สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (นักพระสัตถา)

กษัตริย์กัมพูชา

สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 หรือสมเด็จพระมหินทราชา พระนามเดิมว่านักพระสัตถาหรือนักพระสัฏฐา เป็นพระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชาในสมัยที่กรุงละแวกเป็นราชธานี ประสูติราว พ.ศ. 2083 ครองราชสมบัติระหว่าง พ.ศ. 2119–2137 เป็นพระโอรสของสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 ในรัชกาลของพระองค์นั้น ได้ทำสงครามขับเคี่ยวกับสยามหลายครั้ง ก่อนจะรบแพ้สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จนเสียกรุงละแวกให้สยาม

สมเด็จพระบรมราชาที่ 4
พระมหากษัตริย์กัมพูชา
ครองราชย์พ.ศ. 2119–2137
รัชกาลก่อนหน้าสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 (พระยาละแวก)
รัชกาลถัดไปพระไชยเชษฐาที่ 1
ประสูติพ.ศ. 2083
สวรรคตพ.ศ. 2139
พระมเหสีสมเด็จพระภัควดีศรีจักรพรรดิราช
สมเด็จพระบรมกษัตริย์
สมเด็จพระเทพกษัตรี
พระนามเต็ม
สมเด็จพระชัยเชษฐาธิราชโองการ บรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีตรีภูวนาทิตยพรรม ธรรมิกราช มนุวงโศตตร มหาบรมจักรพรรดิราช กัมพุชเชสูร สุรินทรเดโชชัย ไตรรัตนมกุฎ วิสุทธิชินสาสธร ปรมัตภุปถัมภกราช สมเด็จพระมหาอุบาสก มหาราชบพิตร
พระบุตรสมเด็จพระไชยเชษฐา
สมเด็จพระบรมราชา
สมเด็จพระมหากษัตรี
สมเด็จพระวิสุทธกษัตริย์
พระวิสุทธกษัตรี
เจ้าพระยาณู
เจ้าพระยานอน
นักญา
นักอี
เจ้าพระยาโยม
ราชวงศ์ราชวงศ์วรมัน
พระราชบิดาสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 (พระยาละแวก)

ใน พ.ศ. 2121 และ พ.ศ. 2124 สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ทรงยกทัพเรือมาโจมตีเพชรบุรีในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา โดยใน พ.ศ. 2121 นั้นตีไม่สำเร็จ เจ้าพระยาจีนจันตุ แม่ทัพฝ่ายละแวกเกรงทัณฑ์บน เข้ามาสวามิภักดิ์กับกรุงศรีอยุธยาก่อนจะลอบหนีกลับไปภายหลัง ส่วนใน พ.ศ. 2124 ตีเมืองเพชรบุรีได้สำเร็จ เจ้าเมืองเพชรบุรีเสียชีวิต ฝ่ายเขมรจึงกวาดต้อนครอบครัวกลับไปกรุงละแวกเป็นอันมาก ในปีถัดมาคือ พ.ศ. 2125 สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ได้แต่งทัพมากวาดต้อนผู้คนทางหัวเมืองตะวันออก สมเด็จพระนเรศวรซึ่งขณะนั้นยังเป็นพระมหาอุปราช ได้นำทัพไปตีทัพเมืองละแวกแตกไป หลังจากนั้น กรุงละแวกได้ส่งพระราชสาสน์ขอเป็นไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา และได้ปักปันเขตแดนไว้ที่ด่านพระจารึก สงครามระหว่างสยามกับกัมพูชาจึงสงบลง[1] หลังจากทำสัญญาเป็นไมตรีกันแล้ว เมื่อเกิดศึกหงสาวดีขึ้นอีก สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 โปรดให้พระอนุชาคือพระศรีสุพรรณมาธิราชหรือพระศรีสุริโยพรรณมาช่วยราชการสงคราม แต่ระหว่างสงครามนั้น พระศรีสุพรรณมาธิราชมีเหตุให้ผิดใจกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทำให้ขาดทางพระราชไมตรีนับแต่นั้น และเกิดสงครามระหว่างสยามและกัมพูชาต่อมาอีก

ใน พ.ศ. 2129 ในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชในขณะที่ยังเป็นพระมหาอุปราช ได้ยกทัพไปตีกรุงละแวก แต่ไม่สามารถตีหักเอากรุงละแวกได้ จึงเลิกทัพกลับมา ใน พ.ศ. 2130 เมื่อมีทัพหงสาวดีมาโจมตีกรุงศรีอยุธยาอีก สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ได้ยกทัพมาตีหัวเมืองตะวันออกของสยาม เข้ามาถึงเมืองนครนายก พระยาศรีไสยณรงค์ และพระยาศรีราชเดโชเป็นแม่ทัพออกไปตีทัพกรุงละแวกแตกไป

ตั้งแต่ พ.ศ. 2127 เป็นต้นมา สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ได้ตั้งให้พระโอรสสองพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ คือพระไชยเชษฐาที่ 1 และสมเด็จพระบรมราชาองค์ตน ทำให้กัมพูชามีกษัตริย์พร้อมกันถึงสามพระองค์ สร้างความไม่พอใจแก่ขุนนางเขมร ในพงศาวดารกัมพูชาฉบับพระองค์นพรัตน์ถึงกับระบุว่าพระองค์เสียพระสติ เสวยแต่น้ำจัณฑ์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2134

ใน พ.ศ. 2136 หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ทรงยกทัพมาโจมตีกรุงละแวกอีก คราวนี้ ทรงตีเมืองละแวก และจับพระศรีสุริโยพรรณ และพระโอรสอีกสองพระองค์คือพระชัยเจษฎาและพระอุทัย นำตัวกลับไปกรุงศรีอยุธยา ส่วนสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 และพระมหากษัตริย์อีก 2 พระองค์หลบหนีไปได้ โดยครั้งแรกไปประทับที่เมืองเสร็ยสนทอร์หรือศรีสุนทร จากนั้นจึงหนีไปเมืองเชียงแตงหรือสตึงเตรง แล้วประชวรเป็นไข้สิ้นพระชนม์ที่นั่นเมื่อพระชนม์ได้ 54 พรรษา ใน พ.ศ. 2137[2] โดยสมเด็จพระชัยเชษฐาประชวรและสิ้นพระชนม์ไปด้วย เหลือแต่สมเด็จพระบรมราชาองค์ตน ต่อมาพระอัฐิของสมเด็จพระบรมราชาที่ 4 ได้นำมาบรรจุไว้ที่เจดีย์ที่เขาพระราชทรัพย์ เมืองอุดงค์มีชัยในรัชกาลพระไชยเชษฐาที่ 2[3]

ในวัฒนธรรมสมัยนิยม

แก้

มีนักแสดงผู้รับบท สมเด็จพระบรมราชาที่ 4 (นักพระสัตถา) ได้แก่

อ้างอิง

แก้
  • ศานติ ภักดีคำ. 2554. เขมรรบไทย. กทม. มติชน
  1. เรียบเรียงตามข้อมูลจากเอกสารผ่ายไทยที่กล่าวถึงในศานติ (2554) ส่วนหลักฐานฝ่ายกัมพูชาไม่ระบุถึงสงครามใน พ.ศ. 2121 และ 2125 ส่วนเหตุการณ์ใน พ.ศ. 2124 และการเป็นไมตรี หลักฐานฝ่ายกัมพูชาระบุศักราชตรงกับรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาที่ 3
  2. ตามหลักฐานของสเปนและกัมพูชา ดู ศานติ (2554)
  3. ศานติ ภักดีคำ. 2556. เขมรสมัยหลังพระนคร. กทม. มติชน