นิจิเร็นโชชู

(เปลี่ยนทางจาก นิชิเร็นโชชู)

นิกายนิจิเร็นโชชู (ญี่ปุ่น: 日蓮正宗) คือหนึ่งในนิกายฝ่ายมหายานของพระพุทธศาสนานิกายนิจิเร็ง โดยยึดตามคำสอนของพระนิจิเร็นไดโชนิง ซึ้งเชื่อในหมู่ผู้นับถือว่าคือพระพุทธเจ้าแท้จริง มีต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น การปฏิบัติที่รู้จักกันดีคือการสวดไดโมกุ หรือ ธรรมสารัตถที่ว่านัมเมียวโฮเร็งเงเกียว นิกายนี้จัดเป็นนิกายที่มีคำสอนตรงกันข้ามและหักล้างนิกายอื่นๆอย่างชัดเจน อาทิเช่น นิกายเซ็น นิกายชิงงง นิกายสุขาวดี และวัชรยาน เป็นต้น ซึ่งนิจิเร็งได้เห็นความเบี่ยนเบนทางคำสอนของพระพุทธศาสนา และได้หักล้างความเบี่ยนเบนต่าง ๆ เหล่านั้น สาวกคนสำคัญของพระนิจิเร็นไดโชนิง พระนิกโค โชนิง เป็นผู้ก่อตั้งวัดใหญ่ไทเซกิจิ ปัจจุบันมีพุทธศาสนิกชนแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก มีวัดสาขาและศูนย์กลางเผยแผ่ประจำในประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย ศรีลังกา สิงคโปร์ กานา บราซิล อาร์เจนตินา ฮ่องกง มาเลเซีย สเปน และอินเดีย เป็นต้น

อนุสาวรีย์พระนิจิเร็ง ด้านนอกฮนโนจิ ใน อำเภอเทรามาชิ นครเกียวโต

คำสอนของนิกายได้รับการดัดแปลงและเผยแพร่โดยองค์กรทางพุทธศาสนาบางองค์กรจนแตกต่างไปในปัจจุบัน ดังนั้นนิกายนิจิเร็นโชชูจึงไม่มีความเกี่ยวข้องกับองค์กรเหล่านั้นแต่อย่างใด

นิจิเร็นโชชูได้มีการจัดพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสครบรอบ 750 ปีแห่งการก่อตั้งนิกายเมื่อปี ค.ศ. 2002

ประวัติ

แก้

พระนิจิเร็นไดโชนิงคือผู้สถาปนาคำสอนเมื่อวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1253 ขณะที่อายุ 32 ปี ณ เมืองคามากูระ 7 ปีต่อมาท่านได้แต่งหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ ริชโชอังโกกูรงหรือการยังสันติสุขสู่บ้านเมืองด้วยการเผยแผ่คำสอนศาสนาพุทธที่แท้จริง เมื่อ ค.ศ. 1260 เพื่อยื่นเสนอต่อรัฐบาลทหารคามากูระซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของผู้สำเร็จราชการลำดับที่ 5 โฮโจ โทกิโยริ ใจความหนังสือเสนอให้รัฐบาลและชาวญี่ปุ่นเลิกนับถือสนับสนุนคำสอนและนิกายอื่น ๆ ของศาสนาพุทธ และให้หันมาปฏิบัติคำสอนแท้จริงสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวคือสัทธรรมปุณฑริกสูตร โดยกล่าวว่าคำสอนต่าง ๆ ที่แพร่หลายในขณะนั้นล้วนแต่นอกรีตบิดเบือนเจตนาที่แท้จริงของพระพุทธ ปฏิเสธพระพุทธ ปะปนคำสอนจนคลุมเครือปราศจากความถูกต้องและไม่เหมาะกับยุคสมัย ท่านเชื่อว่ารากฐานอันมั่นคงที่เกิดจากคำสอนพุทธศาสนาที่แท้จริงจะทำให้ญี่ปุ่นและทั่วโลกสงบสุขและปลอดภัย เนื่องจากญี่ปุ่นในสมัยนั้นประสบปัญหานานัปการ ทั้งภัยธรรมชาติจากแผ่นดินไหวและพายุที่รุนแรง สภาพอากาศผิดธรรมชาติ โรคระบาด ข้าวยากหมากแพง ความระส่ำระสายแย่งชิงอำนาจภายใน และการคุกคามจากจักรวรรดิมองโกล แต่รัฐบาลทหารคามากูระปฏิเสธข้อเรียกร้องของท่านทุกครั้งที่ท่านยื่นหนังสือฉบับนี้ ท่านจึงปลีกตัวจากคามากูระและเริ่มเตรียมรากฐานการเผยแผ่หลักธรรม

เกี่ยวกับนิกาย

แก้

นิจิเร็นโชชูเป็นนิกายดั้งเดิมของศาสนาพุทธแท้ของพระนิจิเร็นไดโชนิง โดยมีสมาชิกอยู่ทั่วโลก วัดใหญ่ของนิจิเร็นโชชู "วัดไทเซกิจิ" ได้ตั้งอยู่ที่เชิงเขาฟูจิ ประเทศญี่ปุ่น ชื่อของนิกายนี้คือ นิจิเร็นโชชู แปลว่า "นิกายนิจิเร็งดั้งเดิม" และ ในบางครั้งจะถูกเรียกว่า "นิกายฟูจิ" เพราะที่ตั้งของวัดใหญ่นั้นอยู่ที่เชิงเขาฟูจินั่นเอง นิจิเร็นโชชูมีความเชื่อเรื่อง มรดกแห่งหลักธรรม ซึ่งเป็นการส่งต่อแก่นแท้ของคำสอนศาสนาพุทธของพระนิจิเร็นไดโชนิงให้กับพระสังฆราชนิกโกโชนิง ซึ่งเป็นสาวกคนสำคัญของพระนิจิเร็นไดโชนิง ซึ่งได้ถูกเลือกโดยพระนิจิเร็นไดโชนิงให้เป็นพระสังฆราชที่รับหน้าที่เผยแผ่หลักธรรมของศาสนาพุทธแท้ของพระนิจิเร็นไดโชนิงในสมัยปัจฉิมธรรมหลังการดับขันธ์ของท่าน การส่งต่อมรดกแห่งหลักธรรมนี้ถูกส่งมอบให้กับบุคคลเพียงคนเดียว ตามที่ได้ถูกกล่าวไว้ในงานเขียนของพระนิจิเร็นไดโชนิง เรื่อง "หนึ่งร้อยและหกบทความ"

สิ่งสักการบูชาของนิจิเร็นโชชู คือ ไดโงฮนซง (โกฮนซงที่ยิ่งใหญ่) โกฮนซงทั้งหมดจะถูกคัดลอกโดยสมเด็จพระสังฆราชของนิจิเร็นโชชู โดยทำการคัดลอกจากไดโงฮนซง และสร้างความสัมพันธ์กับไดโงฮนซงด้วยพิธีเปิดเนตรโกฮนซงเหล่านี้ต่อหน้าไดโงฮนซง วัดใหญ่ไทเซกิจินั้นได้มีผู้นับถือนิจิเร็นโชชูจากทั่วโลกเดินทางมานมัสการไดโงฮนซงเป็นจำนวนมากทุกปี นิจิเร็นโชชูมีวัดกว่า 700 วัดในประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังมีวัดในต่างประเทศถึง 22 วัด โดยมี 6 วัดในสหรัฐอเมริกา 9 วัดในไต้หวัน 2 วัดในอินโดนีเซีย รวมไปถึง บราซิล ฝรั่งเศส สเปน สิงคโปร์ และกานา

นิจิเร็นโชชูในปัจจุบันอยู่ภายใต้การนำของประมุขสงฆ์ลำดับที่ 68 พระนิชิเนียว โชนิง ซึ่งได้สืบทอดมรดกแห่งหลักธรรมมาตั้งแต่สมัยของพระนิกโกโชนิง โดยได้ส่งต่อมรดกนี้มาเป็นเวลา 750 ปี

พระสงฆ์นิจิเร็นโชชู ได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากพระสงฆ์นิกายอื่น ๆ โดยจะใส่เฉพาะจีวรสีเทาและขาว เท่านั้น ซึ่งเหมือนกับที่พระนิจิเร็นไดโชนิงได้สวมใส่ในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่

นิกายนี้ยึดมั่นในคัมภีร์สัทธรรมปุณฑรีกสูตร (โฮเคเคียว) เป็นหลักโดยถือว่าพระสูตรนี้คือคำสอนที่แท้จริงของพระศากยมุนีพุทธะ พระสูตรอื่น ๆ เป็นเพียงกุศโลบายที่พระองค์ใช้เทศนาสรรพสัตว์เพื่อให้เข้าถึงพระสูตรนี้ในท้ายที่สุด โดยอธิบายว่าพระสูตรอื่น ๆ ในช่วง 42 ปีแรกแห่งการเคลื่อนพระธรรมจักรของพระศากยมุนีคือคำสอนตามใจและสติปัญญาผู้ฟัง ส่วนสัทธรรมปุณฑริกสูตรที่พระองค์เทศนาในช่วง 8 ปีสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพคือคำสอนตามใจและสติปัญญาพระพุทธะเอง

เป้าหมายอีกประการคือมุ่งหวังให้ผู้คนในโลกนับถือคำสอนนี้ทั่วกันทุกคนซึ่งเรียกว่าบรรลุ โคเซ็นรูฟุ พระสงฆ์และฆราวาสจึงร่วมกันเผยแผ่ธรรมะโดยถือเป็นวัตรปฏิบัติอย่างหนึ่งเรียกว่าชากูบูกุ และมีการเยี่ยมเยียนบ้านผู้นับถือด้วยกันเพื่อสวดมนต์ร่วมกัน ศึกษาธรรมะร่วมกัน และหรือให้กำลังใจ ให้คำชี้นำในการปฏิบัติแก่ผู้นับถือใหม่

นิจิเร็นโชชูจะมีการรวมตัวกันเพื่อสวดมนต์ ศึกษาธรรมะอย่างน้อยเดือนละครั้งจนถึงสัปดาห์ละครั้ง ณ สมาคมผู้ปฏิบัติ และหรือเข้าฟังเทศนาธรรมะจากพระสงฆ์ในกรณีที่มีศูนย์กลางเผยแผ่ที่มีพระสงฆ์ประจำหรือวัดในพื้นที่นั้น ๆ

พุทธมามกะนิจิเร็นโชชูจะเรียกสังกัด���นเองว่าฮกเกโกะตามที่ปรากฏในไดโงฮนซง

ข้อคติที่แตกต่างจากนิกายอื่น

แก้
  • ปฏิเสธคำสอนและคัมภีร์ของเถรวาท และของมหายานหลาย ๆ นิกาย ยกเว้นพระสัทธรรมปุณฑริกสูตร
  • ถือคติว่าพระศากยมุนีตรัสรู้พระโพธิญาณมานานแล้ว 500 ธุลีกัป ก่อนหน้าพระชาติเจ้าชายสิทธัตถะ
  • พุทธภาวะนั้นนิรันดร์ ไม่ดับสูญ
  • ปฏิเสธการนิพพานหรือการไม่มาเกิดอีก
  • พุทธเกษตรที่แท้จริงคือสหาโลก ไม่มีโลกอื่น
  • พระพุทธะองค์อื่น ๆ คือบุคลาธิษฐานของพระศากยมุนี
  • พระศากยมุนีพุทธะถ่ายโอนคำสอนทั้งมวลแก่พระโพธิสัตว์จากพื้นโลกที่นำโดยพระวิศิษฐ์จาริตรโพธิสัตต์
  • สานุศิษย์ส่วนใหญ่ในนิกายนิจิเร็งสายอื่นๆ เชื่อว่าพระนิจิเร็นไดโชนิงผู้ก่อตั้งเป็นเพียงพระวิศิษฐ์จาริตรโพธิสัตต์มาปรากฏตัวตามคำพยากรณ์ในสัทธรรมปุณฑริกสูตร
  • สานุศิษย์นิจิเร็นโชชูเชื่อว่าพระนิจิเร็นไดโชนิงเป็นการอุบัติของพระพุทธะแห่งอนาธิกาลแห่งอดีตที่ยาวนานไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด ด้วยเหตุนี้นิจิเร็นโชชูจึงขานนามท่านว่า ไดโชนิง ที่แปลว่า มหาปราชญ์ ขณะที่นิกายนิจิเร็งสายอื่นขานนามเพียง โชนิง
  • สิ่งสักการระบูชาที่แท้จริงและสูงสุดคือ ไดโงฮนซง
  • ไม่มีการกราบไหว้เทพเจ้า พระพุทธรูป ภูติผีปิศาจใด ๆ ไม่ว่าจะของญี่ปุ่นหรืออินเดีย
  • ไม่มีการนั่งสมาธิวิปัสสนา กรรมฐาน

สิ่งเคารพบูชา

แก้

นิกายนี้มีสิ่งสักการบูชาเป็นของตนเรียกว่า โกฮนซง หรือ พระบรมปูชนียวัตถุ ซึ่งเป็นดั่งแผนภูมิจำลองธรรมสภาที่ปรากฏในสัทธรรมปุณฑริกสูตร และเป็นดั่งการจำลองพระสูตรให้เป็นกายภาพ จารึกด้วยอักขระจีนโดยมีคำว่านามูเมียวโฮเร็งเงเกียวนิจิเร็ง (นโม สัทธรรมปุณฑริกสูตร นิจิเร็ง) อยู่ตรงกลางในลักษณะแนวตั้งรายล้อมด้วยตัวแทนสภาพภูมิชีวิตต่าง ๆ สี่มุมของโกฮนซงมีชื่อของท้าวจตุโลกบาลปรากฏอยู่ และปรากฏข้อความสิ่งสักการบูชาสูงสุดของโลกนับจากหลังการปรินิพพานของพระพุทธะ

โกฮนซงประดิษฐานโดยการแขวนไว้ในตู้ไม้ (บุตสึดัง) และมีโต๊ะบูชาที่ประกอบด้วยแจกันใบไม้สีเขียว เชิงเทียน กระถางธูปแนวนอน ระฆังทรงบาตรหงาย มีการถวายถ้วยน้ำและถ้วยข้าวที่หุงขึ้นเองเป็นพุทธบูชาทุกวัน บางโอกาสอาจมีการถวายผลไม้หรืออาหารหรือขนมที่ไม่มีกลิ่นฉุนด้วย โกฮนซงตามบ้านเป็นม้วนกระดาษ ที่ประดิษฐานตามวัดจะจารึกสร้างจากแผ่นไม้โดยประดิษฐานบนแท่นสลักดอกบัว การสร้างโกฮนซงเริ่มขึ้นในสมัยพระนิจิเร็นไดโชนิงด้วยตัวท่านเองเพื่อมอบให้สานุศิษย์ โดยโกฮนซงองค์แรกเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์บีฑาธรรมที่ ทัตสึโนกูชิ ขณะที่ท่านถูกเนรเทศไปเกาะซาโดะ ทุกวันนี้ยังมีโกฮนซงเหล่านั้นบางองค์ตกทอดมาถึงปัจจุบัน

เมื่อผู้นับถือใหม่ผ่านพิธีรับศีล (โกจูไก) ซึ่งประกอบพิธีโดยพระสงฆ์เบื้องหน้าโกฮนซงประจำวัด (โจจูโกฮนซง) จึงจะได้รับมอบโกฮนซงส่วนบุคคลจากทางวัดเพื่อประดิษฐานไว้บูชาในที่พักอาศัย และจะถือเป็นหน้าที่ต้องปกป้องโกฮนซงตลอดไปเสมือนการปกป้องพระพุทธะ ถือประหนึ่งว่าได้นิมนต์พระนิจิเร็นไดโชนิงเข้ามาพำนักในที่พักอาศัยของตน และจะได้รับโกฮนซงเพียงองค์เดียวตลอดชีวิต จะมีการถ่ายโอนให้แก่ลูกหลานที่เป็นนิจิเร็นโชชูเสมือนมรดกทางธรรมะในกรณีเมื่อตนสิ้นชีวิตเท่านั้น หากไม่มีผู้สืบทอดโกฮนซงองค์นั้นจะถูกส่งคืนทางวัดไปเพื่อทำพิธีปิดเนตร แต่เป็นสิ่งที่สะเทือนความรู้สึกชาวนิจิเร็นโชชูเป็นอย่างยิ่ง

โกฮนซงนิจิเร็นโชชูทุกองค์ถือเป็นทรัพย์สินของศาสนจักร โดยถือว่าเป็นการยืมมาสักการะในที่พักอาศัยเท่านั้นและไม่มีการเรียกคืนหรือแลกเปลี่ยนใด ๆ

นิจิเร็นโชชูไม่มีการบูชาเซ่นสรวงพลีกรรมรูปเคารพ พระพุทธรูป เทพเจ้า เทวดาอารักข์ พระภูมิเจ้าที่ต่าง ๆ และเคร่งครัดอย่างยิ่งที่จะไม่ปฏิบัติในศาสนกิจของศาสนาหรือความเชื่ออื่น ๆ อีก

ไดโงฮนซง

แก้

สิ่งสักการบูชาสูงสุดและเป็นศูนย์รวมความศรัทธาของนิจิเร็นโชชูคือ ไดโงฮนซง (Daigohonzon-Great gohonzon) หรือพระมหาบรมปูชนียวัตถุ มหามณฑลซึ่งจารึกสร้างขึ้นโดยพระนิจิเร็นไดโชนิง เมื่อ ค.ศ. 1279 ด้วยเหตุปัจจัยจากการประสบบีฑาธรรมร่วมกับสานุศิษย์ที่สละชีวีตของตน ณ ตำบลอัตสึฮาระ โดยถือเป็นโกฮนซงที่จะเปิดสู่สาธารณชนเมื่อการโคเซ็นรูฟุบรรลุผล นิจิเร็นโชชูเชื่อว่าชีวิตจิตใจของพระนิจิเร็นไดโชนิงและพลังพุทธานุภาพไร้ขอบเขตสถีตในไดโงฮนซงองค์นี้ โกฮนซงที่ประดิษฐานตามวัดสาขาหรือตามบ้านของสานุศิษย์ทุกองค์ล้วนมีจุดกำเนิดและรูปแบบจากมหามณฑลนี้ โดยมีพระสังฆนายกเป็นผู้คัดลอกเและประกอบพิธีเบิกเนตรโกฮนซงองค์ใหม่เบื้องหน้าไดโงฮนซงเท่านั้น

ปัจจุบันไดโงฮนซงประดิษฐานอยู่ ณ หอประดิษฐานสถานโฮอันโดะ วัดไทเซกิจิ จังหวัดชิซูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น วัดนี้จัดอยู่ในทะเบียนสมบัติประจำชาติญี่ปุ่นอีกด้วย ในแต่ละปีจะมีพุทธศาสนิกชนนิจิเร็นโชชูทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ เดินทางมาแสวงบุญ (การโทซัง) ที่วัดไทเซกิจิเพื่อเข้าสักการะไดโ���ฮนซงเป็นจำนวนมาก (พิธีโกไคฮิ) และเป็นการเจริญรอยตามสานุศิษย์นิจิเร็นโชชูรุ่นแรก ๆ ที่เดินทางเป็นระยะทางไกลเพื่อเยี่ยมเคารพพระนิจิเร็นไดโชนิง

ความสำคัญพิเศษอีกประการหนึ่งคือการกล่าวถึงมหาธรรมเร้นลับ 3 ประการ (ซันไดฮิโฮ) ซึ่งได้แก่

  • สิ่งสักการบูชาแห่งคำสอนที่แท้จริง (ฮมมนโนฮนซน) หมายถึงไดโงฮนซง
  • คำสวดแห่งคำสอนที่แท้จริง (ฮมมนโนไดโมกุ) หมายถึงนัมเมียวโฮเร็งเงเคียว
  • มหาวิหารแห่งคำสอนที่แท้จริง (ฮมมนโนไกดัง) หมายถึงสถานที่ที่ไดโงฮนซงประดิษฐานซึ่งก็คือวัดไทเซกิจิ

ทั้งสามประการขยายมาจากมหาธรรมเร้นลับ 1 ประการซึ่งคือ"ไดโงฮนซงแห่งมหาวิหารที่แท้จริงแห่งคำสอนที่แท้จริง" (ฮมมงไกดังโนไดโงฮนซง) ที่ว่าเร้นลับเพราะนิจิเร็นโชชูเชื่อว่าเป็นส่วนที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกระหว่างบรรทัดของสัทธรรมปุณฑริกสูตร ไม่มีการเปิดเผยตลอดช่วงเวลาก่อนพระนิจิเร็งไดโช

เมื่อความมุ่งหวังให้ทุกตัวคนในโลกปฏิบัติศรัทธาธรรมะนี้ประสบเป็นจริง วัดไทเซกิจิจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็นวัดฮมมนจิ (วัดแห่งคำสอนแท้จริง) ตามคำบัญชาของพระนิจิเร็นไดโชนิงก่อนการดับขันธ์

นิจิเร็นโชชูอุปมาความสัมพันธ์ของแหล่งกำเนิดแห่งกุศลผลบุญไว้ว่าไดโงฮนซงเปรียบเสมือนรากของต้นไม้ โกฮนซงตามวัดสาขาเป็นดั่งกิ่งก้าน และโกฮนซงตามบ้านสานุศิษย์คือใบไม้

อนึ่งนิกายนิจิเร็งสายอื่น ๆ ไม่ถือคติว่าไดโงฮนซงคือจุดหมายในการมาเกิดของพระนิจิเร็นไดโชนิงเหมือนนิจิเร็นโชชู และไม่สังกัดต่อวัดไทเซกิจิ บางนิกายสักการะพระพุทธรูป รูปปั้นหรือภาพวาดพระพุทธะองค์อื่นหรือของพระโพธิสัตต์ บางนิกายสักการะเทวรูปหรือยันต์ของชินโต หรือผสมผสานกัน

หลักปฏิบัติ

แก้

หลักปฏิบัติพื้นฐานของนิกายนี้คือ

  • ศรัทธา ปฏิบัติ ศึกษา

ศรัทธา คือการใช้ความศรัทธาที่จริงใจและบริสุทธิ์ใจในพระสัทธรรมปุณฑริกสูตรแทนที่สติปัญญาอันจำกัดของปุถุชน นิจิเร็นโชชูจะเน้นมากในด้านความศรัทธา

ปฏิบัติ คือการนำคำสอนมาใช้ในชีวิต ดำเนินชีวิตถูกต้องตามหลักธรรม หมั่นภาวนาไดโมกุ ขัดเกลาอุปนิสัย และบำเพ็ญเพียรแนะนำธรรมแก่ผู้อื่น

ศึกษา คือการมีหนี่งใจใฝ่หาธรรมะทำความเข้าใจคำสอนให้ถ่องแท้

นิจิเร็นโชชูจะศึกษาคำสอนจากบทธรรมนิพนธ์ของพระนิจิเร็นไดโชนิง (โงโช) ซึ่งก็คือจดหมายหลายร้อยฉบับที่พระนิจิเร็งเขียนถึงสานุศิษย์หรือคำเทศนาปากเปล่าของท่านที่ได้รับการจดบันทึกไว้ โดยมีพระสงฆ์อรรถาธิบายอีกต่อหนึ่ง เมื่อใดที่พระสงฆ์อธิบายข้อธรรมหรือตอบคำถามของผู้นับถือจะต้องหยิบยกข้อความจากบทธรรมนิพนธ์มาเกริ่นนำเสมอ ปัจจุบันบทธรรมนิพนธ์เหล่านี้ทั้งต้นฉบับจริงหรือสำเนาคัดลอกล้วนถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดไทเซกิจิในฐานะสมบัติศักดิ์สิทธิ์ บทธรรมนิพนธ์ที่สำคัญๆตามการจำแนกของนิจิเร็นโชชูอันเปรียบเสมือนเพชรยอดมงกุฎมีอยู่ 10 ฉบับ ได้แก่ 1.ไดโมกุแห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตร 2.การยังสันติสุขสู่บ้านเมืองด้วยการเผยแผ่ศาสนาพุทธที่แท้จริง 3.เปิดดวงตา 4.วัตถุบูชาที่แท้จริง 5.การเลือกเวลา 6.การตอบแทนหนี้บุญคุณ 7.สาระสำคัญของสัทธรรมปุณฑริกสูตร 8.ความศรัทธา 4 ขั้นและการปฏิบัติ 5 ขั้น 9.ปุจฉาวิสัชนาเกี่ยวกับโกฮนซง และ 10.จดหมายตอบชิโมมายะ

  • สวดพระสูตรและไดโมกุ (ธรรมสารัตถ) ที่ว่า นัมเมียวโฮเร็งเงเกียว ("ขอนอบน้อมอุทิศชีวิตแด่พระสัทธรรมปุณฑริกสูตร") ทุกเช้าเย็นต่อโกฮนซงเป็นกิจวัตรอันสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ และต้องถือการปฏิบัตินี้เป็นหนึ่งในชีวิตประจำวัน พิธีการนี้เรียกว่า งงเกียว หรือ การทำวาระเช้าเย็น โดยนิจิเร็นโชชูเชื่อว่าเป็นวิธีปลุกธรรมชาติพุทธะที่อยู่ในตนให้ตื่นขึ้นโดยอาศัย 4 พลังมหัศจรรย์คือ พลังพุทธะ พลังธรรมะในโกฮนซง พลังศรัทธา และ พลังการปฏิบัติ ในผู้ปฏิบัติเพื่อมุ่งหวังให้เกิดการประสานความจริงกับปัญญา (เคียวชิเมียวโกะ) มีพุทธิปัญญาในการดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามหลักธรรมะ กำจัดกรรมด้านลบ และชำระอยาตนะทั้ง 6 ให้บริสุทธิ์สะอาดมากยิ่งขึ้น วันละ 2 ครั้งเช้าเย็นโดยแบ่งเป็นเช้า 5 วาระและเย็น 3 วาระ นิจิเร็นโชชูจะทำวาระและสวดไดโมกุเบื้องหน้าโกฮนซงเท่านั้น

-ธรรมสารัตถนี้อธิบายได้ว่า นัมคือ นโม อุทิศชีวิต เมียวคือ มหัศจรรย์ เร้นลับเหนือความเข้าใจคาดคะเน โฮคือ ธรรมะ ความจริง เร็งเงคือ บัวขาวหรือปุณฑริก เคียวคือพระสูตร ฉะนั้นบ่อยครั้งที่คำสอนของพระนิจิเร็นไดโชนิงจะถูกนิจิเร็นโชชูเรียกว่าเมียวโฮ (ธรรมมหัศจรรย์)

-ส่วนพระสูตรนั้น นิจิเร็นโชชูจะสวดพระสูตรเพียง 2 บทใน 28 บทเท่านั้นเพราะเชื่อว่าคือบทที่สำคัญที่สุด สองบทนั้นได้แก่

1.บทโฮเบ็ง (บทกุศโลบาย) บทคัดย่อของบทร้อยแก้วของบทที่ 2 แห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตร พระศากยมุนีเปิดเผยว่าคำสอนที่ผ่านมาคือกุศโลบาย ทรงใช้หลากหลายยุทธวิธีในการสั่งสอนสรรพสัตว์ให้หันเข้าสู่พระโพธิญาณ ทรงแสดงธรรมถึงความสอดคล้องของปรากฏการณ์ทั้งปวง

2.บทจูเรียว (บทพระชนมายุกาลของพระตถาคตเจ้า) บทร้อยกรองและร้อยแก้วของบทที่ 16 แห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตร พระศากยมุนีเปิดเผยว่าพระองค์บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณมาเนิ่นนานแล้ว และพระชนมายุกาลเป็นนิรันดร์ ทรงดำรงอยู่ในฐานะพระพุทธะแห่งอดีตอันไกลโพ้น ทรงแสดงธรรมถึงความเป็นไปได้ของสรรพสิ่ง ทุกสภาพชีวิตในการบรรลุพุทธภาวะ บทนี้นิจิเร็นโชชูเชื่อว่าคือใจความหลักของพระสูตร

ขณะทำวาระนิจิเร็นโชชูทั้งพระสงฆ์และฆราวาสจะใช้ลูกปะคำคล้องนิ้วกลางทั้งสองข้างที่พนมมืออยู่โดยบิดสายปะคำให้คล้ายเลข 8 ลูกปะคำใช้แทนความหมายถึงชีวิต นิจิเร็นโชชูบางคนจะพกไว้ติดตัวเสมอแต่ไม่ถือเป็นเครื่องรางของขลังกันภัย

จุดมุ่งหมายของผู้ปฏิบัติคือการขัดเกลาอุปนิสัย บำเพ็ญตนให้ถูกต้องตามหลักธรรม แก้ไขชะตากรรม เป็นอิสระจาก 3 หนทางแห่งกิเลส กรรมและความทุกข์ ได้มีชีวิตดั่งวลีที่ปรากฏในพระสูตรว่า"ชีวิตที่สุขสงบมั่นคงในชาตินี้และสิ่งแวดล้อมที่ดีในชาติหน้า" ท้ายที่สุดคือการบรรลุพุทธภาวะในรูปกายปัจจุบัน (โซกูซินโจบุตสึ) ซึ่งเป็นคำสอนในนิกายนี้ที่ลึกซึ้งที่สุด

หลักคำสอนพื้นฐาน

แก้

หลักคำสอนมีความคล้ายคลึงกับนิกายเทียนไท้หรือนิกายเท็นได ( นิกายสัทธรรมปุณฑริก ) ของท่านมหาธรรมาจารย์จื้ออี้ (ค.ศ 538-597) พระภิกษุชาวจีน ที่ยึดสัทธรรมปุณฑริกสูตรเป็นพระสูตรหลักเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งคำสอนของพระศากยมุนีเป็น 5 ช่วง ลักษณะคำสอน 4 ประการ หรือคำสอนที่กล่าวถึงเอกภวังคจิตธรรมธาตุ (อิชิเน็นซันเซ็ง-หนึ่งขณะจิตสามพันสภาวะ) ที่ปรากฏในคัมภีร์"มหาสมถวิปัสนา" (มากาชิกัง) ของท่าน แต่นิจิเร็นโชชูถือว่าเทียนไท้เป็นเพียงคำสอนภาคทฤษฎีที่ใช้ทำความเข้าใจพระสูตร แม้กระนั้นนิจิเร็นโชชูก็เคารพท่านจื้ออี้ในฐานะพระพุทธะเช่นกันเนื่องจากท่านได้สนับสนุนส่งเสริมสัทธรรมปุณฑริกสูตรเป็นอย่างมาก ทั้งยังนิพนธ์คัมภีร์และปกรณ์ที่อธิบายความหมายคำสอนและความสูงส่งสำคัญของสัทธรรมปุณฑริกสูตรไว้ ได้แก่ คำและวลีของสัทธรรมปุณฑริกสูตร (ฮกเกมงงุ) ความหมายลึกซึ้งของสัทธรรมปุณฑริกสูตร (ฮกเกเก็นจิ) และมหาสมถวิปัสนา (มากาชิกัง) ทัศนคติที่ต่างกันอีกคือนิจิเร็นโชชูจะแบ่งประเภทโดยมองว่าศาสนาพุทธของพระศากยมุนีเป็นศาสนาพุทธแห่งการสุกงอมและเก็บเกี่ยวผล ในขณะที่ศาสนาพุทธของพระนิจิเร็งคือศาสนาพุทธแห่งการหว่าน (เมล็ดพุทธะ) เนื่องจากปุถุชนในปัจจุบันไม่มีกรรมสัมพันธ์โดยตรงกับพระศากยมุนีมาก่อน

นิจิเร็นโชชูแบ่งพระศาสนกาลออกเป็น 3 ช่วงโดยยึดตามพระสูตรมหายานคือ

  • สมัยสุทธิธรรม (โชโฮ) 0ถึง1000ปีหลังพระปรินิพพาน พระธรรมยังบริสุทธิ์ พระสาวกบรรลุธรรมได้ฉับพลันเพราะมีพีชกุศลกับพระศากยมุนี
  • สมัยรูปธรรม (โซโฮ) 1001ถึง2000ปีหลังพระปรินิพพาน พระธรรมเน้นที่พิธีกรรม พระสาวกทะยอยดับขันธ์สิ้น
  • สมัยปัจฉิมธรรม (มัปโป) 2001ปีหลังพระปรินิพพานจนถึงอนาคตกาล (ยุคปัจจุบันจัดอยู่ในสมัยนี้) พระธรรมสูญหาย คำสอนกุศโลบายสิ้นประสิทธิภาพ เป็นสมัยแห่งความสกปรก มลทิน เป็นเวลาแห่งสัทธรรมปุณฑริกสูตร

อนึ่ง เงื่อนเวลาตามความเชื่อในพระสูตรมหายานจะเก่ากว่าปีพุทธศักราชตามคติไทยประมาณ500ปี

นิจิเร็นโชชูปฏิเสธการนิพพานหรือการไม่มาเกิดอีก แต่จะเน้นในเรื่องการรู้แจ้งเห็นจริงของชีวิต โดยมองว่าแท้จริงแล้วการนิพพานคือการบรรลุสภาพภูมิชีวิตพุทธะ และพุทธภาวะนั้นนิรันดร เป็นสากล

นินในมุมมองของนิจิเร็นโชชู พระรัตนตรัยจะประกอบด้วย 1.พระนิจิเร็นไดโชนิงแทนพุทธรัตนะ (บุปโป) 2.ไดโงฮนซงแทนธรรมรัตนะ (โฮโฮ) และ 3.คณะสงฆ์แทนสังฆรัตนะ (โซโบ)

คำสอนอื่น ๆ ที่ลึกซึ้งน่าสนใจมีอาทิเช่น

  • กฎแห่งเหตุและผล เหตุและผลเกิดขึ้นพร้อมกัน มิใช่มีเหตุแล้วค่อยเกิดมีผล เหมือนการปลูกมะม่วงในวันนี้ย่อมได้ผลมะม่วงแม้จะยังไม่เห็นการออกดอกผล เพราะความแน่นอนของการออกผลเป็นมะม่วงมิใช่ผลไม้อื่น มีสมบูรณ์พร้อมในเมล็ดมะม่วงที่ใช้ปลูก
  • สิ่งแวดล้อมและตัวตนไม่แยกจากกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สะท้อนสภาพชีวิตของคนๆหนึ่ง
  • ทุกปรากฏการณ์สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นจรดปลาย
  • หนึ่งขณะจิตมีสามพันสภาวะทุกหนึ่งขณะจิตของสรรพสิ่งมีธรรมชาติพุทธะ
  • สิบโลกภูมิ สภาพภูมิชีวิตที่จิตมนุษย์วนเวียนในทุกขณะ อันได้แก่
  1. นรก คือ ภาวะจิตเป็นทุกข์ เดือดร้อน
  2. เปรต คือ ภาวะจิตกระหายอยากได้ โลภ
  3. เดรัจฉาน คือ ภาวะจิตเห็นแก่ตัว หลงผิด
  4. อสุระ คือ ภาวะจิตขุ่นมัว โมโห โกรธ พยาบาท ไม่พอใจ ใช้กำลังห้ำหั่น
  5. มนุษย์ คือ ภาวะจิตมีเหตุผล รู้หน้าที่ เป็นปรกติ
  6. เทวะ คือ ภาวะจืตเป็นสุขชั่วขณะ สมหวัง พอใจ
  7. ศึกษา คือ ภาวะจิตทีมุ่งมั่นศึกษาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
  8. สมาธิ คือ ภาวะจิตมุ่งมั่นกระทำจนสำเร็จ
  9. โพธิสัตต์ คือ ภาวะจิตเมตตา ปราณี
  10. พุทธะ คือ ภาวะจิตเป็นสุข อิ่มเอม มั่นคงถาวรตลอดกาล รู้แจ้งความเป็นจริงแห่งอดีต ปัจจุบัน อนาคต
  สิบโลกภูมินี้ยังสามารถซ้อนซึ่งกันและกันด้วยเป็น10x10=100โลกภูมิ เช่น ภาวะจิตที่มารดาเป็นทุกข์เพราะบุตรป่วยไข้เทียบได้กับนรกภูมิซ้อนโพธิสัตต์ภูมิ เป็นต้น คำสอนนี้คือการปฏิเสธนรกใต้ดินและสวรรค์บนชั้นฟ้าภายนอกตัวเรา
  • สมบัติ 3 ชนิด คือ สมบัติในคลัง สมบัติในกาย และสมบัติในใจ
  • ธรรมบาลเทวะกลับคืนถิ่นที่อยู่ การปฏิเสธคำสอนแท้จริง ยึดถือคำสอนชั่วคราวจึงเป็นเหตุให้ธรรมบาลเทวะผู้มีหน้าที่คุ้มครองสหโลกปราศจากกุศลผลบุญ และกลับคืนถิ่นที่อยู่ คำสอนนี้ใช้อธิบายถึงความเกี่ยวพันกันระหว่างศาสนาพุทธกับความสงบสุขของบ้านเมือง
  • เปลี่ยนพิษเป็นยา เปลี่ยนหนทางชั่วเป็นหนทางแห่งการรู้แจ้ง เหมือนนายแพทย์ผู้ชำนาญสามารถใช้ยาพิษในการรักษาโรคร้าย
  • กิเลสคือโพธิญาณ กิเลสเป็นปัจจัยในการใฝ่หาพระโพธิญาณ เพราะมีกิเลสจึงมีพระโพธิญาณ เหมือนเป็นสองแต่ไม่ใช่สอง ชีวิตจะขาดกิเลสมิได้หากแต่ต้องควบคุมมันมิใช่ตัดทิ้งไป พระพุทธะก็มีกิเลสแต่กิเลสไม่มีผลต่อพระพุทธะเปรียบเสมือนตะกอนของน้ำที่นอนก้นอยู่
  • การบรรเทาผลกรรมของคนคนหนึ่ง ด้วยการยึดมั่นในคำสอนแท้จริงจะสามารถบรรเทาผลกรรมให้ได้รับน้อยกว่าไปรอรับในอนาคต
  • การบรรลุพุทธภาวะในรูปกายปัจจุบัน การรู้แจ้งเห็นจริงของชีวิตโดยที่ไม่ต้องรอเกิดใหม่หรือเปลี่ยนหน้าตา เพศ รูปร่างไป และยังหมายรวมไปถึงการมีท่าทีที่สงบสุขสามารถสวดไดโมกุได้ในวาระสุดท้าย ลมหายใจสุดท้ายของชีวิต

เป็นต้น

นิกายและลัทธิที่แตกแขนง

แก้

คำสอนและคำสวดของนิกายเป็นที่ดลใจให้เกิดลัทธิใหม่ๆในญี่ปุ่น บางลัทธิยืมคำสวดแต่สร้างหรือดัดแปลงคำสอนขึ้นเอง เช่น สมาคมมิตรแห่งจิตวิญญาณหรือไรยูไก (ค.ศ. 1925) ริซโซโกไซไก (ค.ศ. 1938) และสมาคมสร้างคุณค่าหรือโซกางักไกนานาชาติ (SGI) ซึ่งในปัจจุบันลัทธิเหล่านี้ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับนิกายนิจิเร็นโชชูทั้งสิ้น

นิกายที่แตกแขนงจากนิจิเร็นโชชู

แก้
  • นิจิเร็นชู
  • ฮมมมบุตสึริวชู
  • เค็มปงฮกเกะ
  • ฮกเกชู
  • ฮมมงฮกเกะ
  • นิจิเร็งฮอนชู
  • นิจิเร็นชูฟูจิฟูเซฮะ
  • ฮกเกนิจิเร็งชู
  • ฮมปานิจิเร็งชู
  • ฮงเกนิจิเร็งชู
  • ฟูจิฟูเซนิจิเร็งคมมนชู
  • โชโบฮกเกชู
  • ฮมมงเกียวโอชู
  • นิจิเร็งโกมนชู

ลัทธิที่แตกแขนงจากนิจิเร็นโชชู

แก้

การขับสมาคมสร้างคุณค่าหรือโซกางักไก (Soka Gakkai)

แก้

(สาขาในประเทศไทยคือสมาคมสร้างคุณค่าในประเทศไทย) ในปี ค.ศ. 1991 ประมุขสงฆ์ในขณะนั้นพระนิคเค่น โชนิง แห่งพุทธศาสนานิจิเร็นโชชู ได้ประกาศการคว่ำบาตรต่อ ประธานสมาคมโซกางักไก ซึ่งเป็นสมาคมผู้นับถือที่ใหญ่ที่สุด โดยได้ให้เหตุผลว่า การปฏิบัติ คำสอน ของผู้นับถือจากสมคมนี้นั้นถูกเบี่ยนเบนไปโดยผู้นำ หรือประธานสมาคม และประธานสมาคม ยังมีข้อพิพาทกับพระสงฆ์ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้นับถืออย่างร้ายแรง อีกทั้งในข้อหาที่ได้มีการประดิษฐ์ "โกฮนซงปลอม" โกฮนซงเป็น สิ่งสักการบูชาของผู้นับถือนิจิเร็นโชชู ซึ่งโดยปกติแล้วโกฮนซงจะต้องถูกคัดลอกโดยประมุขสงฆ์จากวัดใหญ่ไทเซกิจิเท่านั้น และจะต้องมีการทำพิธีเปิดเนตรที่กระทำโดยประมุขสงฆ์ที่วัดใหญ่เท่านั้น นอกเหนือจากนั้นจะถือเป็น "โกฮนซงปลอม" และในที่สุดในปี ค.ศ. 1997 ผู้นับถือทั้งหมดที่ตัดสินใจยังคงเข้ากับสมาคมโซกางักไก ทั้งหมดทั่วโลก ซึ่งมีมากกว่า 192 ประเทศเขตแคว้นและเป็นจำนวนมากแทบทั้งหมดของนิกาย ก็ได้ถูกคว่ำบาตรออกจากการเป็นผู้นับถือพุทธศาสนานิจิเร็นโชชูด้วยเช่นกัน ส่งผลให้ผู้นับถือทั้งหมดไม่สามารถเดินทางไปยังวัดไทเซกิจิ เพื่อนมัสการไดโงฮนซง ซึ่งเป็นสิ่งสักการบูชาสูงสุดได้ นอกเสียจากจะถอนตัวจากสมาคมโซกางักไก และกลับมาเข้ากับนิกายนิจิเร็นโชชู ดังเดิม ซึ่งจะต้องผ่านพิธีสำนึกผิด หรือการล้างบาป โดยพระสงฆ์

นิกายนิจิเร็นโชชูในประเทศไทย

แก้

อ้างอิง

แก้
  • ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์. ศาสนาและปรัชญาในจีน ทิเบต และญี่ปุ่น. กทม. สุขภาพใจ. 2545
  • สุมาลี มหณรงค์ชัย, พระพุทธศาสนามหายาน, กรุงเทพ, ศยาม, 2550
  • สำนักฝ่ายต่างประเทศ นิจิเร็นโชชู, คู่มือการปฏิบัติ, โตเกียว, นิจิเร็นโชชู

ภาษาอังกฤษ

แก้

ญี่ปุ่น

แก้
  • Nichiren Shōshū yōgi (日蓮正宗要義: "The essential tenets of Nichiren Shoshu"), Taiseki-ji, 1978, rev. ed. 1999
  • Nichiren Shōshū nyūmon (日蓮正宗入門: "Introduction to Nichiren Shoshu"), Taiseki-ji, 2002
  • Dai-Nichiren (大日蓮), monthly magazine published by Nichiren Shoshu. Fujinomiya, Shizuoka, Japan (numerous issues)
  • Dai-Byakuhō (大白法), the Hokkekō organ newspaper. Tokyo (numerous issues)

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ

แก้

ภาษาไทย

แก้

เว็บไซต์ไม่เป็นทางการ

แก้