พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
บทความนี้ต้องการตรวจสอบความถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้น ๆ โปรดเพิ่มพารามิเตอร์ reason หรือ talk ลงในแม่แบบนี้เพื่ออธิบายปัญหาของบทความ |
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เป็นกฎหมายไทย ประเภทพระราชบัญญัติ ร่างขึ้นโดยคณะรัฐมนตรีไทยในสมัยพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร และตราขึ้นโดยรัฐสภาไทย โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชลงพระปรมาภิไธยเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2546 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2546 และมีผลใช้บังคับในอีกหนึ่งร้อยแปดสิบวันถัดมา คือ วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2547 แทนที่ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 และ ฉบับที่ 294
พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 | |
---|---|
ข้อมูลทั่วไป | |
ผู้ตรา | รัฐสภาไทย |
ผู้ลงนาม | พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช |
วันลงนาม | 24 กันยายน พ.ศ. 2546 |
ผู้ลงนามรับรอง | ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี |
วันประกาศ | 2 ตุลาคม พ.ศ. 2546 (ราชกิจจานุเบกษา: เล่ม 120/ตอนที่ 95 ก/หน้า 1/2 ตุลาคม 2546) |
วันเริ่มใช้ | 30 มีนาคม พ.ศ. 2547 (เมื่อพ้นหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศ) |
ท้องที่ใช้ | ทั่วประเทศไทย |
ผู้รักษาการ | รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม |
การร่าง | |
ชื่อร่าง | ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. ... |
ผู้เสนอ | คณะรัฐมนตรี |
คำสำคัญ | |
การคุ้มครองเด็ก |
พระราชบัญญัตินี้มีหลักการสำคัญในการใช้ทรัพยากรทุกภาคส่วนเพื่อดูแล ปกป้อง คุ้มครองเด็ก โดยได้มีการวางระบบการสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพและส่งเสริมความประพฤติของนักเรียนนักศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ปกครองเลี้ยงดูบุตรโดยไม่ขัดต่อประเพณีอันดีงาม เป็นเสมือนการสะท้อนให้ผู้ปกครองตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการเลี้ยงดูเด็ก[1]
หัวใจของกฎหมายนี้อยู่ที่มาตรา 23 ซึ่งบัญญัติว่า[1]
"ผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนและพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น แต่ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ"
เหตุผลของพระราชบัญญัติ
เหตุผล (statement of grounds) ของพระราชบัญญัตินี้ คือ
"...โดยที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2515 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 294 ลงวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2515 ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน สาระสำคัญและรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็ก ไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน สมควรกำหนดขั้นตอนและปรับปรุงวิธีการปฏิบัติต่อเด็กให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้เด็กได้รับการอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และมีพัฒนาการที่เหมาะสม อันเป็นการส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันครอบครัว รวมทั้งป้องกันมิให้เด็กถูกทารุณกรรม ตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ หรือถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และสมควรปรับปรุงวิธีการส่งเสริมความร่วมมือในการคุ้มครองเด็กระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตตินี้"
แนวคิด
เด็กมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญ 4 ประการ คือ สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอด สิทธิที่ได้รับกา��พัฒนารอบด้าน สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง และสิทธิการมีส่วนรวม อันเป็นหลักการที่ได้รับรองโดยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยได้บังคับใช้อนุสัญญาเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2535 ดังนั้น สังคมทุกภาคส่วนจะต้องดำเนินการรับรองและปกป้องสิทธิเด็กตามอนุสัญญาดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ยังได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทารุณกรรมเด็กหรือการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม[2]
ในอดีตที่ผ่านมา กฎหมายและกลไกของรัฐยังด้อยประสิทธิภาพ เนื่องจากขาดพลังจากภาคประชาสังคมในการตอบสนองปัญหาความต้องการและความจำเป็น ทั้งปัญหาการทารุณกรรมเด็กโดยภาคครัวเรือนและภาคสังคมได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อสร้างกลไกระหว่างภาครัฐและประชาสังคมให้ประสานกัน รัฐสภาจึงได้ตรา "พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546" ขึ้นใช้บังคับเป็นเครื่องมือและกลไกในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กที่ถูกทารุณกรรม[2]
"เด็ก" ที่ได้รับการคุ้มครอง
พระราชบัญญัติดังกล่าวคุ้มครองเด็ก คือ บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่สมรส โดยมีการจดทะเบียนสมรสชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว แต่ไม่นับรวมการสมรสโดยพฤตินัย
เด็กในกระบวนการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพหรือส่งเสริมความประพฤติตามพระราชบัญญัตินี้ จะต้องมีอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ แต่หากเข้าสู่กระบวนการนี้แล้ว แม้จะอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว ก็ถือว่าบุคคลนั้นยังมีสิทธิได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพหรือส่งเสริมความประพฤติต่อไป[2]
สิ่งที่ผู้ปกครองควรปฏิบัติ
ข้อปฏิบัติ[1] | ข้อห้าม[3] |
---|---|
|
|
กรณีการห้ามเด็กออกจากบ้านหลัง 22.00 น.
กฎการห้ามเด็กออกจากบ้านหลัง 22.00 น. เป็นแนวคิดของพลตำรวจตรีอำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล[4] หวังลดสถิติอาชญากรรมในสังคม ที่มีเด็กและเยาวชนจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ก่อ โดยมีพื้นที่ที่ถูกจับตาเป็นอันดับต้น ๆ คือ สถานบันเทิง และร้านเกม อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ มาตรการของเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ หากพบเด็กอยู่ในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม จะสอบถามเหตุผลก่อน หากไม่มีเหตุผลอันสมควร จะนำตัวไปยังโรงพัก เพื่อทำประวัติ ก่อนเรียกผู้ปกครองมารับกลับบ้าน[4]
มาตรการดังกล่าวได้รับการตอบรับทั้งสนับสนุนและคัดค้าน โดยมีสื่อบางแห่งเรียกว่า "เคอร์ฟิวเด็ก" สำหรับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยนั้น เห็นว่าอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก เช่น อาจถูกตำรวจใช้ไปช่องทางรีดไถ หรือมีคนอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ทำอันตรายต่อเด็ก ด้านนักวิชาการและองค์การสิทธิมนุษยชนเห็นว่าอาจละเมิดสิทธิและเสรีภาพของเด็ก บางคนยืนยันว่าตำรวจไม่มีอำนาจออกคำสั่งเช่นนี้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติ ซึ่งอาจทำให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ต้องหาฐานใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเสียเอง[5]
ด้านตัวแทนตำรวจนครบาล กล่าวว่า ตำรวจมีแนวคิดควบคุมโต๊ะสนุกเกอร์ ร้านอินเทอร์เน็ต ร้านเกม และสถานบันเทิง ซึ่งจะดำเนินการในกรณีที่พบเด็กในสถานที่ดังกล่าวโดยไม่มีผู้ปกครองมาด้วยเท่านั้น[6]
ด้านสวนดุสิตโพลออกมาเปิดเผยความคิดเห็นของประชาชนกรณีดังกล่าวว่า มีประชาชนเห็นว่าสามารถแก้ปัญหาอาชญากรรมที่เกิดจากเด็กและเยาวชนได้มากถึงร้อยละ 62.87 ร้อยละ 67.41 คิดว่ารัฐบาลมีสิทธิควบคุมความประพฤติของเยาวชนของประเทศ ร้อยละ 68.15 เห็��ว่ามาตรการดังกล่าวเป็นการคุ้มครองเด็ก และร้อยละ 65.91 เห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว ส่วนร้อยละ 52.27 เห็นว่ากระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็ก[7]
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546. มูลนิธิอาสาพัฒนาเด็ก. สืบค้น 30-1-2554.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 สคช.จังหวัดพิจิตร. พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546. สืบค้น 30-1-2554.
- ↑ พระราชบัญญัติ คุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา 25 และ 26
- ↑ 4.0 4.1 เจาะประเด็น: กฎเหล็ก..เคอร์ฟิวเด็ก 18 ปี. (17 มกราคม 2554). สืบค้น 30-1-2554.
- ↑ เคอร์ฟิวเด็กคือดาบ 2 คม. (18 มกราคม 2554). สืบค้น 30-1-2554.
- ↑ ตำรวจย้ำเคอร์ฟิวเด็กแค่ 4 จุดร้านเน็ต-เกม-โต๊ะสนุก-สถานบันเทิง. (27 มกราคม 2554). สืบค้น 30-1-2554.
- ↑ ดุสิตโพลชี้คนชอบเคอร์ฟิวเด็ก. โพสต์ทูเดย์. (16 มกราคม 2554). สืบค้น 30-1-2554.