คณะกรรมาธิการความปลอดภัยสาธารณะ

ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส คณะกรรมาธิการความปลอดภัยสาธารณะ[หมายเหตุ ก] (ฝรั่งเศส: Comité de salut public) เป็นคณะกรรมาธิการที่ได้รับจัดตั้งโดยสภาแห่งชาติในเดือนเมษายน ค.ศ. 1793 และมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกรรมาธิการอย่างมีนัยสำคัญในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1793

คณะกรรมาธิการความปลอดภัยสาธารณะ

Comité de salut public
ตราประทับ
ประเภท
ประเภท
ประวัติ
สถาปนา25 มีนาคม 1793
ยุบ27 ตุลาคม 1795
ก่อนหน้าคณะกรรมาธิการความมั่นคงทั่วไป
ถัดมาคณะดีแร็กตัวร์ฝรั่งเศส

คณะกรรมาธิการความปลอดภัยสาธารณะจัดตั้งขึ้นในสามเดือนหลังจากการประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 คณะกรรมาธิการนี้มีหน้าที่สอดส่องดูแลและรับผิดชอบในการปกป้องธำรงไว้ซึ่งระบอบสาธารณรัฐจากภัยคุกคามจากศัตรูต่างประเทศและศัตรูในประเทศ คณะกรรมาธิการนี้ได้รับอำนาจอย่างกว้างขวาง มีอำนาจบังคับบัญชากองทัพ แต่งตั้งตุลาการศาลอาญาปฏิวัติ และบังคับใช้คำสั่งกฎหมายต่าง ๆ ที่ออกโดยสภา

ในช่วงแรก คณะนี้ประกอบด้วยกรรมาธิการเก้าคน และไม่ได้อยู่ภายใต้การครอบงำโดยบุคคลหนึ่งเป็นพิเศษ จนกระทั่งปลายเดือนกรกฎาคม สภาแต่งตั้งให้มักซีมีเลียง รอแบ็สปีแยร์ เป็นกรรมาธิการแทนที่กรรมาธิการคนหนึ่งที่ลาออก เมื่อได้เข้าดำรงตำแหน่ง รอแบ็สปีแยร์ก็เพิ่มจำนวนกรรมาธิการเป็นสิบสองคน โดยที่เก้าคนในจำนวนนี้เป็นสมาชิกกลุ่มลามงตาญ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองหัวรุนแรงที่ต้องการปฏิวัติแบบถอนรากถอนโคน

10 กันยายน 1793 สภาผ่านกฎหมายว่าด้วยผู้ต้องสงสัย (Loi des suspects) ซึ่งให้อำนาจจับกุมผู้ต้องสงสัยว่าเป็นศัตรูของสาธารณรัฐ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว ต่อมาในวันที่ 10 ตุลาคมปีเดียวกัน สภาผ่านมติรับรองให้คณะกรรมาธิการฯเป็น "รัฐบาลปฏิวัติ" ซึ่งมีอำนาจสูงสุดเฉพาะกาลจนกว่าสถานการณ์จะสงบ รัฐธรรมนูญถูกระงับใช้ รอแบ็สปีแยร์กลายเป็นผู้มีอำนาจที่สุดในฝรั่งเศสโดยพฤตินัย คณะกรรมาธิการความปลอดภัยสาธารณะภายใต้การนำของรอแบ็สปีแยร์ ทำการปกครองประเทศฝรั่งเศสด้วยความหวาดกลัว มีการจัดตั้งกรมตำรวจสูงสุดในเดือนมีนาคม 1794 ซึ่งขึ้นตรงต่อรอแบ็สปีแยร์และคนใกล้ชิดเขา

นักหนังสือพิมพ์อย่างฌัก เอแบร์, กามีย์ เดมูแล็ง หรือนักการเมืองคนสำคัญอย่างฌอร์ฌ ด็องตง ซึ่งวิจารณ์การทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ถูกจับกุมและประหารชีวิต ในเวลาปีเดียว เกิดการจับกุมผู้คนนับแสนรายตั้งแต่ความผิดเล็กน้อยจนถึงความผิดอุกฉกรรจ์ ในจำนวนนี้ ผู้คนนับหมื่นรายด้วยเครื่องกิโยตีน

เมื่อสมาชิกสภาไม่อาจทนความเผด็จการบ้าเลือดของรอแบ็สปีแยร์ได้อีกต่อไป พวกเขาลงมติก็ถอดถอนรอแบ็สปีแยร์และพวกโดยฉับพลันในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1794 รอแบ็สปีแยร์พยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ และถูกนำตัวประหารชีวิตในวันถัดมา[1] ถือเป็นจุดสิ้นสุดของความน่าสะพรึงกลัวในประเทศฝรั่งเศส กลุ่มลามงตาญถูกกวาดล้าง หลังจากนั้น สภาก็จัดตั้งคณะกรรมาธิการชุดใหม่ ซึ่งดำรงอยู่เพียงปีเศษก็ถูกยุบและจัดตั้งเป็นคณะดีแร็กตัวร์ฝรั่งเศส

หมายเหตุ

แก้

หมายเหตุ ก ในภาษาไทยยังมีการแปลอย่างอื่น เช่น คณะกรรมการรักษาความปลอดภัยแห่งมหาชน[2] และ คณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสาธารณะ[3]

อ้างอิง

แก้
  1. "Maximilien Robespierre, Master of the Terror". loyno.edu. สืบค้นเมื่อ 20 September 2017.
  2. อาทิตย์ทิพอาภา, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า (2477). ประวัติศาสตร์สมัยการปฏิวัตร์ฝรั่งเศส และสมัยนโปเลียนโบนาปารฺต ภาคที่ 1. พระนคร: โรงพิมพ์เจตนาผล. p. 253.
  3. ปิยบุตร แสงกนกกุล (2565). ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ: มติชน. p. 215. ISBN 9789740217800.