การฆ่าคน
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
การฆ่าคน (อังกฤษ: Murder) เป็นการกระทำให้มนุษย์ถึงแก่ความตาย จัดเป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่ง ทางนิติศาสตร์แบ่งเป็นสองประเภท คือ การทำให้คนตายโดยเจตนา (homicide) และการทำให้คนตายโดยไม่เจตนา (manslaughter) การฆ่าคนทั้งสองประเภท ผู้กระทำต้องระวางโทษหนักหรือเบาตามกฎหมายแล้วแต่กรณี
"การฆ่าคน" และ "ฆาตกรรม"
แก้คำว่า "การฆ่าคน" เป็นศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน ให้ใช้แทนคำภาษาอังกฤษว่า "murder"[1]
ส่วน "ฆาตกรรม" มีความหมายตามพจนานุกรมมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ว่า "การฆ่าคน" แต่มิใช่ศัพท์บัญญัติที่ทางราชการมุ่งหมายให้ใช้อย่างเป็นทางการ[2] ทั้งนี้ "ฆาตกรรม" เป็นคำสมาสระหว่างคำ "ฆาต" (บาลี. ตี, ฟาด, ฟัน, ฆ่า, ทำลาย) + "กรรม" มีความหมายตามอักษรว่า การตี, การฟาด, การฟัน, การฆ่า, การทำลาย ผู้กระทำฆาตกรรมเรียกว่า "ฆาตกร"
ปัจจุบันมีการใช้คำ "ฆาตกรรม" คละไปกับคำ "การฆ่าคน" ทั้งนี้ คำทั้งสองมีความหมายเดียวกันดังข้างต้น
ภูมิหลังเกี่ยวกับการฆ่าคน
แก้การถือว่าการฆ่าคนเป็นความผิดอาญา ปรากฏเป็นครั้งแรกสุดในประมวลกฎหมายอูร์-นัมมู (Ur-Nammu) กษัตริย์ชาวสุเมเรียน โดยประมวลกฎหมายดังกล่าวตราขึ้นในระหว่างประมาณ 2100 ปีถึง 2050 ปีก่อน ค.ศ. มาตราหนึ่งบัญญัติไว้ว่า "ผู้ใดกระทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายแล้วไซร้ ผู้นั้นต้องระวางโทษประหารชีวิต"
ในศาสนาอับราฮัม การฆ่าคนถือเป็นสิ่งต้องห้าม โดยปรากฏอยู่ในบัญญัติ 10 ประการที่พระเจ้ามอบแก่โมเสสบนยอดเขาเซนาย[3][4]
ตามกฎหมายจารีตประเพณีของอังกฤษ การฆ่าคนถือเป็นความผิดสาธารณะ (public wrong)[5]
นิยามทางนิติศาสตร์
แก้นิยามของ "การฆ่าคน" นั้น ประเทศที่ใช้กฎหมายจารีตประเพณีเช่นประเทศอังกฤษเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องเขียนเอาไว้ตายตัว เพียงรับรู้กันว่าเป็นความผิดอุกฉกรรจ์ก็เพียงพอแล้ว และในกรณีเช่นนี้ คำตัดสินก่อน ๆ ของศาลมักใช้เป็นที่พิจารณาว่าการฆ่าคนตามกฎหมายจารีตประเพณีนั้นถือเอาการกระทำเช่นไรบ้าง ส่วนประเทศที่ใช้ประมวลกฎหมายเช่นประเทศไทยมักมีการบัญญัตินิยามของ "การฆ่าคน" เอาไว้อย่างตายตัว และนิยามอาจแก้ไขได้ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมที่เป็นไป
องค์ประกอบขั้นพื้นฐานของการฆ่าคน
แก้การฆ่าคนพิจารณาจากองค์ประกอบขั้นพื้นฐานสองประการดังต่อไปนี้
- การฆ่าคนนั้นเป็นการกระทำอันจะเป็นความผิดอาญา (actus reus)
- การฆ่าคนนั้นเป็นไปเพราะมีเจตนาร้าย (mens rea) พิจารณาจากวัตถุประสงค์ ความจงใจ ความหวังผลร้าย การไตร่ตรองไว้ล่วงหน้า และ/หรือการปราศจากความระมัดระวังหรือยับยั้งชั่งใจ (wanton)
ทั้งนี้ โดยทั่วไป ความหวังผลร้ายมักไม่ใช้พิจารณาเป็นองค์ประกอบข้างต้นสักเท่าใด เนื่องด้วยถือว่าความจงใจที่จะฆ่าคนนั้นย่อมเกิดจากความหวังผลร้ายอยู่แล้ว และบางครั้งในการฆ่าคนที่เกิดจากการขาดความยับยั้งชั่งใจหรือในหรือคดีอุกฉกรรจ์บางประเภท ก็ถือไปโดยปริยายว่าย่อมเกิดจากความหวังผลร้ายอยู่แล้ว
ข้อพิจารณาเพิ่มเติม
แก้- การฆ่าคนโดยไม่เจตนาหรือไม่ได้หวังผลร้าย มักถือว่าเป็นการทำให้คนตายโดยไม่เจตนา
- การฆ่าคนโดยชอบด้วยกฎหมาย (เช่น การประหารชีวิต หรือการทำให้คนตายโดยคำสั่งของผู้บังคับบัญชา) และการทำคนตายโดยอุบัติเหตุ ถือเป็นการทำให้คนตายโดยเจตนา ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมแล้วแต่กรณี เป็นต้นว่า
- คำพิพากษาของศาลให้ลงโทษประหารชีวิตเป็นการสั่งให้ฆ่าคน แต่ไม่มีความผิดเนื่องจากเป็นวิถีทางที่ถูกต้องแห่งกฎหมาย (due process of law)
- การฆ่าปรปักษ์ (combatant) โดยคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายที่มีขึ้นในระหว่างภาวะสงคราม รวมตลอดถึงการฆ่าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในภาวะสงคราม อาจถือเป็นการฆ่าคน และอาจถือเป็นอาชญากรรมสงคราม (แต่จะมีโทษหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมแล้วแต่กรณี)
- ในสังคมหลายภาคส่วนของโลก การฆ่าตัวตายไม่ถือว่าเป็นการฆ่าคน เนื่องจากจำเลยและผู้เสียหายเป็นบุคคลเดียวกัน ทั้งนี้ การสนับสนุนการฆ่าตัวตายอาจถือว่าเป็นความผิดขึ้นอยู่กับสภาวะแวดล้อมแล้วแต่กรณี
ผู้เสียหาย
แก้ตามกฎหมายถือว่า ผู้เสียหายต้องเป็นมนุษย์เท่านั้น และต้องเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่ในระหว่างที่มีความผิดเกิดขึ้น
ศาลบางแห่งของบางประเทศถือว่าการสังหารตัวอ่อนในครรภ์หรือทารกในครรภ์มีความผิดคนละสถานกับความผิดในการฆ่าคนตาย เช่น ความผิดฐานทำให้ครรภ์แท้งอย่างผิดกฎหมาย หรือความผิดฐานฆ่าทารกในครรภ์
เหตุบรรเทาโทษ
แก้ในบางประเทศกำหนดให้บุคคลไม่สมประกอบซึ่งกระทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้รับการบรรเทาโทษ หรือให้ถือว่าเป็นการทำให้คนตายโดยไม่เจตนา
ความไม่สมประกอบข้างต้น เป็นต้นว่า ภาวะซึมเศร้า (depression) ภาวะเครียด (stress) และผลข้างเคียงของการใช้ยาบางประเภท
ความวิกลจริต
แก้จำเลยในคดีฆ่าคนอาจไม่ต้องถูกสอบสวนหรืออาจไม่ต้องรับโทษ หากพบว่าจำเลยวิกลจริต เป็นต้นว่า ป่วยเป็นโรคจิตพิการ (mental disorder) โรคจิตเภท (schizophrenia) หรือโรคสมองเสื่อม (dementia)
ในบางประเทศ หากมีการตรวจสอบตามกระบวนการแล้วพบว่าจำเลยวิกลจริตจริง จำเลยอาจอ้างเหตุดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้คดีให้ตนพ้นมลทินได้[6] โดยข้อต่อสู้คดีดังกล่าวต้องมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
- อาการวิกลจริตของจำเลยนั้นรุนแรงถึงขนาด หรือ
- ในขณะกระทำความผิด อาการวิกลจริตนั้นกระทำให้สภาวะทางจิตใจของจำเลยไม่อาจรู้ดีรู้ชั่ว
ตัวอย่างเกี่ยวกับกรณีดังต่อไปนี้ เป็นต้นว่าที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ดังต่อไปนี้
มาตรา 122/1 บุคคล (ผู้กระทำความผิดอาญา) ไม่ต้องรับโทษทางอาญา หากในเมื่อขณะกระทำความผิดนั้นบุคคลดังกล่าวได้ประสบภาวะผิดปรกติทางจิตใจหรือทางระบบประสาท ซึ่งภาวะดังกล่าวกระทำให้บุคคลไม่อาจรู้ดีรู้ชั่วหรือไม่อาจรับรู้ถึงการที่ตนกำลังกระทำอยู่ หรือกระทำให้บุคคลไม่อาจควบคุมการกระทำของตนได้
"ในระหว่างกระทำความผิดอันมีบุคคลผู้ประสบภาวะผิดปรกติทางจิตใจหรือทางระบบประสาทเป็นผู้กระทำ หากบุคคลนั้นสามารถรั้งความรู้ดีรู้ชั่วเอาไว้ได้ หรือสามารถยับยั้งตนเองไม่ให้กระทำความผิดได้แล้วไซร้ ต้องระวางโทษตามกฎหมาย ทั้งนี้ ในการตัดสินลงโทษ ให้ศาลคำนึงถึงอาการวิกลจริตของผู้นั้นด้วย
(ARTICLE 122-1. A person is not criminally liable who, when the act was committed, was suffering from a psychological or neuropsychological disorder which destroyed his discernment or his ability to control his actions.
A person who, at the time he acted, was suffering from a psychological or neuropsychological disorder which reduced his discernment or impeded his ability to control his actions, remains punishable; however, the court shall take this into account when it decides the penalty and determines its regime.)[7]
ทั้งนี้ จำเลยที่สามารถใช้เหตุดังกล่าวเป็นข้อต่อสู้คดีได้โดยสิ้นเชิง มักไม่ต้องรับโทษจำคุกหรือโทษหนักกว่านั้น หากแต่มักถูกจำกัดอยู่ในสถานบำบัดอาการตามคำสั่งของศาล จนกว่าจะเป็นปรกติแล้วจะได้รับการปล่อยตัวให้กลับคืนสู่สังคมตามเดิมต่อไป
องค์ประกอบที่ถือว่าเป็นการฆ่าคนอันมีโทษตามกฎหมาย
แก้ตามกฎหมายจารีตประเพณี การฆ่าคนมักเป็นการกระทำโดยเจตนาร้ายอันไตร่ตรองมาก่อน (malice aforethought)
อย่างไรก็ดี ในทางกฎหมายทั่วไป การฆ่าคนถือว่าเป็นความผิดหากมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
- มีจำเลย
- พิจารณาสภาพจิตของจำเลย อย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
- มีความประสงค์จะฆ่าคน ในกรณีนี้ หากพบว่าจำเลยเจตนาใช้อาวุธอันตรายถึงตาย (deadly weapon) กระทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายหรือถึงแก่ความตาย ก็ให้อนุมานเข้าข่ายว่ามีความประสงค์ตามข้อนี้เช่นกัน อาวุธดังกล่าว เป็นต้นว่า ปืน มีดผาหน้าไม้ หรือรถในกรณีที่เจตนาใช้พุ่งชนผู้อื่น
- มีความประสงค์จะก่อให้เกิดความบาดเจ็บสาหัสแก่ร่างกายของบุคคล (grievous bodily harm)
- การนั้นได้กระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวังหรือยับยั้งชั่งใจ หรือไม่อาจควบคุมตนเองได้ (abandoned and malignant heart) เป็นต้นว่า จำเลยรู้ดีว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมาย และรู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ แต่ก็กระทำความผิดนั้นลงไปโดยเพิกเฉยความรับรู้นั้นเสีย หรือได้กระทำไปเพราะระบบการทำงานของร่างกายปฏิเสธความรับรู้นั้นเสีย เช่น ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้ร้ายฆ่าคนต้องระวางโทษอันดับที่สอง หากความผิดนั้นได้กระทำไปเพราะได้ดื่มแอลกอฮอล์ ยา หรือสารบางประเภท จนทำให้ไม่อาจควบคุมตนเองได้หรือทำให้สติไม่สมปฤดี
- มีความประสงค์จะกระทำความผิดโดยรู้ว่าเป็นความผิดอาญาอุกฉกรรจ์ (felony)
องค์ประกอบของความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามกฎหมายไทย
แก้กฎหมายไทยได้บัญญัติองค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่นไว้ในมาตรา 288 ประมวลกฎหมายอาญาดังนี้ "มาตรา ๒๘๘ ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ���้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี"
ดังนั้น องค์ประกอบของความผิดฐานฆ่าผู้อื่นจึงได้แก่ องค์ประกอบภายนอก ได้แก่ ผู้ใด + ฆ่า + ผู้อื่น องค์ประกอบภายใน ได้แก่ เจตนาฆ่า (หากกระทำโดยประมาท หรือไม่มีเจตนาฆ่าโดยอาจมีเพียงเจตนาทำร้ายหรือไม่มีเจตนาเลย ก็จะไม่มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น แต่อาจเป็นความผิดฐานอื่น กล่าวคือ กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือทำร้ายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นต้น) คำว่าเจตนานั้น หมายความว่าผู้กระทำรู้และตกลงใจที่จะกระทำ โดยประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล (เพื่อให้ผู้อื่นตาย)
ความผิดเกี่ยวกับการฆ่าคนตามกฎหมายไทย
แก้สามารถจำแนกความผิดเกี่ยวกับการฆ๋าคนตามประมวลกฎหมายอาญาของไทย (ปอ.) และกฎหมายอื่นของไทยที่เกี่ยวข้องได้ดังต่อไปนี้
ที่ | ความผิด | โทษ | กฎหมายและมาตรา |
---|---|---|---|
ประมุขแห่งรัฐ | |||
1 | การปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท หรือฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งประเทศไทย | - ประหารชีวิต | ปอ. มาตรา 107 วรรคหนึ่ง และมาตรา 109 วรรคหนึ่ง |
2 | การพยายามฆ่าบุคคลตามข้อ 1 หรือข้อ 2 | - โทษเช่นเดียวกับการฆ่าบุคคลนั้น | ปอ. มาตรา 107 วรรคสอง มาตรา 109 วรรคสอง และมาตรา 130 |
3 | การเตรียมการปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทย หรือ การล่วงรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมการดังกล่าวแต่ช่วยปกปิดไว้ |
- จำคุกตลอดชีวิต | ปอ. มาตรา 107 วรรคสาม |
4 | การเตรียมการปลงพระชนม์พระราชินีหรือรัชทายาท หรือการเตรียมการฆ่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แห่งประเทศไทย หรือ การล่วงรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการเตรียมการดังกล่าวแต่ช่วยปกปิดไว้ |
- จำคุกตั้งแต่ 12-20 ปี | ปอ. มาตรา 107 วรรคสาม |
5 | การสนับสนุนการกระทำความผิดตามข้อ 1 ข้อ 3 ข้อ หรือ 4 | - โทษเช่นเดียวกับความผิดนั้น | ปอ. มาตรา 111 |
บุคคล | |||
6 | การฆ่าผู้อื่น | - ประหารชีวิต หรือ - จำคุกตลอดชีวิต หรือ - จำคุกตั้งแต่ 15-20 ปี |
ปอ. มาตรา 288 |
7 | การฆ่า - 7.1 บุพการี - 7.2 เจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามอำนาจหน้าที่ - 7.3 ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานตาม 7.2 - 7.4 ผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน - 7.5 ผู้อื่นอย่างทารุณ - 7.6 ผู้อื่นเพื่อให้กระทำความผิดอื่นได้สะดวก - 7.7 ปิดปาก - 7.8 ผู้อื่นเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตน โดยที่ผลประโยชน์นั้นมาจากการกระทำความผิดอื่น - 7.9 ผู้อื่นเพื่อหนีความผิด |
- ประหารชีวิต | ปอ. มาตรา 289 |
8 | การทำให้คนตายโดยไม่เจตนา | - จำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี | ปอ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง |
9 | การทำให้เกิดความผิดตามข้อ 7 โดยไม่เจตนา | - จำคุกตั้งแต่ 3-20 ปี | ปอ. มาตรา 290 วรรคสอง |
11 | การยุให้บุคคลดังต่อไปนี้ฆ่าตัวตาย - เด็กอายุไม่เกินสิบหกปี - ผู้ที่ไม่อาจจำแนกได้ว่าการกระทำของตนดีหรือชั่วอย่างไร - ผู้ที่ไม่อาจบังคับการกระทำของตนเองได้ (ถ้าหากบุคคลดังกล่าวได้ฆ่าตัวตายหรือได้พยายามฆ่าตัวตาย จึงจะเป็นความผิดตามข้อนี้) |
- จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ - ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือ - ทั้งสองโทษ |
ปอ. มาตรา 293 |
อ้างอิง
แก้- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-07-15. สืบค้นเมื่อ 2008-03-20.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-03. สืบค้นเมื่อ 2008-03-20.
- ↑ http://www.latinvulgate.com/verse.aspx?t=0&b=5&c=27
- ↑ http://www.hebrewoldtestament.com/B05C027.htm#V24
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-03. สืบค้นเมื่อ 2008-03-20.
- ↑ R. v. M'Naughten, get full cite.
- ↑ http://www.legifrance.gouv.fr/WAspad/UnArticleDeCode?code=CSANPUNL.rcv&art=L3213-1