พระเจ้าแอเทลสแตนแห่งอังกฤษ

พระมหากษัตริย์แห่งเวสเซกซ์และปฐมกษัตริย์ของอังกฤษ (ครองราชย์: ค.ศ. 925-941)

พระเจ้าแอเทลสแตนแห่งอังกฤษ (อังกฤษ: Athelstan of England; อังกฤษเก่า: Æþelstān) (ราว ค.ศ. 894 - ค.ศ. 939/ค.ศ. 940) กษัตริย์แห่งอังกฤษระหว่าง ค.ศ.924-940 โอรสของเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโส เอเธลสตานนำอังกฤษสู่ความเป็นหนึ่งโดยการปกครองทั้งเมอร์เซียและเวสเซ็กซ์ พระองค์ปราบการรุกรานของชาวสก็อตแลนด์, ชาวไอร์แลนด์ และชาวสแตรธไคลด์ ที่บรูนันเบอร์ในปีค.ศ.937 พระองค์เอาชนะอาณาจักรของชาวสแกนดิเนเวียที่ตั้งรกรานอยู่ในยอร์กและเพิ่มอำนาจของอังกฤษในชายแดนของเวลส์และสก็อตแลนด์

แอเทลสแตน
พระสาทิสลักษณ์แสดงพระเจ้าแอเทลสเตนถวายหนังสือแด่นักบุญคัธเบิร์ต
พระสาทิสลักษณ์แสดงพระเจ้าแอเทลสเตนถวายหนังสือแด่ นักบุญคัธเบิร์ต นับเป็นพระสาทิสลักษณ์ของกษัตริย์อังกฤษที่เก่าแก่ที่สุด ภาพจากเอกสารของ นักบุญบีด ชีวิตของนักบุญคัธเบิร์ต[1]ซึ่งพระเจ้าแอเทลสเตนถวายให้แท่นบูชาของนักบุญคัธเบิร์ตที่ เซสเตอร์เลอสรีต พระองค์ทรงมงกุฎที่มีลักษณะเดียวกับที่ปรากฏในเหรียญกษาปณ์ร่วมสมัย[2]
กษัตริย์แห่งชนแองโกล-แซกซอน
ครองราชย์ค.ศ. 924–ค.ศ. 927
ราชาภิเษก4 กันยายน ค.ศ. 925
ก่อนหน้าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโส หรือ พระเจ้าเอลฟ์เวียร์ด
กษัตริย์แห่งชนอังกฤษ
ครองราชย์ค.ศ. 927 – 27 ตุลาคม ค.ศ. 939
ถัดไปพระเจ้าเอ็ดมันด์ที่ 1
พระราชสมภพประมาณ ค.ศ. 894
ราชอาณาจักรเวสเซกซ์
สวรรคต27 ตุลาคม ค.ศ. 939 (พระชนมายุประมาณ 45 พรรษา)
กลอสเตอร์ ราชอาณาจักรอังกฤษ
ฝังพระศพมาล์มสบรีแอบบีย์
ราชวงศ์เวสเซ็กซ์
พระราชบิดาพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโส
พระราชมารดาเอ็กวิน

ชีวิตช่วงต้น

แก้

พระเจ้าแอเทลสแตนเป็นพระราชโอรสพระองค์โตของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโสกับเอ็กวิน เสด็จพระราชสมภพประมาณปี ค.ศ.894 อันเป็นช่วงปลายรัชกาลของพระอัยกา พระเจ้าอัลเฟรดมหาราช พระราชมารดาของพระเจ้าแอเทลสแตนไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก บางแหล่งข้อมูลบรรยายถึงพระนางว่าเป็น "ภรรยาตามกฎหมายทั่วไป" มีเหตุผลที่ทำให้สงสัยว่าพระนางมีสถานะทางสังคมที่ต่ำต้อยเกินไปสำหรับพระชายาของเจ้าชาย การอภิเษกสมรสหรือความสัมพันธ์ของเอ็ดเวิร์ดกับเอ็กวินปรากฏว่าสิ้นสุดลงก่อนที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจะขึ้นเป็นกษัตริย์

พระเจ้าแอเทลสแตนทรงถูกบันทึกไว้ว่าเป็นคนหนุ่มรูปร่างสูงและหล่อเหลาที่มีผมสีเฟล็กเซ็น (สีเหมือนป่านหรือปอ) อ่อน ในวัยหนุ่มพระองค์ได้รับเกียรติจากพระอัยกาที่ถูกพูดถึงว่าโปรดปรานพระองค์มาก เพื่อแสดงถึงความเป็นคนพิเศษพระเจ้าอัลเฟรดทรงพระราชทานเสื้อคลุมไร้แขนสีม่วงของราชวงศ์, ผ้ารัดเอวที่มีเพชร��ลอย และดาบแบบแซกซ็อนที่มีฝักดาบทำจากทองคำให้แก่พระราชนัดดาซึ่งถูกบรรยายไว้ใน เกสตา เรกุม แองโกโลรัม (Gesta Regum Anglorum) ของวิลเลี่ยมแห่งมาล์มสบรี (ค.ศ.1080-1143) ว่า 'มีรูปลักษณ์ที่หล่อเหลาและกิริยาท่าทางที่สง่างาม ยังไม่รวมถึงส่วนสูงที่น่าพึงพอใจและร่างกายที่ผอมเพรียว สีผมเช่นที่เราเห็นจากรูปลักษณ์ของเขา สีเฟล็กเซ็น แซมด้วยเส้นด้ายสีทองคำ'

การขึ้นครองบัลลังก์

แก้
 
A sixteenth-century painting in Beverley Minster in the East Riding of Yorkshire of Æthelstan with Saint John of Beverley

เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ พระเจ้าแอเทลสแตนได้รับการเลี้ยงดูโดยพระปิตุจฉาของพระองค์ เอเธลเฟลด เลดี้แห่งชนเมอร์เซีย พระองค์มีพระชนมายุ 30 พรรษาเมื่อพระราชบิดาของพระองค์สวรรคต ตามพงศาวดารแองโกลแซ็กซัน เอลฟ์เวียร์ด (ค.ศ.904-924) พระราชโอรสพระองค์ที่สองในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโสได้ขึ้นครองราชบัลลงก์เวสเซกซ์ในวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ.924 ขณะที่ตัวพระเจ้าแอเทลสแตนทรงได้ครองอาณาจักรย่อยแห่งเมอร์เซีย พระเจ้าเอลฟ์เวียร์ดทรงเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโสจากการอภิเษกสมรสกับเอลฟ์เฟลด พระมเหสีองค์ที่สอง พระองค์อาจจะไม่เคยได้รับการราชาภิเษก และเสด็จสวรรคตในวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ.924 ที่อ็อกฟอร์ด พระเจ้าเอแอเทลสแตนได้สืบทอดราชสมบัติต่อ

พระเจ้าแอเทลสแตนได้รับการสวมมงกุฎในพระราชพิธีอันโอ่โถงที่คิงส์ตันอัพพอนเทมส์ในวันที่ 4 กันยายน ค.ศ.925 คิงส์ตันเป็นสถานที่ราชาภิเษกแต่โบราณของกษัตริย์เวสเซกซ์ กษัตริย์เจ็ดพระองค์ได้รับการราชาภิเษกที่นี้ ตามธรรมเนียมโบราณ พระองค์จะประทับบนพระราชบัลลังก์ที่ตั้งอยู่บนหินขนาดใหญ่ หินยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ตั้งอยู่นอกกิลด์ฮอลล์ที่คิงส์ตันอัพพอนเทมส์ ซึ่งมีเหรียญเงินจากรัชสมัยของกษัตริย์เวสเซกซ์แต่ละพระองค์ติดตั้งอยู่ที่ฐาน

การสบคบคิดกันต่อต้านกษัตริย์พระองค์ใหม่ก่อตัวขึ้นในเดือนแรก ๆ ของรัชสมัยของพระองค์ นำโดยอัลเฟรดซึ่งอาจจะเป็นสมาชิกของราชวงศ์แซกซอน เจ้าชายเอ็ดวิน พระอนุชาต่างมารดาของพระองค์ ทรงถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการสมคบคิดกบฎในปี ค.ศ. 933 แม้พระองค์ปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง

พระเจ้าแอเทลสแตนทรงแคลงใจเป็นอย่างมากว่า พระอนุชาทรงมีส่วนรู้เห็นและทรงตัดสินพระทัยกำจัดพระอนุชาเสียเพื่อรักษาราชบัลลังก์ไว้ เจ้าชายเอ็ดวินทรงถูกส่งออกไปในทะเลบนเรือเก่า ๆ โดยที่ไม่มีทั้งน้ำและอาหาร ทรงถูกปล่อยให้หิวตายอย่างทรมาณ เจ้าชายเอ็ดวินจึงตัดสินพระทัยกระโดดลงทะเลและจมน้ำสิ้นพระชนม์ มีการเล่าลือว่าต่อมาพระเจ้าแอเทลสแตนเสียพระทัยในการกระทำของพระองค์และได้กระทำการทรมาณพระองค์เองเพื่อเป็นการสำนึกบาป

ภายใต้พระเจ้าแอเทลสแตน ราชวงศ์เวสเซ็กซ์ของพระองค์ได้เสริมสร้างอำนาจและบารมีขึ้นจนน่าเกรงขาม เราสามารถนับพระองค์ได้ว่าทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของอังกฤษที่รวมเป็นปึกแผ่น พระองค์ทรงใช้พระราชอิสริยยศว่าบาซิลัส อันแปลว่ากษัตริย์ในภาษากรีก

การรวบรวมอังกฤษ

แก้

เวลาส่วนใหญ่ในรัชสมัยของพระองค์มักจะหมดไปกับการต่อต้านผู้รุกรานชาวไวกิงอย่างต่อเนื่อง พระเจ้าแอเทลสแตนตัดสินพระทัยทำสนธิสัญญากับพวกเขาที่แทมเวิร์ธ โดยมีเงื่อนไขว่าพระองค์จะอภิเษกพระขนิษฐาร่วมพระราชมารดาของพระองค์ อีดิธ กับผู้นำของชาวเดนส์ ซิธริค กษัตริย์แห่งยอร์ก ซิธริคสวรรคตในปีต่อมา พระองค์จึงฉวยโอกาสนี้ยึดนอร์ธัมเบรีย อาณาจักรของพระองค์จึงมีขนาดโดยคร่าว ๆ เท่ากับอังกฤษในปัจจุบัน

เจ้าหญิงชาวเคลต์แห่งเวลส์ถวายการสวามิภักดิ์ต่อพระองค์ที่แบมบะระในตอนต้นของรัชสมัยของพระองค์ พร้อมกับฮีเวล กษัตริย์แห่งเวลส์, พระเจ้าคอนสแตนตินที่ 2 แห่งสก็อตแลนด์ และโอเว่นแห่งเกว็นท์ พระองค์ทรงประสบความสำเร็จในการขับไล่ชาวคอร์นวอลล์ออกไปจากเอ็กซิเตอร์และสร้างเส้นแบ่งเขตแดนกับคอร์นวอลล์ที่แม่น้ำแทมาร์

ในปี ค.ศ.937 พระเจ้าคอนสแตนตินที่ 2 แห่งสก็อตแลนด์ทรงร่วมมือกับเอียวแกนแห่งสแตรธไคลด์และโอลาฟ กรุธฟริธสัน กษัตริย์แห่งดับลินรุกรานอังกฤษ พระองค์จึงเดินทัพขึ้นเหนือเพื่อประจันหน้ากับพวกเขา ทรงได้รับชัยชนะในยุทธการบรูนันเบอร์ในปี ค.ศ.937 ทรงตีกองกำลังร่วมไวกิง-สก็อตแลนด์จนแตกพ่ายไป จดหมายเหตุของอัลสเตอร์บันทึกเรื่องสมรภูมิไว้ว่า

เป็นสมรภูมิครั้งใหญ่อันน่าเศร้าและหวาดกลัว การสู้รบเป็นไปอย่างไร้ความปราณี ผู้มาจากแดนเหนือ (ไวกิง) จำนวนนับพัน ๆ คนถูกสังหาร ชาวแซกซอนจำนวนมากก็ถูกสังหารเช่นกัน แต่แอเทลสแตน กษัตริย์แห่งชาวแซกซอนก็ได้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ไปครอง'

ถือกันว่าบรูนันเบอร์เป็นหนึ่งในสมรภูมิที่นองเลือดที่สุดของยุค กษัตริย์ห้าพระองค์กับเอิร์ลเจ็ดคนสูญเสียชีวิตไปในการรบ อัลฟริกกับเอเธลวิน พระญาติของพระเจ้าแอเทลสแตนและบิชอปชาวแซกซอนผู้มีชื่อเสียงก็เป็นหนึ่งในผู้เสียชีวิตเช่นกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมรภูมิยังไม่ทราบแน่ชัด แต่แหล่งข้อมูลบางแห่งบันทึกไว้ว่าชาวแซกซอนใช้ทหารม้าจัดการกับศัตรู ขัดกับความเชื่อยอดนิยมที่ว่าพวกเขานิยมใช้ทหารราบเสียมากกว่า ทหารม้าในกองกำลังแซกซอนเป็นไปได้สูงว่าเป็นทหารรับจ้าง ตัวพงศาวดารแองโกล-แซกซอนเองไม่ได้พูดถึงการใช้ทหารม้าและอาจจะเป็นไปได้ว่าความเชื่อที่ว่าชาวแซกซอนใช้ทหารม้าเกิดจากการแปลคำว่า eorodcistum ในภาษาอังกฤษเก่าผิดไปจากเดิม ซึ่งอาจจะหมายความว่ากองกำลังที่ว่านี้ไม่ใช่ทหารม้า พระเจ้าคอนสแตนตินที่ 2 แห่งสก็อตแลนด์ทรงหลบหนีไปจากสนามรบหลังจากพระราชโอรสของพระองค์ถูกสังหารในสมรภูมิ

แม้จะมีชื่อเสียง แต่ที่ตั้งของสมรภูมินั้นยังไม่ชัดเจนและสถานที่มากมายได้รับการเสนอว่าเป็นจุดที่เกิดยุทธการนี้ อาทิเช่น เบิร์นสวอร์กในสก็อตแลนด์ตะวันตกเฉียงใต้, ทินสลีย์วู้ดใกล้กับเชฟฟิลด์, ยอร์กเชียร์และเอ็กมินสเตอร์ในเดวอน ทว่าบรอมโบโร่ที่แหลมวิร์รอนยังคงเป็นตัวเลือกที่เป็นไปได้ที่สุด สมรภูมิครั้งนี้เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่สำคัญของประวัติศาสตร์อังกฤษ เนื่องจากชัยชนะของพระเจ้าพระองค์ต่อกำลังร่วมของชาวนอร์สและชาวเคลต์ทำให้ชาวแองโกล-แซกซันยังคงครอบครองอาณาบริเวณที่จะกลายเป็นประเทศอังกฤษไว้ได้ และกลายเป็นรากฐานให้วัฒนธรรมและสังคมอังกฤษสืบต่อไป

พระองค์เสริมสร้างพันธมิตรทางการเมืองด้วยการอภิเษกเหล่าพระขนิษฐาของพระองค์เองกับบรรดาผู้ปกครองดินแดนต่าง ๆ ทรงอภิเษกพระขนิษฐาร่วมพระราชมารดากับซิธริค กษัตริย์ไวกิ้งแห่งยอร์วิช (ยอร์ก) ที่ชื่อเซ็ค (แปลว่าตาเข) การอภิเษกสมรสถูกจัดขึ้นที่แทมเวิร์ธและเป็นผลให้ซิธริคยอมรับพระองค์เป็นเจ้าเหนือหัวและเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ ทรงอภิเษกพระขนิษฐาต่างมารดา อีดจิธกับพระเจ้าอ็อทโทที่ 1 แห่งเยอรมนี พระขนิษฐาอีกพระองค์หนึ่ง อีดจิฟู ทรงอภิเษกสมรสกับพระเจ้าชาร์ลที่ 3 แห่งฝรั่งเศส

พระเจ้าแอเทลสแตนแห่งอังกฤษสามารถบริหารปกครองและสร้างกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ กฎหมายที่พระองค์ตราขึ้นนั้นมีเนื้อหากล่าวถึงโทษของการลักขโมย การกดขี่ และการฉ้อโกง รวมถึงการลดโทษแก่ผู้กระทำผิดที่อายุน้อย พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้เมตตาและเป็นที่นิยมและเหมือนเช่นพระปัยกา พระเจ้าเอเธล์วูลฟ์แห่งเวสเซ็กซ์ ทรงจัดหาเสบียงให้ผู้อยู่ใต้การปกครองที่ยากไร้กว่า พระองค์ทรงมีพระราชโองการโดยตรงว่าคฤหาสน์แต่ละหลังที่มีสมาชิกราชวงศ์เป็นเจ้าของต้องเสียภาษีรายปีซึ่งต้องถูกเอาไปใช้ในการบรรเทาความยากจนและขาดแคลน จดหมายเหตุของอุลสเตอร์กล่าวถึงพระองค์ว่าเป็น "เสาหลักอันทรงเกียรติของโลกตะวันตก"

การเสด็จสวรรคต

แก้

พระเจ้าแอเทลสแตนแห่งอังกฤษเสด็จสวรรคตในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 939 ที่กลอสเตอร์ พระชนมพรรษา 45 พรรษา หลังครองราชย์ได้ 16 ปีและเลือกที่จะถูกฝังที่มาล์มสบรีแอบบีย์ในวินต์เชียร์ ที่โปรดของพระองค์ พระองค์ถูกฝังใกล้กับแท่นบูชาของนักบุญอัลด์เฮล์มที่ทรงฝังพระญาติที่สิ้นพระชนม์ที่บรูนันเบอร์ไว้ อ้างอิงตามอนุสรณ์ของครอบครัวของพระองค์ที่วินเชสเตอร์ แม้หลุมฝังพระศพจะยังคงอยู่ แต่พระศพสูญหายไปในช่วงของการปฏิรูปศาสนาในอังกฤษ

วิลเลี่ยมแห่งมาล์มสบรีเขียนถึงพระองค์ในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ไว้ว่า "มิมีผู้ใดเข้าใจการปกครองอาณาจักรไปดีกว่าพระองค์" ("no one more just or more learned ever governed the kingdom")

อ้างอิง

แก้

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ พระเจ้าแอเทลสแตนแห่งอังกฤษ

  1. "History by the Month: September and the Coronation of Æthelstan'". Parker Library, Corpus Christi College, Cambridge. 8 September 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-25. สืบค้นเมื่อ 6 April 2016.
  2. Foot, Æthelstan: The First King of England, pp. 155–156

ดูเพิ่ม

แก้
ก่อนหน้า พระเจ้าแอเทลสแตนแห่งอังกฤษ ถัดไป
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้อาวุโส    
พระมหากษัตริย์อังกฤษ
(ราชวงศ์เวสเซ็กซ์)

(ค.ศ. 924 – ค.ศ. 939)
  พระเจ้าเอ็ดมันด์ที่ 1