กระดองเต่า (อังกฤษ: Turtle shell) เป็นลักษณะสำคัญที่ทำให้เต่ามีความแตกต่างจากสัตว์เลื้อยคลานในอันดับอื่น ๆ กระดองเต่าเป็นแคลเซียมที่ประกอบด้วยกระดูกในชั้นหนังเชื่อมรวมกับกระดูกซี่โครง กระดูกสันหลัง บางส่วนของกระดูกหัวไหล่ และกระดูกหน้าอก เนื่องจากกระดูกสันหลังส่วนลำตัว (ยกเว้นกระดูกคอและกระดูกหาง) เชื่อมรวมกับกระดอง กระดูกสันหลังในส่วนลำตัวจึงเคลื่อนไหวไม่ได้ เมื่อกระดูกซี่โครงเชื่อมรวมกับกระดองทำให้กระดูกหัวไหล่และกระดูกเชิงกรานต้องเลื่อนตำแหน่งเข้าไปอยู่ทางด้านในของกระดูกซี่โครง ซึ่งเป็นลักษณะจำเพาะของเต่า ซึ่งแตกต่างไปจากสัตว์เลื้อยคลานอื่น ๆ และสัตว์มีกระดูกสันหลังในชั้นอื่น ๆ ทุกชั้น ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการเจริญและการแปรสภาพ 2 ประการ คือ

  • การแปรสภาพเกิดขึ้นเป็นสัดส่วนไม่เท่ากันระหว่างด้านข้างลำตัวกับแกนความยาว ลำตัวทั้งด้านบนและด้านล่างของลำตัว ทำให้ลำตัวแบนราบ
  • การเชื่อมรวมกันของกระดูกซี่โครงกับกระดูกในชั้นหนังเมื่อเกิดขึ้นแล้วได้เบนขึ้นทางด้านบนแทนการเบนทางด้านในและทางด้านล่างเหมือนกับสัตว์มีกระดูกสันหลังชั้นอื่น
กระดอง (ซ้าย) และส่วนประกอบโครงกระดูก (ขวา) ของกระดอง กระดอง (ซ้าย) และส่วนประกอบโครงกระดูก (ขวา) ของกระดอง
กระดอง (ซ้าย) และส่วนประกอบโครงกระดูก (ขวา) ของกระดอง
กระดอง (ซ้าย) และส่วนประกอบโครงกระดูก (ขวา) ของเต่าในอันดับย่อย Pleurodira มีแผ่นแข็งพิเศษที่เรียกว่า อินเตอร์กูลาร์ ซึ่งจะหายไปในเต่าในอันดับย่อย Cryptodira
กระดองของเต่าในสกุล Cuora หรือเต่าหับ ที่ปิดสนิท
เต่าราเดียตา (Astrochelys radiata) เต่าบกชนิดหนึ่งที่นิยมเลี้ยงกันเป็นสัตว์เลี้ยง เนื่องจากมีกระดองหลังที่สวยงามมาก

กระดองเต่าประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ กระดองหลัง และกระดองท้อง เชื่อมต่อกันทางด้านข้าง พื้นผิวด้านบนของกระดองหลังมีแผ่นแข็งของสารประกอบเคอราตินคลุมทับไว้หรือบางครั้งเป็นชั้นหนังอ่อนนุ่ม ได้แก่ วงศ์ Dermochelyidae (เต่ามะเฟือง), Trionychidae (ตะพาบ) และCarettochelyidae (เต่าบิน) แผ่นแข็งที่ปกคลุมพื้นผิวด้านบนของกระดองหลังไม่ได้มีแบบแผนและลักษณะการเรียงตัวสอดคล้องกับตัวกระดองหลัง กระดองหลังของเต่าอาจเป็นแผ่นแข็งแผ่นเดียวหรือเป็นแผ่นแข็งหลายแผ่นต่อกันไม่มั่นคงซึ่งแตกต่างกันในเต่าแต่ละกลุ่ม โดยมี ระยางค์ขา หัวและคอ และหางยื่นออกจากช่องทางด้านหน้าและทางด้านท้ายของกระดอง กระดองเต่าแต่ละชนิดมีรูปร่างแตกต่างกันมาก อาจมีรูปร่างโค้งนูนและสูงซึ่งส่วนมากเป็นกระดองของเต่าบก หรือมีรูปร่างแบนราบและเรียวยาวซึ่งเป็นของเต่าทะเลและเต่าน้ำ เป็นต้น

เต่าส่วนมากมีกระดองหลังและกระดองท้องแข็ง เต่าบางชนิดสามารถหดหัว หาง และขาไว้ในกระดองได้หมด ลักษณะดังกล่าวเกิดจากการเจริญของบานพับที่กระดองท้อง ตำแหน่งของบานพับอาจอยู่ค่อนไปทางด้านด้านหน้าหรือด้านท้ายของกระดองท้อง เช่น สกุล Terrapene ในวงศ์ Emydidae (เต่าแก้มแดง), สกุล Kinosternon วงศ์ Kinosternidae (เต่ามัสก์), สกุล Cuora วงศ์ Bataguridae (เต่านา) เป็นต้น ตะพาบในสกุล Lissemys มีบานพับสองแห่งอยู่ทางด้านหน้าและทางด้านท้ายของกระดองท้อง นอกจากนี้แล้วเต่าบกในสกุล Kinixys ของแอฟริกาสามารถหย่อนส่วนท้ายของกระดองหลังลงทางด้านล่างเพื่อป้องกันหางและส่วนท้ายของลำตัวได้

เต่าบางชนิดได้ลดรูปกระดองลง เช่น เต่าบกในสกุล Malacochersus ของแอฟริกากระดองที่หลังได้ลดรูปจนลำตัวแบนราบ และอ่อนนุ่ม เหลือเพียงกระดูกรูปวงแหลมล้อมรอบตัวเป็นช่วงและพื้นผิวด้านบนของกระดองหลังและกระดองท้องเป็นชั้นหนังมีความอ่อนนุ่ม เต่าบกสกุลนี้อาศัยอยู่บริเวณภูเขาที่มีโขดหิน เมื่อเข้าไปอยู่ในระหว่างซอกหินสามารถขยายตัวให้ใหญ่ขึ้นได้ด้วยการสูดอากาศเข้าไปในลำตัวเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ล่าเหยื่อขนาดใหญ่กว่��ดึงตัวออกไปจากซอกหินได้[1]

กระดองเต่ากับมนุษย์

แก้

มนุษย์มีความผูกพันกับกระดองเต่ามาเป็นเวลายาวนานแล้ว ตั้งแต่โบราณ มีหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า สมัยราชวงศ์ซาง (1,600-1,046 ก่อนคริสต์ศักราช) ของจีน มีการใช้กระดองเต่าเป็นจารึกตัวอักษรและใช้เป็นเครื่องเสี่ยงทายทางโหราศาสตร์[2]

โดยมากแล้ว มนุษย์มักจะใช้กระดองเต่าเพื่อทำเครื่องประดับ โดยเฉพาะกระดองของเต่าทะเล ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เต่าทะเลลดจำนวนลงอย่างมากทั่วโลก[3]

นอกจากแล้ว เต่าบกที่นิยมเลี้ยงกันเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลิน โดยมากจะนิยมตัวที่กระดองเป็นสีเหลืองสดและสวยงาม เต่าลักษณะแบบนี้จะเรียกว่า "ไฮเยลโล่"

อ้างอิง

แก้
  1. หน้า 352-353, วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก โดย วีรยุทธ์ เลาหะจินดา (พ.ศ. 2552) ISBN 978-616-556-016-0
  2. จารึกอักษรบนกระดองเต่า
  3. เต่ากระ[ลิงก์เสีย]