กบอกหนาม
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Amphibia
อันดับ: Anura
วงศ์: Ranidae
สกุล: Paa
สปีชีส์: P.  fasciculispina
ชื่อทวินาม
Paa fasciculispina
(Inger, 1970)
ชื่อพ้อง
  • Rana fasciculispina (Inger, 1970)
  • Quasipaa fasciculispina (Inger, 1970)

กบอกหนาม (อังกฤษ: Spiny-breasted Giant Frog, ชื่อวิทยาศาสตร์: Paa fasciculispina) เป็นกบชนิดหนึ่งในวงศ์กบนา (Ranidae) พบในประเทศกัมพูชาและประเทศไทย จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546[2]

ประวัติ

แก้

กบอกหนามมีการค้นพบในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2504 และได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ. 2513 โดยผู้เชี่ยวชาญชาวอเมริกัน ดร.โรเบิร์ต อิงเกอร์ แห่งพิพิธภัณฑ์ฟิลด์ ชิคาโก สหรัฐอเมริกา ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อสกุลจากเดิม Rana ไปเป็น Paa และ Quasipaa ตามลำดับ[3]

ปัจจุบัน ตัวอย่างต้นแบบแรกหมายเลข 513-1385[3] เก็บรักษาไว้ที่ศูนย์รวบรวมตัวอย่างอ้างอิงทางชีววิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

ลักษณะ

แก้

กบชนิดนี้มีรูปร่างโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับคางคก โดยมีผิวหนังหยาบ ขรุขระเป็นสันและปุ่ม ลำตัวสีเขียว น้ำตาลจนถึงสีดำ มีจุดประสีน้ำตาลทั่วตัว[4] ในฤดูผสมพันธุ์กบตัวผู้จะมีกลุ่มหนามแหลมสีดำ กลุ่มละ 5-10 อัน กระจายกันอยู่บนแผ่นอกและใต้คาง เมื่อสิ้นฤดูผสมพันธ์หนามเหล่านี้จะหลุดหายไป เหลือเพียงรอยสีคล้ำๆ ตรงตำแหน่งเดิม[3] นิ้วเท้ามีแผ่นหนังยึดอยู่เต็มตลอดนิ้ว และปลายนิ้วเท้ายังขยายพองออกกว้างราวสองเท่าของความกว้างนิ้ว

ถิ่นอาศัยและการกระจายพันธุ์

แก้

กบอกหนามชอบอาศัยอยู่ใน บริเวณที่ชื้น ตามริมลำธารที่มีน้ำไหลแรงในระดับความสูง 200-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล[5] วางไข่ใต้ก้อนหินใหญ่ริมลำธาร กบขนาดใหญ่จะอาศัยอยู่ในบริเวณลำธารกว้าง หรือรอบแอ่งน้ำตก ลูกกบขนาดเล็กชอบ เกาะอยู่บนก้อนหินติดกับระดับน้ำ ตามริมลำธารเล็ก ๆ ที่มีกระแสน้ำไหลเอื่อย กบอกหนามออกหากินในเวลากลางคืน ผสมพันธุ์ในฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม

พบเฉพาะเฉพาะในบริเวณแคบ ๆ ตั้งแต่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของไทย โดยอาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว ในจังหวัดจันทบุรี[5] ไปจนถึงเทือกเขาบรรทัดทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา[3]

อ้างอิง

แก้
  1. van Dijk, P.P. & Swan, S. 2004. Paa fasciculispina. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 23 July 2007.
  2. บัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 มูลนิธิ สืบ นาคะเสถียร
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 กบอกหนาม[ลิงก์เสีย] หมายเหตุนิเวศวิทยา ปีที่ 1 ฉบับที่1 พ.ศ. 2550
  4. สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำจังหวัดจันทบุรี เก็บถาวร 2003-11-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เครือข่ายกาญจนาภิเษก
  5. 5.0 5.1 พืชและสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ในประเทศไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ISBN 9740079806