วังบูรพาภิรมย์ เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพระราชทาน สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์สุดท้องในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เมื่อ พ.ศ. 2418

วังบูรพาภิรมย์
วังบูรพาภิรมย์
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะถูกรื้อถอน
ประเภทวัง
สถาปัตยกรรมโคโลเนียล
ที่ตั้งแขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร
เมือง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
พิกัด13°44′46″N 100°30′00″E / 13.74611°N 100.50000°E / 13.74611; 100.50000
เริ่มสร้าง19 มีนาคม พ.ศ. 2418
พิธีเปิดพ.ศ. 2424
รื้อถอนพ.ศ. 2495
การออกแบบและการก่อสร้าง
สถาปนิกโจอาคีโน กรัสซี

พื้นที่บริเวณนี้เป็นวังเก่ามาแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้านายที่เคยประทับที่นี่ล้วนเป็นพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับมอบหมายให้มารักษาพระนครด้านทิศตะวันออก ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนรินทรพิทักษ์, พระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนเรนทรบริรักษ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ และพระสัมพันธวงศ์เธอ กรมหมื่นนรินทรเทพ [1] เมื่อมีการสร้างวังใหม่ในรัชกาลที่ 5 จึงได้รับพระราชทานนามซึ่งหมายถึง "วังที่อยู่ทางทิศตะวันออก" คือ วังบูรพาภิรมย์ หรือ วังบูรพา

วังบูรพาภิรมย์ได้รับการออกแบบโดยนายโจอาคีโน กรัสซี (Gioachino Grassi) สถาปนิกชาวอิตาลี-ออสเตรีย[2] เป็นสถาปัตยกรรมผสมผสานแนวอาณานิคม สร้างเป็นพระตำหนักใหญ่สูง 2 ชั้น ประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง เนื้อที่กว้างขวางตั้งแต่ริมถนนตรงป้อมมหาไชยจนถึงสะพานเหล็ก ใช้เวลาสร้าง 6 ปี ตั้งแต่เริ่มวางศิลาฤกษ์เมื่อวันแรม 4 ค่ำ เดือน 4 ปีกุนสัปตศก จุลศักราช 1237 ตรงกับวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ 2418[2]

เมื่อสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จมาประทับ ณ วังนี้แล้ว โปรดให้จัดงานเลี้ยงสังสรรค์อยู่เสมอ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินมางานเต้นรำที่นี่อยู่เสมอ นอกจากนี้ วังนี้ยังเคยใช้เป็นที่รับรองรพินทรนาถ ฐากูร ปราชญ์ชาวอินเดีย เมื่อครั้งมาบรรยายในประเทศไทย

หลังจากสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2471 วังนี้ก็ซบเซาลง ทายาทของท่านให้เช่าเป็นที่ตั้งโรงเรียนสตรีภานุทัต ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังสงครามสงบลง ก็ใช้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนพณิชยการพระนคร

เมื่อ พ.ศ. 2495 ทายาทราชสกุลภาณุพันธุ์ได้ขายวังบูรพาให้เอกชน คือนายโอสถ โกศิน ในราคา 12 ล้าน 2 หมื่นบาท มีการรื้อวังออก เพื่อสร้างเป็นศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์สามแห่ง คือโรงภาพยนตร์คิงส์ โรงภาพยนตร์ควีนส์ และโรงภาพยนตร์แกรนด์ ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2497 เมื่อรวมกับตลาดมิ่งเมือง (ปัจจุบันคือศูนย์การค้าดิโอลด์สยามพลาซ่า) และโรงภาพยนตร์อีกแห่งหนึ่งคือ ศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี ในปี พ.ศ. 2475 จึงนับว่าย่านนี้เป็นย่านการค้าที่ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น

ในช่วง พ.ศ. 2499–2500 ย่านนี้ได้กลายเป็นแหล่งชุมนุมของวัยรุ่นหนุ่มสาวทันสมัย เรียกว่าเป็น โก๋หลังวัง ซึ่งหมายถึงวังบูรพานั่นเอง ทุกวันนี้ศูนย์การค้าและโรงภาพยนตร์เหล่านั้นล้วนเลิกกิจการไปหมดแล้ว แต่ย่านดังกล่าวก็ยังคงเป็นที่รู้จักกันในชื่อ วังบูรพา

สิงโตวังบูรพา

แก้

ด้านหน้าวังบูรพาภิรมย์ มีรูปปั้นสิงโตสีน้ำตาลแดงขนาดใหญ่อยู่คู่หนึ่ง เมื่อมีการรื้อวัง ได้มีการย้ายสิงโตคู่นี้ไปอยู่ที่วังพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านรเศรษฐสุริยลักษณ์ เมื่อพระองค์เจ้านรเศรษฐ์สิ้นพระชนม์ ก็ได้ย้ายสิงโตไปตั้งอยู่หน้าพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปัจจุบันย้ายไปอยู่หน้าตึกกองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก

อ้างอิง

แก้
  1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์, สาส์นสมเด็จ, วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2483
  2. 2.0 2.1 สัจธรรม. อาทิตย์อุไทย The Rising Prince เสี้ยวหนึ่งของพระชนม์สมเด็จวังบูรพา. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี, พ.ศ. 2551. 210 หน้า. ISBN 978-974-16-3093-6

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°44′45″N 100°30′06″E / 13.745784°N 100.501674°E / 13.745784; 100.501674