ขุนพันธรักษ์ราชเดช (บุตร พันธรักษ์)
บทความนี้อาจต้องการตรวจสอบต้นฉบับ ในด้านไวยากรณ์ รูปแบบการเขียน การเรียบเรียง คุณภาพ หรือการสะกด คุณสามารถช่วยพัฒนาบทความได้ |
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช นามเดิม บุตร พันธรักษ์ (18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 — 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2549) เป็นอดีตนายตำรวจชื่อดังของวงการตำรวจไทย ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นอันมากในการปราบโจรร้ายในภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย ในภาคกลางเช่น เสือย่อง, เสือผ่อน, เสือครึ้ม, เสือปลั่ง, เสืออ้วน, เสือไหวที่พัทลุง, เสือกลับ และเสือสังหรือเสือพุ่มที่นราธิวาส ปราบผู้ร้ายทางการเมือง ใน พ.ศ. 2481 หัวหน้าโจรชื่อ “อะเวสะดอตาเละ” จนท่านได้ฉายาจากชาวไทยมุสลิมว่า “รายอกะจิ” ซึ่งแปลว่า "อัศวินพริกขี้หนู" และจากผลงานที่ท่านสามารถปราบโจรต่าง ๆ ได้หลายราย จึงได้รับฉายา เช่น นายพลตำรวจหนังเหนียวผู้จับเสือมือเปล่า, นายพลตำรวจหนวดเขี้ยว, ขุนพันธ์ฯ ดาบแดง (เชื่อกันว่าเป็นดาบที่ตกทอดมาจากพระยาพิชัยดาบหัก ฝักดาบมีถุงผ้าสีแดงห่อหุ้ม ตัวดาบมีความคมกล้า), รายอกะจิ (อัศวินพริกขี้หนู), จอมขมังเวทย์ เป็นต้น
ขุนพันธรักษ์ราชเดช (บุตร พันธรักษ์) | |
---|---|
เกิด | 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 ตำบลดอนตะโก อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช |
เสียชีวิต | 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 (102 ปี) ซอยราชเดช ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช |
สัญชาติ | ไทย |
การศึกษา | โรงเรียนนายร้อยตำรวจ |
อาชีพ | ตำรวจ |
คู่สมรส | เฉลา พันธรักษราชเดช สมสมัย พันธรักษราชเดช |
บุตร | 13 คน |
บิดามารดา | อ้วน พันธรักษ์ ทองจันทร์ พันธรักษ์ |
ประวัติ
แก้ขุนพันธรักษ์ราชเดช เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 (นับแบบใหม่) ที่บ้านอ้ายเขียว หมู่ที่ 5 ตำบลดอนตะโก อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรชายของนายอ้วน นางทองจันทร์ พันธรักษ์ เริ่มเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดสวนป่าน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เนื่องจากท่านมีความรู้ในวิชาเลขและหนังสืออยู่แล้วก่อนที่จะเข้าโรงเรียน ดังนั้นเมื่อเข้าเรียนในชั้นประถมปีที่ 1 ได้ 1 วัน ทางโรงเรียนก็เลื่อนชั้นให้เรียนในชั้นประถมปีที่ 2 และวันรุ่งขึ้นก็เลื่อนชั้นให้เรียนชั้นประถมปีที่ 3 เป็นอันว่าท่านเข้าโรงเรียนได้เพียง 3 วัน ได้เลื่อนชั้นถึง 2 ครั้ง
เมื่อครั้งเรียนชั้นประถมปีที่ 3 โรงเรียนบ้านสวนป่าน มีพระภิกษุอินทร์ รัตนวิจิตร เป็นครูผู้สอน เรียนอยู่ประมาณ 2 เดือน โรงเรียนนั้นก็ถูกยุบ ท่านจึงเข้าเรียนในชั้นเดิม ที่โรงเรียนวัดพระนคร ตำบลพระเสื้อเมือง (ปัจจุบันคือตำบลในเมือง) อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มีครูเพิ่ม ณ นคร เป็นครูประจำชั้น เรียนจบชั้นประถมปีที่ 3 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียน ในปี พ.ศ. 2456 ได้เข้าเรียนต่อชั้นมัธยมปีที่ 1 ที่โรงเรียนวัดท่าโพธิ์วรวิหาร (หรือเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช ในปัจจุบัน)
พอเรียนชั้นมัธยมปีที่ 2 ได้ไม่กี่เดือน ก็ต้องออกจากโรงเรียนเพราะป่วยเป็นโรคคุดทะราด ต้องพักรักษาตัวปีกว่า เมื่อหายจึงคิดจะกลับมาศึกษาต่อที่โรงเรียนเดิม แต่ปรากฏว่าเพื่อน ๆ ที่เคยเรียนด้วยกัน เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 แล้ว จึงเปลี่ยนใจเดินทางเข้าไปศึกษาที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2459 โดยไปอยู่กับพระปลัดพลับ บุณยเกียรติ ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้า ที่วัดส้มเกลี้ยง (วัดราชผาติการาม) ได้เรียนอยู่ที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน เข้าเรียน พ.ศ. 2461 เลขประจำตัว บ.บ. 1430 ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ขณะเรียนที่โรงเรียนนี้ ท่านได้เรียนวิชามวย ยูโด และยิมนาสติก จากครูหลายคน เช่น ครูย้อย ครูศิริ ครูนก ครูมณี จนมีความชำนาญในเชิงมวย ท่านสอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 ในปี พ.ศ. 2467
ต่อมาในปี พ.ศ. 2468 จึงได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจห้วยจระเข้ (โรงเรียนนายร้อยตำรวจในปัจจุบัน) จังหวัดนครปฐม ขณะที่เรียนได้เป็นครูมวยไทยด้วย[1] เรียนอยู่ 5 ปี สำเร็จหลักสูตรในปี พ.ศ. 2472
วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2485 ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล[2]
พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคชรา ในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 เวลา 23.27 น. ที่บ้านเลขที่ 764/5 ซอยราชเดช ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช อายุได้ 102 ปี
การทำงาน
แก้หลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว ทางราชการได้แต่งตั้งให้ไปรับราชการในตำแหน่งนักเรียนทำการนายร้อย ที่กองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลา ในปี พ.ศ. 2473 เป็นนักเรียนทำการอยู่ 6 เดือน ได้เลื่อนยศเป็นว่าที่ร้อยตำรวจตรี
ในปีเดียวกัน ได้ย้ายมาเป็นผู้บังคับหมวดที่กองเมืองจังหวัดพัทลุง ที่พัทลุงนี่เองท่านได้สร้างเกียรติประวัติในตำแหน่งหน้าที่ จนเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงราชการและคนทั่วไป โดยการปราบปรามผู้ร้ายสำคัญของจังหวัดพัทลุง คือ เสือสัง หรือเสือพุ่ม ซึ่งเป็นเสือร้ายที่แหกคุกมาจากเมืองตรัง ขุนพันธรักษ์ราชเดช เล่าว่า เสือสังนี้มีร่างกายใหญ่โต ดุร้าย และมีอิทธิพลมาก มาอยู่ในความปกครองของกำนันตำบลป่าพยอม อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง นอกจากนั้นแล้วยังมีคนใหญ่คนโตหลายคนให้ความอุ้มชูเสือสัง จึงทำให้เป็นการยากที่จะปราบได้ แต่ท่านก็สามารถปรามเสือสังได้ในปีแรกที่ย้ายมารับราชการ โดยท่านไปปราบร่วมกับ พลตำรวจเผือก ด้วงชู มี นายขี้ครั่ง เหรียญขำ เป็นคนนำทาง การปราบปรามเสือสังครั้งนี้ทำให้ชื่อเสียงของท่านโด่งดังมาก ตอนนั้นเจ้าพระยาศรีสุรเสนาไปตรวจราชการตำรวจที่พัทลุงพอดี ผู้ปราบเสือสังจึงได้รับความดีความชอบ คือ ว่าที่ร้อยตำรวจตรีบุตร พันธรักษ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นร้อยตำรวจตรีเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2473[3]พลตำรวจ เผือก ชูด้วง เป็นสิบตำรวจตรี และนายขี้ครั่ง ได้รับรางวัล 400 บาท
หลังจากนั้นมาอีก 1 ปี ท่านก็ได้ปราบผู้ร้ายสำคัญอื่น ๆ 16 คน เช่น เสือเมือง เสือทอง เสือย้อย เป็นต้น ด้วยความดีความชอบ จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "ขุนพันธรักษ์ราชเดช'" ศักดินา ๔๐๐ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474[4] และในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2478 ได้รับเลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจโท (ร.ต.ท.)[5]
ขุนพันธ์ตามล่า เสือกลับ เป็นเวลานานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 แต่คว้าน้ำเหลวมาตลอด แต่เนื่องจากตนเองมีความชอบด้านไสยศาสตร์ ก็มักไปหาพระอาจารย์นำที่สำนักเขาอ้ออยู่เสมอ และฝากตัวเป็นศิษย์ท่านอีกด้วย มีอยู่ครั้งหนึ่ง ขุนพันธ์ได้ถามอาจารย์ว่า "จะมีวิธีจับนายกลับได้อย่างไร?" อาจารย์นำถึงกับหัวเราะอย่างเห็นเป็นเรื่องตลกก่อนตอบสั่นๆ มาว่า "ถ้าจะจับนายกลับให้ได้ ต้องตามให้ทัน"[6]
และในปีนี้ได้อุปสมบทที่วัดมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีพระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชอยู่ได้ 1 พรรษา จึงลาสิกขา ในปี พ.ศ. 2479 ท่านได้ย้ายไปเป็นหัวหน้ากองตรวจ ประจำกองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลนครศรีธรรมราช ประจำจังหวัดสงขลา ได้ปราบโจรผู้ร้ายหลายคน
การปราบโจรครั้งสำคัญและทำให้ท่านมีชื่อเสียงมากคือ การปราบผู้ร้ายทางการเมืองที่นราธิวาส ในปี พ.ศ. 2481 หัวหน้าโจรชื่อ "อะแวสะดอ ตาและ" นัยว่าเป็นผู้ที่อยู่ยงคงกระพัน เที่ยวปล้นฆ่าเฉพาะคนไทยพุทธเท่านั้น ในที่สุดก็ถูกขุนพันธ์ฯ จับได้ ท่านได้รับการยกย่องจากทั้งชาวไทยพุทธและไทยมุสลิมเป็นอันมาก ท่านจึงได้รับฉายาจากชาวไทยมุสลิมว่า "รายอกะจิ" หรือแปลว่า "อัศวินพริกขี้หนู" และได้เลื่อนยศเป็นร้อยตำรวจเอกเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ปีเดียวกัน[7] พ.ศ. 2482 ขุนพันธ์ฯ ได้ย้ายมาเป็นผู้บังคับกองเมืองพัทลุง ปี พ.ศ. 2485 ย้ายเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ปราบปรามโจรหลายราย รายสำคัญ คือ เสือสาย และเสือเอิบ
หลังจากนั้นขุนพันธ์ฯ ได้ย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดในภาคอื่น คือปีพ.ศ. 2486 ได้ย้ายไปเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรที่จังหวัดพิจิตร ได้ปฏิบัติหน้าที่มีความดีความชอบเรื่อยมา และได้ปราบปรามโจรผู้ร้ายมากมาย ที่สำคัญคือการปราบ เสือโน้ม หรืออาจารย์โน้ม จึงได้รับพระราชทานยศเป็นพันตำรวจตรี พ.ต.ต. เมื่อวันที่ 7 กันยายน ปีเดียวกัน[8]ปีพ.ศ. 2488 ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท ได้ปะทะและปราบปรามเสือร้ายหลายคน เช่น เสือย่อง เสือผ่อน เสือครึ้ม เสือปลั่ง เสืออ้วน เสือไหว เป็นต้น กรมตำรวจได้พิจารณาเห็นว่า ผู้ร้ายในเขตจังหวัดชัยนาทและสุพรรณบุรี ชุกชุมมากขึ้นทุกวันยากแก่การปราบปรามให้สิ้นซาก จึงได้ตั้งกองปราบพิเศษขึ้น โดยคัดเลือกเอาเฉพาะนายตำรวจที่มีฝีมือในการปราบปรามรวมได้ 1 กองพัน แต่งตั้งให้พ.ต.ต.สวัสดิ์ กันเขตต์เป็นผู้อำนวยการกองปราบและพ.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดชเป็นรองผู้อำนวยการกองปราบพิเศษได้ประชุมนายตำรวจที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2488 เพื่อวางแผนกำจัดเสือฝ้าย แต่แผนล้มเหลว ผู้ร้ายรู้ตัวเสียก่อน ขุนพันธ์ฯ ได้รับคำสั่งด่วนให้สกัดโจรผู้ร้ายที่จะแตกเข้ามาจังหวัดชัยนาท
ครั้งนั้นขุนพันธ์ฯ ใช้ดาบเป็นอาวุธคู่มือแทนปืนยาว ดาบนั้นถุงผ้าแดงสวมทั้งฝักและด้าม คนทั้งหลายจึงขนานนามท่านว่า "ขุนพันธ์ดาบแดง" ฝีมือขุนพันธ์ฯ เป็นที่ครั่นคร้ามของพวกมิจฉาชีพทั่วไป แม้แต่เสือฝ้ายเองก็เคยติดสินบนท่านถึง 20,000 บาท เพื่อไม่ให้ปราบปราม แต่ขุนพันธ์ฯ ไม่สนใจ คงป��ิบัติหน้าที่อย่างดีจนปราบปรามได้สำเร็จ ท่านอยู่ชัยนาท 3 ปี ปราบปรามเสือร้ายต่างๆ สงบลง แล้วได้ย้ายมาเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรที่อยุธยา อยู่ได้ประมาณ 4 เดือนเศษก็เกิดโจรผู้ร้ายชุกชมที่กำแพงเพชร ขณะนั้นเป็นระยะเปลี่ยนอธิบดีกรมตำรวจและขุนพันธ์ฯ ก็ถูกใส่ร้ายจากเพื่อนร่วมอาชีพว่าเป็นโจรผู้ร้าย พล.ต.อ.หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ ยังเชื่อมั่นว่าขุนพันธ์ฯ เป็นคนดี จึงโทรเลขให้ไปพบด่วนและแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธร จังหวัดกำแพงเพชร
เมื่อ พ.ศ. 2492 ขุนพันธ์ฯ ได้ปรับปรุงการตำรวจภูธรของเมืองนี้ให้มีสมรรถภาพขึ้นและปราบปรามโจรผู้ร้ายต่างๆ ที่สำคัญคือ เสือไกรกับเสือวันแห่งอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ทำให้ฝีมือการปราบปรามของท่านยิ่งลือกระฉ่อนไปไกล
ย้ายกลับพัทลุง
แก้ต่อมาใน พ.ศ. 2491 ทางจังหวัดพัทลุงมีโจรผู้ร้ายกำเริบชุกชุมขึ้นอีก ราษฎรชาวพัทลุงนึกถึงท่านขุนพันธ์ฯ นายตำรวจมือปราบ เพราะเคยประจักษ์ฝีมือมาแล้ว จึงเข้าชื่อกันทำหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมตำรวจ ผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอตัวขุนพันธ์ฯ กลับพัทลุงเพื่อช่วยปราบปรามโจรผู้ร้าย กรมตำรวจอนุมัติตามคำร้องขอ ขุนพันธ์ฯ จึงได้ย้ายมาเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุงอีกวาระหนึ่ง ได้ปราบปรามเสือร้ายที่สำคัญๆสิ้นชื่อไปหลายคน ผู้ร้ายบางรายก็หนีออกนอกเขตพัทลุงไปอยู่เสียที่อื่น นอกจากงานด้านปราบปรามซึ่งเป็นงานที่ท่านถนัดและสร้างชื่อเสียงให้ท่านเป็นพิเศษแล้ว ท่านยังได้พัฒนาเมืองพัทลุงให้เป็นเมืองท่องเที่ยว โดยปรับปรุงชายทะเลตำบลลำปำให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และให้มีตำรวจคอยตรวจตรารักษาความปลอดภัยแก่ผู้โดยสารรถไฟที่เข้าออกเมืองพัทลุง ทำให้เมืองพัทลุงในสมัยที่ท่านเป็นผู้กำกับการตำรวจ มีความสงบสุขน่าอยู่ขึ้นมาก ตำรวจที่ทำหน้าที่ดังกล่าวได้เลิกไปเมื่อกรมตำรวจจัดตั้งกองตำรวจรถไฟขึ้น ด้วยความดีความชอบในหน้าที่ราชการ ท่านจึงได้รับพระราชทานเลื่อนยศ เป็นพันตำรวจโทเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2493[9]ท่านอยู่พัทลุงได้ 2 ปีเศษ จนถึง พ.ศ. 2494 จึงได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยได้รับพระราชทานยศ พันตำรวจเอก เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2498[10]จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2503 จึงดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 และได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น พลตำรวจตรี หรือ พล.ต.ต. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2504[11] กระทั่งเกษียณอายุใน พ.ศ. 2507
ครั้งหนึ่งเคยมีคำขวัญอันคมคายของกรมตำรวจอยู่ประโยคหนึ่งว่า "ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีอะไรที่ตำรวจไทยทำไม่ได้" นี่เป็นถ้อยคำที่เกิดขึ้นในยุคอัศวินแหวนเพชรเฟื้อง ในสมัยของท่านอธิบดีฯ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ปกครองกรมตำรวจ วีรบุรุษผู้สร้างเกียรติประวัติให้กรมตำรวจนั้นมีอยู่มาก มีอยู่ทุกยุคทุกสมัย แต่ในยุคสมัยที่ท่าน อธิบดีกรมตำรวจหลวงอดุลย์เดชจรัสนั้น...นามของ"ขุนพันธรักษ์ราชเดช" ระบือลือลั่นสุดยอดแผ่นดินด้ามขวานทอง แม้ท่านขุนพันธ์จะปลดเกษียณราชการไปนานปี แล้วก็ตาม แต่ชื่อของท่านยังอยู่ในความทรงจำของกรมตำรวจและประชาชนทั่วไป นั่นเป็นเพราะผลงานอันน่าอัศจรรย์ของท่าน กลายเป็นผลงานอันยากยิ่งที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน ควรค่าแก่การบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คนเมืองใต้และคนของแผ่นดิน
เกียรติประวัติ
แก้พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นชีวิตที่มีค่าของแผ่นดินเมืองใต้และเมืองไทย ลมหายใจของท่านเคยโลดแล่นอยู่ท่ามกลางหมู่โจรผู้ร้าย ไม่เฉพาะแต่ผู้ร้ายในภาคใต้เท่านั้น แต่ที่ไหนประชาชนเดือดร้อนจากโจรผู้ร้ายชุกชุม ตำรวจคนอื่นปราบปรามไม่สำเร็จ กรมตำรวจจะต้องส่งตัวขุนพันธ์ฯ ไปปราบปรามทุกถิ่นที่มีครั้งหนึ่งท่านเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 ท่านเคยเดินทางมาตรวจสืบราชการลับที่เกาะสมุย ขุนพันธ์ฯ ท่านชอบดูมวย วันนั้นท่านไปยืนดูมวยอยู่ข้างเวที บังเอิญถอยหลังไปเหยียบเท้านางพล้อยเข้าโดยไม่ตั้งใจ ป้าพล้อยแกเป็นคนปากจัด ใครแตะเป็นด่าไม่ไว้หน้า แกก็ด่าขุนพันธ์ฯ ขุนพันธ์ฯ ก็วางเฉยไม่โต้ตอบอะไร มีคนรู้จักกันเข้าไปเตือนสติป้าพล้อยว่า "คนที่ป้าด่าอยู่นั้นรู้มั๊ยว่าเป็นใคร...นั่นแหละขุนพันธ์ฯ" พอได้ยินชื่อขุนพันธ์ฯเท่านั้น ป้าพล้อยแกเงียบเป็นเป่าสาก รีบก้มหน้างุดๆ เดินมุดผู้คนหนีไปโดยไม่เหลียวหลังมาอีกเลย คำบอกเล่าสั้นๆนี้ทำให้เห็นว่า ขุนพันธ์ฯ ท่านมีตบะสูง เพียงได้ยินว่าเป็นขุนพันธ์เท่านั้น ใคร ๆ ก็ขยาดทั้งนั้น เพราะรู้กิตติศัพท์ของท่านมาก่อน
สมัยที่ขุนพันธ์ฯ กลับมาอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ก็มีเรื่องเล่ากันว่า ตอนนั้นมีเสือใหญ่อยู่ 10 คน ในจำนวนเสือร้าย 10 คนนั้น มีเสือข่อย เสือจ้อย เสือหวน ฯลฯ รวมอยู่ด้วย เสือทั้ง 10 คนนั้น ล้วนเคยเป็นศิษย์หลวงพ่อช่วย เมืองนครศรีธรรมราช ผู้ซึ่งเป็นพระมีวิชาเก่งกล้าทางกฤตยาคม ขุนพันธ์ฯ เคยเรียนวิชาด้วยผู้หนึ่ง เมื่อท่านขุนพันธ์ฯกลับมาอยู่ในตำแหน่งสำคัญระดับภาค ท่านมีประกาศิตสั่งให้ผู้ร้ายทั้ง 10 คนนั้น เลิกประพฤติเยี่ยงโจร ให้กลับใจเลิกเป็นเสือเสีย โดยให้บวชเป็นพระภิกษุ ถ้าหากไม่ทำตามคำขอร้องนั้น ขุนพันธ์ฯ ก็จะยิงทิ้งทุกคน เล่ากันว่าประกาศิตของขุนพันธ์ฯ ทำให้เสือร้ายส่วนใหญ่ปฏิบัติตามแต่โดยดี มีเพียงเสือข่อยเพียงรายเดียวเท่านั้นที่ไม่ยอมทำตามคำของขุนพันธ์ฯ เสือข่อยไม่ยอมเลือกทางเดินที่ท่านเลือกให้ ซ้ำร้ายยิ่งท้าทายอำนาจของกฎหมายบ้านเมือง ด้วยความเชื่อว่าตนนั้นเป็นศิษย์หลวงพ่อช่วย ผู้เรืองวิชาอาคมแก่กล้า เป็นลูกศิษย์อาจารย์เดียวกับขุนพันธ์ฯ จึงคิดว่าขุนพันธ์จะยกเว้นไว้สักคนหนึ่ง แต่ปรากฏว่า ขุนพันธ์ฯ ทำตามที่พูด ว่ากันว่าท่านยิงเสือข่อย แต่ยิงไม่เข้า จึงสั่งให้ลูกน้องฆ่าด้วยศูลแทงสวนทวารจนถึงแก่ความตาย คำเล่าลือเหล่าเสือร้ายในหมู่บ้านของชาวเมืองปักษ์ใต้ มีทั้งเรื่องจริงบ้าง หรือต่อเติมเสริมแต่งของผู้เล่าอ่านเองบ้าง มันคือตำนานอมตะของวีรบุรุษเล็กพริกขี้หนูที่มีนามว่า "นายร้อยบุตร พันธรักษ์ราชเดช" หรือขุนพันธรักษ์ราชเดช ท่านเป็นบุคคลที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ว่าตำแหน่งใด ยศใด ยกย่อง นับถือและกล่าวถึง เนื่องจากท่านเป็นแบบอย่างที่ดีของตำรวจ
นักการเมือง
แก้ขุนพันธ์รักษ์ราชเดช ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดนครศรีธรรมราช ชุดที่ 10 พ.ศ. 2512 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี พ.ศ. 2512[12] สังกัดพรรคประชาธิปัตย์
นักวิชาการ
แก้นอกจากเกียรติคุณทั้งในและนอกตำแหน่งหน้าที่ราชการดังกล่าวมาแล้ว ขุนพันธ์ฯ ยังมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่สำคัญซึ่งควรกล่าวถึงคือ เป็นนักวิชาการที่สำคัญคนหนึ่ง ท่านเป็นทั้งนักอ่านและนักเขียน ได้เขียนเรื่องราวต่าง ๆ ลงพิมพ์ในหนังสือและวารสารต่าง ๆ หลายเรื่อง ขุนพันธ์ฯ เป็นคนหนึ่งที่มีความสนใจในเรื่องไสยศาสตร์อยู่มาก เรื่องที่เขียนส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ นอกจากนั้นก็มีเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทั้งประวัติบุคคลและสถานที่ ตำนานท้องถิ่น มวย และเรื่องเกี่ยวกับประสบการณ์ของตนเอง ข้อเขียนต่างๆของท่าน เช่น ความเชื่อทางไสยศาสตร์ในภาคใต้ สองเกลอ ช้างเผือกงาดำ หัวล้านนอกครู ศิษย์เจ้าคุณ มวยไทย เชื่อเครื่อง กรุงชิง เป็นต้น โดยเฉพาะเรื่องกรุงชิงนั้น ท่านเล่าว่าเป็นเรื่องที่ท่านเขียนทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรตามพระบรมราชโองการ และต่อมามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีได้ขออนุญาตนำไปตีพิมพ์เผยแพร่ใน "รูสมิแล" วารสารของมหาวิทยาลัยปีที่ 6 ฉบับที่ 3 เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม พ.ศ. 2526 งานเขียนของท่านส่วนมากจะลงพิมพ์ใน สารนครศรีธรรมราช หนังสืองานเดือนสิบวิชชา (วารสารทางวิชาการของวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช) รูสมิแล (วารสารทางวิชาการของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) และหนังสือที่ระลึกในโอกาสต่าง ๆ ของโรงเรียนและหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมทั้งเป็นผู้ริเริ่มให้มีการบวงสรวงพระธาตุนครศรีธรรมราช อันเป็นที่มาของการสร้างจตุคามรามเทพรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2530
ในด้านชีวิตครอบครัว ขุนพันธ์ฯ มีภรรยาคนแรกชื่อ เฉลา ตอนนั้นท่านมีอายุได้ประมาณ 30 ปี ขณะที่รับราชการอยู่ที่จังหวัดพัทลุง มีบุตรด้วยกัน 8 คน ต่อมาภรรยาเสียชีวิต ท่านจึงได้ภรรยาใหม่ชื่อ สมสมัย มีบุตรด้วยกัน 4 คน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2506 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[13]
- พ.ศ. 2504 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 3 ตริตาภรณ์ช้างเผือก (ต.ช.)[14]
- พ.ศ. 2528 – เหรียญชัยสมรภูมิ สงครามมหาเอเชียบูรพา (ช.ส.)[15]
- พ.ศ. 2478 – เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ (พ.ร.ธ.)[16]
- พ.ศ. 2486 – เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามมหาเอเชียบูรพา (ช.ร.)[17]
- พ.ศ. 2502 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)[18]
- พ.ศ. 2485 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)[19]
- พ.ศ. 2502 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 4 (ภ.ป.ร.4)[20]
- พ.ศ. 2493 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
- พ.ศ. 2475 – เหรียญเฉลิมพระนคร 150 ปี (ร.ฉ.พ.)
- พ.ศ. 2500 – เหรียญงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
อ้างอิง
แก้- ↑ พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช - กระทรวงวัฒนธรรม
- ↑ "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นชื่อสกุล" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 59 (65 ง): 2667. 6 ตุลาคม พ.ศ. 2485. สืบค้นเมื่อ 9 ธันวาคม 2561.
{{cite journal}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
และ|date=
(help) - ↑ พระราชทานยศ (หน้า ๒๙๕๗)
- ↑ พระราชทานบรรดาศักดิ์ (หน้า ๓๐๕๑)
- ↑ ประกาศ พระราชทานยศตำรวจ (หน้า ๒๗๖)
- ↑ ถ้าจะจับให้ได้..ต้องตามให้ทัน!! เปิดตำนาน "เสือกลับ" จอมโจรขมังเวทย์ ที่แม้แต่ "ท่านขุนพันธ์" ก็ไม่อาจจับตัวได้ !!
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศตำรวจ (หน้า ๗๗๗)
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศตำรวจ (หน้า ๒๘๓๗)
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศตำรวจ (หน้า ๔๖๗๓)
- ↑ ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศตำรวจ (หน้า ๒)
- ↑ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานยศตำรวจ
- ↑ "พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เจ้าของฉายา "จอมขมังเวท-เจ้าพิธีดัง"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-08. สืบค้นเมื่อ 2008-01-05.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๘๐ ตอนที่ ๑๒๒ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๑๐, ๒๗ ธันวาคม ๒๕๐๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๘ ตอนที่ ๑๐๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕๖๘, ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญชัยสมรภูมิ, เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๗๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๓๐๗, ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, บัญชี��ายนาม ผู้ที่ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ, เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๘๓๘, ๑๖ มิถุนายน ๒๔๗๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน, เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๔๕ ง หน้า ๒๗๙๐, ๓๑ สิงหาคม ๒๔๘๖
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๗๖ ตอนที่ ๖๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๑๗ มิถุนายน ๒๕๐๒
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๕๙ ตอนที่ ๖๑ ง หน้า ๒๔๔๘, ๑๘ กันยายน ๒๔๘๕
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม ๗๖ ตอนที่ ๗๔ ง หน้า ๑๘๕๖, ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๒
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Reynolds, Craig J. Power, Protection and Magic in Thailand: The Cosmos of a Southern Policeman. Canberra: ANU Press, 2019.
- พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช เจ้าของฉายา "จอมขมังเวท-เจ้าพิธีดัง" เก็บถาวร 2007-12-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- สอบปากคำโจรกลับใจ...เสือดำ-เสือใบ!!! อดีตเสือร้ายแดนสุพรรณ-คู่อริ"ขุนพันธ์" เก็บถาวร 2009-08-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (สกู๊ปแนวหน้า)
- ประวัติขุนพันธรักษ์ราชเดช (บุตร พันธรักษ์) เก็บถาวร 2017-05-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน