พระยางั่วนำถุม

พระร่วงเจ้าสุโขทัย
(เปลี่ยนทางจาก พระยางั่วนำถม)

พระยางั่วนำถุม (สวรรคต พ.ศ. 1890)[1] เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งอาณาจักรสุโขทัยในราชวงศ์พระร่วง[1] พระองค์ขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 1866 ถัดจากพระยาเลอไทย[1] และทรงอยู่ในราชสมบัติไปจนสวรรคตใน พ.ศ. 1890[1] จากนั้น พระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงสืบราชสมบัติต่อ[1]

พระยางั่วนำถุม
พระมหากษัตริย์สุโขทัย[1]
ครองราชย์พ.ศ. 1866–1890[1] (24 ปี)
ก่อนหน้าพระยาเลอไทย[2]
ถัดไปพระมหาธรรมราชาที่ 1[3]
สวรรคตพ.ศ. 1890[1]
ราชวงศ์พระร่วง[1]
พระราชบิดาพ่อขุนบานเมือง[1]

พระนาม

แก้

พระนาม "งั่วนำถุม" (เขียนแบบเก่าว่า "งววนำถํ")[4] ปรากฏในจารึกปู่ขุนจิตขุนจอด (พ.ศ. 1935)[5]

คำว่า "งั่ว" ในพระนาม แปลว่า "ห้า" และเป็นคำเรียกลูกคนที่ห้า จึงบ่งบอกว่า พระองค์เป็นพระโอรสพระองค์ที่ห้า[6]

ส่วน "นำถุม" นั้นมาจากภาษาถิ่นย่อยในภาษาล้านนาหรือมาจากภาษาไทใหญ่ ตรงกับคำว่า "น้ำท่วม" ในภาษาไทย[7][8]

ประเสริฐ ณ นคร เห็นว่า พระนาม "นำถุม" แสดงว่า พระยางั่วนำถุมทรงเป็นเชื้อสายของพ่อขุนศรีนาวนำถุม อดีตพระมหากษัตริย์สุโขทัย เพราะมีประเพณีการตั้งชื่อบุตรหลานตามนามบรรพบุรุษ และข้อนี้ยังทำให้สันนิษฐานได้ว่า นางเสือง พระอัยยิกา (ย่า) ของพระยางั่วนำถุม เป็นพระธิดาของพ่อขุนศรีนาวนำถุม[6] ส่วนเพ็ญสุภา สุขคตะ ระบุว่า พระนาม "นำถุม" ทำให้เห็นได้ว่า พระยางั่วนำถุมทรงเป็น "หลานปู่" ของพ่อขุนศรีนาวนำถุม[9]

วีณา โรจนราธา เห็นว่า พระยางั่วนำถุมอาจทรงได้พระนาม "นำถุม" มาจากการประสูติในช่วงน้ำท่วม ดังมีตัวอย่างจากท้าวน้ำท่วม พระนัดดาของพญามังราย ที่ได้รับพระนามเช่นนั้นเพราะประสูติในช่วงน้ำท่วมเมือง[8] หรือมิฉะนั้น พระยางั่วนำถุมก็อาจทรงได้พระนาม "นำถุม" มาจากการจมน้ำสวรรคต เพราะเอกสาร ชินกาลมาลีปกรณ์ เรียกพระมหากษัตริย์สุโขทัยพระองค์หนึ่งว่า "อุทกโชตถตะ" แปลว่า "พระร่วงจมน้ำ" ���ละ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ระบุว่า มีพระมหากษัตริย์สุโขทัยเสด็จไปสรงแม่น้ำยมที่แก่งหลวง (ปัจจุบันอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย) แล้วถูกสายน้ำพัดพาไปไม่มีผู้ใดพบเห็นอีก วีณาเห็นว่า เอกสารทั้งสองนี้อาจหมายถึงพระยางั่วนำถุมก็ได้ แต่วีณายังไม่ให้ข้อยุติใน���รื่องนี้ เพราะยังมีข้อขัดกันเกี่ยวกับลำดับเหตุการณ์และการสืบเชื้อสาย[8]

พระชนมชีพ

แก้
  พระมหากษัตริย์ราชวงศ์พระร่วง
 พ่อขุนศรีอินทราทิตย์
 พ่อขุนบานเมือง
 พ่อขุนรามคำแหงมหาราช
 พระยาเลอไทย
 พระยางั่วนำถุม
 พระมหาธรรมราชาที่ 1
 พระมหาธรรมราชาที่ 2
 พระมหาธรรมราชาที่ 3
 พระมหาธรรมราชาที่ 4

ชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวว่า พระยางั่วนำถุมเป็นพระโอรสพระองค์หนึ่งของพ่อขุนบานเมือง พระมหากษัตริย์สุโขทัย[1]

จารึกปู่ขุนจิตขุนจอด ซึ่งพรรณนาลำดับพระมหากษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงนั้น ระบุพระยางั่วนำถุมไว้หลังจากพระยาเลอไทย และก่อนพระมหาธรรมราชาที่ 1[4] นักประวัติศาสตร์จึงสันนิษฐานว่า พระยางั่วนำถุมทรงสืบราชสมบัติถัดจากพระยาเลอไทย และเมื่อสื้นพระยางั่วนำถุมแล้ว พระมหาธรรมราชาที่ 1 พระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงสืบราชสมบัติต่อ[5]

เพ็ญสุภา สุขคตะ มองว่า การที่พระยางั่วนำถุมขึ้นครองราชย์ระหว่างพระยาเลอไทยกับพระมหาธรรมราชาที่ 1 เป็นการที่เชื้อสายฝ่ายพ่อขุนศรีนาวนำถุมแทรกตัวขึ้นในระหว่างเชื้อสายของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ และน่าจะเป็นการช่วงชิงราชสมบัติมาจากฝ่ายศรีอินทราทิตย์ โดยฝ่ายศรีนาวนำถุมน่าจะรอคอยโอกาสอยู่นานพอสมควรกว่าจะชิงราชสมบัติมาได้[9] นอกจากนี้ นักประวัติศาสตร์สายอนุรักษนิยมยังมักลบพระนามพระยางั่วนำถุมออกจากลำดับพระมหากษัตริย์สุโขทัย เพราะมองว่า พระยางั่วนำถุมทรงเป็นทรราชจากการได้ราชสมบัติมาในลักษณะดังกล่าว[9]

ตามการคำนวณของประเสริฐ ณ นคร ปีที่พระยางั่วนำถุมทรงขึ้นครองราชย์ได้แก่ พ.ศ. 1866[1] เมื่อพระยางั่วนำถุมทรงขึ้นครองราชย์แล้ว พระยางั่วนำถุมทรงแต่งตั้งพระมหาธรรมราชาที่ 1 พระโอรสของพระยาเลอไทย พระมหากษัตริย์พระองค์ก่อน เป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย[1] จารึกวัดป่ามะม่วง (พ.ศ. 1904) ระบุว่า พระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงครองเมืองศรีสัชนาลัยมาได้ 22 ปี จึงเสด็จออกผนวชใน พ.ศ. 1905[10] ปีที่พระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นพระมหาอุปราชจึงได้แก่ พ.ศ. 1883[1]

จารึกวัดป่ามะม่วงกล่าวอีกว่า ใน พ.ศ. 1890 พระมหาธรรมราชาที่ 1 ทรงนำกำลังจากเมืองศรีสัชนาลัยมายังเมืองสุโขทัย ระดมฟันประตูเข้าไปประหารศัตรูทั้งมวล จึงได้เสวยราชสมบัติในเมืองสุโขทัย[10] ประเสริฐ ณ นคร เห็นว่า ข้อความนี้อาจมีความหมายว่า พระยางั่วนำถุมสวรรคตใน พ.ศ. 1890 และพระโอรสของพระยางั่วนำถุมจะขึ้นสืบราชสมบัติต่อ พระมหาธรรมราชาที่ 1 ซึ่งเป็นพระมหาอุปราช จึงทรงนำกำลังมายึดราชสมบัติและขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไป[1]

พงศาวลี

แก้

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้

บรรณานุกรม

แก้
  • ประเสริฐ ณ นคร (2000). ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด. กรุงเทพฯ: มติชน. ISBN 9743236007.
  • เพ็ญสุภา สุขคตะ (2015-09-28). "ปริศนาโบราณคดี: ประเทศไทยเคยเกิด "น้ำท่วมใหญ่" จริงเท็จแค่ไหน ดูที่ชื่อ "พระเจ้าน้ำท่วม"". มติชนสุดสัปดาห์. กรุงเทพฯ: มติชน. สืบค้นเมื่อ 2022-08-06.
  • มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, โครงการศูนย์สุโขทัยศึกษา (1996). สารานุกรมสุโขทัยศึกษา (เล่ม 1 ก–ป). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. ISBN 9746149369.
  • มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา (2011). นามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย. กรุงเทพฯ: มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา. ISBN 9786167308258.
  • ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (2021-08-10). "จารึกวัดป่ามะม่วง (ภาษาเขมร)". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 2022-08-06.
  • ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (2022-05-19). "จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด". ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). สืบค้นเมื่อ 2022-08-06.
ก่อนหน้า พระยางั่วนำถุม ถัดไป
พระยาเลอไทย
ราชวงศ์พระร่วง
  พระมหากษัตริย์แห่ง
อาณาจักรสุโขทัย

(พ.ศ. 1866–1890)
  พระยาลือไทย (พระมหาธรรมราชาที่ 1)
ราชวงศ์พระร่วง