สนธิสัญญาไทย-สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2463

สนธิสัญญาไทย-สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2463 เป็นข้อตกลงทวิภาคีฉบับแรกที่มีผลฟื้นฟูเอกราชทางการศาลและการศุลกากรของที่ไทยเคยสูญเสียไปก่อนหน้านั้น โดยสนธิสัญญาดังกล่าวมีเนื้อหายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต และให้สิทธิไทยในการกำหนดภาษีศุลกากรและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้เอง มีการลงนามเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2463 สนธิสัญญาดังกล่าวมีอายุ 10 ปี

หลังการเจรจาสันติภาพที่พระราชวังแวร์ซายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐบาลสยามได้แต่งตั้งเอลดอน เจมส์ ชาวอเมริกัน เป็นผู้แทนเจรจากับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ได้รับการเสนอให้ติดต่อผ่านทางอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน เพื่อขอแก้ไขสนธิสัญญาอันไม่เป็นธรรม (ดู สนธิสัญญาเบาว์ริง) ในด้านอัตราภาษีศุลกากรและสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

สนธิสัญญาดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ

  1. ยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาวอเมริกันในประเทศสยาม แต่กงสุลอเมริกันยังมีสิทธิ์นำคดีไปพิจารณาเอง ยกเว้นคดีในศาลฎีกา และเมื่อสยามประกาศใช้ประมวลกฎหมายสมัยใหม่แล้ว 5 ปี
  2. รัฐบาลสยามมีสิทธิ์เต็มที่ในการเก็บภาษีศุลกากรและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ โดยต้องเก็บสหรัฐอเมริกาในอัตราที่เท่ากับที่เก็บจากประเทศอื่น

หลังจากนั้น สยามได้มีการเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับประเทศอื่นตามลำดับ ได้แก่ ญี่ปุ่น (10 มีนาคม พ.ศ. 2466) ฝรั่งเศส (14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2467) และ อังกฤษ (14 กรกฎาคม พ.ศ. 2468) ตลอดจนอีก 7 ประเทศทวีปยุโรปภายใน พ.ศ. 2470 คือ เนเธอร์แลนด์ (8 มิถุนายน พ.ศ. 2468) สเปน (3 สิงหาคม พ.ศ. 2468) โปรตุเกส (14 สิงหาคม พ.ศ. 2468) เดนมาร์ก (1 กันยายน พ.ศ. 2468) สวีเดน (15 ธันวาคม พ.ศ. 2468) อิตาลี (9 พฤษภาคม พ.ศ. 2469) และ เบลเยียม (13 กรกฎาคม พ.ศ. 2469)

สำหรับการเจรจาขอแก้ไขสนธิสัญญากับฝรั่งเศส พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งให้ฟรานซิส บี. แซร์ เป็นผู้แทนรัฐบาล มีอำนาจเจรจาต่อรองกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เป็นผู้เจรจา โดยฝรั่งเศสขอสิทธิในการจัดตั้งศาลในสยามขึ้นพิจารณาคดีจนกว่าจะบังคับใช้ประมวลกฎหมายสมัยใหม่ และอังกฤษให้สยามเรียกเก็บภาษีศุลกากรฝ้าย เหล็ก และเหล็กกล้าในอัตราไม่เกินร้อละ 5 เป็นเวลา 10 ปี

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  • โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 50-51.