จอห์น เอเวอเรตต์ มิเล
จอห์น เอเวอเรตต์ มิเล หรือ เซอร์จอห์น เอเวอเรตต์ มิเล บาโรเนตที่ 1, PRA (อังกฤษ: John Everett Millais หรือ Sir John Everett Millais, 1st Baronet, PRA) (8 มิถุนายน ค.ศ. 1829 – 13 สิงหาคม ค.ศ. 1896) เป็นจิตรกรและนักวาดภาพประกอบของกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล ชาวอังกฤษในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ผู้มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนจิตรกรรม, ภาพวาดเส้น และภาพพิมพ์ เขาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล[1]
จอห์น เอเวอเรตต์ มิเล | |
---|---|
John Everett Millais | |
ภาพเหมือนตนเอง ค.ศ. 1881 | |
เกิด | 8 มิถุนายน ค.ศ. 1829 เซาแทมป์ตัน อังกฤษ |
เสียชีวิต | 13 สิงหาคม ค.ศ. 1896 เคนซิงตัน ลอนดอน อังกฤษ | (67 ปี)
สุสาน | มหาวิหารเซนต์พอล 51°30′49″N 0°05′53″W / 51.513611°N 0.098056°W |
สัญชาติ | บริติช |
การศึกษา | ราชสถาบันศิลปะ |
มีชื่อเสียงจาก | จิตรกรรม, ภาพวาดเส้น ภาพพิมพ์ |
ผลงานเด่น | โอฟิเลีย, พระเยซูในโรงช่างของพ่อ |
ขบวนการ | กลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล |
คู่สมรส | ยูฟิเมีย เกรย์ (สมรส 1855) |
บุตร | 8 คนรวมทั้ง จอห์น กิลล์ มิเล |
เบื้องต้น
แก้จอห์น เอเวอเรตต์ มิเลเกิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1829 ที่เมืองเซาแทมป์ตันในอังกฤษ ในครอบครัวที่มีหน้ามีตาจากเจอร์ซีย์ ความสามารถทางศิลปะของมิเลทำให้ได้รับเข้าศึกษาในราชสถาบันศิลปะ เมื่อมีอายุได้เพียง 11 ปี ขณะที่ศึกษาอยู่ที่นั่นมิเลก็ได้ทำความรู้จักกับวิลเลียม โฮลแมน ฮันท์ และดานเต เกเบรียล รอสเซ็ตติ ผู้ร่วมกันก่อตั้งขบวนการศิลปะแนวใหม่ที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มนิยมแบบก่อนราฟาเอล" หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า "PRB" (Pre-Raphaelite Brotherhood) ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1848 ที่บ้านของมิเล ถนนเกาเออร์ริม จตุรัสเบดฟอร์ด ในกรุงลอนดอน
งานแบบก่อนราฟาเอล
แก้ภาพ "พระเยซูในโรงช่างของพ่อ" (Christ in the House of His Parents) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1850 เป็นภาพที่สร้างความขัดแย้งอย่างรุนแรง เพราะมิเลวาดพระเยซูอย่างคนชั้นแรงงานที่กำลังทำงานในโรงช่างไม้ที่เลอะเทอะของพ่อ งานชิ้นต่อ ๆ มาก็สร้างความขัดแย้งเช่นกันแต่ไม่มีภาพใดเท่ากับภาพนี้ แต่มิเลมาได้รับความสำเร็จและความนิยมอย่างแพร่หลายในภาพ "อูกโน" (A Huguenot) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1852 ซึ่งเป็นภาพของคู่หนุ่มสาวที่จำจะต้องจากกันเพราะความขัดแย้งทางศาสนา ซึ่งกลายมาเป็นหัวใจของหัวเรื่องของภาพอีกหลายภาพที่มิเลเขียน
งานสมัยต้น ๆ ของมิเลเต็มไปด้วยรายละเอียดและมักจะเน้นความงามและความซับซ้อนของธรรมชาติของโลก ในภาพเช่น "โอฟิเลีย" (Ophelia) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1852 มิเลสร้างภาพที่ผสมผสานแน่นไปด้วยรายละเอียดของสิ่งธรรมชาติต่าง ๆ ที่ได้รับคำบรรยายว่าเป็นเขียนภาพแบบ "จิตรกรรมสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ" (pictorial eco-system)
ลักษณะการเขียนแบบนี้ได้รับการสนับสนุนโดยนักวิจารณ์ศิลป์ จอห์น รัสคิน ผู้เป็นผู้ปกป้องศิลปะแบบก่อนราฟาเอลจากผู้ต่อต้าน ความสัมพันธ์กับรัสคินทำให้มิเลได้ทำความรู้จักกับเอฟฟี เกรย์ (Effie Gray) ภรรยาของรัสคิน[2] หลังจากที่ได้พบกันเอฟฟีก็มานั่งเป็นแบบให้ในภาพ "คำสั่งปล่อย" (The Order of Release) ในขณะที่เขียนภาพสองคนก็ตกหลุมรักกัน แม้ว่าเอฟฟีจะแต่งงานกับรัสคินมาหลายปีแต่ทั้งสองก็ยังมิได้มีความสัมพันธ์กันฉันสามีภรรยา บิดามารดาของเอฟฟีสังหรณ์ว่ามีอะไรที่ไม่ปกติจึงฟ้องขอให้การแต่งงานเป็นโมฆะ (annulment) ในปี ค.ศ. 1856 หลังจากที่การแต่งงานกับรัสคินเป็นโมฆะ เอฟฟีกับมิเลก็สมรสกันและมีบุตรธิดาด้วยกันแปดคนรวมทั้ง จอห์น กิลล์ มิเล (John Guille Millais) นักธรรมชาติวิทยาผู้มีชื่อเสียงและจิตรกรเขียนภาพชีวิตป่า
งานสมัยหลัง
แก้หลังจากการแต่งงานแล้วมิเลก็เริ่มเขียนงานแบบที่กว้างออกไปกว่าเดิม ซึ่งทำให้ถูกวิจารณ์โดยรัสคินว่าเป็นงานแบบ "หายนะ" เป็นที่โต้เถียงกันถึงสาเหตุของการเปลี่ยนลักษณะการเขียนว่าอาจจะเป็นผลมาจากการที่มิเลต้องการจะเพิ่มจำนวนผลงานเพื่อที่จะหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกวัน วิลเลียม มอร์ริส ผู้ไม่ค่อยมีความเห็นอกเห็นใจกล่าวหามิเลว่า "ขายตัว" เพื่อแสวงหาชื่อเสียงและความร่ำรวย แต่ผู้ที่ชื่นชมชี้ให้เห็นความสัมพันธ์กับงานของเจมส์ แม็คนีลล์ วิสต์เลอร์ และอัลเบิร์ต โจเซฟ มัวร์ (Albert Joseph Moore) และอิทธิพลต่อจอห์น ซิงเกอร์ ซาร์เจนต์ ตัวมิเลเองก็โต้ว่าเมื่อเริ่มมีความมั่นใจในตัวเองในฐานะศิลปินเพิ่มขึ้น ก็จึงได้เริ่มเขียนภาพที่มีลักษณะที่กล้าแข็งขึ้น ในบทความ ความคิดเกี่ยวกับศิลปะของปัจจุบัน (Thoughts on our art of Today) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1888 มิเลให้คำแนะนำว่า ศิลปินควรจะทำตามตัวอย่างของดิเอโก เบลัซเกซ และแร็มบรันต์
ภาพเขียนเช่น "ค่ำวันนักบุญแอ็กเนส" (The Eve of St. Agnes) และ "คนละเมอ" (The Somnambulist) เป็นภาพที่แสดงให้เห็นได้ชัดว่ามิเลมีการติดต่อกับวิสเลอร์ซึ่งเป็นผู้ที่มิเลสนับสนุนอย่างขันแข็ง ภาพเขียนอื่น ๆ ที่เขียนในปลายคริสต์ทศวรรษ 1850 และ 1860 ตีความหมายได้ว่าเริ่มจะมีลักษณะที่ออกไปทางลัทธิสุนทรียนิยม (Aesthetic Movement) ภาพหลายภาพใช้การจัดสีที่เป็นสัญลักษณ์แทนที่จะเป็นการแสดงเรื่องราวในเนื้อหาของภาพโดยตรง ๆ
งานที่เขียนต่อมาจากคริสต์ทศวรรษ 1870 เป็นต้นมาแสดงให้เห็นว่ามิเลหันไปหาศิลปินชั้นครูก่อนหน้านั้นเช่น โจชัว เรย์โนลส์ หรือดิเอโก เบลัซเกซ ภาพในช่วงระยะนี้เป็นจิตรกรรมที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เช่นงานชิ้นสำคัญ "เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดและริชาร์ดในหอคอยแห่งลอนดอน" (Princes in the Tower) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1878, "ทางผ่านตะวันตกเฉียงเหนือ" (The Northwest Passage) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1874 และ "วัยเด็กของรอลี" (Boyhood of Raleigh) ในปี ค.ศ. 1871 ที่แสดงให้เห็นความสนใจของมิเลในประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับอังกฤษและการขยายจักรวรรดิ นอกจากนั้นความนิยมในงานเขียนของมิเลก็ยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณเมื่อเริ่มเขียนภาพเด็กโดยเฉพาะภาพ "ฟองสบู่" (ค.ศ. 1886)-ซึ่งอาจจะเป็นที่รู้จักมากขึ้นเพราะเป็นภาพที่ใช้ในการโฆษณาสบู่แพร์ส- และภาพ "เชอร์รีสุก" (Cherry Ripe) โครงการสุดท้ายของมิเลในปี ค.ศ. 1896 คือการเขียนภาพ "การสำรวจครั้งสุดท้าย" (The Last Trek)[3] ซึ่งเป็นภาพที่เขียนจากหนังสือของลูกชายที่เป็นภาพชายผิวขาวนอนเหยียดยาวตายในทุ่งแอฟริกา โดยมีคนผิวดำสองคนนั่งมองอย่างไม่ยินดียินร้ายอยู่ข้าง ๆ
จิตรกรรมภูมิทัศน์ ค.ศ. 1870 – ค.ศ. 1892
แก้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องป่าและที่ตั้งอันโดดเดี่ยวปรากฏในจิตรกรรมภูมิทัศน์หลายภาพในช่วงระหว่าง ค.ศ. 1870 ถึง ค.ศ. 1892 ซึ่งมักจะเป็นภาพความลำบากและพื้นที่ที่มีอันตราย งานชิ้นหนึ่ง "ความเย็นในเดือนตุลาคม" (Chill October) (ค.ศ. 1870) เป็นภาพที่เขียนที่เพิร์ท ในสกอตแลนด์ ไม่ไกลจากบ้านของครอบครัวของภรรยาเท่าใดนัก ภาพนี้ปัจจุบันเป็นของนักประพันธ์อุปรากรร่วมสมัยผู้มีชื่อเสียงของอังกฤษ แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์ (Andrew Lloyd Webber) เป็นภาพขนาดใหญ่ของภูมิทัศน์ของสกอตแลนด์ภาพแรกที่มิเลเขียน และเป็นภาพภูมิทัศน์ที่เขียนต่อมาโดยตลอดในงานเขียนสมัยหลัง ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นภาพที่เขียนในฤดูใบไม้ร่วงที่แสดงถึงความรู้สึกอันอ้างว้างของภูมิทัศน์ที่ทำให้ผู้ดูมีความรู้สึกหดหู่และรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และทำให้นึกถึงภาพชุดธรรมชาติที่เขียนต่อมาในคริสต์ทศวรรษ 1850 โดยเฉพาะภาพ "ใบไม้ร่วง" (Autumn Leaves) และ "พักในทุ่ง" (The Vale of Rest) ที่เขียนในปี ค.ศ. 1870 มิเลหันกลับไปเขียนภาพภูมิทัศน์เต็มตัว และอีกกว่ายี่สิบปีก็เขียนภาพหลายภาพจากเพิร์ธเชอร์ที่มิเลไปล่าสัตว์และตกปลาตั้งแต่เดือนสิงหาคมจนกระทั่งฤดูใบไม้ผลิเป็นประจำทุกปี
ภาพส่วนใหญ่เป็นภาพภูมิทัศน์ของฤดูใบไม้ร่วงและต้นฤดูหนาวที่แสดงความอ้างว้าง, ความชื้น และบรรยากาศเจิ่งน้ำของบริเวณมัวร์แลนด์, ทะเลสาบ และ บรรยากาศริมฝั่งแม่น้ำ มิเลไม่ได้กลับไปใช้การเขียนภูมิทัศน์แบบเขียน "หญ้าทุกใบ" (blade by blade) หรือสีเขียวชอุ่มสดใสที่เขียนในสมัยแรกอีก แต่งานเขียนในช่วงหลังเป็นงานที่มีอิสระมากกว่าซึ่งเป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจสังเกตธรรมชาติรอบตัว "ค่ำก่อนคริสต์มาส" (Christmas Eve) เป็นภาพภูมิทัศน์ชิ้นแรกของฉากหิมะที่เขียนในปี ค.ศ. 1887 ที่เป็นภาพที่มองไปทางปราสาทเมิร์ธลีย์
ภาพประกอบ
แก้มิเลมีความสำเร็จในการเขียนภาพประกอบ โดยเฉพาะสำหรับงานเขียนของแอนโทนี โทรลโลป (Anthony Trollope) และสำหรับโคลงกลอนสำหรับอัลเฟรด ลอร์ด เทนนีสัน งานภาพประกอบที่สลับซับซ้อนของตำนานแฝงคำสอนของพระเยซูพิมพ์ในปี ค.ศ. 1864 พ่อตาของมิเลจ้างให้สร้างหน้าต่างประดับกระจกสีตามภาพที่วาดที่วัดประจำท้องถิ่นที่คินโนลล์ นอกจากนั้นก็ยังเขียนภาพประกอบสำหรับนิตยสารเช่น "Good Words" ในปี ค.ศ. 1869 ก็ได้รับเลือกให้เป็นศิลปินสำหรับนิตยสารที่เพิ่งก่อตั้งใหม่ "The Graphic"
อาชีพทางสถาบันการศึกษา
แก้ในปี ค.ศ. 1853 มิเลได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสมทบของราชสถาบันศิลปะและไม่นานหลังจากนั้นก็ได้รับเลือกเป็นสมาชิกเต็มตัวของสถาบัน ซึ่งมิเลเป็นสมาชิกผู้มีบทบาท ในปี ค.ศ. 1885 มิเลได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์บารอน ซึ่งเป็นศิลปินคนแรกที่ได้รับตำแหน่งขุนนางสืบตระกูล หลังจากที่เฟรเดอริก เลห์ตัน (Frederic Leighton) เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1896 มิเลก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานของราชสถาบันศิลปะ แต่มาเสียชีวิตในปีเดียวกันด้วยมะเร็งที่คอ ร่างของมิเลได้รับการบรรจุไว้ที่มหาวิหารเซนต์พอล
อนุสาวรีย์
แก้เมื่อมิเลเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1896 เอ็ดเวิร์ด เจ้าชายแห่งเวลส์ ก็ทรงเป็นประธานในคณะกรรมาธิการในการสร้างอนุสรณ์แก่มิเล[4] ซึ่งตั้งอยู่หน้าหอศิลป์เทตบริเตนในปัจจุบันในปี ค.ศ. 1905 เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนในปีเดียวกัน "Pall Mall Gazette" บรรยายอนุสาวรีย์ว่าเป็น "อนุสาวรีย์ที่แสดงคุณลักษณะของบุคคลที่เรารู้จัก"[4]
ในปี ค.ศ. 1953 นอร์มัน รีดผู้อำนวยการของหอศิลป์พยายามจะนำรูปปั้น "นักบุญจอห์นแบปทิสต์" ของโอกุสต์ รอแด็งมาตั้งแทนที่ และอีกครั้งในปี ค.ศ. 1962 ก็เสนอให้รื้อทิ้งโดยกล่าวว่าเป็น "สิ่งที่อันตราย" ความพยายามในการกำจัดอนุสาวรีย์ทำความอึดอัดใจให้แก่กระทรวงแรงงานผู้ที่เป็นผู้ดูแลรักษา แต่อำนาจในการเป็นผู้ดูแลรักษาถูกโอนไปเป็นของหอศิลป์เทตในปี ค.ศ. 1996[4] ในปี ค.ศ. 2000 ภายใต้การนำของเซอร์นิโคลัส เซโรตา อนุสาวรีย์ของมิเลก็ถูกย้ายไปอยู่หลังหอศิลป์[4]
ระเบียงภาพ
แก้-
"อูกโน" (A Huguenot)
(ค.ศ. 1852) -
Ruling passion
-
"ชั่วโมงพัก"
(Leisure hours) -
"ความฝันของอดีต: เซอร์อิสซุมบราที่ลำธารตื้น"
(A Dream of the Past: Sir Isumbras at the Ford)
(ค.ศ. 1857) -
"พักในทุ่ง"
(The Vale Of Rest)
ในปี (ค.ศ. 1870) -
"นายทหารแบล็กบรันสวิก"
(ค.ศ. 1860) -
"ฟังเทศนาครั้งแรก"
(My first sermon)
(ค.ศ. 1862 – 1863) -
"Jephthah"
(ค.ศ. 1867) -
ภาพเหมือนของดยุก
จอห์น แคมป์เบลล์ -
"ผู้เสียสละแห่งซอลเวย์"
(The Martyr of the Solway)
(ราว ค.ศ. 1871) -
"ภาพเหมือนของเอฟฟี"
(Portrait of Effie Millais)
(ค.ศ. 1873) -
"ทางผ่านตะวันตกเฉียงเหนือ"
(The Northwest Passage)
(ค.ศ. 1878) -
"ภาพเหมือนของ
อาร์ชิบอลด์ พริมโรส
เอิร์ลแห่งโรสบรีที่ 5" -
"ภาพเหมือนของ
ลิลลิ แลงทรี" -
"รังนก"
(The Nest)
(ค.ศ. 1887) -
ภาพประกอบจาก
ตำนานแฝงคำสอน -
ภาพเหมือนตนเอง
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Dictionary of National Biography (1st supplement) (ภาษาอังกฤษ). London: Smith, Elder & Co. 1901. .
- ↑ Rose, Phyllis (1984). Parallel Lives: Five Victorian Marriages (ภาษาอังกฤษ). New York: Alfred A. Knopf. pp. 76–85. ISBN 0-394-52432-2.
- ↑ The Last Trek
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 Birchall, Heather. "Sir Thomas Brock (ค.ศ. 1847-1922)" เก็บถาวร 16 พฤษภาคม 2011 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Tate online, กุมภาพันธ์ 2002. สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2008.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- มิเลเว็บไซต์ เก็บถาวร 28 มีนาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ArtRenewal.org
- งานของมิเล ที่พิพิธภัณฑ์ลิเวอร์พูล
- เอ็ดเวิร์ด แพล็ต กับมิเล เก็บถาวร 21 กุมภาพันธ์ 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- แคทธรีน เจมี กับมิเล เก็บถาวร 21 กุมภาพันธ์ 2012 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- โอฟีเลีย ที่เทตออนไลน์ เก็บถาวร 8 พฤษภาคม 2006 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- มิเลใน "ประวัติศาสตร์ศิลปะ" เก็บถาวร 28 พฤศจิกายน 2009 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน