นูกูอาโลฟา (ตองงา: Nukuʻalofa) เป็นเมืองหลวง เมืองที่ใหญ่ที่สุดและศูนย์กลางด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ วัฒนธรรมของตองงา กรุงนูกูอาโลฟาตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะโตงาตาปู มีทิศเหนือติดต่อกับมหาสมุทรแปซิฟิก ทิศใต้ติดต่อกับลากูนฟางาอูตา ทิศตะวันตกติดต่อกับพื้นที่นอกกรุงของเขตโกโลโมตูอา[a] และทิศตะวันออกติดต่อกับพื้นที่นอกกรุงของเขตโกโลโฟโออู[a] มีจำนวนประชากรเท่ากับ 23,221 คน หรือเกือบ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ และหากนับรวมพื้นที่ Greater Nukuʻalofa จะมีจำนวนประชากรเท่ากับ 35,184 คน ด้วยจำนวนและความหนาแน่นของประชากรที่สูง กรุงนูกูอาโลฟาจึงมีสถานะเป็นเมืองโตเดี่ยว และเป็นเขตเมืองเพียงแห่งเดียวของประเทศ[1][2] [3]

นูกูอาโลฟา
Nukuʻalofa
[[File:||130px]]
[[File:||130px]]
ภาพจากซ้ายไปขวาและบนลงล่าง:
สำนักนายกรัฐมนตรี, โบสถ์ซาอีโอเน, โบสถ์ตองงานูกูอาโลฟา, อาคารเตาโอเมเปเอา, พระราชวัง, ต้นจามจุรีกลางกรุง, อาคารกระทรวงการคลัง
นูกูอาโลฟา (สีแดง) บนเกาะโตงาตาปู
นูกูอาโลฟา (สีแดง) บนเกาะโตงาตาปู
นูกูอาโลฟาตั้งอยู่ในTonga
นูกูอาโลฟา
นูกูอาโลฟา
พิกัด: 21°8′9″S 175°12′32″W / 21.13583°S 175.20889°W / -21.13583; -175.20889
ประเทศ ตองงา
เขตปกครองโตงาตาปู
พื้นที่
 • ทั้งหมด11.41 ตร.กม. (4.41 ตร.ไมล์)
ความสูง4 เมตร (13 ฟุต)
ความสูงจุดสูงสุด6 เมตร (20 ฟุต)
ความสูงจุดต่ำสุด0 เมตร (0 ฟุต)
ประชากร
 (2016)
 • ทั้งหมด23,221 คน
 • ความหนาแน่น2,035 คน/ตร.กม. (5,270 คน/ตร.ไมล์)
เขตเวลาUTC+13 (–)
รหัสพื้นที่676
ภูมิอากาศAf

ในอดีตพื้นที่นูกูอาโลฟาส่วนใหญ่อยู่ใต้ทะเล มีสภาพเป็นเกาะ ไม่ได้เชื่อมต่อกับเกาะโตงาตาปูในปัจจุบัน[4] มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ตั้งแต่ก่อน 800 ปีก่อนคริสตกาล[5] นับตั้งแต่การสถาปนาจักรวรรดิตูอีโตงาเป็นต้นมา นูกูอาโลฟาเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิแห่งนี้ จนกระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 18 มีชาวยุโรปหลายกลุ่มได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยียนนูกูอาโลฟา[6] นูกูอาโลฟาเริ่มมีความสำคัญกับประวัติศาสตร์ตองงาในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อกลายเป็นศูนย์กลางอำนาจของตูอิกาโนกูโปลู[7]: 127  พร้อมกับการเป็นศูนย์กลา���ในการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศ[8]: 130  และต่อมากลายเป็นศูนย์กลางการเมืองการปกครองจนถึงปัจจุบันหลังจากที่พระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 สถาปนาราชอาณาจักรตองงาขึ้น[9] การสถาปนากรุงนูกูอาโลฟาเป็นเมืองหลวงนำไปสู่การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและการก่อสร้างที่ทำการของหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญ รวมไปถึงเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูตทั้งหมดที่มีภารกิจในประเทศตองงา ช่วงระหว่าง ค.ศ. 2005–6 มีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในกรุงนูกูอาโลฟา แม้จะประสบความสำเร็จ แต่สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจเป็นอย่างมาก

การเป็นศูนย์กลางของประเทศ ส่งผลให้การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคภายในนูกูอาโลฟาดีกว่าพื้นที่อื่น มีระบบถนนที่เชื่อมโยงสู่พื้นที่อื่นบนเกาะโตงาตาปู มีท่าเรือน้ำลึกมาตรฐาน รวมไปถึงตั้งอยู่ไม่ไกลจากท่าอากาศยานนานาชาติหลักของประเทศ นอกจากนี้โรงพยาบาลที่มีความพร้อมสูงสุดและสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงหลายแห่งล้วนตั้งอยู่ในเมืองนี้ทั้งสิ้น กรุงนูกูอาโลฟามีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นเป็นลำดับ นำไปสู่การอพยพของประชากรจากพื้นที่ส่วนอื่นเข้ามาอยู่ในนูกูอาโลฟามากขึ้น อันนำไปสู่ปัญหาการรองรับการขยายตัวของประชากร เนื่องจากพื้นที่ของเมืองมีจำกัดและขาดการวางแผน[10] การพัฒนาพื้นที่เมืองและการมีจำนวนประชากรเป็นจำนวนมาก ทำให้พื้นที่เมืองเป็นศูนย์กลางการจัดเฉลิมฉลองงานเทศกาลที่สำคัญ เป็นศูนย์กลางด้านกิจการสื่อ ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาระดับทวีป รวมไปถึงการเป็นพื้นที่ที่มีการนำวัฒนธรรมจากภายนอกเข้ามาผสมผสานกับวัฒนธรรมตองงาอย่างชัดเจน

ศัพทมูลวิทยา

แก้

เมื่อศึกษาตามหลักศัพทมูลวิทยาพบว่านูกูอาโลฟา มีที่มาจากคำในภาษาตองงา 2 คำ คือคำว่า Nuku หมายถึง ที่พัก และคำว่า Alofa หมายถึง ความรัก ดังนั้นนูกูอาโลฟา จึงมีความหมายว่าที่พักแห่งความรัก[11][b] นูกูอาโลฟาปรากฏชื่อเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกในหนังสือของมิชชันนารีชาวอังกฤษที่ชื่อจอร์จ แวสัน ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 1810 ��อกเล่าถึงประสบการณ์ของเขาในการเดือนทางเยือนตองงาใน ค.ศ. 1797 โดยเขาสะกดชื่อเมืองแห่งนี้ว่า Noogollefa[13]: 68  นอกจากนี้ยังพบการเขียนชื่อนูกูอาโลฟาของชาวตะวันตกที่เข้ามาเยี่ยมเยียนอีกหลายรูปแบบ ได้แก่ Nioocalofa[14]: 93  Nukualofa[15]: 33–4  และ Noukou-Alofa[16]: 184  สาเหตุที่การสะกดชื่อต่างจากปัจจุบัน เนื่องจากการพัฒนาตัวอักษรละตินเพื่อเขียนภาษาตองงาได้เริ่มจริงจังในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1820–30[17]: 102 

ประวัติศาสตร์

แก้

ก่อนการเข้ามาของชาติตะวันตก

แก้
 
แผนที่ฉบับแรกของอ่าวโตงาตาบู ร่างโดยกัปตันเจมส์ คุกใน ค.ศ. 1777 ซึ่งแสดงถึงอ่าวนูกูอาโลฟาและจุดที่เรือของเขาทอดสมอใกล้กับเกาะปาไงโมตู มีการระบุชื่อเกาะขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียง เช่น เกาะอาตาตา เกาะปาไงโมตู เป็นต้น

ในช่วงนอร์ธกริปเปียนสมัยไมโอซีน พื้นที่ส่วนมากของนูกูอาโลฟาตั้งอยู่ใต้ทะเล และเป็นส่วนหนึ่งของลากูนฟางาอูตา มีเพียงสันทราย ดอนทรายใต้น้ำและเกาะขนาดเล็กเท่านั้นที่โผล่พ้นผืนน้ำ[4]: 687–8  ชาวแลพีตา กลุ่มคนที่พูดภาษาในตระกูลภาษาออสโตรนีเชียนเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่อาศัยในเกาะโตงาตาปูในช่วง 826 ± 8 ปีก่อนคริสตกาล [18][5] ระยะแรกได้ตั้งถิ่นฐานในนูกูเลกา ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกของนูกูอาโลฟา[5] และต่อมาได้ขยายชุมชนของตนสู่เกาะที่เป็นพื้นที่ของนูกูอาโลฟาในปัจจุบันด้วย[19]

ไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หรือมานุษยวิทยาที่ชัดเจนมากนักเกี่ยวกับพื้นที่นูกูอาโลฟาก่อนการติดต่อกับชาติตะวันตก มีข้อมูลรายละเอียดทราบเพียงว่านับตั้งแต่พระเจ้าอะโฮเออิตูได้สถาปนาจักรวรรดิตูอีโตงาขึ้นใน ค.ศ. 950[20] พื้นที่นูกูอาโลฟาและเกาะโตงาตาปูก็เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิแห่งนี้ ทว่าไม่มีบทบาทหรือความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานี้มากนัก สันนิษฐานว่าพื้นที่บริเวณนี้น่าจะอยู่ภายใต้การปกครองของชนชั้นขุนนางผู้ใดผู้หนึ่ง[21]: 246–7 

การติดต่อกับชาติตะวันตก

แก้

ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1777 กัปตันเจมส์ คุกซึ่งเป็นชาวอังกฤษได้ทอดสมอเรือในบริเวณอ่าวนูกูอาโลฟา และได้ร่างแผนที่ของอ่าวและเกาะโดยรอบ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ตั้งกรุงในปัจจุบันด้วย[22]: 277–81 [c] ต่อมาใน ค.ศ. 1797 จอร์จ แวสัน มิชชันนารีชาวอังกฤษจากสมาคมมิชชันนารีลอนดอนเข้ามาเยี่ยมชมตองงา พร้อมทั้งระบุชื่อนูกูอาโลฟาในหนังสือของเขาที่ตีพิมพ์ใน ค.ศ. 1810 นับเป็นครั้งแรกที่ชื่อนูกูอาโลฟาปรากฏขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร[13]: 68 

หลัง ค.ศ. 1797 การเมืองภายในจักรวรรดิมีความวุ่นวาย นำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองในเวลาต่อมา[7]: 122–7  พระเจ้าตูโปอูมาโลฮี ตูอิกาโนกูโปลูพระองค์ต่อมาได้ตัดสินพระทัยย้ายศูนย์กลางอำนาจจากฮีฮีโฟมาอยู่ที่นูกูอาโลฟา พร้อมทั้งสร้างป้อมปราการขึ้น ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดบนเกาะโตงาตาปู[7]: 127  อย่างไรก็ตามฟีเนา อูลูกาลาลา ผู้ปกครองวาวาอูและฮาอะไปใช้ปืนใหญ่ทำลายป้อมปราการ และยึดได้ในท้ายที่สุด[14]: 93–6  เมื่อยึดป้อมปราการได้สำเร็จ เขาสั่งให้มีการซ่อมแซมป้อมปราการ เพื่อรอการโจมตีกลับ ทว่าไม่มีการโจมตีใดเกิดขึ้น เขาจึงตัดสินใจออกจากเกาะโตงาตาปู โดยแต่งตั้งตาไกแห่งเปอาเป็นผู้ดูแลนูกูอาโลฟาแทนเขา แต่ตาไกทรยศเขา และทำลายป้อมปราการนูกูอาโลฟาลงอีกครั้ง[7]: 128 

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 พื้นที่นูกูอาโลฟากลายเป็นศูนย์กลางการเผยแพร่คริสต์ศาสนา เมื่อพระเจ้าอาเลอาโมตูอา ตูอิกาโนกูโปลูพระองค์ที่ 18 มีส่วนสำคัญในการสนับสนุน ใน ค.ศ. 1826 สมาคมมิชชันนารีลอนดอนได้ส่งมิชชันนารีจากตาฮีตีเดินทางไปยังฟีจี และมีจุดแวะพักระหว่างทางที่นูกูอาโลฟา เมื่อคณะเดินทางมาถึงนูกูอาโลฟา พระองค์ได้กักตัวมิชชันนารีชาวตาฮีติ 2 คนไว้ เพื่อให้ทั้งสองคนสอนศาสนาให้แก่พระองค์ นำไปสู่การก่อสร้างโบสถ์และโรงเรียนสอนศาสนาที่นูกูอาโลฟาในเวลาต่อมา[8]: 129  คริสต์ศาสนาในนูกูอาโลฟาเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น เมื่อมิชชันนารีเมธอดิสต์เข้ามารวมกลุ่มกับมิชชันนารีชาวตาฮีติที่เผยแพร่ศาสนาอยู่ก่อนหน้านั้น[8]: 130  ความขัดแย้งที่มีมาก่อนหน้านั้น พัฒนาเป็นความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนคริสต์ศาสนากับกลุ่มความเชื่อดั้งเดิม โดยพระเจ้าอาเลอาโมตูอาผู้ปกครองนูกูอาโลฟาอยู่ฝ่ายสนับสนุนคริสต์ศาสนา[23]: 322–8  อย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายอย่างสันติของพระองค์ทำให้ไม่มีการสงครามสำคัญเกิดขึ้นในพื้นที่นูกูอาโลฟา[23]: 371–2 

ราชอาณาจักรตองงา

แก้
(ซ้าย) นูกูอาโลฟาใน ค.ศ. 1887; (ขวา) พระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 2 เสด็จเปิดการประชุมรัฐสภา ค.ศ. 1900

หลังจากที่พระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 สถาปนาราชอาณาจักรตองงาขึ้น พระองค์เลือกเมืองปาไงและลีฟูกาในฮาอะไปเป็นเมืองหลวงแห่งแรก ๆ ของราชอาณาจักร ก่อนที่จะย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่นูกูอาโลฟาใน ค.ศ. 1851[9][24] และมีสถานะเมืองหลวงอย่างเป็นทางการตามความในรัฐธรรมนูญตองงา ค.ศ. 1875 พร้อมทั้งกำหนดให้การประชุมรัฐสภาในยามสงบต้องเกิดขึ้นในนูกูอาโลฟาเท่านั้น[25]

เพื่อยืนยันสถานะเมืองหลวงของอาณาจักรและดำเนินการปกครองรวมศูนย์อย่างมีประสิทธิภาพ[26]: 239  จึงมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อแสดงถึงความเป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองของประเทศ มีการก่อสร้างพระราชวังไม้ โดยนำเข้าวัสดุก่อสร้างจากนิวซีแลนด์เมื่อ ค.ศ. 1864 เพื่อเป็นที่ประทับอย่างเป็นทางการของพระมหากษัตริย์ ที่ประชุมคณะรัฐบาล ที่ประชุมองคมนตรีและที่ออกมหาสมาคม[27] นอกจากนี้มีการก่อสร้างอาคารรัฐสภาและเปิดทำการใน ค.ศ. 1875[28][d] เมื่อพระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 สวรรคตใน ค.ศ. 1893 รัฐบาลตองงาตัดสินใจเลือกจตุรัสแดง (มาลาเอกูลา) ซึ่งเคยใช้เป็นลานว่างสำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในอดีต ตั้งอยู่ใจกลางกรุงนูกูอาโลฟาเป็นที่ฝังพระบรมศพ [30] การเลือกสถานที่ฝังพระบรมศพในครั้งนี้แตกต่างจากในอดีตที่พระบรมศพของกษัตริ��์สูงสุดของตองงาจะฝังที่ลางีในเมืองมูอา[31]

ใน ค.ศ. 1900 รัชกาลของพระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 2 ตองงากลายเป็นรัฐในอารักขาของสหราชอาณาจักร[32]: 670  สหราชอาณาจักรได้จัดตั้งสถานกงสุลขึ้นในนูกูอาโลฟา และแทรกแซงการปกครองของตองงา ก่อให้เกิดการปฏิรูปและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในนูกูอาโลฟา มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่จำเป็นหลายอย่างภายในเมือง เช่น โรงพยาบาล หอคอยถังเก็บน้ำ เป็นต้น[33]: 161–2  นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงทหารที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งตองงาเข้าร่วมอย่างไม่เป็นทางการไว้ในกรุงนูกูอาโลฟา ซึ่งแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1923[34][35]

 
การฉกชิงทรัพย์ในเหตุจลาจลนูกูอาโลฟา ค.ศ. 2006

กรุงนูกูอาโลฟาประสบปัญหาของการระบาดทั่วไข้หวัดใหญ่สเปนหลังจากจบสงครามโลกครั้งที่ 1[36] ซึ่งมีสาเหตุมาจากเรือเอสเอส ทาลูนที่เข้ามาทอดสมอบริเวณท่าเรือนูกูอาโลฟาในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 เรือลำนี้มีต้นทางจากนครออกแลนด์ นิวซีแลนด์ ที่ในขณะนั้นประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส เชื้อไวรัสที่มากับเรือได้แพร่กระจายทั่วกรุงนูกูอาโลฟา ส่งผลให้มีคนเจ็บป่วยและล้มตายเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ภายในเมืองเงียบเชียบ มีเพียงเสียงของเกวียนที่บรรทุกศพไปฝังเท่านั้น[37] ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สมเด็จพระราชินีนาถซาโลเต ตูโปอูที่ 3 อนุญาตให้กองกำลังสหรัฐตั้งฐานทัพในกรุงนูกูอาโลฟาเพื่อใช้สำหรับทำสงครามในเขตมหาสมุทรแปซิฟิก พร้อมทั้งดำเนินการก่อสร้างท่าอากาศยานห่างไปทางใต้ของเมืองหลวงเพื่อใช้เป็นที่ขึ้นลงของเครื่องบินบนเกาะโตงาตาปู[35]

นับตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 บทบาทของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยมีมากขึ้น[38] มีการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วนูกูอาโลฟาใน ค.ศ. 2005[39] เมื่อการเรียกร้องไม่เป็นผลนำไปสู่การเกิดการจลาจลทั่วนูกูอาโลฟาใน ค.ศ. 2006 [40] การจลาจลครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 6 คน[41] และสร้างความเสียหายให้กับย่านศูนย์กลางธุรกิจของเมืองถึงร้อยละ 80[42] รัฐบาลตองงาต้องกู้เงินจากรัฐบาลจีนกว่า 109 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อซ่อมแซมย่านศูนย์กลางธุรกิจของเมืองที่ถูกทำลายในเหตุการณ์นี้[43] การดำเนินการซ่อมแซมพื้นที่ที่เสียหายดำเนินการแล้วเสร็จใน ค.ศ. 2012[44]

ภูมิศาสตร์

แก้

ภูมิประเทศ

แก้
 
ภาพถ่ายดาวเทียมนูกูอาโลฟา

นูกูอาโลฟาตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะโตงาตาปู ซึ่งเป็นเกาะปะการังที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะตองงา[45]: 100  มีขนาดพื้นที่เท่ากับ 11.41 ตารางกิโลเมตร และหากนับรวมพื้นที่ปริมณฑลด้วยจะครอบคลุมพื้นที่ 34.82 ตารางกิโลเมตร[1] โดยอยู่ห่างไปทางตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงซูวาเมืองหลวงของฟีจีเป็นระยะทางประมาณ 750 กิโลเมตรและอยู่ห่างจากนครออกแลนด์ของนิวซีแลนด์ประมาณ 2,000 กิโลเมตร[2] ลักษณะพื้นที่ของนูกูอาโลฟาเป็นที่ราบ มีระดับความสูงเฉลี่ยจากระดับน้ำทะเลประมาณ 4 เมตร[46] ซึ่งต่ำกว่าพื้นที่อื่นบนเกาะ[47]: 127–8  นอกจากนี้ทรัพยากรดินโดยรวมมีความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดินในบริเวณใกล้ชายฝั่งตอนเหนือของเมือง เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากเถ้าถ่านภูเขาไฟจากเกาะข้างเคียง[48]: 5–10 

นูกูอาโลฟาได้รับผลกระทบจากสึนามิที่มีเหตุจากการปะทุของภูเขาไฟฮูงาโตงาและคลื่นสึนามิใน พ.ศ. 2565[49] ซึ่งสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก[50] โดยคาดว่าจะใช้เวลานับปีในการฟื้นฟูจากความเสียหายที่เกิดขึ้น[51]

ภูมิอากาศ

แก้

ตามการแบ่งเขตภูมิอากาศแบบเคิพเพิน นูกูอาโลฟามีลักษณะภูมิอากาศแบบป่าดิบชื้น โดยได้รับอิทธิพลจากลมค้าตะวันออกเฉียงใต้[52] ฤดูกาลในนูกูอาโลฟาเหมือนกับฤดูกาลโดยทั่วไปของประเทศตองงา ซึ่งมี 2 ฤดู คือ ฤดูฝนและฤดูแล้ง ฤดูฝนจะเกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤศจิกายน–เมษายน โดยช่วงเดือนมกราคม–มีนาคม จะเป็นช่วงที่ฝนตกมากที่สุด ในขณะที่ฤดูแล้งจะเกิดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม–ตุลาคม[52] ด้วยนูกูอาโลฟาไม่มีเดือนใดที่มีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่า 60 มิลลิเมตร (2.4 นิ้ว) จึงกล่าวได้ว่าไม่มีฤดูแล้งที่แท้จริง[53] อย่างไรก็ตามในระยะหลังปริมาณน้ำฝนเริ่มลดน้อยลงเล็กน้อยและมีความผันผวนของปริมาณน้ำฝน อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์เอลนีโญ[52] สำหรับอุณหภูมิเฉลี่ยของนูกูอาโลฟาอยู่ที่ประมาณ 24 องศาเซลเซียส (75 องศาฟาเรนไฮต์) โดยเดือนมกราคม–มีนาคม เป็นช่วงที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุด ในขณะที่เดือนมิถุนายน–สิงหาคม มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำที่สุด[53] จากการเก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศของนูกูอาโลฟาในอดีต พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 0.4–0.6 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา[52]

ข้อมูลภูมิอากาศของนูกูอาโลฟา
เดือน ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ทั้งปี
อุณหภูมิสูงสุดที่เคยบันทึก °C (°F) 32
(90)
32
(90)
31
(88)
30
(86)
30
(86)
28
(82)
28
(82)
28
(82)
28
(82)
29
(84)
30
(86)
31
(88)
32
(90)
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย °C (°F) 29.4
(84.9)
29.9
(85.8)
29.6
(85.3)
28.5
(83.3)
26.8
(80.2)
25.8
(78.4)
24.9
(76.8)
24.8
(76.6)
25.3
(77.5)
26.4
(79.5)
27.6
(81.7)
28.7
(83.7)
27.3
(81.1)
อุณหภูมิเฉลี่ยแต่ละวัน °C (°F) 26.4
(79.5)
26.8
(80.2)
26.6
(79.9)
25.3
(77.5)
23.6
(74.5)
22.7
(72.9)
21.5
(70.7)
21.5
(70.7)
22.0
(71.6)
23.1
(73.6)
24.4
(75.9)
25.6
(78.1)
24.1
(75.4)
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย °C (°F) 23.4
(74.1)
23.7
(74.7)
23.6
(74.5)
22.1
(71.8)
20.3
(68.5)
19.5
(67.1)
18.1
(64.6)
18.2
(64.8)
18.6
(65.5)
19.7
(67.5)
21.1
(70)
22.5
(72.5)
20.9
(69.6)
อุณหภูมิต่ำสุดที่เคยบันทึก °C (°F) 16
(61)
17
(63)
15
(59)
15
(59)
13
(55)
11
(52)
10
(50)
11
(52)
11
(52)
12
(54)
13
(55)
16
(61)
10
(50)
ปริมาณฝน มม (นิ้ว) 174
(6.85)
210
(8.27)
206
(8.11)
165
(6.5)
111
(4.37)
95
(3.74)
95
(3.74)
117
(4.61)
122
(4.8)
128
(5.04)
123
(4.84)
175
(6.89)
1,721
(67.76)
ความชื้นร้อยละ 77 78 79 76 78 77 75 75 74 74 73 75 76
วันที่มีฝนตกโดยเฉลี่ย 17 19 19 17 15 14 15 13 13 11 12 15 180
แหล่งที่มา: Weatherbase[53]

การปกครอง

แก้
 
สำนักงานข้าหลวงใหญ่สหราชอาณาจักร

นูกูอาโลฟาเกิดจากการรวมกันของหมู่บ้านชุมชนเมือง 3 แห่งทางตอนเหนือของเกาะโตงาตาปูได้แก่ หมู่บ้านโกโลโฟโออู หมู่บ้านมาอูฟางา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตโกโลโฟโออู และหมู่บ้านโกโลโมตูอา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตโกโลโมตูอา[1] ในบางครั้งเรียกรวมพื้นที่ของเขตโกโลโฟโออูและเขตโกโลโมตูอารวมกันว่า Greater Nuku'alofa[54]: 25  ดังนั้นอำนาจการดูแลพื้นที่ของนูกูอาโลฟาจึงอยู่ในขอบเขตของเจ้าพนักงานประจำเขต (district officer) และเจ้าพนักงานประจำหมู่บ้าน (town officer) ของเขตและหมู่บ้านที่กล่าวมาข้างต้น โดยตำแหน่งเหล่านี้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งกี่วาระก็ได้[55] อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสามารถพิจารณาปลดเจ้าพนักงานประจำเขตและเจ้าพนักงานประจำหมู่บ้านได้ หากประพฤติตนมิชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่[56]

สำหรับเจ้าพนักงานประจำหมู่บ้าน (town officer) มีขอบเขตหน้าที่ช่วยเหลือเจ้าพนักงานประจำเขตในการสำรวจสภาวะสุขาภิบาล การจัดเก็บภาษีที่ดินและการเกษตรและรายงานการตายอย่างฉับพลันที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ตนรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ประกาศการประชุมโฟโน[e] รวมทั้งรักษาความเป็นระเบียบของการประชุมดังกล่าว[56]

ส่วนเจ้าพนักงานประจำเขต (district officer) มีหน้าที่ในการสำรวจและรับรายงานตามหน้าที่ของเจ้าพนักงานประจำหมู่บ้านทางด้านสาธารณสุข ที่ดินและการเกษตร นอกจากนี้ยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบการกักกันพืช การตรวจสอบใบอนุญาตประกอบธุรกิจ และหน้าที่อื่นตามที่รัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทยหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตำรวจหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย พร้อมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยทราบโดยตรง[56] ด้วยอำนาจจำกัดของเจ้าพนักงานทั้งสองตำแหน่ง[57]: 21  การบริหารจัดการส่วนใหญ่ในการดูแลนูกูอาโลฟาจึงอยู่ภายใต้การจัดการของรัฐบาลตองงาเป็นหลัก[58]: 126 

นูกูอาโลฟาในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ จึงเป็นศูนย์กลางทางด้านการเมืองการปกครองของประเทศ โดยมีทั้งหน่วยงานด้านนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ รวมไปถึงพระราชวังตองงา ที่ประทับอย่างเป็นทางการของพระมหากษัตริย์[44][59]: 95  นอกจากนี้นูกูอาโลฟายังเป็นที่ตั้งของสถานเอกอัครราชทูต 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย[60] ประเทศนิวซีแลนด์[61] ประเทศจีน[62] ประเทศญี่ปุ่น[63] และสหราชอาณาจักร[64]

เศรษฐกิจ

แก้

นูกูอาโลฟาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ[65] หน่วยงานทางด้านการเงินที่สำคัญของประเทศอย่างธนาคารกลางตองงามีสำนักงานใหญ่อยู่ภายในเมือง[66] ปัจจุบันรายได้หลักของกรุงนูกูอาโลฟามาจากภาคการบริการ ซึ่งรวมถึงการพาณิชย์ การท่องเที่ยว การบริการสาธารณะและการเงิน รองลงมาเป็นภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมตามลำดับ[67] ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่เป็นวิชาชีพ รองลงมาเป็นผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการค้าและการบริการ และงานหัตถกรรมตามลำดับ[1] [2] นอกจากนี้ยังพบประชากรส่วนน้อยที่ประกอบอาชีพเพื่อการประทังชีวิต (subsistence workers) อีกด้วย จากสถิติสำมะโนประชากรและเคหะ ค.ศ. 2016 นูกูอาโลฟามีประชากรเพศชายเข้าสู่ระบบแรงงานร้อยละ 67.1 มากกว่าเพศหญิงที่เข้าสู่ระบบแรงงานเพียงร้อยละ 54.4 เท่านั้น ขณะที่อัตราการว่างงานของประชากรในเมืองเท่ากับร้อยละ 1.4[2]

จากรายงานสรุปความยากจนในตองงาเมื่อ ค.ศ. 2011 พบว่าค่าครองชีพภายในเมืองสูงที่สุดในประเทศ โดยมีจุดแบ่งเส้นความยากจนความต้องการพื้นฐานอยู่ที่ 61.15 ปาอางาต่อคนต่อสัปดาห์ (ประมาณ 843 บาท) เมื่อพิจารณาจากระดับราคาสินค้าและบริการตั้งแต่ ค.ศ. 2001–9 พบว่าระดับราคาสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเส้นความยากจนด้านอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 78.4 ขณะที่ค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่อาหารเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 115.8 อันส่งผลให้เส้นความยากจนโดยรวมขยับสูงขึ้นถึงร้อยละ 99.3 การปรับตัวที่สูงขึ้นนี้มีสาเหตุจากระดับราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหารเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายด้านการคมนาคมและค่าใช้จ่ายการใช้โทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ประชากรร้อยละ 21.4 ของเมืองดำรงชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน ซึ่งสูงกว่า ค.ศ. 2001 ที่มีเพียงร้อยละ 18 เท่านั้น และนับได้ว่ากรุงนูกูอาโลฟาเป็นชุมชนที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในประเทศ โดยมีค่าสัมประสิทธิ์จีนีเท่ากับ 0.39 อย่างไรก็ตามค่าระดับความเหลื่อมล้ำยังถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ[68]

เกษตรกรรมและหัตถกรรม

แก้
(ซ้าย) ทางเข้าตลาดตาลามาฮู, (ขวา) แผงขายสินค้าการเกษตรภายในตลาดตาลามาฮู

กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของนูกูอาโลฟาเกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม[44] มีการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจเนื้อมะพร้าวแห้งใน ค.ศ. 1942 เพื่อส่งเสริมการส่งออกเนื้อมะพร้าวแห้ง ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรกรรมที่สำคัญของเมือง กิจการรัฐวิสาหกิจมีความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ จนสามารถนำทุนจัดซื้อเรือสำหรับทำการขนส่ง และสร้างโรงงานแห่งใหม่ห่างจากกรุงนูกูอาโลฟา 3.2 กิโลเมตรได้[69]: 406  นอกจากนี้ยังมีรัฐวิสาหกิจในลักษณะเดียวกันเพื่อส่งเสริมการส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรอื่น เช่น สควอช วานิลลา กล้วย เป็นต้น[44][69]: 406  อย่างไรก็ตามภาคเกษตรกรรมในนูกูอาโลฟากำลังประสบปัญหาความอุดมสมบูรณ์ของดินและความจำกัดของพื้นที่เพาะปลูก[70]: 231–2 

สินค้าหัตถกรรมก็เป็นสินค้าส่งออกสำคัญชนิดหนึ่ง[44] มีการก่อสร้างศูนย์หัตถกรรมและแกลอรีลางาโฟนูอาใน ค.ศ. 1953 เพื่อใช้จำหน่ายงานหัตถกรรมพื้นเมือง รวมไปถึงเสื้อผ้า กระเป๋าและงานศิลปะต่าง ๆ[71] ในบางครั้งอาจมีการจัดเทศกาลจำหน่ายงานหัตถกรรมในพื้นที่เมืองอีกด้วย[72]

สำหรับการซื้อขายสินค้าทางการเกษตรและหัตถกรรมที่บริโภคในประเทศจะจัดจำหน่ายที่ตลาดตาลามาฮู[73][74] ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรที่จำหน่ายมีจำนวนคิดเป็นร้อยละ 55.7 ของผลผลิตที่มีขายในประเทศ[73] นอกจากนี้ตลาดแห่งนี้ยังสามารถครองส่วนแบ่งทางการตลาดของการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรในประเทศได้ถึงร้อยละ 21 อีกด้วย[73]

ประมง

แก้
(บน) ชายฝั่งตอนเหนือของกรุง, (ล่าง) สุสานหลวงราชวงศ์ตูโปอู

กรุงนูกูอาโลฟาเป็นศูนย์กลางของการประมงในประเทศ มีประชากรทำอาชีพประมงคิดเป็นร้อยละ 0.9[75] ในชายฝั่งทางตอนเหนือ กองเรือประมงในเมืองจะจับสัตว์น้ำในน่านน้ำใกล้เคียง เช่น ปลาทูน่าและปลากะพง เป็นต้น[44] ในขณะที่ชายฝั่งทางตอนใต้ของกรุงนูกูอาโลฟาที่ติดกับลากูน พบการทำประมงเพื่อการยังชีพ อย่างไรก็ตามด้วยจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นและการจับสัตว์น้ำด้วยวิธีการที่ทำลายระบบนิเวศ นำไปสู่การสูญเสียปะการังและสปีชีส์ของสัตว์น้ำ[70]: 226  สำหรับผลผลิตที่ได้จากการประมง บางส่วนจะส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ซามัว อเมริกันซามัวและฟีจี[75]

อุตสาหกรรม

แก้

ด้วยการขาดการวางแผนที่ดีของรัฐบาล ส่งผลให้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภายในเมืองมีค่อนข้างจำกัด[70]: 225  นิคมอุตสาหกรรมในกรุงนูกูอาโลฟาทั้งหมดตั้งอยู่ในหมู่บ้านมาอูฟางา ซึ่งรัฐบาลจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1980 มีพื้นที่เท่ากับ 20 เอเคอร์ (ประมาณ 0.081 ตารางกิโลเมตร) โดยแบ่งพื้นที่นิคมออกเป็น 42 ส่วน[76] รัฐบาลได้อนุญาตให้ภาคอุตสาหกรรมเช่าระยะยาวพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้[44] อุตสาหกรรมในนิคมส่วนมากเป็นอุตสาหกรรมเบา เช่น โรงงานผลิตกระดาษชำระ โรงงานผลิตของเล่น โรงงานประกอบตู้เย็น เป็นต้น[77]: 160  ใน ค.ศ. 2011 รัฐบาลตัดสินใจแปรรูปศูนย์อุตสาหกรรมขนาดเล็กจากกิจการของรัฐเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการยิ่งขึ้น ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมที่มาอูฟางาเป็นหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรม 2 แห่งในประเทศ อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่เนอิอาฟูในเขตการปกครองวาวาอู[76]

การท่องเที่ยว

แก้

โครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวของนูกูอาโลฟาจัดได้ว่าดีกว่าพื้นที่อื่นในประเทศ เนื่องจากมีร้านอาหาร ร้านเครื่องดื่ม สิ่งอำนวยความสะดวกและที่พักเป็นจำนวนมาก[78]: 109  รวมไปถึงมีบริการขนส่งมวลชนและรถจักรยานให้เช่าเพื่อเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ภายในเมือง[78]: 98  แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ซึ่งแสดงถึงประวัติความเป็นมาของประเทศที่มีชื่อเสียง เช่น พิพิธภัณฑ์แห่งชาติตองงา ศูนย์หัตถกรรมลางาโฟนูอา สุสานหลวงของราชวงศ์ปัจจุบันและพระราชวัง เป็นต้น[78]: 102–7  นอกจากนี้ยังมีการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับกีฬาและศาสนาอีกด้วย[78]: 101–2  ในส่วนของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาตินั้น ด้วยกรุงนูกูอาโลฟามีพื้นที่ทางตอนเหนือติดทะเล จึงเป็นแหล่งดำน้ำดูปะการังและกิจกรรมทางทะเลที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ[78]: 107  ย่านกลางคืนของเมืองมีขนาดเล็ก เพราะตองงาเป็นประเทศอนุรักษ์นิยมทางศาสนา ทว่ามีความคึกคักมากที่สุดในประเทศ[79] ย่านกลางคืนเหล่านี้จะตั้งอยู่บนถนนวูนาทางตอนเหนือของเมือง[80]

ประชากร

แก้
จำนวนประชากรนูกูอาโลฟา
ปีประชากร±%
19314,005—    
19569,202+129.8%
196615,545+68.9%
197618,312+17.8%
198621,383+16.8%
199622,400+4.8%
200623,658+5.6%
201124,229+2.4%
201623,221−4.2%
รายงานจำนวนประชากรของนูกูอาโลฟา[81]: 33 [1][82][83][84]
หมู่บ้าน ประชากร ค.ศ. 2016[1]
โกโลโฟโออู
8,265
โกโลโมตูอา
7,595
มาอูฟางา
7,361
รวม
23,221

จากการทำสำมะโนประชากรและเคหะใน ค.ศ. 2016 พบว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในูกูอาโลฟามีทั้งสิ้น 23,221 คน คิดเป็นร้อยละ 23.20 ของประชากรทั้งประเทศ และมีความหนาแน่นของประชากรเท่ากับ 2035 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร หากนับรวมประชากรในเขตปริมณฑลของนูกูอะโลฟาด้วย จะมีประชากรรวมกันเท่ากับ 35,184 คน [1] ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 ประชากรที่อาศัยอยู่ในนูกูอาโลฟามีเพียงร้อยละ 10 ของประชากรของทั้งประเทศเท่านั้น[10] ทว่านับตั้งแต่ ค.ศ. 1931 เป็นต้นมา ประชากรในนูกูอาโลฟาเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด[81]: 33  เนื่องจากประชากรในชนบทต้องการแสวงหาโอกาสทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ ประกอบกับพื้นที่ชนบทมีข้อจำกัดทางด้านการขยายที่ดินทำการเกษตร[10] อย่างไรก็ตามใน ค.ศ. 2016 อัตราการเติบโตของประชากรในนูกูอาโลฟากลับลดลง ซึ่งลักษณะเช่นนี้พบได้ทั่วไปเกือบทุกชุมชนในประเทศตองงา[1] แม้จะเป็นเช่นนั้น มีการคาดหมายว่าประชากรของนูกูอาโลฟาอาจเพิ่มสูงได้ถึง 45,000 คน ใน ค.ศ. 2030[85] ประชากรที่อาศัยอยู่ในนูกูอาโลฟาจัดว่าเป็นประชากรเพียงกลุ่มเดียวในประเทศที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง โดยเกณฑ์การจัดเขตเมืองของประเทศตองงากำหนดให้เขตเมืองคือหมู่บ้านที่มีประชากรเกิน 5,000 คน ซึ่งพบได้เฉพาะในนูกูอาโลฟาเท่านั้น[1]

โครงสร้างประชากรของนูกูอาโลฟามีประชากรเชื้อชาติตองงาและลูกครึ่งตองงาเป็นประชากรกลุ่มหลักจำนวน 22,117 คน (ร้อยละ 95.25) รองลงมาคือชาวจีน 369 คน (ร้อยละ 1.59) ส่วนที่เหลือเป็นชาวยุโรป ชาวฟีจี ชาวเอเชียและกลุ่มประชากรที่มาจากหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก[1] ประชากรส่วนมากสามารถใช้ภาษาตองงาและภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ แต่ประชากรโดยรวมเริ่มมีค่านิยมให้ความสำคัญกับภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาตองงามากขึ้น เห็นได้ชัดเจนจากหลักสูตรของโรงเรียนมัธยมในนูกูอาโลฟา และกิจการด้านสื่อของประเทศ[86]

การนับถือศาสนาของประชากรในนูกูอาโลฟาคล้ายคลึงกับการนับถือศาสนาของประชากรตองงาทั่วไป โดยประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์เป็นส่วนมาก แบ่งเป็นคริสตจักรฟรีเวสเลยันจำนวน 8,491 คน (ร้อยละ 36.67) โรมันคาทอลิกจำนวน 4,374 คน (ร้อยละ 18.83) ศาสนจักรของพระเยซูคริสต์แห่งสิทธิชนยุคสุดท้ายจำนวน 2,754 คน (ร้อยละ 11.86) ส่วนที่เหลือนั้นนับถือศาสนาคริสต์นิกายอื่น ๆ เช่น คริสตจักรอิสระตองงา แองกลิคัน เป็นต้น อย่างไรก็ตามพบประชากรที่นับถือศาสนาอื่นอีกด้วย โดยกลุ่มใหญ่ที่สุดคือกลุ่มผู้นับถือศาสนาบาไฮจำนวน 167 คน (ร้อยละ 0.72) และศาสนาพุทธจำนวน 21 คน (ร้อยละ 0.09)[1]

วัฒนธรรม

แก้

สถาปัตยกรรม

แก้

ในอดีตชาวนูกูอาโลฟาและชาวตองงาโดยทั่วไปจะสร้างที่พักอาศัยในลักษณะของฟาเล[f] มีการแบ่งพื้นที่สำหรับการซักล้าง การทำอาหารและพื้นที่เลี้ยงหมู[87]: 698–9  ด้วยการเจริญเติบโตของนูกูอาโลฟาและการติดต่อกับชาติตะวันตก ความนิยมการสร้างบ้านด้วยสถาปัตยกรรมแบบฟาเลได้เปลี่ยนไปเป็นแบบสมัยนิยมมากขึ้น[88] เช่น พระราชวังตองงาที่สร้างขึ้นในลักษณะของอาคารสองชั้นในรูปแบบวิกตอเรีย เป็นต้น[89] อย่างไรก็ตามงานสถาปัตยกรรมแบบฟาเลยังคงอยู่ในรูปแบบของศาสนสถานของคริสต์ศาสนาและอาคารสำคัญหลายแห่งในนูกูอาโลฟา[90] โดยนำวิธีการก่อสร้างสมัยใหม่เข้ามาใช้[91] เช่น อาสนวิหารเซนต์แมรี พิพิธภัณฑ์ตองงา อาคารรัฐสภาหลังเก่า และศูนย์วัฒนธรรม เป็นต้น[88]

อาหาร

แก้
 
โอตาอีกา

วัฒนธรรมอาหารในนูกูอาโลฟาโดยรวมไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่นของประเทศตองงามากนัก มีอาหารสำคัญ เช่น โอตาอีกาและลู เป็นต้น[92] อย่างไรก็ตามเมืองแห่งนี้ได้รับวัฒนธรรมอาหารต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาหารจีนและอาหารตะวันตก[93] ภายในเมืองมีการจัดจำหน่ายอาหารข้างทาง และมีแหล่งวัตถุดิบประกอบอาหารที่สำคัญอยู่ที่ตลาดตาลามาฮู[94]

เทศกาล

แก้

ภายในเมืองมีการจัดกิจกรรมและเทศกาลประจำปีเหมือนกับส่วนอื่นในประเทศ[95] ทว่างานเทศกาลที่ถือได้ว่ามีการจัดอย่างยิ่งใหญ่และเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปของนูกูอาโลฟาคือเทศกาลเฮอิลาลา ซึ่งจัดเฉลิมฉลองขึ้นเป็นระยะเวลา 2–3 สัปดาห์ ระหว่างเดือนมิถุนายน–กรกฎาคม[96] เทศกาลนี้เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1980 เพื่อเฉลิมฉลองวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของสมเด็จพระราชาธิบดีเตาฟาอาเฮา ตูโปอูที่ 4[97] ในช่วงเทศกาล ชาวตองงาจะรวมตัวกันเพื่อร่วมชมขบวนพาเหรด บางส่วนเข้าร่วมการประกวดในกิจกรรมดนตรี กลุ่มเพื่อนและครอบครัวจะใช้โอกาสนี้ในการสนทนาพูดคุยและรับประทานอาหารร่วมกัน[95][98] สำหรับกิจกรรมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือการประกวดนางงาม Miss Heilala ซึ่งมีสาวงามจากตองงาและต่างประเทศเข้าร่วมการประกวด[99] นอกจากเทศกาลที่จัดเป็นประจำทุกปีแล้ว ในบางครั้งอาจมีการจัดงานเฉลิมฉลองพิเศษภายในเมืองด้วย ซึ่งรัฐบาลมักประกาศให้วันเฉลิมฉลองดังกล่าวเป็นวันหยุดราชการแบบกรณีพิเศษ เห็นได้จากการจัดงานเฉลิมฉลองให้กับทีมรักบี้ลีกตองงาที่สามารถทำการแข่งขันชนะทีมสหราชอาณาจักรและออสเตรเลียได้เป็นครั้งแรก[100]

สื่อ

แก้
 
สำนักงานคณะกรรมาธิการแพร่สัญญาณตองงา

ประชาชนสามารถเข้าถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้มากที่สุดในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 43.88 นอกจากนี้ประชาชนในเมืองยังนิยมใช้งานโทรศัพท์มือถือในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสำหรับใช้บริการสื่อสังคมอีกด้วย ในส่วนของการเข้าถึงสื่ออื่น ๆ นั้น พบว่ามีครัวเรือนร้อยละ 83.61 มีโทรทัศน์ในครอบครองและครัวเรือนร้อยละ 36.26 มีวิทยุในครอบครอง[1]

นูกูอาโลฟาเป็นศูนย์กลางของกิจการด้านสื่อของประเทศ โดยเป็นศูนย์กลางการแพร่สัญญาณของสื่อโทรทัศน์ วิทยุและหนังสือพิมพ์ของรัฐและเอกชน คณะกรรมาธิการแพร่สัญญาณแห่งตองงาเป็นกิจการการแพร่สัญญาณแห่งแรกและใหญ่ที่สุดในประเทศ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองแห่งนี้ ได้ดำเนินการแพร่สัญญาณโทรทัศน์จำนวน 2 ช่อง ได้แก่ ทีวีตองงา 1 ครอบคลุมพื้นที่ของเกาะโตงาตาปูและเออัว[101]และทีวีตองงา 2 ที่มีการนำรายการโทรทัศน์ของประเทศจีนเข้าสู่ผังรายการด้วย[102] นอกจากสถานีโทรทัศน์ของภาครัฐแล้ว ประชาชนสามารถเลือกรับชมโทรทัศน์ในระบบเคเบิลทีวี ซึ่งมีดิจิเซล ตองงาเป็นผู้ให้บริการหลักได้[103][104] การจัดรายการของสถานีโทรทัศน์เหล่านี้จะมีทั้งรายการที่ใช้ภาษาตองงาและรายการที่ใช้ภาษาอังกฤษ[105]

ในส่วนของกิจการด้านวิทยุ คณะกรรมาธิการแพร่สัญญาณแห่งตองงามีส่วนสำคัญในการแพร่สัญญาณวิทยุเช่นกัน ผ่านการแพร่สัญญาณ 3 คลื่นความถี่ ได้แก่ เรดิโอตองงา (1017AM) กูล 90FM และ 103FM[106] นอกจากนี้เอกชนและฝ่ายศาสนาก็มีบทบาทในการแพร่สัญญาณวิทยุด้วย โดยมีสถานีวิทยุตั้งอยู่ภายในเมือง เช่น เลติโอฟากากาลีซีเตียเน (93FM)[107] และเรดิโอนูกูอาโลฟา[103] เป็นต้น

สำหรับกิจการด้านสื่อหนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่มักมีเอกชนเป็นเจ้าของและมักลงเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เช่น ไทม์ออฟตองงา มาตางีโตงา เป็นต้น[103] นอกจากกิจการสื่อหนังสือพิมพ์ของเอกชนแล้ว ในอดีตรัฐบาลเคยดำเนินกิจการหนังสือพิมพ์เป็นของตนเองในชื่อหนังสือพิมพ์ตองงาโครนิเคิลระหว่าง ค.ศ. 1960–2006 ก่อนจะแปรรูปจากกิจการของรัฐมาเป็นของเอกชนในท้ายที่สุด[108]

กีฬา

แก้

สนามกีฬาเตอูฟาอีวาเป็นสนามกีฬาหลักของนูกูอาโลฟาและประเทศ ใช้จัดการแข่งขันกีฬาหลายชนิดทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รักบี้ ฟุตบอลและกรีฑา[109][110] กีฬาที่ได้รับความนิยมจากชาวเมืองมากที่สุดคือรักบี้ ซึ่งมักมีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมากในทุกระดับการแข่งขัน[111][112]

นูกูอาโลฟาได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาหลายรายการ โดยใช้สนามกีฬาเตอูฟาอีวาเป็นสนามกีฬาหลัก การแข่งขันระดับประเทศที่จัดในนูกูอาโลฟาเป็นประจำทุกปีคือการแข่งขันกีฬาระหว่างวิทยาลัย ซึ่งจัดขึ้นในเดือนเมษายน[113] ในส่วนของการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาตินั้น นูกูอาโลฟาเคยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาหลายรายการ เช่น เซาธ์แปซิฟิกมินิเกมส์ 1989[114] การแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โอเชียเนีย 1998[115]และการแข่งขันกรีฑาเยาวชนชิงแชมป์โอเชียเนีย 1998[116] เป็นต้น

โครงสร้างพื้นฐาน

แก้

สาธารณูปโภค

แก้

ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากกว่าพื้นที่อื่น ส่งผลให้ประชากรจากพื้นที่ภายนอกอพยพเข้ามาในนูกูอาโลฟา[10] แรงกดดันจากการเพิ่มจำนวนประชากรทำให้รัฐบาลตองงามีความจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ประปา สุขาภิบาล ไฟฟ้า ที่อยู่อาศัยและการศึกษา เป็นต้น เพื่อรองรับให้เพียงพอต่อความต้องการ[117] จากสำมะโนประชากรและเคหะ ค.ศ. 2016 รายงานการเข้าถึงไฟฟ้าของครัวเรือน พบว่ากว่าร้อยละ 98.31 เข้าถึงระบบไฟฟ้า มีเพียงส่วนน้อยที่เข้าถึงพลังงานไฟฟ้าจากต้นกำเนิดรูปแบบอื่น[1] การผลิตไฟฟ้าภายในเมืองอยู่ในความรับผิดชอบของตองงาพาวเวอร์ลีมีเต็ด ซึ่งเป็นกิจการของรัฐ[118] ปัจจุบันมีการปรับปรุงเครือข่ายสายส่งกระแสไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วทั้งเมือง และปรับปรุงความมั่นคงแข็งแรงของระบบสายส่งเหล่านั้นให้รองรับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต[119]

สำหรับการเข้าถึงประปาในเมืองพบว่าครัวเรือนร้อยละ 92.32 สามารถเข้าถึงบริการประปาได้[1] อย่างไรก็ตามพบว่าครัวเรือนที่อยู่ใกล้ชายฝั่งนิยมใช้น้ำที่มาจากน้ำฝนมากกว่า เนื่องจากพื้นที่โดยรวมค่อนข้างต่ำ การวางท่อประปาใกล้ทะเลจึงมักพบปัญหาน้ำทะเลรุกล้ำเข้ามา ส่งผลให้คุณภาพไม่เป็นที่น่าพอใจ[120] นอกจากนี้ครัวเรือนที่เข้าถึงท่อประปาจะใช้น้ำจากประปาเพื่อการประกอบอาหารหรืออุปโภคเท่านั้น[1] เนื่องจากบางส่วนพบการปนเปื้อนของน้ำเสีย[81]: 126  ดังนั้นประชาชนส่วนใหญ่จึงนิยมใช้น้ำจากถังซีเมนต์ที่เก็บกักเอง แหล่งน้ำของชุมชนและน้ำขวดสำหรับการบริโภค[1]

สาธารณสุข

แก้
 
ทหารสหรัฐเยี่ยมชมโรงพยาบาลวีโอลา

ชาวนูกูอาโลฟาสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในประเทศได้ โรงพยาบาลวีโอลาเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ (199 เตียง) ตั้งอยู่ในเมืองแห่งนี้และเป็นโรงพยาบาลที่รองรับการรักษาพยาบาลขั้นสูง อย่างไรก็ตามการรักษาพยาบาลที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีระดับสูงมากนิยมส่งไปรักษาต่อในประเทศนิวซีแลนด์โดย Medical Transfer Board เป็นผู้อนุมัติ[121] นอกจากนี้ยังพบว่าประชนบางส่วนนิยมรับบริการทางการแพทย์จากแพทย์แผนโบราณด้วย แม้จะเป็นจำนวนที่น้อยก็ตาม[1]

การศึกษา

แก้

ระบบการศึกษาในนูกูอาโลฟาเป็นไปตามที่รัฐบาลตองงากำหนด[122] ภายในนูกูอาโลฟามีสถานศึกษาทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาและอุดมศึกษา โดยสถานศึกษาเหล่านี้จะอยู่ภายใต้การจัดการของรัฐบาล โบสถ์และเอกชน[123]: 186  นักเรียนส่วนใหญ่จะเข้าศึกษาในสถานศึกษาระดับประถมศึกษาของรัฐที่กระจายอยู่ทั่วเมือง[123]: 186–7  ในขณะที่ระดับมัธยมศึกษาพบการเข้าศึกษาต่อทั้งในสถานศึกษาของรัฐและเอกชน โดยสถานศึกษาของรัฐที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ โตงาไฮสคูล[124] ซึ่งจัดได้ว่าเป็นหนึ่งในโรงเรียนที่มีนักเรียนมัธยมมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ[125] ส่วนระดับอุดมศึกษานั้น ประชากรในนูกูอาโลฟามีวุฒิการศึกษาและอัตราการเข้าศึกษาต่อในระดับสูงสูงที่สุดในประเทศ โดยมีประชากรนูกูอาโลฟาร้อยละ 17 สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษา มากกว่าประชากรกลุ่มอื่นในประเทศที่มีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้น[2] ซึ่งการจัดการเรียนการสอนในระดับดังกล่าวดำเนินการในสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน เช่น สถาบันอาเทนซี สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น[126][127][128]

การคมนาคม

แก้

ทางบก

แก้
(บนซ้าย) สถานีน้ำมันแปซิฟิกในกรุง, (บนขวา) ถนนเลียบชายหาดตอนเหนือของกรุง, (ล่างซ้าย) ทางเข้าท่าเรือวูนา, (ล่างขวา) ท่าอากาศยานนานาชาติฟูอาอะโมตู

นูกูอาโลฟามีเส้นทางถนนซึ่งเชื่อมกับพื้นที่อื่นบนเกาะโตงาตาปู โดยเชื่อมต่อกับฮาอะตาฟู ซึ่งเป็นชุมชนด้านตะวันตกสุดของเกาะเป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร และเชื่อมต่อกับนีอูโตอัว ซึ่งเป็นชุมชนด้านตะวันออกสุดของเกาะเป็นระยะทาง 30 กิโลเมตร[129] นอกจากนี้รัฐบาลตองงาได้พิจารณาสร้างสะพานข้ามลากูนฟางาอูตาเพื่อเชื่อมระหว่างนูกูอาโลฟาและพื้นที่ด้านใต้ของเกาะโตงาตาปู เพื่อลดระยะทางและเวลาการเดินทางระหว่างท่าอากาศยานนานาชาติฟูอาอะโมตูและเมืองหลวง[130] ปัจจุบันนูกูอาโลฟาประสบปัญหากับการจราจรติดขัด[131] สภาพถนนโดยรวมอยู่ในระดับพอใช้ มีบางจุดเป็นหลุมเป็นบ่อและแคบ[132] การก่อสร้างและซ่อมบำรุงถนนในนูกูอาโลฟาอยู่ภายใต้การดูแลของกรมโยธาธิการ ซึ่งมักประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินงาน[133] ในอดีตเคยมีเส้นทางรถไฟจากลากูนผ่านนูกูอาโลฟามุ่งสู่ท่าเรือ แต่ไม่มีให้เห็นในปัจจุบันแล้ว โดยไม่มีทั้งข้อมูลการก่อสร้างและสาเหตุการยกเลิกเส้นทาง เหลือไว้เพียงแค่ชื่อถนนรถไฟภายในเมืองเท่านั้น[134]

สำหรับการขนส่งสาธารณะในนูกูอาโลฟานั้น มีสถานีรถโดยสารอยู่ 2 สถานี คือ สถานีบนถนนวูนาฝั่งตรงข้ามกับสำนักงานการท่องเที่ยว ซึ่งมีเส้นทางอยู่ในบริเวณรอบ ๆ เมือง และสถานีที่อยู่ตรงข้ามกับที่ทำการของกระทรวงศึกษาธิการ มีเส้นทางไปส่วนตะวันออกและตะวันตกของเกาะ อย่างไรก็ตามรถโดยสารมีกำหนดการเดินทางที่ไม่แน่นอน โดยมักมีกำหนดเวลาให้บริการระหว่าง 08.00 น. – 17.00 น.[135] นอกจากนี้ยังมีการให้บริการแท็กซี่ในเมืองด้วย ทั้งนี้บริการขนส่งสาธารณะจะหยุดให้บริการในวันอาทิตย์[136]

ทางน้ำ

แก้

ท่าเรือนูกูอาโลฟาเป็นท่าเรือน้ำลึกเพียงแห่งเดียวของประเทศ ในอดีตเคยใช้ท่าเรือวูนาเป็นท่าเรือนานาชาติ แต่ถูกแผ่นดินไหวทำลายใน ค.ศ. 1977 และได้ซ่อมแซมกลับมาใช้ใหม่ได้ใน ค.ศ. 2012 ปัจจุบันใช้เป็นท่าเรือสำหรับเรือสำราญและจุดพักเรือของกองทัพเรือต่างประเทศ[137] สำหรับท่าเรือนูกูอาโลฟาเป็นทั้งท่าเรือรับส่งสินค้านานาชาติ และเป็นท่าเรือศูนย์กลางการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างนูกูอาโลฟาและส่วนอื่น ๆ ของประเทศ โดยสามารถใช้ท่าเรือแห่งนี้เดินทางไปเขตการปกครองอื่น ๆ มีเรือเดินทางไปเออัววันละ 2 รอบ ฮาอะไปและวาวาอูสัปดาห์ละ 2 รอบ รวมถึงมีเรือที่ให้บริการโดยผู้ประกอบการท้องถิ่นเดินทางไปเกาะขนาดเล็กอื่น ๆ ที่อยู่โดยรอบ เช่น ปาไงโมตู โนมูกา เป็นต้น[138]

ทางอากาศ

แก้

ท่าอากาศยานนานาชาติฟูอาอะโมตู (IATA: TBUICAO: NFTF) ตั้งอยู่ห่างจากนูกูอาโลฟาไปทางใต้ประมาณ 21 กิโลเมตร (13 ไมล์) เป็นท่าอากาศยานที่มีความหนาแน่นของผู้ใช้บริการสูงที่สุดในประเทศตองงา ผู้ที่เดินทางมาประเทศตองงาสามารถเปลี่ยนเครื่องบินได้ที่ท่าอากาศยานแห่งนี้เพื่อเดินทางไปส่วนอื่นของประเทศ[139] ปัจจุบันท่าอากาศยานนานาชาติแห่งนี้มีเที่ยวบินทั้งขาเข้าและขาออกรวม 62 เที่ยวบิน เชื่อมต่อ 5 เมืองใน 8 ประเทศ[140] มีสายการบินเรียลตองงาใช้เป็นฐานการบิน และมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงนูกูอาโลฟากับเกาะรอบนอก เช่น ฮาอะไป นีอูอาโตปูตาปู เออัว เป็นต้น อย่างไรก็ตามท่าอากาศยานนานาชาติแห่งนี้ยังไม่มีการเชื่อมโยงกับการขนส่งมวลชนสาธารณะ ผู้โดยสารที่เดินทางมาจากนูกูอาโลฟาต้องใช้รถส่วนตัวหรือแท็กซี่หรือบริการรับส่งท่าอากาศยานของโรงแรมเพื่อเดินทางมาเท่านั้น[139]

เมื่องพี่น้อง

แก้

นูกูอาโลฟามีเมืองพี่น้อง ดังนี้

เชิงอรรถ

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. 1.0 1.1 หากนับตามการแบ่งเขตการปกครองของตองงา พื้นที่กรุงนูกูอาโลฟาเป็นส่วนหนึ่งของเขตโกโลโมตูอาและโกโลโฟโออู
  2. ในภาษาตองงาสามารถถอดชื่อเมืองหลวงแห่งนี้เป็นสัทอักษรได้ว่า /nuku.ˈəloʊfə/[12]
  3. มีข้อสันนิษฐานว่าเจมส์ คุกน่าจะเป็นบุคคลแรกที่ร่างแผนที่บริเวณกรุงนูกูอาโลฟาและพื้นที่ใกล้เคียง
  4. ปัจจุบันอาคารรัฐสภาแห่งนี้ได้พังลงเมื่อ ค.ศ. 2018 จากพายุไซโคลนกิตา[29]
  5. โฟโนเป็นการประชุมของ��ุมชนเพื่อหารือประเด็นสำคัญ
  6. สถาปัตยกรรมแบบฟาเลเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยม มุงหลังคาด้วยใบมะพร้าวหรือกกหรือไม้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 "Tonga 2016 Census of Population and Housing Volume 1:BASIC TABLES AND ADMINISTRATIVE REPORT" (PDF). Tonga Statistics Department. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 "Tonga 2016 Census of Population and Housing Volume 2:ANALYTICAL REPORT" (PDF). Tonga Statistics Department. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020.
  3. "TWENTY-SECOND SOUTH PACIFIC CONFERENCE" (PDF). SOUTH PACIFIC COMMISSION. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2020.[ลิงก์เสีย]
  4. 4.0 4.1 Dickinson, William; Burley, David (1999). "Holocene Paleoshoreline Record in Tonga: Geomorphic Features and Archaeological Implications". Journal of Coastal Research. 15 (3): 682–700.
  5. 5.0 5.1 5.2 "Uranium dating shows Polynesians came to Tonga in 826 BC". Carina Boom. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 ธันวาคม 2013. สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2020.
  6. "History". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2020.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Van der Grijp, Paul (2014). Manifestations of Mana: Political Power and Divine Inspiration in Polynesia. LIT Verlag Münster. ISBN 9783643904966.
  8. 8.0 8.1 8.2 Niumeitolu, Heneli T. (2007). "The State and the Church, the state of the Church of Tonga" (PDF).
  9. 9.0 9.1 "The Tupou Dynasty". royalark. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2020.
  10. 10.0 10.1 10.2 10.3 "Tonga: Migration and the Homeland". Migration Policy Institute. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
  11. "Australia–Oceania: Tonga". CIA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 พฤษภาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2020.
  12. LEXICO. "Nuku'alofa:Definition of Nuku'alofa by Oxford Dictionary". สืบค้นเมื่อ 5 กรกฎาคม 2020.[ลิงก์เสีย]
  13. 13.0 13.1 Vason, George (1810). An authentic of narrative of four years residence at one of the Friendly Islands. J. Staford.
  14. 14.0 14.1 Mariner, William (1818). An Account of the Natives of the Tonga Islands.
  15. Rowe, Stringer G (1885). A Pioneer, A Memoir of The Rev. John Thomas.
  16. Monfat, A (1893). Les Tonga; ou, Archipel des Amis et le R. P. Joseph Chevron de la Société de Marie.
  17. Latukefu, Sione (1969). "The case of the Wesleyan Mission in Tonga". Journal de la Société des Océanistes. 25: 95–112.
  18. Chino, K. (2002). "Lapita Pottery – Ties in the South Pacific". Wave of Pacifika. Tokyo: Sasakawa Pacific Island Nations Fund (SPINF). 8.
  19. "The first Tongans". Matangi Tonga. สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2020.
  20. "Tu'i Tonga". Palace Office. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 พฤษภาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2020.
  21. Urbanowicz, Charles (1977). "MOTIVES AND METHODS: MISSIONARIES IN TONGA IN THE EARLY 19TH CENTURY". The Journal of the Polynesian Society. 86 (2): 245–263.
  22. Cook, James (1783). A voyage to the Pacific Ocean.
  23. 23.0 23.1 Farmer, Sarah Stock (1885). Tonga and the Friendly Islands: With A Sketch of the Mission History.
  24. "Haʿapai Group". Encyclopædia Britannica. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2020.
  25. "Act of Constitution of Tonga". WIPO Lex. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 สิงหาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 9 สิงหาคม 2020.
  26. Quanchi, Max (2005). Historical Dictionary of the Discovery and Exploration of the Pacific Islands. Scarecrow Press. ISBN 9780810865280.
  27. "royal palace, kingdom of tonga". Swan Railley Architects. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 มกราคม 2021. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2020.
  28. "History". Parliament of Tonga. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 สิงหาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2020.
  29. "Tonga parliament building flattened by Cyclone Gita". BBC. สืบค้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2020.
  30. "Mala'ekula". Palace Office. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2020.
  31. "The Ancient Capitals of the Kingdom of Tonga". UNESCO. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2020.
  32. VAN DER GRIJP, PAUL (1993). "THE MAKING OF A MODERN CHIEFDOM STATE: THE CASE OF TONGA". Bijdragen Tot De Taal-, Land- En Volkenkunde. 149 (4): 661–672.
  33. RATUVA, STEVEN (2019). Contested Terrain: Reconceptualising Security in the Pacific. Australia: ANU Press. ISBN 9781760463199.
  34. "Soldiers from Tonga in the Great War". TONGA IN WORLD WAR 1. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2020.
  35. 35.0 35.1 Amanda L. SullivanLee. "A BRIEF HISTORY OF THE TONGAN MILITARY FROM THE LATE NINETEENTH CENTURY TO THE PRESENT" (PDF). UNIVERSITY OF HAWAI‘I AT MĀNOA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 12 พฤษภาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2020.
  36. Kohn, George C. (2008). Encyclopedia of plague and pestilence: from ancient times to the present. Infobase Publishing. p. 363. ISBN 978-0-8160-6935-4.
  37. "Three months of horror: a century since the Spanish flu ravaged Tonga". Matangi Tonga. 23 สิงหาคม 2020.
  38. "Tonga profile". BBC Asia-Pacific. 9 สิงหาคม 2020.
  39. "No resolution in sight in Tonga". tvnz. 30 สิงหาคม 2005. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2014.
  40. "Rioting crowd leaves leaves trail of wreckage in Nuku'alofa". Matangi Tonga Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2007. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2014.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  41. "Six found dead after Tonga riots". BBC. 17 พฤศจิกายน 2006. สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2020.
  42. "MACROECONOMIC PERFORMANCE" (PDF). Asian Development Bank. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2020.
  43. "Tonga to start repaying loan for Nuku'alofa reconstruction". Radio New Zealand. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2014.
  44. 44.0 44.1 44.2 44.3 44.4 44.5 44.6 "Nukuʿalofa". ENCYCLOPÆDIA BRITANNICA. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020.
  45. Lal, Brij V. (2000). The Pacific Islands: An Encyclopedia. University of Hawaii press. ISBN 082482265X.
  46. "Elevation of Nuku`alofa,Tonga Elevation Map, Topo, Contour". FloodMap.net. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020.
  47. Mimura, Nobuo; Pelesikoti, Netatua (1997). "VULNERABILITY OF TONGA TO FUTURE SEA-LEVEL RISE". Journal of Coastal Research: 117–32.
  48. Gibbs, H.S. (1976). Soils of Tongatapu, Tonga. N.Z. soil survey report. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020.
  49. "Tsunami warning in Tonga, US West Coast after powerful volcanic eruption". CNA (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 มกราคม 2022. สืบค้นเมื่อ 15 มกราคม 2022.
  50. "Massive Tonga Volcanic Eruption Caused "Significant Damage"" (ภาษาอังกฤษ). NDTV. สืบค้นเมื่อ 16 มกราคม 2022.
  51. "Tongans told to stay indoors to avoid inhaling volcanic ash that may devastate their environment for years, say scientists". Abc.net.au. 18 มกราคม 2022. สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2022.
  52. 52.0 52.1 52.2 52.3 "The Kingdom of Tonga's Initial National Communication" (PDF). The Kingdom of Tonga’s Initial National Communication. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020.
  53. 53.0 53.1 53.2 "Nuku'alofa Climate Info". Weatherbase. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020.
  54. United Nations. Department for Economic and Social Information and Policy Analysis. Statistics Division, United Nations Centre for Human Settlements (1995). Compendium of Human Settlements Statistics 1995. United Nations. ISBN 9211613787. {{cite book}}: |last= มีชื่อเรียกทั่วไป (help)
  55. "THE LOCAL GOVERNMENT SYSTEM IN TONGA" (PDF). Commonwealth Local Government Forum. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020.
  56. 56.0 56.1 56.2 "District and Town Officers Act" (PDF). Tongan Legislation. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2020.
  57. Sansom, Graham (2013). Principles for Local Government Legislation: Lessons from the Commonwealth Pacific. Commonwealth Secretariat. ISBN 9781849290890.
  58. Asian Development Bank (2012). The State of Pacific Towns and Cities: Urbanization in ADB's Pacific Developing Member Countries. Asian Development Bank. ISBN 9789290928706.
  59. Dorall, Cheryl (2004). Commonwealth Ministers Reference Book 2003. Commonwealth Secretariat. ISBN 0850927935.
  60. "Australian High Commission: Kingdom of Tonga". Australian High Commission. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
  61. "New Zealand High Commission, Nuku'alofa, Tonga". New Zealand High Commission. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
  62. "Embassy of the People's Republic of China". Embassy of the People's Republic of China. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
  63. "Embassy of Japan in the Kingdom of Tonga". Embassy of Japan in the Kingdom of Tonga. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
  64. "Resident High Commissioner to Tonga announced as British embassy reopens". Radio New Zealand. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
  65. "TONGA STRATEGIC DEVELOPMENT FRAMEWORK" (PDF). MINISTRY OF FINANCE AND NATIONAL PLANNING. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2020.
  66. "About the National Reserve Bank of Tonga". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2012. สืบค้นเมื่อ 3 กันยายน 2012.
  67. "POST DISASTER RAPID ASSESSMENT" (PDF). Government of Tonga. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2020.
  68. "AN ANALYSIS OF THE INCREASING HARDSHIP AND POVERTY IN THE KINGDOM (BASED ON THE 2009 HOUSEHOLD INCOME & EXPENDITURE SURVEY DATA)" (PDF). MINISTRY OF FINANCE AND NATIONAL PLANNING. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2020.
  69. 69.0 69.1 Tupouniua, M. U. (1960). "A Note on Economic Development in Tonga". The Journal of the Polynesian Society. 69 (4): 405–408.
  70. 70.0 70.1 70.2 Kerry, James (1993). "Cutting the Ground from under Them? Commercialization, Cultivation, and Conservation in Tonga" (PDF). The Contemporary Pacific. 5 (2): 215–242.
  71. "Langafonua Gallery and Handicrafts Centre". AFAR. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 กันยายน 2021. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2020.
  72. "Holiday market sells handicrafts for Christmas". Matangi Tonga. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2020.
  73. 73.0 73.1 73.2 "TONGA DOMESTIC MARKET STUDY USING THE DOMESTIC MARKET SURVEY REPORT TO INVESTIGATE SELECTED POLICY ISSUES" (PDF). FOOD AND AGRICULTURE ORGANIZATION. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2020.
  74. "Nuku'alofa's Talamahu Market reopens for handicraft sellers". Matangi Tonga. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2020.
  75. 75.0 75.1 "Fishery and Aquaculture Country Profiles: The Kingdom of Tonga". FOOD AND AGRICULTURE ORGANIZATION. สืบค้นเมื่อ 23 สิงหาคม 2020.
  76. 76.0 76.1 "Small Industries Center (SIC), Now a public enterprise". Ministry of Information and Communications. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 ธันวาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2020.
  77. Skully, Michael T (1987). Financial Institutions and Markets in the South Pacific: A Study of New Caledonia, Solomon Islands, Tonga, Vanuatu and Western Samoa.
  78. 78.0 78.1 78.2 78.3 78.4 Asleson, Kate (2011). Tonga. Other Places Publishing. ISBN 9780982261941.
  79. "The Ultimate Guide to the Nightlife in Tonga". Tonga Pocket Guide. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2020.
  80. "The Ultimate Guide to the Nightlife on Tongatapu". Tonga Pocket Guide. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2020.
  81. 81.0 81.1 81.2 Connell, John (1995). Pacific 2010: Urbanisation in Polynesia. National Centre for Development Studies, Research School of Pacific and Asian Studies, Australian National University. ISBN 9780731519545.
  82. "Population and Housing Census 2011" (PDF). Tonga Statistics Department. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020.
  83. "Population and Housing Census 2006" (PDF). Tonga Statistics Department. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020.
  84. "Population and Housing Census 1996" (PDF). Tonga Statistics Department. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020.
  85. "Nuku'alofa Urban Development Sector Project" (PDF). Asian Development Bank. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020.
  86. "Making a Case for Tongan as an Endangered Language" (PDF). Yuko Otsuka. สืบค้นเมื่อ 7 กรกฎาคม 2020.
  87. Grant, Elizabeth (2018). The Handbook of Contemporary Indigenous Architecture. Springer. ISBN 9811069042.
  88. 88.0 88.1 Bill McKay. "A guide to the architecture of the Pacific: Kingdom of Tonga". สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2020.
  89. Charmaine 'Ilaiu. "Building Tonga's Western fale". สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2020.
  90. Bill McKay. "A field guide to the architecture of the South Pacific". สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2020.
  91. Paula Folau Nonu. "RECONNECTING WITH THE PAST:TRADITIONAL TONGAN ARCHITECTURE AS AN EDUCATIONAL DEVICE FOR THE TONGAN PEOPLE". สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2020.
  92. "The Guide to Nuku'alofa on a Budget". สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2020.
  93. "Top Cheap Eats in Nuku'alofa". สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2020.
  94. "BEST ISLAND EATING IN TONGATAPU". สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2020.
  95. 95.0 95.1 "Events, Conferences, Public Holidays & Festivals in Tonga". Tonga Pocket Guide. สืบค้นเมื่อ 8 กรกฎาคม 2020.
  96. "Tonga postpones Heilala 2020 because of Covid-19 threat". Radio New Zealand. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2020.
  97. "Heilala Festival 2017 In Tonga". Pacific Tourism Organization. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2020.
  98. "Tongan Heilala Festival and Birthday Celebrations". Ashley Cultra. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2020.
  99. "HEILALA FESTIVAL 2015". Kingdom Travel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 เมษายน 2021. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2020.
  100. "Tonga declares public holiday to celebrate rugby league win". Radio New Zealand. สืบค้นเมื่อ 11 กรกฎาคม 2020.
  101. "Tonga Broadcasting Commission". Asia–Pacific Broadcasting Union. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2020.
  102. "New channel launched in Tonga". Radio New Zealand. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2020.
  103. 103.0 103.1 103.2 "Tonga profile - Media". BBC. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2020.
  104. "DIGICEL BRINGS NEW CABLE TV TO TONGA". Pacific Islands Report. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2020.[ลิงก์เสีย]
  105. "Tongan television viewers' bonanza". Matangi Tonga. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2006. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2020.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  106. "Radio Broadcasting in Tonga". RadioStationWorld. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2020.
  107. "TONGA CHRISTIAN RADIO". TONGA CHRISTIAN RADIO. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2020.
  108. "HON Prime minister confirmed that tonga chronicle newspaper is not run by the government". VAVA'U POLITICS. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 มิถุนายน 2020. สืบค้นเมื่อ 1 สิงหาคม 2020.
  109. "Attention NRL: A glorious future awaits in the Pacific". ROAR. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2020.
  110. "Sport: Tonga's Teufaiva Stadium set to re-open". Radio New Zealand. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2020.
  111. "Sport: 'Ikale Tahi hold on for famous win at Teufaiva". Radio New Zealand. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2020.
  112. "'Ikale Tahi beat Western Force 19-15". Matangi Tonga. สืบค้นเมื่อ 24 สิงหาคม 2020.
  113. "2019 Inter-College Sports Competition wraps up". Matangi Tonga. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2020.
  114. "Third South Pacific Mini Games" (PDF). Olympic Review. International Olympic Committee. 1989. p. 112. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF 0.2 MB)เมื่อ 27 พฤษภาคม 2015. สืบค้นเมื่อ 27 พฤษภาคม 2015.
  115. "OCEANIA CHAMPIONSHIPS". Athletics Weekly. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2020.
  116. "OCEANIA JUNIOR CHAMPIONSHIPS". Athletics Weekly. สืบค้นเมื่อ 12 กรกฎาคม 2020.
  117. "TONGA" (PDF). Sprep. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2020.
  118. "ABOUT TONGA POWER LIMITED". TONGA POWER LIMITED. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กันยายน 2020. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2020.
  119. "Upgrading Nuku'alofa's Electricity Distribution Network". TONGA POWER LIMITED. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 สิงหาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2020.
  120. "Tonga Water Supply System Description Nuku'alofa/ Lomaiviti" (PDF). Water Safety Plan Programme:Kingdom Of Tonga. สืบค้นเมื่อ 6 กรกฎาคม 2020.
  121. "The Kingdom of Tonga Health System Review" (PDF). WHO. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2020.
  122. MOET. "Tonga School Level Structure". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2020.
  123. 123.0 123.1 MOET (2013). REPORT OF THE MINISTRY OF EDUCATION AND TRAINING 2013. Government of Tonga.
  124. "Tonga High School celebrates 72nd anniversary". matangitonga. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2020.
  125. "Secondary General information". MOET. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2020.
  126. "ʻATENISI INSTITUTE". ʻATENISI INSTITUTE. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2020.
  127. "Trades training for 543 students in Tonga". Manukau Institute of Technology. สืบค้นเมื่อ 21 สิงหาคม 2020.
  128. "Tongan Institute of Higher Education". Tongan Institute of Higher Education. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 27 กรกฎาคม 2020.
  129. "Tonga Road Network". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2020.
  130. "Tonga look at possible bridge out of Nuku'alofa". สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2020.
  131. "Traffic jams increasing with growing demand for vehicles in 2018". สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2020.
  132. "Driving in Tonga". สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2020.
  133. "Logistics Capacity Assessment" (PDF). สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2020.
  134. "Railways in Tonga". สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2020.
  135. "Bus". สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2020.
  136. "Taxi". สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2020.
  137. "Vuna Wharf" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 19 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2020.
  138. "Tonga Port of Nuku'alofa". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กรกฎาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2020.
  139. 139.0 139.1 "FUA'AMOTU INTERNATIONAL AIRPORT". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 กันยายน 2021. สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2020.
  140. "Tongatapu Fuaʻamotu International Airport TBU". สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2020.
  141. "Whitby's Twin Towns". สืบค้นเมื่อ 19 กรกฎาคม 2020.

บรรณานุกรม

แก้