บัวผัน จันทร์ศรี

บัวผัน จันทร์ศรี (24 กรกฎาคม พ.ศ. 2463 - 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548) ศิลปินเพลงพื้นบ้าน เพลงอีแซว ที่มีชื่อเสียงของตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

บัวผัน จันทร์ศรี
ชื่อเกิดบัวผัน จันทร์ศรี
เกิด24 กรกฎาคม พ.ศ. 2463
จังหวัดอ่างทอง ประเทศสยาม
เสียชีวิต1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 (85 ปี)
จังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศไทย
คู่สมรสไสว วงษ์งาม
บุตร6 คน
อาชีพนักร้อง ครู เกษตรกร
ปีที่แสดงพ.ศ. 2478 - 2548
ศิลปินแห่งชาติพ.ศ. 2533 - สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้านภาคกลาง)

ประวัติ

แก้

แม่บัวผัน จันทร์ศรี สกุลเดิม โพธิ์พักตร์ เกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน 8 ขึ้น 9 ค่ำ ปีวอก ตรงกับวันเสาร์ ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2463 พ่อชื่อดิน แม่ชื่อปาน ย่าชื่อเพิ้ง ตาชื่อเทียน ยายชื่อคล้ำ ตั้งบ้านเรือนอยู่แถบบ้านห้วยโรง ตำบลห้วยคันแหลน อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง เป็นน้องสาวของนายบัวเผื่อน โพธิ์พักตร์ พ่อเพลงชื่อดังของจังหวัดอ่างทอง มีพี่น้องรวม 6 คน

  1. นางทองคำ จั่นอุไร
  2. นายเขียว โพธิ์พักตร์
  3. นายบัวเผื่อน โพธิ์พักตร์
  4. บัวผัน จันทร์ศรี (แม่เพลง)
  5. นางสีนวล บัวรุ่ง
  6. นางนิยม บุญมาก

เริ่มหัดเพลงมาตั้งแต่เด็ก ๆ จากการติดตามดูพี่ชายเล่นเพลงที่ต่าง ๆ ต่อมาได้ฝึกหัดเพลงจากบิดามารดาและอา จน มีความสามารถในการประชันเพลงกับพ่อเพลงรุ่นใหญ่ ตั้งแต่อายุราว 15 ปี

เนื่องจากพ่อ อา และเครือญาติ มีอาชีพทั้งเล่นเพลงและทำนา ส่วนแม่ก็เป็นแม่เพลงสมัครเล่น เพราะฉะนั้นแม่บัวผันจึงเกิดมาท่ามกลางการว่าเพลง ทั้งเพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงทรงเครื่อง เพลงพวงมาลัย เพลงเต้นกำ เพลงอีแซว เพลงระบำบ้านไร่ เพลงยั่ว เพลงชักกระดาน เพลงสงฟาง เพลงพานฟาง เพลงเข้าผี เพลงแห่นางแมว แม้แต่เพลงขอทาน และเพลงกล่อมเด็ก ซึ่งเหล่านี้บวกกับอุปนิสัยชอบร้องรำทำเพลง แม่บัวผันจึงซึมซับศิลปะการเล่นเพลงแบบเก่��ไว้ทุกกระบวน

เดิมแม่บัวผันได้อยู่กินกับ นายหอม 10 ปี แล้วแยกย้ายกัน เพราะนายหอมมีเมียใหม่และต่อมา แม่บัวผัน ได้อยู่กินกับพ่อไสว วงษ์งาม (สุวรรณประทีป) ตั้งแต่ประมาณช่วงก่อน พ.ศ. 2500 ในช่วงแรกนั้นได้ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านดอนเบือ ต.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี เริ่มฝึกเพลงให้ลูกศิษย์รุ่นแรก ต่อจากนั้นได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่บ้านศรีจัน อำเภอศรีประจันต์ เริ่มฝึกศิษย์รุ่นที่ 2 ซึ่งในรุ่นนี้มีขวัญจิต ศรีประจันต์และขวัญใจ ศรีประจันต์ อยู่ด้วย โดยแม่บัวผันจะเป็นผู้คัด และแลเห็นแววของขวัญจิต ว่าเป็นคนพูดเก่ง จนได้พยายามถ่ายทอดเพลงอีกแซว หมั่นฝึกสอนอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย นับเป็นครูคนสำคัญของขวัญจิต ศรีประจันต์ และน้องๆ

แม่บัวผัน จันทร์ศรี เป็นแม่เพลงชั้นครู รุ่นเดียวกับแม่บุญมา สุดสุวรรณ(แม่เพลงชาวโพธิ์ทอง จ.อ่างทอง) ที่เติบโตมาในวงการเพลงและเล่นเพลงเป็นอาชีพมาโดยตลอด เป็นผู้มีปฏิภาณและความคิดเป็นเลิศ สามารถด้นกลอนสดและแต่งคำร้องได้อย่างคมคาย อีกทั้งมีความจำเป็นเยี่ยม สามาถจดจำเนื้อร้องเก่าได้อย่างมากมายหลายหมื่นวรรค แม่บัวผัน เป็นแม่เพลงที่มีความสามารถพิเศษไม่เพียงแต่เฉพาะเพลงอีแซวและเพลงฉ่อยเท่านั้น แต่ยังสามารถร้องเพลงพื้นบ้านพื้นเมืองอันเป็นมรดกสำคัญของชาติที่กำลังจะสูญหายได้อีกหลายชนิด แม่บัวผันได้ร่วมบันทึกเพลงพื้นบ้านต่างๆ เพื่อคนรุ่นหลังไว้อย่างมาก สามารถบอกเพลงได้โดยไม่ติดขัด จึงนับเป็นหลักสำคัญยิ่งคนหนึ่งของวงการเพลงพื้นบ้านในปัจจุบัน ด้วยจิตวิญญาณของผู้รักเพลงโดยแท้ แม่บัวผันได้สละเวลาและทรัพย์สินทุ่มเทเพื่อถ่ายทอดสอนศิษย์โดยไม่ย่อท้อ ในอดีตบ้านของแม่บัวผันจึงเป็นที่พึ่งพิงของคนเพลงทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ตลอดจนเป็นที่ชุมนุมของนักศึกษา ครูอาจารย์และสื่อมวลชนที่สนใจเพลงพื้นบ้าน แม่บัวผันใช้ชีวิตทั้งชีวิตเพื่อเพลงพื้นบ้านอันเป็นหลักฐานสำคัญยืนยันถึงความเป็นนักกลอนของคนไทย กอปรกับความเสียสละและความสามาถเป็นเลิศในศิลปะเพลงพื้นบ้าน จึงได้รับความรัก การยอมรับ และยกย่องนับถือจากผู้ที่อยู่ในวงการเพลงพื้นบ้านตลอดมา จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้านภาคกลาง) ประจำปี พ.ศ. 2533 [1]

บัวผัน จันทร์ศรี มีลูกศิษย์มากมาย เป็นครูเพลงคนแรกของขวัญจิต ศรีประจันต์, ขวัญใจ ศรีประจันต์, สุจินต์ ชาวบางงาม, บุญโชค ชนะโชติ, โชติ สุวรรณประทีป, แหยม เถื่อนสุริยา, สำเนียง ชาวปลายนา เป็นต้น

ถึงแก่กรรม

แก้

บั้นปลายชีวิต ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบ ที่บ้านพักเลขที่ 13 หมู่ 7 ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อช่วงค่ำวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ด้วยโรคชรา สิริอายุ 85 ปี มีพิธีพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ณ วัดพังม่วง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

รางวัลเชิดชูเกียรติ

แก้

- ปี 2526–2527 รับโล่ชูเกียรติจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และศูนย์สังคีตศิลป์ ในพิธีเชิดชูเกียรติศิลปินพื้นบ้านครั้งที่ 2 (สาขาเพลงพื้นบ้านภาคกลาง) ซึ่งในพิธีมอบรังวัลเชิดชูเกียรติศิลปินเพลงพื้นบ้านครั้งที่ 2 แม่บัวผัน จันทร์ศรี และยายทองอยู่ รักษาพล ได้ร่วมร้องเพลงฉ่อย อวยพรถวายแด่ พลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลทิฆัมพร องค์ประธานในพิธี และได้รับประทานรางวัลเป็นเงินสดจำนวน 500 บาท จากพระหัตถ์

- ปี 2533 ได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปการแสดง (เพลงพื้นบ้าน)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. คำประกาศเกียรติคุณ นางบัวผัน จันทร์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) ประจำปี พ.ศ. 2533
  2. ราชกิจจานุเบกษาฉบับพิเศษ หน้า 74 เล่ม 110 ตอนที่ 36 26 มีนาคม 2536http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2536/D/036V013/68.PDF