.ศ. 1539) สิ้นพระชนม์ในครรภ์
พระองค์ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระสวามีสองครั้ง คือ ในช่วงปี ค.ศ. 1529–1532 และในช่วงปี ค.ศ. 1535–1539 ทรงแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของราชอาณาจักรได้อย่างง่ายดายและงดงามด้วยพระปรีชาสามารถ พระองค์เดินทางไปทั่วจักรวรรดิและมักใช้เวลาช่วงหน้าร้อนที่อาบิลา
ในช่วงที่อยู่ห่างกันทั้งคู่พูดคุยกันผ่านทางจดหมาย อีซาแบลเขียนจดหมายถึงพระสวามีเพื่อเล่าข่าวคราวความเป็นไปภายในจักรวรรดิและถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของพระองค์ จักรพรรดิการ์โลสมักเขียนตอบกลับมา แต่มีบางครั้งที่พระองค์ไม่สามารถตอบกลับมาได้ทำให้อีซาแบลต้องสืบข่าวคราวของพระองค์ด้วยตนเอง พระนางถึงขั้นเคยต่อว่าพระองค์ที่ไม่ยอมส่งข่าวมาว่าอยู่ที่ไหนและได้แจ้งแก่พระสวามีว่าพระนางจะเขียนจดหมายหาพระองค์ทุก 20 วัน เมื่อจักรพรรดิกลับมายังจักรวรรดิ พระนางได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับพระองค์อย่างยิ่งใหญ่
แม้จะต้อนรับพระสวามีอย่างหรูหรา แต่อีซาแบลกลับใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ทรงเป็นที่รักยิ่งของพระสวามี นอกจากจะเป็นพระมเหสีที่ยอดเยี่ยม พระองค์ยังเป็นพระมารดาที่เลี้ยงดูพระโอรสธิดาด้วยความรักและใส่ใจในการศึกษาของลูก ๆ
วันที่ 21 เมษายน ค.ศ. 1539 อีซาแบลได้ให้กำเนิดพระโอรสที่สิ้นพระชนม์ในครรภ์ ต่อมาทรงมีไข้สูงและตกเลือด สองอาทิตย์หลังการคลอดพระองค์ได้สิ้นพระชนม์ในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1539 ด้วยวัย 35 พรรษา การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ส่งผลอย่างมากต่อจักรพรรดิการ์โลส พระองค์ไม่ยอมสมรสใหม่และครองตัวเป็นโสดตลอดชีวิตที่เหลือ ในปี ค.ศ. 1547 พระองค์ได้รับเป็นบิดาของบุตรนอกสมรสสองคน ซึ่งคนแรกเกิดก่อนที่พระองค์จะอภ��เษกสมรสกับอีซาแบล
จักรพรรดิแต่งดำตลอดชีวิตที่เหลือเพื่อไว้อาลัยให้กับการจากไปของพระมเหสี พระองค์เสียใจอย่างมากจนไม่สามารถเข้าร่วมพิธีฝังศพของพระนางได้ เฟลิเป พระโอรสของทั้งคู่ได้ฝังร่างของพระนางไว้ที่โบสถ์น้อยในกรานาดา ขณะที่จักรพรรดิได้ขังตัวอยู่ในอารามเป็นเวลาสองเดือนเพื่อไว้อาลัยและทำใจกับการสูญเสียพระมเหสี ปี ค.ศ. 1540 พระองค์ได้ว่าจ้างตอมา เครกียง ให้ประพันธ์เพลงให้แก่พระมเหสีผู้ล่วงลับ ในปี ค.ศ. 1543 พระองค์ได้ว่าจ้างจิตรกรชื่อทิเชียนให้วาดภาพของพระองค์ ทิเชียนได้วาดภาพของอีซาแบลหลายภาพ รวมถึงภาพ "พระบรมสาทิสลักษณ์ของจักรพรรดินีอีซาแบลแห่งโปรตุเกส" และภาพ "ลาโกลเรีย" จักรพรรดิการ์โลสได้เก็บภาพวาดไว้กับตัวแม้ในยามที่ทรงเกษียณตัวเข้าสู่อารามยุสเต
อีซาแบลเป็นที่รู้จักในชื่อ "จักรพรรดินีคาร์เนชัน" ด้วยจักรพรรดิการ์โลสได้นำดอกคาร์เนชันสีแดงเข้ามาปลูกในจักรวรรดิเพื่อเป็นตัวแทนของความรักที่พระองค์มีต่อพระนาง ต่อมาดอกไม้ชนิดนี้ได้กลายเป็นดอกไม้ประจำชาติของสเปน
จักรพรรดิการ์โลสสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1574 ร่างของพระองค์กับอีซาแบลถูกฝังเคียงข้างกันที่อารามหลวงซานโลเรนโซเดเอลเอสโกเรียลตามพระราชประสงค์ของจักรพรรดิการ์โลส ในปี ค.ศ. 1654 พระเจ้าเฟลิเปที่ 4 พระปนัดดาได้ย้ายร่างของทั้งคู่ไปฝังที่สุสานบรรพชนกษัตริย์
อ้างอิง
แก้- Isabella of Portugal – Empress of the Carnation: History of Royal Women
- Isabella of Portugal (1503 - 1539): ThoughtCo.
- Isabella of Portugal: TFP