ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ

ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ (อังกฤษ: Queen's Cup Football Tournament) เป็นการแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสรประจำปีของประเทศไทย การแข่งขันจัดโดย ภาคีสโมสรควีนส์คัพ โดยมีการจัดการแข่งขันขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2513 แต่ได้งดการแข่งขันเป็นจำนวน 7 ครั้ง ได้แก่ ในปี 2518, 2528, 2541, 2544, 2548, 2550, 2551 และเว้นวรรคการแข่งขันหลังจาก ครั้งที่ 34 (ปี 2553 จนถึง ปัจจุบัน) สำหรับถ้วยรางวัลของการแข่งขันนั้น ได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี 2513

ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ
ก่อตั้ง1970; 54 ปีที่แล้ว (1970)
จำนวนทีม32
ทีมที่ประสบความสำเร็จที่สุดเกาหลีใต้ มหาวิทยาลัยฮันยาง (7 ครั้ง)

ประวัติการแข่งขัน

แก้

การแข่งขันฟุตบอลระดับสโมสรในประเทศไทย ที่ได้รับการยอมรับอย่างหนึ่งคือ ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน ซึ่งเป็นถ้วยที่ทาง สมาคมฟุตบอลแห่งปร���เทศไทยฯ รับรองและเป็นถ้วยหลักที่ทำการแข่งขัน แต่ว่า การแข่งขันฟุตบอลกระชับในระดับสโมสร เพื่อเตรียมพร้อมในการแข่งขัน ยังไม่มีหนัก โดยได้มีความพยายามจัดการแข่งขันในปี 2508 โดยเป็น สโมสรทหารอากาศ ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลกระชับมิตรสโมสรในระบบทัวร์นาเม้นต์ โดยแข่งเป็นกระชับมิตรสามเส้า ระหว่าง สโมสรธนาคารกรุงเทพ สโมสรทหารอากาศ และสโมสรตำรวจ ชิงถ้วย ผู้บัญชาการทหารอากาศ แต่ก็เป็นการจัดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น[1]

จนกระทั่งในปี 2513 บุญชู โรจนเสถียร นายกสโมสรธนาคารกรุงเทพ (ในขณะนั้น) ไดมีดำริที่จะจัดการแข่งขันฟุตบอลระดับกระชับมิตรสโมสร โดยได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อขอพระบรมราชานุญาต ใช้ชื่อการแข่งขันนี้ว่า การแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (ควีนส์คัพ) ซึ่งก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน โดยมีวัตถุประสงค์ในการหารายได้โดยเสด็จพระราชกุศล และเพื่อให้สโมสรต่างๆ ได้มีโอกาสเข้าแข่งขันเพื่อหาประสบการณ์ รวมไปถึงเป็นเวทีในการคัดเลือกนักฟุตบอลในระดับสโมสร เพื่อเข้าสู่สารระบบฟุตบอลทีมชาติไทย

โดยได้เชิญสโมสรต่างๆ อีก 5 สโมสรเข้าร่วมการแข่งขัน อาทิ[1]:

  1. สโมสรการท่าเรือแห่งประเทศไทย
  2. สโมสรกีฬาราชวิถี
  3. สโมสรทหารอากาศ
  4. สมาคมหัวเฉียวจีนแคะแห่งประเทศไทย
  5. สโมสรกีฬาราชประชานุเคราะห์

โดยกำหนดจะให้มีการแข่งขันเป็นประจำทุกปี โดยทุกสโมสรผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โดยในครั้งแรก ให้ สโมสรธนาคารกรุงเทพ เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ในฐานะผู้ริเริ่มจัดการแข่งขัน

สโมสรที่เข้าร่วมการแข่งขัน

แก้

สโมสรที่ร่วมแข่งขัน ฟุตบอลฯ ควีนสคัพ นั้น จะแตกต่างกับการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยในหลายประเทศ โดยใน ฟุตบอลฯ ควีนส์คัพ สโมสรที่เข้าร่วมร่วมแข่งขัน จะต้องเป็นสโมสรที่เป็นสมาชิกของ ภาคีสโมสรควีนส์คัพ จึงจะมีสิทธิในการแข่งขัน ซึ่งจะเห็นได้จาก การแข่งขันในบางครั้งที่จะมีสโมสรฟุตบอลจังหวัดแข่งขันในนามของสโมสรอื่น และในการแข่งขันหลายครั้งก็จะมีการเชิญสโมสรฟุตบอล จากต่างประเทศมาร่วมแข่งขัน ซึ่งแตกต่างกันการแข่งขันฟุตบอลถ้วยในหลายประเทศ อาทิ เอฟเอคัพ (อังกฤษ) คอปปาอิตาเลีย (อิตาลี) หรือ ยูเอสโอเพนคัพ (สหรัฐอเมริกา) ที่การแข่งขันฟุตบอลถ้วยจะให้เฉพาะทีมสโมสรในประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ทีมทุกระดับในประเทศร่วมแข่งขัน ทีมที่เล่นในลีกระดับล่างจะมีโอกาสได้แข่งขันกับทีมที่เล่นในลีกระดับสูง และการแข่งขันฟุตบอลถ้วยเหล่านั้นจะแข่งขันในช่วงระยะเวลาคั่นระหว่างการแข่งขันฟุตบอลลีก

รางวัลชนะเลิศ

แก้

ถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ

แก้

สโมสรที่ชนะเลิศการแข่งขัน จะได้รับถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ หรือผู้แทนพระองค์ โดยตัวถ้วยมีความสูง 1.25 เมตร น้ำหนักรวม 10.5 กิโลกรัม โดยทำด้วยเงินแท้ 95% มีพระปรมาภิไธยย่อ "สก." สลักอยู่บนตัวถ้วย โดยเป็นถ้วยพระราชทานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย[2]

เข็มควีนส์สตาร์

แก้

หลังจากการแข่งขัน ฟุตบอลฯ ควีนสคัพ จบลง ฝ่ายจัดการแข่งขันจะคัดเลือกนักฟุตบอลที่ทำผลงานได้ดีกับสโมสรในการแข่งขัน และ มารยาทดี มีน้ำใจนักกีฬา ให้รับเชิญมาติดทีมเฉพาะกิจ ในนาม ทีมควีนส์สตาร์ ซึ่งจะได้รับเข็มควีนส์สตาร์นี้ เป็นที่ระลึก และ จะมีการจัดฟุตบอลนัดพิเศษตามโอกาสเห็นสมควร[3]

ทำเนียบผลการแข่งขัน

แก้
ครั้งที่ ปี ชนะเลิศ ผลการแข่งขัน รองชนะเลิศ
1 2513 ธนาคารกรุงเทพ 0 - 0 ทหารอากาศ
ธนาคารกรุงเทพ และ ทหารอากาศ (ชนะเลิศร่วมกัน)
2 2514 จาการ์ตา ปุตรา (อินโดนีเซีย) 1 - 0 ราชวิถี
3 2515 ราชประชา 2 - 1 การท่าเรือฯ
4 2516 ราชวิถี 1 - 0 ธนาคารกรุงเทพ
5 2517 ทหารอากาศ 3 - 1 ซีเซียง (ไต้หวัน)
ปี 2518 ไม่มีการแข่งขัน
6 2519 ราชวิถี 0 - 2 ยันมาร์ ดีเซล (ญี่ปุ่น)
7 2520 การท่าเรือฯ 1 - 1 ฮันยัง (เกาหลีใต้)
การท่าเรือฯ และ ฮันยัง (ชนะเลิศร่วมกัน)
8 2521 การท่าเรือฯ 3 - 1 ราชประชา
9 2522 การท่าเรือฯ 0 - 0 ออร์กัสเฟิร์ส (จีน)
การท่าเรือฯ และ ออร์กัสเฟิร์ส (ชนะเลิศร่วมกัน)
10 2523 การท่าเรือฯ 3 - 2 ออร์กัสเฟิร์ส (จีน)
11 2524 ราชประชา 1 - 0 ปักกิ่ง (จีน)
12 2525 ทหารอากาศ 2 - 0 ฮันยัง (เกาหลีใต้)
13 2526 ธนาคารกรุงเทพ 2 - 1 การท่าเรือฯ
14 2527 ฮันยัง (เกาหลีใต้) 1 - 1
(ลูกโทษ 4 - 3)
การท่าเรือฯ
ปี 2528 ไม่มีการแข่งขัน
15 2529 เซี่ยงไฮ้ (จีน) 4 - 2 โคเบนเฮาท์ (เดนมาร์ก)
16 2530 การท่าเรือฯ 2 - 0 ธนาคารกรุงไทย
17 2531 ฮันยัง (เกาหลีใต้) 1 - 0 ราชประชา
18 2532 ฮันยัง (เกาหลีใต้) 3 - 1 ทหารอากาศ
19 2533 ฮันยัง (เกาหลีใต้) 1 - 0 ตำรวจ
20 2534 ฮันยัง (เกาหลีใต้) 0 - 0
(ลูกโทษ 6 - 5)
ธนาคารกสิกรไทย
21 2535 กัมบะ โอซะกะ (ญี่ปุ่น) 4 - 3 ทหารอากาศ
22 2536 การท่าเรือฯ 2 - 0 ตำรวจ
23 2537 ธนาคารกสิกรไทย 4 - 2 ราชวิถี
24 2538 ธนาคารกสิกรไทย 2 - 1 ราชประชา
25 2539 ธนาคารกสิกรไทย 1 - 1
(ลูกโทษ 4 - 3)
สินธนา
26 2540 ธนาคารกสิกรไทย 1 - 0 ราชนาวี
ปี 2541 ไม่มีการแข่งขัน
27 2542 ฮันยัง (เกาหลีใต้) 3 - 1 ราชประชา
28 2543 ธนาคารกรุงเทพ 2 - 2
(ลูกโทษ 5 - 3)
สินธนา
ปี 2544 ไม่มีการแข่งขัน
29 2545 โอสถสภา 3 - 2 สินธนา
30 2546 โอสถสภา 1 - 0 ทศท โทรคมนาคม
31 2547 โอสถสภา 0 - 0
(ลูกโทษ 5 - 3)
ธนาคารกรุงเทพ
ปี 2548 ไม่มีการแข่งขัน
32 2549 ราชนาวี 1 - 0 ธนาคารกรุงไทย
ปี 2550 - 2551 ไม่มีการแข่งขัน
33 2552 ฮาเลลูย่า (เกาหลีใต้) 1 - 0 บีอีซี เทโรศาสน
34 2553 ธนาคารกรุงไทย-บีจี 4 - 1 เพื่อนตำรวจ

ปัญหาในการจัดการแข่งขัน

แก้

แม้ว่าการแข่งขันฟุตบอลฯ ควีนส์คัพ จะได้รับความนิยม และเป็นการแข่งขันฟุตบอลในระดับสโมสรที่ได้รับการยอมรับรายการหนึ่งในระดับประเทศ และ ระดับเอเชีย แต่เนื่องด้วยการที่เมื่อมีการจัดการแข่งขัน สโมสรสมาชิกที่เป็นภาคี ที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน จะต้องออกค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขันเอง ซึ่งเฉลี่ยแล้ว จำเป็นต้องใช้เงินอย่างน้อย 8-10 ล้านบาท ซึ่งกอปรกระแสการรับชมฟุตบอลไทยซบเซา จึงทำให้ในช่วงระยะเวลาการแข่งขันครั้งหลังๆ จึงไม่ค่อยมีการจัดการแข่งขันบ่อยเหมือนช่วงก่อนๆ[4] รวมไปถึงสโมสรภาคีสมาชิก ที่บางสโมสรได้มีการยุบทีมไป หรือไม่ได้ทำการแข่งขันฟุตบอลในระดับสูงๆ รวมไปถึงข้อบังคับ ที่สโมสรที่จะเข้าแข่งขัน ต้องเป็นสโมสรในภาคีสมาชิก จึงทำให้ความสนใจในรายการนี้ลดน้อยถอยลงตามไปด้วย[4]

อย่างไรก็ดี ก็ได้มีความพยายามจัดการแข่งขันอีกครั้ง โดยทาง สโมสรฟุตบอลชลบุรี ได้พยายามที่จะจัดให้มีการแข่งขันอีกครั้ง ในปี 2554[5] และ 2559[6] แต่ก็ติดปัญหาตารางจัดการแข่งขัน ที่ไม่เอื้ออำนวยให้มีการจัดการแข่งขัน จึงทำให้ไม่มีการจัดการแข่งขันมานานจนถึงปัจจุบัน

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 https://www.facebook.com/queencup2513/photos/a.101492384732245/101399494741534/?type=3&theater อ้างอิง จาก สูจิบัตรการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พ.ศ. 2513 - เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย
  2. สูจิบัตร ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ ครั้งที่ 28 - เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย
  3. https://www.facebook.com/queencup2513/photos/a.101492384732245/101464504735033/?type=3&theater อ้างอิง จาก สูจิบัตรการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พ.ศ. 2513 - เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย สมาคมประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งประเทศไทย
  4. 4.0 4.1 http://www.thailandsusu.com/webboard/index.php?topic=5360.0;wap2 เก็บถาวร 2021-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ควีนส์คัพวิกฤติ ทุนสูงหาภาคีจัดไม่ได้ - คมชัดลึก (เผยแพร่ต่อใน เว็บไซต์ไทยแลนด์สู้ๆ)
  5. https://www.komchadluek.net/news/sport/87652 ควีนส์คัพหน35ป่วน ไร้เวลา-ไม่มีเจ้าภาพ ส่อเลื่อนไปจัดปีหน้า - คมชัดลึก
  6. https://www.dailynews.co.th/sports/510301 บอล"ควีนส์คัพ"คืนชีพเล็งจัดต้นปีหน้า - เดลินิวส์

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ข้อมูลสถิติ