ศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์
ศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์[2] (เยอรมัน: Bundesverfassungsgericht, ย่อว่า BVerfG; อังกฤษ: Federal Constitutional Cour) เป็นศาลรัฐธรรมนูญชั้นสูงสุดแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญซึ่งเรียกว่า "กฎหมายพื้นฐานสำหรับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี" มีที่ทำการอยู่ ณ เมืองคาลส์รูเออ โดยเจตนาจะให้อยู่ห่างจากหน่วยงานรัฐบาลกลางในกรุงเบอร์ลินและเมืองอื่น ๆ
ศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ | |
---|---|
สถาปนา | ค.ศ. 1951[1] |
ที่ตั้ง | คาลส์รูเออ |
พิกัด | 49°00′45″N 8°24′06″E / 49.012422°N 8.40161°E |
วิธีได้มา | เลือกโดยสภาสหพันธ์และคณะมนตรีสหพันธ์ |
ที่มา | กฎหมายพื้นฐานสำหรับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี |
วาระตุลาการ | 12 ปี (อยู่ได้ถึงอายุ 68 ปี) |
จำนวนตุลาการ | 16 คน |
เว็บไซต์ | Bundesverfassungsgericht.de |
ประธานศาล |
ภารกิจหลักของศาล คือ การทบทวนโดยฝ่ายตุลาการ ศาลจึงสามารถวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย และกฎหมายที่ศาลวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะสิ้นผลไป ในแง่นี้ ศาลมีอำนาจทำนองเดียวกับศาลสูงสุดอื่น ๆ ที่สามารถพิจารณาทบทวนการกระทำของรัฐได้ แต่ศาลยังมีอำนาจเพิ่มเติมอีกหลายประการ บรรดานักนิยมการแทรกแซง (interventionist) จึงถือว่า ศาลนี้เป็นศาลระดับชาติที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก อย่างไรก็ดี แม้เป็นศาลสูง แต่ศาลไม่รับชำระอุทธรณ์จากศาลอื่น
เขตอำนาจของศาลนั้นมุ่งไปที่ประเด็นความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐในอันที่จะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ศาลมีอำนาจทบทวนการ���ก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติให้ความเห็นชอบแล้ว เพื่อให้เป็นที่มั่นใจว่า การแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวไม่ขัดกับหลักการในกฎหมายพื้นฐานตามที่บทนิรันดร์ (eternity clause) ระบุไว้
ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา การที่ศาลใช้อำ���าจควบคุมรัฐธรรมนูญอย่างมหาศาลและเป็นนิจ แต่ก็ตั้งอยู่บนหลักการยับยั้งชั่งใจของฝ่ายตุลาการและการปรับปรุงการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ศาลมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ของประเทศเยอรมนี
เขตอำนาจ
แก้กฎหมายพื้นฐาน มาตรา 20 อนุมาตรา 3 บัญญัติว่า กฎหมายพื้นฐานย่อมผูกพันอำนาจทั้งสามแห่งรัฐ คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ โดยตรง ฉะนั้น ไม่ว่าเป็นการกระทำของอำนาจใด และไม่ว่าจะเป็นเพียงการละเมิดแบบพิธี (เช่น ไม่ปฏิบัติตามกระบวนการ หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจ) หรือเป็นความขัดแย้งที่เป็นสาระสำคัญ (เช่น ไม่เคารพสิทธิพลเมือง) ศาลก็สามารถวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ทั้งสิ้น
อำนาจของศาลนั้นมีบัญญัติไว้ในกฎหมายพื้นฐาน มาตรา 93[3] แต่รายละเอียดนั้นกำหนดอยู่ในกฎหมายส่วนกลาง คือ รัฐบัญญัติศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์ (Bundesverfassungsgerichts-Gesetz; Federal Constitutional Court Act) รัฐบัญญัตินี้ยังระบุวิธีบังคับตามคำวินิจฉัยของศาลด้วย โดยนัยดังกล่าว ศาลจึงมีวิธีพิจารณาที่เคร่งครัด และเรื่องที่อยู่ในอำนาจมีดังนี้
- การร้องทุกข์ตามรัฐธรรมนูญ (Verfassungsbeschwerde; constitutional complaint) เป็นกรณีที่บุคคลสามารถร้องทุกข์ต่อศาลว่า ถูกละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่น้อยครั้งที่ผู้ร้องทุกข์จะชนะคดี เพราะตามสถิติแล้ว ตั้งแต่ปี 1951 มีเพียงร้อยละ 2.5 ที่ชนะคดี แต่หลายคดี ๆ ก็ส่งผลให้กฎหมายจำนวนมากถูกวินิจฉัยให้เป็นโมฆะ โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร อนึ่ง ตั้งแต่ปี 1957 ถึงปี 2002 มีคดีทำนองนี้ขึ้นสู่ศาลจำนวน 135,968 เรื่อง คดีส่วนใหญ่ของศาลจึงเป็นคดีประเภทนี้
- การควบคุมกฎแบบนามธรรม (abstract regulation control) เป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐ ไม่ว่ารัฐบาลกลางหรือรัฐบาลท้องถิ่น สามารถเสนอให้ศาลวินิจฉัยว่า กฎหมายส่วนกลางชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ คดีมีชื่อที่สุด คือ คดีทำแท้งเมื่อปี 1975 ซึ่งศาลวินิจฉัยว่า กฎหมายที่ให้เลิกเอาผิดกับการทำแท้งนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
- การควบคุมกฎแบบเจาะจง (specific regulation control) เป็นกรณีที่ศาลอื่นจะใช้กฎหมายใดแล้วเห็นว่า กฎหมายนั้นอาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลดังกล่าวสามารถงดการพิจารณาแล้วเสนอให้ศาลวินิจฉัยได้
- การพิพาทส่วนกลาง (federal dispute) เป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐบาลกลาง รวมถึงสภาสหพันธ์ (Bundestag) สามารถเสนอให้ศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อพิพาทเรื่องอำนาจหน้าที่หรือวิธีปฏิบัติราชการภายในหน่วยงานนั้นได้
- การพิพาทส่วนท้องถิ่น (state–federal dispute) เป็นกรณีที่รัฐ (Länder) ในประเทศเยอรมนีสามารถเสนอให้ศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐบาลกลางว่าด้วยอำนาจหน้าที่หรือวิธีปฏิบัติราชการได้
- การควบคุมคณะกรรมการสืบสวน (investigation committee control)
- การตรวจสอบการเลือกตั้งส่วนกลาง (federal election scrutiny) เป็นกรณีที่หน่วยงานของรัฐหรือผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสามารถเสนอให้ศาลวินิจฉัยเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายเลือกตั้งได้
- การขับเจ้าหน้าที่ของรัฐออกจากตำแหน่ง (impeachment) เป็นกรณีที่สภาสหพันธ์ สภาผู้แทนรัฐ (Bundesrat) หรือรัฐบาลกลาง สามารถขอให้ศาลขับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ เช่น ประธานาธิบดี หรือตุลาการ ออกจากตำแหน่งเพราะละเมิดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายส่วนกลางได้
- การยุบพรรคการเมือง (prohibition of political party) เป็นอำนาจของศาลนี้ศาลเดียวในประเทศเยอรมนี การยุบพรรคการเมืองเกิดมาแล้ว 2 ครั้ง ทั้ง 2 ครั้งเกิดในคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ครั้งแรก ยุบพรรคชาติสังคมนิยม (Socialist Reich Party) ของฝ่ายนาซีใหม่ เมื่อปี 1952 ครั้งที่ 2 ยุบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี (Communist Party of Germany) เมื่อปี 1956 การขอให้ยุบพรรคการเมืองเป็นครั้งที่ 3 มีขึ้นในปี 2003 ศาลวิจิฉัยว่า สมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติเยอรมนี (National Democratic Party of Germany) เป็นอุปนิกขิตที่หน่วยงานลับของรัฐบาลส่งเข้ามาแฝงตัว ตุลาการลงมติ 4 ต่อ 4 และตามธรรมนูญศาลแล้ว ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ถือว่า ยกคำร้อง พรรคดังกล่าวจึงไม่ถูกยุบ
ตั้งแต่ปี 2009 สืบมา กฎหมายที่ศาลวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้นมีมากกว่า 600 ฉบับ[4]
การจัดองค์การ
แก้ศาลมีสมาชิกทั้งหมด 16 คน แบ่งไปจัดตั้ง "ที่ประชุมใหญ่" (Senate) 2 แห่ง แห่งละ 8 คน ที่ประชุมใหญ่จะจ่ายสมาชิกของตนไปนั่งเป็นองค์คณะซึ่งมีทั้งหมด 3 องค์คณะ แต่ละองค์คณะประกอบด้วยตุลาการ 3 คน
ประธานที่ประชุมใหญ่คน 1 เป็นประธานศาล อีกคน 1 เป็นรองประธานศาล ประธานทั้ง 2 ยังนั่งเป็นองค์คณะ 2 ใน 3 องค์คณะแห่งที่ประชุมใหญ่ของตนด้วย ประธานที่ประชุมใหญ่ทั้ง 2 จะสลับกันเป็นประธานศาล กล่าวคือ เมื่อประธานที่ประชุมใหญ่แห่ง 1 เป็นประธานศาลแล้ว สมัยหน้า ประธานที่ประชุมใหญ่อีกแห่ง 1 จะเป็นประธานศาล
การวินิจฉัยขององค์คณะต้องเป็นไปตามมติเอกฉันท์เท่านั้น องค์คณะเป็นของที่ประชุมใหญ่แห่งใด องค์คณะนั้นไม่สามารถวินิจฉัยหักล้างปทัสถานซึ่งที่ประชุมใหญ่แห่งนั้นตั้งไว้ได้ ต้องให้ที่ประชุมใหญ่แห่งนั้นวินิจฉัยสถานเดียว การวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ต้องเป็นไปตามเสียงข้างมากเด็ดขาด (absolute majority) แต่บางกรณีก็อนุญาตให้ใช้เสียงข้างมาก 2 ใน 3 ได้ อนึ่ง ที่ประชุมใหญ่แห่ง 1 ไม่สามารถวินิจฉัยหักล้างปทัสถานของที่ประชุมใหญ่อีกแห่ง 1 ได้ ต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของ "ที่ประชุมเต็มคณะ" (Plenum) ซึ่งตุลาการทั้ง 16 คนจะมาชุมนุมกันวินิจฉัย
ศาลปฏิบัติต่างจากศาลอื่นของเยอรมนีตรงที่มักเปิดเผยคะแนนเสียง แต่มักเป็นคะแนนเสียงรอบสุดท้ายเท่านั้น ข้อแตกต่างอันสำคัญอีกประการ คือ ศาลอนุญาตให้สมาชิกของศาลเสนอความเห็นแย้งได้ สิทธิเสนอความเห็นแย้งนี้รับรองขึ้นเมื่อปี 1971
การแต่งตั้งตุลาการ
แก้กฎหมายพื้นฐานกำหนดให้ตุลาการศาลมาจากการเลือกสรรโดยสภาสหพันธ์ (บุนเดิสทาค) และคณะมนตรีสหพันธ์ (บุนเดิสราท) ซึ่งองค์กรแต่ละแห่งจะเลือกสรรตุลาการฝ่ายละแปดคน (องค์กรแต่ละแห่งต้องใช้เสียงในสองในสามในการผ่านมติ) รวมได้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวนสิบหกคน โดยที่ตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรแต่ละแห่งจะสลับกันเลือกตามวาระ
อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา สภาสหพันธ์ (บุนเดิสทาค) มอบหมายหน้าที่นี้ให้แก่ "คณะกรรมการเลือกสรรตุลาการ" (Richterwahlausschuss) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่ง
ตุลาการศาลรัฐธรรมมีวาระดำรงตำแหน่ง 12 ปี แต่ต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุครบ 68 ปีบริบูรณ์ บุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นตุลาการต้องมีอายุ 40 ปีบริบูรณ์และต้องเป็นนักนิติศาสตร์ผู้ทรงคุณวุฒิ
ในบรรดาตุลาการทั้งสิบหกคนนั้น ตุลาการหกคน (ที่ประชุมใหญ่ละสามคน) ต้องเป็นตุลาการศาลส่วนกลาง อีกสิบคน (ที่ประชุมใหญ่ละห้าคน) ต้องเป็นนักนิติศาสตร์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย รัฐกร หรือทนายความ เมื่อวาระดำรงตำแหน่งสิ้นสุดลง ตุลาการส่วนใหญ่มักไม่ทำงานภาครัฐต่อไปอีก ยกเว้นกรณีของโรมัน แฮร์ทโซค ประธานศาล ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเมื่อปี 1994 ก่อนจะพ้นจากตำแหน่งไม่นาน
รายชื่อศาลธรรมนูญรัฐท้องถิ่น
แก้- ศาลธรรมนูญสำหรับรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์ค (Verfassungsgerichtshof für das Land Baden-Württemberg)
- ศาลธรรมนูญไบเอิร์น (Bayerischer Verfassungsgerichtshof)
- ศาลธรรมนูญแห่งรัฐเบอร์ลิน (Verfassungsgerichtshof des Landes Berlin)
- ศาลธรรมนูญแห่งรัฐบรันเดินบวร์ค (Verfassungsgericht des Landes Brandenburg)
- ศาลธรรมนูญแห่งเสรีนครรัฐเบรเมิน (Staatsgerichtshof der Freien Hansestadt Bremen)
- ศาลธรรมนูญฮัมบวร์ค (Hamburgisches Verfassungsgericht)
- ศาลธรรมนูญแห่งรัฐเฮ็สเซิน (Staatsgerichtshof des Landes Hessen)
- ศาลธรรมนูญรัฐเมคเลินบวร์ค-ฟอร์พ็อมเมิร์น (Landesverfassungsgericht Mecklenburg-Vorpommern)
- ศาลธรรมนูญรัฐนีเดอร์ซัคเซิน (Niedersächsischer Staatsgerichtshof)
- ศาลธรรมนูญรัฐนอร์ทไรน์-เว็สท์ฟาเลิน (Verfassungsgerichtshof für das Land Nordrhein-Westfalen)
- ศาลธรรมนูญไรน์ลันท์-ฟัลทซ์ (Verfassungsgerichtshof Rheinland-Pfalz)
- ศาลธรรมนูญแห่งซาร์ลันท์ (Verfassungsgerichtshof des Saarlandes)
- ศาลธรรมนูญแห่งเสรีรัฐซัคเซิน (Verfassungsgerichtshof des Freistaates Sachsen)
- ศาลธรรมนูญรัฐซัคเซิน-อันฮัลท์ (Landesverfassungsgericht Sachsen-Anhalt)
- ศาลธรรมนูญชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ (Schleswig-Holsteinisches Landesverfassungsgericht)
- ศาลธรรมนูญทือริงเงิน (Thüringer Verfassungsgerichtshof)
อ้างอิง
แก้- ↑ "Reference to The Federal Constitutional Court's Webpage saying that its establishment was in 1951". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-21. สืบค้นเมื่อ 2013-11-26.
- ↑ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. ศาลรัฐธรรมนูญกับแนวคิดประชาธิปไตย ที่ปกป้องตนเองได้ (Sustainable Democracy) กรุงเทพฯ : สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, 2563. (หน้า 85)
- ↑ "Art. 93" [Jurisdiction of the Federal Constitutional Court] (PDF). Basic Law for the Federal Republic of Germany (ภาษาอังกฤษ และ เยอรมัน). Berlin: German Bundestag. 2010. pp. 82–83. สืบค้นเมื่อ August 19, 2010.
- ↑ Law, David S., The Anatomy of a Conservative Court in Texas Law Review lxxxvii: 1545–93
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ
- รัฐบัญญัติศาลรัฐธรรมนูญสหพันธ์: ภาษาเยอรมัน • ภาษาอังกฤษ เก็บถาวร 2015-04-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน