อังกฤษในสมัยกลางยุครุ่งโรจน์
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง |
ประวัติศาสตร์หมู่เกาะอังกฤษ |
แบ่งตามลำดับเหตุการณ์
แบ่งตามประเทศ
แบ่งตามหัวเรื่อง
|
อังกฤษในยุคกลางช่วงรุ่งโรจน์ (อังกฤษ: England in the High Middle Ages) คือ ประวัติศาสตร์ของประเทศอังกฤษในช่วงระหว่างการพิชิตของชาวนอร์มันในปี ค.ศ. 1066 จนถึงการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าจอห์นที่คนส่วนหนึ่งมองว่าเป็นกษัตริย์อ็องฌูแว็งคนสุดท้ายของอังกฤษในปี ค.ศ. 1216
วิลเลียม ดยุคแห่งนอร์ม็องดี ได้รับการสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษเมื่อวันที��� 25 ธันวาคม ค.ศ. 1066 ทว่าในตอนแรกตำแหน่งของพระองค์ไม่ค่อยมั่นคงปลอดภัยนัก พระองค์มีคนเพียงหลักพันไว้ควบคุมประชากรราว 2 ล้านคน อีกทั้งพระเจ้าสเวน กษัตริย์แห่งเดนมาร์กเองก็อ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์อังกฤษเช่นกัน ในช่วงแรกชาวนอร์มันเป็นผู้รุกรานที่เป็นที่เกลียดชังและพวกเขาต้องดับความขุ่นเคืองของประชากรชาวแซ็กซัน
วิธีการหนึ่งที่ชาวนอร์มันใช้ควบคุมชาวแซ็กซันคือการสร้างปราสาท พวกเขาเลือกเนินดินที่เรียกว่าม็อตต์ ด้านบนพวกเขาล้อมรั้วไม้ ด้านล่างพวกเขาล้อมรั้วไม้อีกชั้น พื้นที่ภายในถูกเรียกว่าไบลีย์ สิ่งนี้จึงถูกเรียกว่าปราสาทแบบม็อตต์แอนด์ไบลีย์ หรือปราสาทเนิน ไม่นานชาวนอร์มันก็เริ่มสร้างปราสาทหิน ในปี ค.ศ. 1078 วิลเลียมเริ่มสร้างหอคอยลอนดอน
วิลเลียมพำนักอยู่ในนอร์ม็องดีตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนธันวาคม ค.ศ. 1067 เมื่อพระองค์กลับมาอังกฤษ ภารกิจแรกของพระองค์คือปราบการลุกฮือในฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ พระองค์ทำการปิดล้อมเอ็กซิเตอร์ จนเมืองที่ล้อมรอบด้วยกำแพงยอมจำนนอย่างมีเกียรติในที่สุด
แม้อังกฤษตอนใต้จะตกอยู่ภายใต้การควบคุมของชาวนอร์มันแล้ว แต่ตอนกลางกับตอนเหนือนั้นต่างออกไป ในปี ค.ศ. 1068 วิลเลียมเดินทัพขึ้นเหนือผ่านวอริคและน็อตติงแฮมเข้าสู่ยอร์ก ประชาชนของยอร์กยอมสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ทันที วิลเลียมจึงกลับไปลอนดอนทางแคมบริดจ์และยอร์ก
ทว่าในเดือนมกราคม ค.ศ. 1069 ประชาชนของยอร์กเชอร์และนอร์ธัมเบอร์แลนด์ก่อกบฏ วิลเลียมรีบขึ้นเหนือไปบดขยี้กลุ่มกบฏ ทว่าการขึ้นเหนือพัดเปลวไฟแห่งการก่อกบฏให้ปะทุขึ้นในพื้นที่อื่น มีการลุกฮือเกิดขึ้นในซอเมอร์เซ็ตและดอร์เซ็ต อีกทั้งชาวแซ็กซันยังเรียกตัวเอ็ดการ์ พระนัดดาชายของพระเจ้าเอ็ดมุนด์ผู้ทนทาน อดีตผู้ปกครองชาวแซ็กซัน มานำกองทัพชาวไอริชไปเดวอนเหนือ ทว่าผู้บัญชาการชาวนอร์มันในพื้นที่บดขยี้การลุกฮือและขับไล่พวกไอริชออกไปได้
ยังไม่จบเพียงเท่านั้น ในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1069 พระเจ้าสเวนแห่งเดนมาร์กส่งคนมาสำรวจอังกฤษ เมื่อชาวเดนมาถึงยอร์กเชอร์ ประชาชนของยอร์กเชอร์ลุกขึ้นมาก่อกบฏอีกครั้ง วิลเลียมเดินทัพขึ้นเหนือไปยึดครองยอร์ก ชาวเดนถอนทัพออกจากอังกฤษตอนเหนือ ครั้งนี้วิลเลียมนำเอานโยบายการเผาทำลายผืนดินมาใช้เพื่อไม่ให้เกิดการก่อกบฏขึ้นในตอนเหนืออีก ในปี ค.ศ. 1069 – 1070 คนของพระองค์เผาบ้าน, พืชพรรณธัญญาหาร และเครื่องไม้เครื่องมือ ตั้งแต่ฮัมเบอร์จนถึงเดอแรม พวกเขายังสังหารปศูสัตว์ ความอดอยากที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีหลังจากนั้นทำให้ผู้คนหิวตาย อาชญากรรมที่เลวร้ายนี้ถูกเรียกว่าการทำลายทางเหนือ และต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะฟื้นฟูตอนเหนือของอังกฤษกลับมาได้
ในเวลาเดียวกันชาวเดนล่องเรือลงใต้ไปปล้นปีเตอร์โบโรและยึดเกาะอีลีเป็นฐานที่มั่น ชาวแซ็กซันหลายคนเข้าร่วมกับชาวเดน กบฏแซ็กซันกลุ่มดังกล่าวอยู่ภายใต้การนำของชายที่ชื่อเฮียร์เวิร์ดผู้ตื่นรู้
การเปลี่ยนแปลงทางสังคม
แก้ทว่าในปี ค.ศ. 1070 พระเจ้าวิลเลียมทำสนธิสัญญากับพระเจ้าสเวน ชาวเดนจึงจากไป ชาวแซ็กซันยังคงต่อสู้ต่อไปในเฟนส์ แต่ในปี ค.ศ. 1071 พวกเขาถูกบีบให้ยอมจำนน เฮียร์เวิร์ดหนีไป วิลเลียมจึงควบคุมอังกฤษทั้งประเทศ
หลังการพิชิตของชาวนอร์มัน ขุนนางชาวแซ็กซันส่วนใหญ่ทิ้งที่ดินของตย วิลเลียมริบที่ดินเหล่านั้นเข้าหลวงและมอบมันให้กับผู้ติดตามของพระองค์ พวกเขาได้ครอบครองดินแดนแลกกับการจัดหาทหารมาให้กษัตริย์
วิลเลียมยังเปลี่ยนศาสนจักรในอังกฤษ ในตอนนั้นศาสนจักรร่ำรวยและมีอำนาจ กษัตริย์จึงจำเป็นต้องมีคนช่วย วิลเลียมแทนที่นักบวชอาวุโสชาวแซ็กซันด้วยกลุ่มคนที่ภักดีต่อพระองค์ แลนฟรังก์ ชาวอิตาเลียน แทนที่สติกุนด์ อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์บรีชาวแซ็กซัน (โดยได้รับการเห็นชอบจากพระสันตะปาปา) แล้วแลนฟรังก์ก็ถอดเหล่าบิชอปและพระอธิการออกเพื่อเอาชาวนอร์มันมาแทนที่
ในชนชั้นล่างลงมาทางสังคมก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเช่นกัน ในช่วงปลายสมัยแซ็กซัน เหล่าชาวนาคือคนที่ไม่มีอิสรภาพ แนวทางนี้ถูกสืบสานต่อโดยชาวนอร์มัน ในทางกลับกันความเป็นทาสนั้นลดลง (และหมดไปในกลางคริสต์ศตวรรษที่ 12)
ในปี ค.ศ. 1085 วิลเลียมตัดสินใจทำการสำรวจอาณาจักรของตนครั้งใหญ่เพื่อดูตรวจสอบดูว่ามั่งคั่งแค่ไหน เป็นผลให้เกิดหนังสือวันพิพากษา (ดูมสเดย์) ขึ้นในปี ค.ศ. 1086
วิลเลียมสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1087 และพระโอรสที่ชื่อวิลเลียมเช่นกันของพระองค์สืบทอดตำแหน่งต่อจากพระองค์ (บางครั้งพระองค์ก็ถูกเรียกว่าวิลเลียมรูฟัสเพราะผิวที่เป็นสีแดง) พระเชษฐาของรูฟัส โรเบิร์ต (หรือรอแบต์ตามการออกเสียงแบบฝรั่งเศส) กลายเป็นดยุคแห่งนอร์ม็องดี
วิลเลียมผู้พิชิตเป็นคนโหดเหี้ยม ทว่าผู้เขียนในยุคนั้นกล่าวถึงพระองค์ว่า "เป็นคนรักษากฎหมาย" คริสต์ศตวรรษที่ 11 เป็นยุคที่ไร้กฎหมาย ผู้ปกครองที่แข็งแกร่งที่รักษากฎหมายจึงได้รับการยกย่อง
วิลเลียมรูฟัส
แก้รูฟัสไม่ใช้คนที่เคารพในศาสนาและไม่เป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักบวช นอกจากนี้พวกเขายังวิพากษ์วิจารณ์พระองค์กับข้าราชสำนักของพระองค์ที่ไว้ผมยาว (ในยุคของพระบิดาของพระองค์นิยมไว้ผมสั้น) นักบวชคิดว่าผมยาวนั้นเป็นคุณสมบัติของผู้หญิง
ทว่าในอีกหลายๆ แง่มุมรูฟัสก็เป็นกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ ภายใต้การปกครองของพระองค์ เหล่าบารอนตกที่นั่งลำบากเนื่องจากส่วนใหญ่มีที่ดินทั้งในนอร์ม็องดีและในอังกฤษ หลายคนอยากให้ทั้งสองฝั่งอยู่ใต้การปกครองของคนๆ เดียว ในปี ค.ศ. 1080 จึงมีการก่อกบฏเกิดขึ้นในอังกฤษตะวันออก กลุ่มกบฏอยากปลดรูฟัสออกจากตำแหน่งและให้พระเชษฐาของพระองค์ โรเบิร์ต ปกครองทั้งอังกฤษและนอร์ม็องดี ทว่ารูฟัสบดขยี้กลุ่มกบฏได้ การก่อกบฏครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1095 ก็ถูกบดขยี้เช่นกัน
ในเวลาเดียวกัน รูฟัสยึดพื้นที่ที่ตอนนี้ถูกเรียกว่าคัมเบรียมาจากชาวสกอต (ก่อนหน้าพระองค์จะขึ้นครองราชย์ พื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสกอตแลนด์) รูฟัสยังบีบกษัตริย์สกอตให้ยอมรับพระองค์เป็นเจ้าเหนือหัวตามระบอบศักดินา
วิลเลียมรูฟัสถูกยิงด้วยลูกธนูขณะกำลังล่าสัตว์อยู่ในนิวฟอเรสต์ ไม่มีใครรู้ว่ามันเป็นอุบัติเหตุหรือการฆาตกรรม (ซึ่งดูน่าจะเป็นอย่างหลังมากกว่า)
เฮนรีที่ 1
แก้หลังการตาย "โดยอุบัติเหตุ" ของวิลเลียมรูฟัส พระอนุชาของพระองค์ เฮนรี ยึดท้องพระคลังหลวงในวินเชสเตอร์และได้รับการสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษ พระเชษฐาของพระองค์ โรเบิร์ต ได้เป็นดยุคแห่งนอร์ม็องดี
เฮนรีที่ 1 เสด็จพระราชสมภพในปี ค.ศ. 1068 และพระองค์ได้รับการศึกษาอย่างดี เมื่อยึดบัลลังก์มาได้ พระองค์ออกกฎบัตรสัญญาว่าจะปกครองด้วยความยุติธรรม พระองค์ยังได้รับความนิยมจากไพร่ฟ้าประชาชนชาวแซ็กซันจากการแต่งงานกับอีดิธ ลูกหลานของพระเจ้าเอ็ดมุนด์ผู้ทนทาน ที่สำคัญที่สุด พระองค์ยังเคารพในศาสนจักร
เฮนรีพิสูจน์ให้เห็นว่าพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีพระปรีชาสามารถ พระองค์มักขัดแย้งกับพระเชษฐา โรเบิร์ต ดยุคแห่งนอร์ม็องดี ในปี ค.ศ. 1101 โรเบิร์ตบุกอังกฤษ ขึ้นฝั่งที่อ่าวพอร์ตสมัธ แต่สนธิสัญญาอัลทอนทำให้พระองค์ยอมกลับบ้านไปอีกครั้ง ทว่าสันติสุขคงอยู่ได้ไม่นาน ในปี ค.ศ. 1105 เฮนรีบุกนอร์ม็องดี ในปี ค.ศ. 1106 พระองค์ชนะสมรภูมิแต็งเชอเบร (ไพร่ฟ้าประชาชาวแซ็กซันของพระองค์มองว่าสมรภูมินี้คือการแก้แค้นให้กับสมรภูมิเฮสติงส์) เฮนรียังจับกุมตัวพระเชษฐา โรเบิร์ต พระองค์ถูกจองจำจนถึงปี ค.ศ. 1134 ที่ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุ 80 พรรษา
เฮนรียังตั้งสวนสัตว์หลวงขึ้นมาในอังกฤษโดยมีสัตว์แปลกอย่างสิงโต, เสือดาว, ลิงซ์, อูฐ และเม่น
ในขณะเดียวกันเฮนรีมีพระโอรสคนเดียวชื่อวิลเลียม ในปี ค.ศ. 1119 กษัตริย์แห่งฝรั่งเศสยอมรับวิลเลียมเป็นทายาทในบัลลังก์อังกฤษและทายาทในตำแหน่งดยุคแห่งนอร์ม็องดี ทว่าวิลเลียมจมน้ำสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1120 เมื่อเรือของพระองค์ เรือขาว อับปาง ทิ้งให้เฮนรีไม่เหลือทายาท ก่อนจะสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1135 เฮนรีให้เหล่าบารอนสัญญาว่าจะยอมรับพระธิดาของพระองค์ มาทิลดา เป็นพระราชินี
ทว่าเมื่อเฮนรีสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1135 พระนัดดาชาย (ลูกชายของพี่น้อง) ของพระองค์ สตีเฟน ก็อ้างสิทธิ์ในบัลลังก์เช่นกันและบารอนหลายคนสนับสนุนพระองค์ มาทิลดาอยู่ต่างแดนในตอนที่พระบิดาสิ้นพระชนม์ สตีเฟนจึงได้รับการสวมมงกุฎเป็นกษัตริย์แห่งอังกฤษ แต่มาทิลดาก็ไม่ยอมวางมือจากการอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์และพระองค์เองก็มีผู้สนับสนุนหลายคนเช่นกัน ส่งผลให้สงครามกลางเมืองอันยาวนานเกิดขึ้น ซึ่งจะอยู่ไปจนถึงปี ค.ศ. 1154 ช่วงเวลาหลายปีนี้ถูกเรียกว่า "ฤดูหนาวอันยาวนานทั้งสิบเก้าฤด���" การต่อสู้จบลงไม่นานก่อนสตีเฟนจะสิ้นพระชนม์ เมื่อพระองค์ยอมรับให้บุตรชายของมาทิลดา เฮนรี เป็นทายาทของตน หลังพระเจ้าสตีเฟนสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1154 บุตรชายของมาทิลดากลายเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 2
เฮนรีที่ 2
แก้พระเจ้าเฮนรีที่ 2 เป็นกษัตริยแพลนทาเจเนตคนแรก พระองค์เสด็จพระราชสมภพที่เลอม็องส์ในประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1133 พระองค์เป็นชายมีการศึกษาสูงที่เป็นที่รู้กันว่ามีอารมณ์รุนแรง
ทว่าเฮนรีไม่ได้ปกครองแค่อังกฤษ พระองค์ยังปกครองพื้นที่ขนาดใหญ่ของฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1150 พระองค์เป็นดยุคแห่งนอร์ม็องดี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1151 พระองค์เป็นเคานต์แห่งอ็องฌู การแต่งงานกับเอลินอร์แห่งอากีแตนทำให้พระองค์กลายเป็นขุนนางเจ้าของที่ดินส่วนดังกล่าวของฝรั่งเศส ต่อมาพระองค์กลายเป็นผู้ปกครองของบริตทานี ในวัยผู้ใหญ่เฮนรีใข้เวลาอยู่ในฝรั่งเศสมากกว่าในอังกฤษ
เฮนรีพิสูจน์ให้เห็นว่าทรงเป็นกษัตริย์ผู้แข็งแกร่ง ในช่วงสงครามกลางเมืองบารอนหลายคนได้สร้างปราสาทขึ้นมาแบบผิดกฎหมาย เฮนรีให้พวกเขารื้อถอนออก อีกทั้งเฮนรียังได้ปฏิรูปกฎหมาย พระองค์แต่งตั้งผู้พิพากษาขึ้นมาให้เดินทางไปทั่วประเทศเพื่อไต่สวนคดีผิดกฎหมายร้ายแรง
ทว่านักบวชมีสิทธิ์ในการขึ้นศาลของตัวเองซึ่งบทลงโทษมักเบามาก เฮนรีรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมและพระองค์พยายามบีบนักบวชให้ยอมขึ้นศาลของพระองค์ แต่แน่นอนว่าพวกเขาต่อต้าน เฮนรีจึงให้สหายของพระองค์ โธมัส เบ็คเก็ต เป็นอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์บรี ทว่าทันทีที่ได้รับการแต่งตั้ง เขาปฏิเสธที่จะทำตามคำขอของกษัตริย์
ในปี ค.ศ. 1170 ขณะที่เฮนรีอยู่ในนอร์ม็องดี พระองค์โกรธจนขาดสติและตะคอกออกมาว่า "ไม่มีใครคิดจะกำจัดนักบวชตัวปัญหาคนนี้ให้ข้าเลยหรือ" อัศวินสี่คนถือว่านั่นเป็นคำสั่งและไปอังกฤษเพื่อสังหารเบ็คเก็ตในอาสนวิหารแคนเทอร์บรี ผู้คนมีความคิดเป็นลบกับการฆาตกรรมครั้งนี้ พระองค์จึงแสดงสำนึกบาปด้วยการเดินเท้าเปล่าไปแคนเทอร์บรีให้นักบวชเฆี่ยนหลังที่เปลือยเปล่าของพระองค์
เฮนรียังมีปัญหากับพระโอรสเพราะพระองค์ปฏิเสธที่จะมอบอำนาจที่แท้จริงให้ พระองค์มีพระโอรสธิดา 8 คนและมีที่สิ้นพระชนม์ในวัยเด็ก 4 คน (ซึ่งไม่ถือว่าผิดปกติในยุคกลางที่อัตราการเสียชีวิตของทารกมีสูงมาก) พระโอรสสี่คนที่รอดชีวิต คือ เฮนรี เจฟฟรีย์ ริชาร์ด และจอห์น พระโอรสคนสุดท้อง ในปี ค.ศ. 1173 – 1174 เฮนรีเผชิญกับการก่อกบฏของพระโอรสคนโตทั้งสามที่มีพระมารดาคอยให้การช่วยเหลือ เฮนรีปราบกบฏได้ พระองค์ให้อภัยพระโอรส ทว่าพระมเหสีของพระองค์ถูกคุมขังตลอดรัชสมัยที่เหลือของเฮนรี
พระโอรสของเฮนรี เฮนรี สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1183 และพระโอรส เจฟฟรีย์ สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1186
ในปี ค.ศ. 1189 เฮนรีเผชิญกับการก่อกบฏอีกครั้ง ครั้งนี้พระโอรสคนสุดท้อง จอห์น ร่วมก่อกบฏด้วย เรื่องนี้ทำให้เฮนรีใจสลายและเฮนรีสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1189
ริชาร์ดที่ 1
แก้กษัตริย์คนต่อมา พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 เสด็จพระราชสมภพในปี ค.ศ. 1157 ในตอนที่มีชีวิตอยู่ พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ได้รับความนิยมเพราะทรงเป็นนักรบที่ประสบความสำเร็จ ทว่าทรงทิ้งประเทศไปต่อสู้ในสงครามต่างแดน
ซาลาดินยึดเยรูซาเล็มได้ในปี ค.ศ. 1187 ริชาร์ดจึงตั้งใจว่าจะเอามันกลับคืนมา พระองค์ทิ้งอังกฤษไปทันทีที่ทำได้ในปี ค.ศ. 1190 ทรงไปถึงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ในปี ค.ศ. 1191 ริชาร์ดพอจะประสบความสำเร็จอยู่บ้างแต่ทรงล้มเหลวในการเข้ายึดเยรูซาเล็ม เป้าหมายหลักของพระองค์ ในปี ค.ศ. 1192 พระองค์ทำสนธิสัญญากับซาลาดิน
ทว่าระหว่างเดินทางกลับบ้านพระองค์ถูกดยุคแห่งออสเตรียจับเป็นนักโทษ ไพร่ฟ้าประชาชนของริชาร์ดถูกบีบให้จ่ายค่าไถ่ก้อนโตเพื่อไถ่ตัวพระองค์ (ในปี ค.ศ. 1194) หลังได้รับการปล่อยตัว ริชาร์ดกลับไปอังกฤษแต่ไปนานพระองค์ก็ออกเดินทางไปนอร์ม็องดี พระองค์ไม่หันกลับมามองอังกฤษอีกเลย ขณะกำลังปิดล้อมปราสาท ริชาร์ดถูกยิงด้วยหน้าไม้ พระองค์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1199 และคนที่ขึ้นครองตำแหน่งต่อจากพระองค์คือพระอนุชา พระเจ้าจอห์น
พระเจ้าจอห์น
แก้พระเจ้าจอห์นพิสูจน์ให้เห็นว่าทรงเป็นกษัตริย์ที่ล้มเหลว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1202 ถึงปี ค.ศ. 1204 กษัตริย์ฝรั่งเศสได้ดินแดนในฝรั่งเศสส่วนใหญ่ของพระเจ้าจอห์นไป ทำให้พระองค์กลายเป็นที่รู้จักในชื่อจอห์นดาบเบา ในปี ค.ศ. 1205 จอห์นยังเริ่มขัดแย้งกับพระสันตะปาปาเรื่องใครควรได้เป็นอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์บรีคนใหม่ คนที่พระเจ้าจอห์นเลือกหรือคนที่พระสันตะปาปาเลือก ส่งผลให้ในปี ค.ศ. 1208 พระสันตะปาปาให้อังกฤษตกอยู่ใต้คำสั่งห้ามที่ไม่อนุญาตประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ในปี ค.ศ. 1209 พระองค์ตัดขาดจอห์นออกจากศาสนา และสุดท้ายในปี ค.ศ. 1213 จอห์นถูกบีบบังคับให้เป็นฝ่ายยอม
ในขณะเดียวกันจอห์นบาดหมางกับไพร่ฟ้าประชาชนของพระองค์หลายคน พวกเขาอ้างว่าพระองค์ปกครองเยี่ยงทรราชย์ที่ปฏิเสธกฎหมายศักดินา พระองค์ถูกกล่าวหาว่าข่มขู่เอาเงินจากประชาชน ขายตำแหน่ง เรียกเก็บภาษีเพิ่ม และตั้งกฎหมายขึ้นมาตามอำเภอใจ ปัญหารุนแรงขึ้นหลังจอห์นพยายามเอาดินแดนในฝรั่งเศสที่เสียไปกลับคืนมาในปี ค.ศ. 1214 แต่ล้มเหลว ความอดทนของเหล่าบารอนหมดลง จนในปี ค.ศ. 1215 สงครามกลางเมืองก็อุบัติขึ้น ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1215 จอห์นถูกบีบให้ยอมรับกฎบัตรที่รู้จักกันในชื่อแม็กนาคาร์ตาที่รันนีย์เมด กฎบัตรที่จะหยุดการกระทำมิชอบ ส่งเสริมสิทธิ์และอภิสิทธิ์ดั้งเดิมของศาสนจักร ทั้งยังคุ้มครองสิทธิ์และอภิสิทธิ์ของชนชั้นสูง มีการกล่าวถึงพ่อค้าที่อยู่ในเมืองด้วย ทว่าประชาชนทั่วไปไม่ได้รับการสนใจ
ทว่าแม็กนาคาร์ตาส่งเสริมหลักการสำคัญคือไม่ให้กษัตริย์อังกฤษปกครองตามอำเภอใจ กษัตริย์ต้องเชื่อฟังกฎหมายของอังกฤษและธรรมเนียมของอังกฤษเหมือนกับคนอื่นๆ อีกทั้งแม็กนาคาร์ตายังไม่อนุญาตให้จับกุม จำคุก หรือยึดทรัพย์บุคคลที่มีอิสรภาพโดยไม่มีการพิจารณาคดีตามกฎหมายจากขุนนางหรือไม่ผ่านกระบวนการทางกฎหมาย
พระเจ้าจอห์นไม่ยอมทำตามเงื่อนไขของแม็กนาคาร์ตา พระองค์จึงยื่นอุทธรณ์ต่อประสันตะปาปาที่ประกาศให้พระองค์ไม่ถูกผูกมัดโดยแม็กนาคาร์ตา การก่อกบฏอุบัติขึ้นอีกครั้งและครั้งนี้เหล่าบารอนกบฏเชิญเจ้าชายฝรั่งเศสมาปกครองอังกฤษ ทว่าพระเจ้าจอห์นสิ้นพระชนม์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1216
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 A HISTORY OF ENGLAND IN THE MIDDLE AGES By Tim Lambert: http://www.localhistories.org/normans.html