อะลาดิน

เทพปกรณัมจากตะวันออกกลาง

อะลาดิน (อังกฤษ: Aladdin) เป็นเทพปกรณัมเรื่องหนึ่งในแถบตะวันออกกลาง ว่าด้วยยาจกหนุ่มชาวจีนชื่อ อะลาดิน ซึ่งกลายเป็นราชาเพราะความช่วยเหลือของทาสยักษ์ เรื่องราวนี้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางขึ้นเมื่ออ็องตวน กาล็อง (Antoine Galland) นักเขียนชาวฝรั่งเศส ประมวลเข้าเป็นนิทานตอนหนึ่งในหนังสือชุด พันหนึ่งราตรี (One Thousand and One Nights) หรือ อาหรับราตรี (The Arabian Nights)[1]

อะลาดินพบตะเกียงวิเศษในถ้ำ จาก อาหรับราตรี ฉบับพิมพ์เมื่อปี 1898

เนื้อเรื่อง

แก้

"อะลาดิน" หรือในภาษาอาหรับว่า "อะลาอัดดีน" (อาหรับ: علاء الدين, ʻAlāʼ ad-Dīn) และภาษาจีนว่า "อาลาติง" (จีน: 阿拉丁; พินอิน: Ālādīng) เป็นเด็กหนุ่มในกรุงจีน วันหนึ่ง พ่อมดแห่งแคว้นมักเริบ (Maghreb) ในแอฟริกา ปลอมตัวเป็นพ่อค้าภูมิฐานมายังบ้านของอะลาดิน อ้างว่า เป็นน้องชายหรือพี่ชายของช่างเสื้อมุสตาฟา (Mustapha) บิดาผู้ล่วงลับแล้วของอะลาดิน แล้วขอให้อะลาดินไปเอาตะเกียงน้ำมันดวงหนึ่งซึ่งอยู่ในถ้ำกล (booby-trapped cave) มาให้ เมื่ออะลาดินเข้าไปในถ้ำแล้วก็ติดอยู่ในนั้น ไม่รู้จะทำเช่นไร ก็ลูบมือตนเองอยู่ พลันยักษ์ซึ่งสิงอยู่ในแหวนที่พ่อมดมอบให้ใส่นั้นก็ผุดออกมาและเสนอตัวเป็นข้ารับใช้ อะลาดินจึงให้ยักษ์พาเขาและตะเกียงออกจากถ้ำกลับไปยังเมืองชี่ตัน

ต่อมาเมื่อมารดาของอะลาดินเช็ดถูตะเกียงที่บุตรชายนำกลับมาด้วยนั้น ยักษ์อีกตนหนึ่งซึ่งสิงสู่อยู่ในตะเกียงและมีพลังอำนาจเหนือกว่ายักษ์ตนแรกก็ปรากฏโฉมและเสนอตัวเป็นข้าช่วงใช้เช่นกัน ด้วยความช่วยเหลือของยักษ์ตนนั้น อะลาดินก็มั่งมีบารมีและทรัพย์สินขึ้นมา เมื่อทราบว่า องค์หญิงบัดร์อุลบาดูร์ (Badroulbadour) ราชธิดาพระเจ้ากรุงจีน กำลังจะสมรสกับบุตรชายของเสนาบดี (vizier) อะลาดินจึงให้ยักษ์ขัดขวางการสมรสนั้น และให้ตนได้สมรสกับองค์หญิงแทน ยักษ์ยังเนรมิตปราสาทราชมนเทียรให้อะลาดินเสียใหญ่โตยิ่งกว่าราชวังพระเจ้ากรุงจีน

ฝ่ายพ่อมดแห่งแคว้นมักเริบ เมื่อทราบว่า อะลาดินออกจากถ้ำไปได้ ทั้งได้เป็นใหญ่เป็นโตเพราะฤทธิ์ตะเกียง จึงกลับมายังกรุงจีน ปลอมตัวเป็นพ่อค้าเร่รับแลกตะเกียงเก่าด้วยตะเกียงใหม่ องค์หญิงบัดร์อุลบาดูร์เอาตะเกียงของอะลาดินไปแลกตะเกียงใหม่มา พ่อมดจึงบัญชาให้ยักษ์ในตะเกียงนำปราสาทและทรัพย์สินทั้งหมดของอะลาดิน รวมถึงองค์หญิงผู้ชายา ไปยังแคว้นมักเริบ แต่พ่อมดลืมไปว่า อะลาดินยังมีแหวนวิเศษที่ตนเคยให้ไว้อยู่

อะลาดินสั่งให้ยักษ์ในแหวนช่วยเหลือ แต่ยักษ์แหวนไม่อาจสู้อำนาจยักษ์ตะเกียง ทำได้แต่เพียงนำพาอะลาดินไปยังแคว้นมักเริบ เมื่อไปถึงแคว้นนั้นแล้ว อะลาดินฆ่าพ่อมดตาย จึงได้กลับครอบครองตะเกียง และให้ยักษ์ในตะเกียงนำปราสาทราชสมบัติและคนรักของตนกลับคืนไปกรุงจีน

น้องชายหรือพี่ชายของพ่อมดทราบว่า พ่อมดถูกฆ่าตาย ก็แค้นใจ ปลอมตนเป็นหญิงชรามายังกรุงจีน อ้างว่า สามารถเยียวยารักษาโรคภัยทั้งปวงได้ องค์หญิงบัดร์อุลบาดูร์จึงรับไว้เป็นนางข้าหลวง ยักษ์ตะเกียงเตือนอะลาดินถึงภัยจากนางผู้แปลกปลอมนั้น อะลาดินจึงฆ่านางตาย ทุกคนก็อยู่อย่างสุขสันต์สืบมา ครั้นพระเจ้ากรุงจีนสิ้นพระชนม์แล้ว อะลาดิน ในฐานะราชบุตรเขย จึงได้ครองบัลลังก์ต่อ

ต้นฉบับ

แก้

ต้นฉบับภาษาอาหรับของเรื่องอะลาดินนั้นปัจจุบันยังไม่อาจสืบค้นได้ แต่อ็องตวน กาล็อง ที่เอาเรื่องนี้ไปลงหนังสือ พันหนึ่งราตรี นั้นอ้างว่า ได้ฟังเรื่องมาจากนักเล่านิทานชาวซีเรียคนหนึ่งซึ่งมาจากเมืองอะเลปโป (Aleppo) และกาล็องบันทึกในอนุทินลงวันที่ 25 มีนาคม 1709 ว่า วันนั้นเขาได้พบปราชญ์นิกายมารอไนต์ (Maronite) คนหนึ่งชื่อ โยเฮนนา ดีแอ็บ (Youhenna Diab) หรือฮันนา (Hanna) ในกรุงปารีส ปอล ลูว์กา (Paul Lucas) นักเดินทางชาวฝรั่งเศส นำพาปราชญ์ผู้นี้มาจากเมืองอะเลปโป เขายังเขียนลงอนุทินว่า เริ่มแปลเรื่องอะลาดินเป็นภาษาฝรั่งเศสในฤดูหนาวซึ่งกินเวลาระหว่างปี 1709–10 ต่อมา เรื่องอะลาดินนี้ปรากฏอยู่ใน พันหนึ่งราตรี ภาค ราตรี (Nights) เล่มที่ 4 และ 5 พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1710

ในหนังสือ อะลัดดินแอนด์ดิเอนแชนเต็ดแลมป์และอัตเธอร์สตอรีส์ (Aladdin and the Enchanted Lamp and Other Stories; "อะลาดินกับตะเกียงมนตราและเรื่องราวอื่น ๆ") พิมพ์ครั้งแรกในกรุงลอนดอนเมื่อปี 1901 จอห์น เพย์น (John Payne) เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับการพบกันระหว่างกาล็องและบุคคลชื่อ "ฮันนา" เอาไว้ ทั้งระบุถึงการค้นพบต้นฉบับภาษาอาหรับของเรื่องอะลาดินในหอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส (National Library of France) เขาว่า ต้นฉบับนั้นมีสองชุด ชุดหนึ่งบาทหลวงชาวซีเรียที่อยู่ในกรุงปารีสชื่อ ไดโอนิเซียส ชาวิช (Dionysios Shawish) หรือหลวงพ่อเดนิส ชาวิส (Dom Denis Chavis) เขียนขึ้น อีกชุดหนึ่งเป็นเนื้อหาที่ มิคาอิล ซับบัก (Mikhail Sabbagh) อาลักษณ์หลวง คัดลอกจากต้นฉบับที่เขียนขึ้นในกรุงแบกแดดเมื่อปี 1703 หอสมุดแห่งชาติซื้อต้นฉบับทั้งสองชุดนั้นมาเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่นักวิชาการสมัยใหม่หลายคน เช่น มุห์ซิน มะห์ดี (Muhsin Mahdi) และฮุเซน ฮัดดาวี (Husain Haddawy) เชื่อว่า ต้นฉบับดังกล่าวไม่ใช้เรื่องอะลาดินดั้งเดิม เป็นแต่คำแปลเรื่องอะลาดินใน พันหนึ่งราตรี กลับเป็นภาษาอาหรับเท่านั้น[2][3]

สถานที่

แก้

เนื้อเรื่องว่า อะลาดินอยู่ในกรุงจีน และอะลาดินเป็นชาวจีน[4] แต่บุคคลส่วนใหญ่ในเรื่องเป็นมุสลิม มีบุคคลหนึ่งเป็นยิวซึ่งในเรื่องว่า เป็นลูกค้าของอะลาดิน แต่ไม่มีเอ่ยถึงชาวพุทธหรือขงจื่อ

นักวิจารณ์บางคนเห็นว่า ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ดังกล่าวน่าจะบ่งบอกว่า เรื่องเกิดในเตอร์กิสถาน กินพื้นที่เอเชียกลางและเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของประเทศจีนปัจจุบัน[5] ส่วนที่มีการระบุถึงชนชาติต่าง ๆ ในกรุงจีนเช่นนี้ อาจเป็นเพราะคนเล่าเรื่องไม่มีความรู้ดีพอเกี่ยวกับจีน หรือไม่ก็ประสงค์สร้างสีสันให้เนื้อหาดังที่พบบ่อยในนิทานทั้งหลาย[6]

อ้างอิง

แก้
  1. Payne, John. Alaeddin and the Enchanted Lamp and Other Stories, (London 1901) gives details of Galland's encounter with 'Hanna' in 1709 and of the discovery in the Bibliothèque Nationale, Paris of two Arabic manuscripts containing Aladdin and two more of the 'interpolated' tales. Text of "Alaeddin and the enchanted lamp"
  2. Mahdi, Muhsin (1994). The Thousand and One Nights Part 3. Brill. pp. 51–71. ISBN 90-04-10106-3.
  3. Haddawy, Husain (2008). The Arabian Nights. W. W. Norton & Company. ISBN 978-0393331660.
  4. Plotz, Judith Ann (2001). Romanticism and the vocation of childhood. Palgrave Macmillan. pp. 148–149. ISBN 0-312-22735-3.
  5. Moon, Krystyn (2005). Yellowface. Rutgers University Press. p. 23. ISBN 0-8135-3507-7.
  6. Honour, Hugh. Chinoiserie: The Vision of Cathay, Section I "The Imaginary Continent", 1961.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้